กลุ่มสื่อสารความเสี่ยง และพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 แนะนำประชาชนว่า หลังน้ำลด ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบนก็พบผู้ป่วยสงสัยว่าเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรงอย่างโรคฉี่หนู โดยพื้นที่พบโรคมากเช่น อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง จังหวัดน่านทั้งจังหวัด และ อำเภอเพิ่งประสบเหตุพบผู้ป่วยสงสัยเร็วๆนี้คือ อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
จึงขอแนะนำการสังเกตอาการที่เข้าใจง่ายๆ การป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว
โรคฉี่หนู (หรือโรคเลปโตสไปโรซิส) โดยเชื้อก่อโรคจะเข้าทางรอยแผลบนผิวหนังเมื่อเกิดน้ำกัดเท้าหรือเท้าเปื่อยเมื่อแช่น้ำเป็นเวลานาน (ภายหลังแช่น้ำนานเกิน ๖ ชั่วโมง ผิวหนังจะมีรอยแยกซึ่งจะเป็นช่องทางที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้) โรคนี้มักเกิดการระบาดในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง สำหรับฤดูการระบาด คือในช่วงปลายฝนต้นหนาว
กลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่ต้องมีกิจกรรมที่ทำให้ต้องสัมผัสกับน้ำที่ท่วมขังอยู่หลังน้ำลดหรือน้ำที่ขังในนาข้าว ผู้ที่มีอาชีพหาปลา และต้องลุยน้ำ ย่ำโคลน
อาการโรคฉี่หนู มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางรายมีอาการตาแดง มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน หากมีอาการพร้อมมีประวัติสัมผัสน้ำท่วมขังหรืออยู่ในเขตน้ำท่วมให้รีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารสุขพร้อมเล่าประวัติเสี่ยงต่อโรคโดยละเอียด
วิธีป้องกัน – หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลนโดยไม่จำเป็น
– ถ้ามีบาดแผลต้องป้องกันไม่ให้สัมผัสถูกน้ำโดยสวมรองเท้าบู๊ทยางหรือรองเท้าบู้ททำเองจาก ถุงพลาสติกอย่างง่าย
– หากต้องลุยน้ำย่ำโคลนต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งอยู่เสมอโดยเร็วที่สุด
มีอาการไข้ไม่ซื้อยากินเอง ขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านหรือพบแพทย์
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ที่
– สื่อสุขศึกษา รวมเรื่องการป้องกันโรคต่างๆ – เช่น, สื่อโรคน้ำในภาวะน้ำท่วมจากเวบ สคร. ๑๐ ตามลิ้งค์ http://dpc10.ddc.moph.go.th/9/
– โรคฉี่หนู (เลปโตสไปโรซิส) และวีดีทัศน์การทำรองเท้ากันน้ำอย่างง่ายจากเวบ สคร. ๑๐ ตามลิ้งค์ http://dpc10.ddc.moph.go.th/9/lepto_all.html