รมว.สธ.เผยมติที่ประชุมบอร์ด สปสช.ขอคณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนประเด็นตีความ 5 ข้อ “การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” พร้อมตั้ง คณะกรรมการใหม่ให้เวลาทำงาน 1 เดือน เพื่อออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ เอื้อต่อการทำงานของหน่วยบริการเพื่อประชาชน แล้วนำเข้าบอร์ดเพื่อดำเนินการต่อ ระหว่างนี้ให้ทำทุกอย่างตามปกติ ย้ำหน่วยบริการและประชาชนไม่ต้องกังวล ทุกอย่างเหมือนเดิม
ที่มาภาพ: http://www.hfocus.org/content/2016/01/11467
4 ม.ค. 2559 hfocus.org รายงานว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ในประเด็นผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา 5 ข้อ เรื่องการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า หลังจากมีผลการตีความออกมา ได้เชิญกรรมการกฤษฎีกามาคุยกันที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2558 โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการ สปสช. และที่ปรึกษา
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กรรมการกฤษฎีกาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง เพราะทราบว่าเมื่อตีความไปแล้ว อาจจะมีผลกระทบกับการทำงานของหน่วยบริการสาธารณสุขเพื่อบริการประชาชน แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ต้องตีความตามตัวบทกฎหมาย ส่วนในเรื่องของเจตนารมณ์ต้องคุยกัน และผลการหารือร่วมกันทางกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอทางออกหลายทาง ซึ่งทางเราก็รับมาและนำมาหารือในการประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งนี้
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช.มีมติเรื่องผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกานี้ว่า จะขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนความเห็นดังกล่าว ซึ่งเรื่องการทบทวนนี้กรรมการกฤษฎีกาก็บอกว่าทำได้ แต่หลายอย่างก็อาจต้องไปปรับระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายด้วย เพราะต้องให้ชัดเจนในตัวหนังสือ พอบอกว่ามีเจตนารมณ์ร่วมด้วยก็ต้องคุยกันให้ชัดเจน แล้วปรับไม่ให้มีปัญหาเช่นนี้อีก เพราะตีความได้หลายอย่าง
ขณะเดียวกันมติบอร์ด สปสช.ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อหาทางออกสำหรับเรื่องนี้ โดยให้พิจารณาออกระเบียบการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการสาธารณสุขต่อประชาชน ให้เอื้อต่อการทำงานของหน่วยบริการและคนทำงาน โดยมีเวลาการทำงาน 1 เดือน เมื่อได้ข้อเสนอผลการดำเนินงานจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช.เพื่อให้ความเห็นชอบออกเป็นประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับต่อไป
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ มี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ และกรรมการจะมีตัวแทนจากหลายฝ่าย ทั้งกรรมการกฤษฎีกา สปสช. สธ. สตง. กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ เป็นต้น เพื่อหาทางออกในทุกประเด็น
“ระหว่างนี้ให้ดำเนินการทุกอย่างไปตามปกติ หน่วยบริการไม่ต้องกังวล ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทุกอย่างจะดำเนินการไปตามปกติ เราทำเพื่อให้การบริการไม่ติดขัด ให้หน่วยบริการไม่เดือดร้อน และทำงานราบรื่นเหมือนเดิมต่อไป บอร์ด สปสช.เป็นผู้รับผิดชอบเอง” นพ.ปิยะสกล กล่าว
ทั้งนี้ ผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา มี 5 ประเด็น คือ 1.การจ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการขัดต่อวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
2.การที่หน่วยบริการนำงบเหมาจ่ายรายหัวไปเป็นค่าใช้จ่ายประจำ เป็นการใช้จ่ายเงินกองทุนนอกขอบวัตถุประสงค์
3.บอร์ด สปสช.มีอำนาจจ่ายเงินจากกองทุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ หรือองค์กรเอกชน (ภาคประชาชน) ได้ แต่ไม่ตอบตรงๆ ว่าสามารถจ่ายให้หน่วยงานรัฐ เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และหน่วยงานในสังกัด สธ. เช่น กรมต่างๆ หน่วยงานในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้หรือไม่
4.การใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของ สปสช.สาขาจังหวัด สสจ.เป็นการใช้จ่ายนอกขอบวัตถุประสงค์
และ 5.การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานให้กับหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องกับล้างไตผ่านทางช่องท้อง เป็นการใช้จ่ายนอกขอบวัตถุประสงค์
ภาคประชาชน ยื่น”ปิยะสกล”ให้ทบทวนการตีความกฤษฎีกาใหม่ หลังกระทบผู้ป่วย
4 ม.ค. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก่อนการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาวาระต่างๆ โดยเฉพาะผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาใน ประเด็นหารือเกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นำโดย นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. เพื่อขอให้แก้ไขอุปสรรคในการจัดซื้อยาของสปสช.
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) มีความเห็นว่ารายการค่าใช้จ่ายมาตรา 3(5) ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าอวัยวะเทียม และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล ซึ่งจากความเห็นของ คตร.ระบุว่า สปสช. ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะไปสั่งซื้อยาหรือเวชภัณฑ์ให้ โดยต้องให้โรงพยาบาลจัดซื้อเอง ซึ่งในความเป็นจริงถือเป็นปัญหา
เนื่องจากที่ผ่านมา สปสช.จะเหมาซื้อให้แก่รพ.ในสังกัด สธ.ทั้งหมด ทำให้การต่อรองราคาถูกลง อย่างค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าอวัยวะเทียม และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากการต่อรองราคาทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งการต่อรองราคา ทางสปสช.จะทำให้กรณีกลุ่มราคาแพง พวกสเต็นท์(stent) หรือสายสวนหัวใจ สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจโดยระบบหลักประกันสุขภาพฯซื้อได้ในราคา 12,000 บาท ในขณะที่สิทธิข้าราชการต้องจ่ายในราคา 40,000 บาท ทั้งที่เป็นสเต็นท์แบบเดียวกัน
จากการจำกัดเช่นนี้ ทำให้ไม่สามารถนำงบเหมาจ่ายรายหัวที่ให้ไปจัดหายา และอวัยวะเทียมบางรายการที่ สปสช.เคยจัดหาผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ถือเป็นการตีความคับแคบ
นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า ผลกระทบยังมีอีกมาก เห็นได้ชัดคือ การจัดซื้อน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง ในขณะที่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในสิทธิประกันสังคม ซื้อในราคา 228 บาทต่อถุง ในขณะที่ สปสช.ซื้อราคาถุงละ 128 บาท โดยคนไข้หนึ่งคนใช้ 120 ถุงต่อปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 144,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเมื่อคำนวณต่อจำนวนผู้ป่วยโรคไตทั้งระบบเป็นเงินที่ประหยัดได้มหาศาล
นายนิมิตร์ เทียนอุดม อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ภาคประชาชน กล่าวว่า จากการที่ตนระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์ระบบหลักประกันสุขภาพฯน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกับรัฐบาลชุดนี้ก็เพราะจากเหตุการณ์ต่างๆ สะท้อนให้เห็น ตั้งแต่ คตร.มาตรวจสอบการบริหารงบฯของ สปสช. มีการตีความต่างๆ จนสุดท้ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งย้าย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ไปปฏิบัติราชการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จนบัดนี้ยังไม่ได้กลับ ซึ่งผลการตรวจสอบก็ไม่ได้ระบุว่าทุจริต แต่ก็ไม่เห็นให้ความเป็นธรรมแก่ นพ.วินัย ซึ่งเรื่องธรรมาภิบาลสำคัญมาก
มาล่าสุดณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการ สธ. เกี่ยวกับประเด็นข้อหารือการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจากการตีความแม้จะไม่ได้เหมือนกับ คตร.ทั้งหมด แต่ก็มีทิศทางไปในทางเดียวกัน เพราะจากความเห็นของ คตร.ทาง สปสช. เคยท้วงไปจนนายกรัฐมนตรีให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องนี้ แต่ผลออกมาก็มีทั้งดีและส่งผลกระทบ แต่ส่วนใหญ่กระทบในแง่การใช้งบเหมาจ่ายรายหัว โดยจำกัดการใช้เงินของโรงพยาบาล ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายกับระบบหลักประกันสุขภาพฯที่เดินหน้าดีมาตลอด
“ยกตัวอย่าง ข้อดีของการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาคือ การจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ให้แก่หน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการหรือ รพ.นั้นแม้จะเป็นเรื่องที่ขัดกับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ แต่จากการพิจารณาพบว่า หากสนับสนุนหน่วยงานเหล่านี้ และนำไปพัฒนาหรือบริการประชาชนด้านสุขภาพ ถือว่ามีส่วนร่วมย่อมทำได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องดี” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวด้วยว่า เรื่องที่ควรพิจารณาใหม่และรัฐบาลต้องคิดมากๆ คือ การตีความว่า สปสช.ไม่สามารถช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการทางการแพทย์ได้ กล่าวคือ หากพยาบาลวิชาชีพ หรือบุคลกรทางการแพทย์ให้บริการและเกิดผลกระทบ อย่างรถฉุกเฉินพลิกคว่ำก็ไม่สามารถรับการช่วยเหลือจากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งส่งผลต่อขวัญกำลังใจอย่างแน่นอน สุดท้ายพยาบาลวิชาชีพ บุรุษพยาบาลหนีออกนอกระบบ คนที่เดือดร้อนก็คือ ประชาชน จึงอยากให้บอร์ดสปสช.พิจารณาและทักท้วงกลับด้วย