# เราคือเพื่อนกัน ของ ปรีดี พนมยงค์

# เราคือเพื่อนกัน ของ ปรีดี พนมยงค์

01

คอลัมน์: เพราะฉะนั้นแล้ว     เรื่อง: ธร ปีติดล     ภาพ: อมรรัตน์ กุลประยงค์

เมื่อเดือนที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสไปเป็นวิทยากรให้งานเสวนาเรื่อง ‘อ่าน ภราดรภาพนิยม ของปรีดี พนมยงค์’ ให้แก่มูลนิธิ ปรีดี พนมยงค์[1] จึงขอนำเอาเนื้อหาบางส่วนของสิ่งที่ได้นำเสนอในงานดังกล่าวมาเล่าให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง

แนวคิดภราดรภาพนิยม เป็นแนวคิดที่มีความสำคัญยิ่งต่อปรีดี พนมยงค์ โดยเป็นพื้นฐานทางความคิดที่สำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี  แม้ว่าเค้าโครงดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จในการกลายมาเป็นความจริง แต่ก็ได้กลายเป็นหน้าที่สำคัญของประวัติศาสตร์ไทยในฐานะทางเลือกหนึ่งที่เราเคยมีในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนจะเริ่มจากการเล่าให้ฟังถึงสาระสำคัญของแนวคิดภราดรภาพนิยมของ อ.ปรีดีก่อน และจะพยายามตอบคำถามสำคัญเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว 2 คำถาม คำถามแรกคือ เราจะเข้าใจแนวคิดเช่นภราดรภาพนิยมผ่านกรอบการมองทางเศรษฐศาสตร์ได้อย่างไร ส่วนคำถามที่ 2 คือ เมื่อมองไปที่เส้นทางของพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยแล้ว สะท้อนการมีอยู่และขาดหายไปของแนวคิดภราดรภาพนิยมเช่นไร

แนวคิดภราดรภาพนิยมของปรีดี พนมยงค์

แนวคิดภราดรภาพนิยม (Solidarism) โดยเฉพาะที่ถูกถ่ายทอดไว้โดย อ.ปรีดี มีหัวใจหลักอยู่ที่การให้ความสำคัญกับความผูกพันที่แยกกันไม่ออกระหว่างมนุษย์ในฐานะปัจเจกกับสังคมส่วนรวมที่หล่อหลอมและให้โอกาสกับเขา[2]

หากจะพยายามอธิบายแนวคิดดังกล่าวให้สั้นและกระชับ แนวคิดภราดรภาพนิยมนั้นมองว่าความสำเร็จและล้มเหลวของมนุษย์แต่ละคนนั้นเชื่อมโยงกับบทบาทของสังคมส่วนรวมอยู่เสมอ เช่น การที่ใครคนหนึ่งจะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีได้นั้น ก็ต้องด้วยสังคมที่แวดล้อมนั้นได้สร้างโอกาสและสภาพทางเศรษฐกิจที่ดีให้  มิฉะนั้นแล้ว ความสำเร็จของเขาคงไม่อาจเกิดขึ้นได้  ตัวอย่างสำคัญที่ อ.ปรีดี ได้ยกเอาไว้คือ หากมีใครคนหนึ่งร่ำรวยเพราะมูลค่าที่ดินของเขาสูงขึ้นนั้น นั่นก็เป็นเพราะสังคมส่วนรวมได้นำพาความเจริญก้าวหน้ามาจนที่ดินของเขามีมูลค่าเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะความสำเร็จของเขาเพียงคนเดียว

ในทางกลับกัน แนวคิดภราดรภาพนิยมของ อ.ปรีดี ก็มองเช่นกันว่า การที่ใครคนหนึ่งในสังคมต้องประสบเคราะห์กรรมและความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ก็เชื่อมโยงอยู่กับสภาพที่สังคมส่วนรวมสร้างให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาอย่างความยากจนของสมาชิกสังคมคนในคนหนึ่งยังอาจส่งผลในทางลบไปถึงคนอื่นๆ ในสังคมอีกด้วย

โลกทรรศน์ที่มองความสำเร็จและล้มเหลวหรือความสุขและความทุกข์ในชีวิตแต่ละคน ว่าเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับสภาพที่สังคมส่วนรวมได้สร้างเอาไว้แวดล้อมพวกเขานั้น นำไปสู่แนวคิดในเชิงศีลธรรมว่ามนุษย์นั้นมีพันธะทางสังคมที่ต้องตอบแทนให้แก่สังคมส่วนรวมด้วย เพราะพวกเขาต่างย่อมเคยได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ส่วนรวมได้สร้างเอาไว้ให้มาบ้างไม่มากก็น้อย รวมทั้งยังเติบโตมาในสภาพทางสังคมที่เป็นดั่งมรดกที่คนรุ่นก่อนหน้าได้ช่วยกันสร้างไว้ให้

กล่าวโดยสรุปคือ โลกทรรศน์แบบภราดรภาพนิยมของ อ.ปรีดี นั้น มองว่ามนุษย์ควรมีหน้าที่นตอบแทนสังคมส่วนรวม และหากจะกล่าวให้ทันสมัยเสียหน่อย การมองโลกแบบนี้คล้ายกับมุมมองที่ว่าสมาชิกในสังคมทุกคนนั้น ล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พวกเราควรพยายามช่วยเหลือกันและกันด้วย

ดังที่ได้กล่าวไว้ว่าแนวคิดภราดรภาพนิยมนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อเนื้อหาของเค้าโครงการเศษฐกิจของ อ.ปรีดี แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่ข้อเสนอที่สำคัญ 2 ประการ

ประการแรก เนื่องจาก อ.ปรีดี มองว่าในระบบเศรษฐกิจที่ดีนั้น คนส่วนมากต้องไม่ตกเป็นทาสของคนส่วนน้อยที่มีอำนาจผูกขาดทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ระบบเศรษฐกิจควรเป็นระบบที่คนทั้งหมดได้ร่วมมือกันในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้แนวทางการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจที่ อ.ปรีดี ได้พยายามให้เกิดขึ้นจึงเป็นการพยายามให้ทุกคนในสังคมไทยมีส่วนในดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกันผ่านระบบรัฐผสมกับสหกรณ์

ประการที่ 2 จากมุมมองที่ว่าสมาชิกในสังคมนั้นต่างควรตอบแทนกัน ทุกคนจึงควรช่วยเหลือกันเพื่อให้ใครก็ตามในสังคมได้มีชีวิตที่ดีเป็นพื้นฐาน เค้าโครงการเศรษฐกิจของ อ.ปรีดี จึงต้องการให้สังคมไทยสร้างระบบสวัสดิการเพื่อ ‘ประกันความสุขสมบูรณ์’ ให้แก่สมาชิกสังคมไทยทุกคน โดย อ.ปรีดี เสนอให้ทำเรื่องดังกล่าวผ่านการให้ระบบรัฐผสานสหกรณ์ที่ท่านวางแผนเอาไว้นั้น ทำการจ้างงานให้แก่ทุกคนในสังคมไทยที่ทำงานได้ เพื่อให้ทุกคนมีรายได้ และยังสนับสนุนให้รัฐเข้ามาจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนทุกคน

เศรษฐศาสตร์กับแนวคิดภราดรภาพนิยม

ที่จริงแล้วมุมมองต่อมนุษย์เช่นที่ อ.ปรีดี ได้เสนอไว้ในแนวคิดภราดรภาพนิยมนั้น เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ได้รับการถกเถียงมาอย่างยาวนานในวิชาเศรษฐศาสตร์ คือประเด็นที่เราควรเข้าใจว่ามนุษย์นั้นมีลักษณะสำคัญเป็นเช่นไร และระบบเศรษฐกิจที่ดีนั้นควรตอบสนองกับลักษณะนั้นๆ ของมนุษย์อย่างไร

เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งเป็นแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในปัจจุบัน มีมุมมองต่อมนุษย์ที่แตกต่างไปมากจากแนวคิดภราดรภาพนิยมของ อ.ปรีดี คือแทนที่จะมองมนุษย์ว่าผูกพันอยู่อย่างแยกไม่ออกกับสังคม และควรพยายามตอบแทนสมาชิกสังคมอื่นๆ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักกลับให้ความสำคัญกับมนุษย์ในฐานะของปัจเจก ที่สำคัญคือ ปัจเจกตามความเข้าใจของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั้นยังมักถูกลดทอนให้เป็นปัจเจกที่สนใจเฉพาะเพียงประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับเท่านั้น

มุมมองต่อมนุษย์ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนี้ มักถูกเรียกสั้นๆ ว่า การมองมนุษย์เป็น ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ (homo-economicus) ซึ่งหมายถึงการมองลักษณะหลักของมนุษย์ว่าประกอบไปด้วยความมีเหตุผลและความพยายามแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดให้แก่ตัวเอง เมื่อเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองลักษณะสำคัญของมนุษย์เป็นเช่นนี้ ระบบทางเศรษฐกิจที่จะช่วยตอบสนองลักษณะดังกล่าว และสร้างประโยชน์ให้แก่สมาชิกได้สูงสุดก็ย่อมเป็นระบบตลาด ซึ่งเปิดโอกาสให้คนทุกคนได้แสวงหากำไรอย่างเต็มที่

แน่นอนว่า มุมมองที่ได้อธิบายไว้นี้ ได้สร้างข้อถกเถียงกันมาแสนนานว่าเหมาะสมและสะท้อนความเป็นจริงได้มากเพียงใด ผู้คนมากมายได้โจมตีแนวคิดเช่นนี้ว่ามองมนุษย์อย่างลดทอนมากเกินไป เพราะไปตัดเอาหลากหลายมิติของมนุษย์ออกไป มองมนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่เห็นแต่ประโยชน์ของตนเอง แต่คนที่เชื่อมั่นในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักตอบว่า ข้อสมมุติทางเศรษฐศาสตร์นั้นไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนความเป็นจริงทั้งหมด แต่ตั้งขึ้นเพียงให้สะท้อนกับลักษณะที่สำคัญที่สุดเท่านั้น เพราะข้อสมมติต้องถูกใช้เพื่อให้สามารถสร้างแบบจำลองเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ได้

หลากหลายมุมมองที่พยายามแย้งกับมุมมองต่อมนุษย์ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั้น มองมนุษย์ไปในทางเดียวกับแนวคิดเช่นภราดรภาพนิยม โดยพยายามแย้งว่าธรรมชาติพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์นั้นไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่เป็นการเชื่อมโยงตนเองกับสังคมส่วนรวม เช่น การให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกันและกัน

ตัวอย่างที่สำคัญของแนวคิดที่เกิดจากความพยายามแย้งกับกับมุมมอง ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ เช่นมุมมองจากวิชามานุษยวิทยาเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการไปศึกษาวัฒนธรรมของชนเผ่าหลายๆ เผ่า และพบว่าในหลายๆสังคมมนุษย์โดยเฉพาะสังคมที่ยังอยู่กันแบบโบราณนั้น พฤติกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากความพยายามในการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง แต่มาจากวัฒนธรรมในการต่างตอบแทนของสมาชิกชนเผ่าต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเช่น Amartya Sen ที่ได้พยายามสร้างแนวคิดที่ช่วยเติมเต็มความบกพร่องของแนวคิดสัตว์เศรษฐกิจ โดยเขาเสนอมุมมองว่า มนุษย์ไม่ได้สนใจแต่เพียงประโยชน์สุขของตนเอง แต่ยังมีแง่มุมสำคัญที่เรียกว่า การเป็นตัวแทน (Agency) ซึ่งหมายถึงแง่มุมของที่มนุษย์สนใจประโยชน์สุขของกลุ่มคนที่เขาใส่ใจ แง่มุมนี้นำไปสู่การที่มนุษย์จะทำเพื่อคนอื่นๆ นอกจากตัวเองได้เช่นกัน

ในปัจจุบัน ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในวิชาเศรษฐศาสตร์ ยิ่งทำให้ข้อโต้แย้งต่อแนวคิดสัตว์เศรษฐกิจนั้นมีน้ำหนักมากขึ้น และสร้างข้อค้นพบที่สนับสนุนการมองมนุษย์ตามแนวคิดเช่นภราดรภาพนิยม การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่นำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ นี้คือ พัฒนาการของแขนงวิชาทางเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งพยายามสร้างการทดลองหลากหลายรูปแบบเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์  รายงาน World Development Report ในปีล่าสุด (2558)[3] นี้ได้ให้ข้อสรุปจากการวิจัยทดลองในหลากหลายรูปแบบของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ว่ามนุษย์นั้นแท้จริงแล้วมีลักษณะสำคัญคือการเป็น ‘สัตว์สังคม’ ที่ต้องการตอบแทนกันและกัน ฉะนั้น นโยบายการพัฒนาของประเทศต่างๆ ควรหันมาให้ความสำคัญกับลักษณะนี้

ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอิทธิพลของแนวคิดสัตว์เศรษฐกิจแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในมุมมองต่อมนุษย์ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนี้ยังคงอยู่แค่เพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และยังไม่ไปไกลถึงจุดที่ข้อเสนอเรื่องระบบตลาดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะผันแปรไปจากเดิมมากมาย ยังคงต้องรอดูต่อไปว่าวิชาเศรษฐศาสตร์จะมีการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่อยู่บนฐานของแนวคิดเช่นภราดรภาพนิยม เช่นที่ อ.ปรีดี เคยพยายามเสนอในเค้าโครงเศรษฐกิจหรือไม่

แนวคิดภราดรภาพนิยมกับเศรษฐกิจไทย

เป็นทีทราบกันดีว่า ชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของ อ.ปรีดี นั้นเป็นอย่างไร เค้าโครงดังกล่าวนั้นถูกต่อต้านว่าเป็นคอมมิวนิสต์จนต้องล้มพับไป อย่างไรก็ตาม คำถามที่ไม่ค่อยถูกถามคือ เมื่อเศรษฐกิจไทยไม่ได้เลือกเดินตามแนวทางของเค้าโครงดังกล่าวแล้ว เส้นทางของเศรษฐกิจไทยกลับหันเหไปทิศทางใด และเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่เค้าโครงเศรษฐกิจได้วางไว้แล้วนั้น เศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นจริงตอบเป้าหมายเหล่านั้นได้เพียงใด

ผู้เขียนจะลองตอบคำถามข้างต้นเพียงสั้นๆ และคงได้คำตอบที่ยังไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก โดยจะลองเทียบความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยในยุคหลังเค้าโครงเศรษฐกิจกับสองสาระสำคัญของเค้าโครงเศรษฐกิจที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นคือ หนึ่ง… การให้รัฐและสหกรณ์มีบทบาทหลักในการเป็นผู้ ‘ดำเนินกิจกรรมการผลิต’ และ สอง… ความพยายามให้รัฐเป็นผู้ให้สวัสดิการแก่ทุกคนในสังคมไทย

ความเชื่อว่ารัฐนั้นมีความสามารถสูงในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นความเชื่อสำคัญที่แฝงอยู่ในเค้าโครงทางเศรษฐกิจ อ.ปรีดีมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่ารัฐจะมีบทบาทนำในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจได้ ระบบสหกรณ์ที่ อ.ปรีดีวางเอาไว้นั้นก็เป็นระบบที่ถูกกำกับโดยรัฐอีกทีหนึ่ง โดยทั้งรัฐและสหกรณ์จะทำงานร่วมกันในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างแบบเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วางแผนการผลิตจนไปถึงแจกจ่ายผลผลิต ทั้งยังมีบทบาทด้านการให้การศึกษาและการรักษาพยาบาลอีกด้วย

ความเชื่อมั่นในรัฐของ อ.ปรีดีนั้น มาพร้อมๆ กับความไม่เชื่อมั่นในระบบเอกชนเท่าไรนัก อ.ปรีดีมองบทบาทของเอกชนว่าอาจนำมาซึ่งความระส่ำระส่ายทางเศรษฐกิจ เพราะนายจ้างเอกชนกับลูกจ้างมักมีปัญหาความขัดแย้งกันอยู่บ่อยครั้ง

แต่เมื่อเทียบกับความเป็นจริงแล้ว เส้นทางของเศรษฐกิจไทยหลังจากเค้าโครงเศรษฐกิจของอ.ปรีดีนั้นหันเหออกจากความเชื่อในความสามารถของรัฐมาเรื่อยๆ ในช่วงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้น รัฐไทยยังมีบทบาทสำคัญในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่เมื่อมาถึงยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยก็ไม่ได้ต้องการให้รัฐเข้ามาทำการผลิตอีกที่ต่อไป ต้องการแต่เพียงให้ทำหน้าที่กำกับดูแลเพียงเท่านั้น

แนวทางที่ให้รัฐมีบทบาทเพียงกำกับดูแลเศรษฐกิจ และให้เอกชนมีบทบาทหลักในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ดำเนินต่อมาถึงปัจจุบัน โดยไม่เพียงเป็นแนวทางที่ไทยได้เลือกเดินเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางที่กลายมาเป็นเส้นทางหลักในระดับสากลที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเลือกเดินอีกด้วย (ผ่านการสนับสนุนแกมบังคับขององค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจของโลกเช่น World Bank และ IMF) อาจกล่าวได้ว่าความเชื่อมั่นต่อรัฐดังเช่นที่ อ.ปรีดีเคยเสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น ยากที่ใครจะมองเช่นนั้นในโลกปัจจุบันนี้แล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า การหันเหออกจากการเชื่อมั่นให้รัฐเป็นผู้ประกอบกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจของไทย อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ อ.ปรีดีเองก็ยังมีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจอยู่ด้วยซ้ำ ด้วย อ.ปรีดีอาจได้บทเรียนในภายหลังว่าความเชื่อมั่นต่อรัฐของท่านนั้น เป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป โดยเฉพาะเมื่อรัฐที่เข้ามาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นเป็นรัฐเผด็จการทหารที่ขาดความสนใจและความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน[4]

อีกประเด็นสำคัญในเนื้อหาของเค้าโครงการเศรษฐกิจคือ ความพยายามให้มีระบบสวัสดิการให้แก่ประชาชนทุกคน โดย อ.ปรีดีต้องการให้คนที่เกิดมาในสังคมไทยได้รับการประกันเป็นอย่างน้อยว่าตั้งแต่เกิดจนตายจะได้มีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างครบถ้วน และก็ต้องการให้รัฐเข้ามามีบทบาทผ่านการเป็นผู้ให้เงินเดือนและสวัสดิการอื่นๆ แก่ทุกคนในสังคมไทย

น่าสนใจว่านับจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของอ.ปรีดีได้ล้มเหลวไป ก็ไม่ได้มีความพยายามในระดับเดียวกันโดยผู้มีอำนาจรัฐ ในการสร้างระบบสวัสดิการในขนาดเดียวกันอีกเลย แนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการในสังคมไทยนั้นถดถอยลงเรื่อยๆ จนแทบจะหายไปเมื่อเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจอมพลสฤษดิ์ ความเชื่อใหม่ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยคือ การสร้างการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และเมื่อเศรษฐกิจได้เติบโตแล้ว ผลดอกแห่งการเติบโตก็จะกระจายมาสู่คนทุกกลุ่มในสังคมเอง

อย่างไรก็ดี พัฒนาการที่ผ่านมาของเศรษฐกิจไทยกลับแสดงให้เห็นว่าแนวคิดการกระจายประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจไทยกลับมาพร้อมกับสภาพความเหลื่อมล้ำที่ไม่ได้ลดน้อยลงไปแต่อย่างใด

เมื่อมองใกล้กับปัจจุบันเสียหน่อย อาจพบว่าระบบสวัสดิการของไทยนั้นแม้พัฒนาอย่างเชื่องช้ามาหลายทศวรรษ แต่สภาพดังกล่าวก็ดูเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ถึง 2540 ที่มีการเกิดขึ้นและขยายตัวของระบบประกันสังคม มีโครงการเรียนฟรีต่างๆ และการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ชนบท และมีโครงการสวัสดิการด้านสุขภาพที่สำคัญก็คือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า สภาพสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวของระบบสวัสดิการในสังคมไทยนั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยเปิดช่องทางให้สังคมสร้างแรงผลักดันให้นโยบายต่างๆ ที่กล่าวไว้นั้นเกิดขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า แม้ระบบประชาธิปไตยไทยนั้นมีปัญหาหลายประการ แต่ก็ได้สร้างคุณูปการไว้กับสังคมไทยเช่นกัน ด้วยการเปิดโอกาสให้สมาชิกสังคมนั้นมีโอกาสผลักดันให้รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาทำหน้าที่ทางสวัสดิการเพิ่มขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในปัจจุบัน เมื่อพัฒนาการของประชาธิปไตยไทยต้องหยุดลง พัฒนาการของกลไกที่สร้างแรงผลักดันให้เกิดพัฒนาการของระบบสวัสดิการเหล่านี้ก็เหมือนต้องหยุดชะงักไปด้วย

ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายเอาไว้ว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ประชาธิปไตยไทยต้องหยุดชะงักลงคือคนในสังคมไทยนั้นไม่ค่อยมองเห็นถึงความสำคัญของรัฐในการทำหน้าที่ทางสวัสดิการ และจะมองระบบสวัสดิการด้วยความกังวลเสียมากกว่า ว่าจะสร้างความสิ้นเปลืองที่อาจกลายไปเป็นความเสี่ยงทางการคลัง สังคมไทยยังไม่พยายามแยกแยะว่านโยบายสวัสดิการนั้นต่างไปจากประชานิยมอย่างไร และเหมารวมเอาทั้ง 2 สิ่งไว้ด้วยกันจนทำให้โอกาสในการพัฒนาระบบสวัสดิการไทยอาจต้องหดหายไปด้วย

และที่คนในสังคมไทยมักมองเช่นนี้อาจด้วยว่าสังคมไทยนั้นขาดแนวคิดที่มีอิทธิพลในสังคมที่จะสามารถเป็นรากฐานให้กับพัฒนาการของระบบสวัสดิการได้ สังคมไทยไม่เพียงแต่เลือกเดินทางด้านสวัสดิการที่ต่างไปจากเค้าโครงเศรษฐกิจของอ.ปรีดี แต่แม้กระทั่งแนวคิดภราดรภาพนิยมที่เป็นฐานความคิดของ อ.ปรีดีนั้น ก็ถูกสังคมไทยละเลยไม่เคยมองเห็น ส่งผลให้เส้นทางเดินที่แตกต่างไปนั้นไม่อาจหันมาบรรจบกันได้เสียที

ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ สังคมไทยกำลังต้องการแนวคิดที่จะมาเป็นฐานในการสร้างทิศทางให้แก่สังคมในอนาคต ช่วงเวลาเช่นนี้เอง จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมยิ่งที่สังคมไทยจะหันมาสนใจกับแนวคิดภราดรภาพนิยมของ อ.ปรีดีอีกครั้ง เพื่อที่ว่าแนวคิดดังกล่าวจะกลายมาเป็นฐานในการสร้างสรรค์เส้นทางเดินให้แก่สังคมไทยในอนาคต

เผื่อว่าวันหนึ่งเส้นทางของสังคมไทยกับฝันของ อ.ปรีดีเรื่องระบบสวัสดิการอาจมาบรรจบกัน และคงมีหวังได้เห็นสังคมที่มองว่าเราทุกคนคือเพื่อนกัน ต่างคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

*****

[1] งานปรีดีศึกษาครั้งที่ 1 โดย สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2558 ณ หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ผู้เขียนขอขอบคุณผู้จัดงานโดยเฉพาะ คุณสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย

[2] เนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดภราดรภาพนิยมของปรีดี พนมยงค์ ผู้เขียนได้มาจากการอ่านปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี ๒๕๔๙ (ฉบับขยายความ) ‘ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของ ปรีดี พนมยงค์’ โดย ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

[3] World Development Report 2015:  Mind, Society, and Behavior โดย The World Bank

[4] สามารถอ่านในประเด็นนี้เพิ่มเติมได้จาก ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคริส เบเคอร์ (2546) เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ บทที่ 4

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ