เตรียมเปิดเวทีร่วมปกป้องเกาะลันตา หวั่นโรงไฟฟ้าทำมรกตอันดามันสิ้นชื่อ

เตรียมเปิดเวทีร่วมปกป้องเกาะลันตา หวั่นโรงไฟฟ้าทำมรกตอันดามันสิ้นชื่อ

 

 

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2557 นายศักดิ์กมล แสงดารา ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินเปิดเผยว่า ในวันที่ 7 เมษายน 2557 นี้ชาวเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโครงการท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน ประมาณ 100 คน จะจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการและเผยแพร่ข้อมูลผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ที่ดำเนินการโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งประชาชนในพื้นที่ส่วนมากไม่เห็นด้วยและร่วมคัดค้านมาแล้วในเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกําหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Public Scoping) หรือ ค.1 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557 แต่เนื่องจากเวทีดังกล่าวเป็นเพียงแค่เวทีที่ กฝผ.จัดขึ้นมาเพื่อรับฟังความกังวลจากภาคประชาชนนั้นไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเรื่องผลกระทบด้านอื่น และไม่มีเอกสารอื่นใดชี้แจงผลกระทบทั้งภาคการท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเดินหน้าเพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งอาจเชิญนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมให้ข้อมูลในพื้นที่ด้วย

นายศักดิ์กมล กล่าวต่อว่า ตามหลักการที่ถูก ควรมีการให้เกียรติและให้ความรู้อย่างสมเหตุสมผล แก่คนในพื้นที่ ก่อนจัดเวทีการรับฟังความเห็นแบบ ค.1 โดยกฟผ.ต้องมีเอกสารวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และแผนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA เพื่อแสดงข้อเท็จจริง แม้ว่าหลายครั้งที่มีการอ้างจะดำเนินการ แต่การทำ EIA ของภาครัฐบางครั้งก็เหมือนการเข้าคิวซื้อขนม ยังไงก็ต้องได้ ซึ่งหากบริสุทธิ์ใจจริง ต้องนำเอกสารแบบรอบด้านมาเสนอให้ ประชาชนพิจารณา แต่กรณีโรงไฟฟ้าและโครงการท่าเทียบเรือนั้น องค์กรนานาชาติอย่างกรีนพิซก็มีการนำเสนอข้อมูลเพื่อคัดค้านมาโดยตลอด เพราะชี้ชัดได้ว่า เกาะลันตาคือแหล่งดำน้ำที่ดี มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มาจากการพัฒนาที่ยั่งยืน ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มั่นคง ปรับตัวเรื่องการท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งบอกแล้วว่า กระบี่เปรียบเสมือนมรกตแห่งอันดามัน สะท้อนว่าเกาะลันตามีคุณค่า มีชื่อเสียงระดับโลก กฟผ.และรัฐบาลจึงควรเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากกว่าจะนำเอาสารพิษเข้ามาให้ประชาชน

“นักท่องเที่ยวหลายคนก็มีความเห็นเข้ามาว่า หากมีการก่อสร้างจริงก็จะมองหาที่เที่ยวแห่งใหม่ ขณะที่บางคนแม้ยังไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้า แต่พอรู้ข่าวว่า คนเกาะลันตาคัดค้าน เขาก็ยกเลิกที่พักแล้ว นี่แค่เบื้องต้นเท่านั้น นักท่องเที่ยวบางรายร่วมต่อต้าน ร่วมคัดค้าน แต่ในอนาคตหากเราเองก็สู้ไม่ได้ แล้วชาวต่างชาติเขาจะสนอะไร เพราะในเมื่อคนไทยเองร่วมคัดค้านแล้ว กฝผ.ก็ยังจะทำ ต่างชาติก็ย่อมเลือกที่ใหม่ แม้ตอนนี้จะมีกระแสคัดค้านระดับโลก แต่หากยังเดินหน้าแบบไม่ฟังเสียงคนในพื้นที่เกาะลันตาย่อมไม่รอด” นายศักดิ์กมล กล่าว

อนึ่งข้อมูลจากภาควิชาการที่เครือข่ายฯ ปกป้องกระบี่ได้รับคือ การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในกระบี่นั้นต้องใช้ถ่านหินบิทูมินัส นำเข้าจากอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย มีองค์ประกอบของสารซัลเฟอร์ ร้อยละ 0.1-1 แต่มีสารหนู 0.73 – 0.85 แคดเมียมต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปรอทต่ำกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้มีโครเมียม ซีรีเนียม องค์ประกอบแบบนี้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยบอกว่า มีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 

ที่มา เฟศบุ๊ค Paskorn Jumlongrach

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ