มองคอร์รัปชั่นผ่านมุมมองทางวัฒนธรรม

มองคอร์รัปชั่นผ่านมุมมองทางวัฒนธรรม

Corruptionthroughcultureคอลัมน์: เพราะฉะนั้นแล้ว         เรื่อง:ธร ปีติดล          ภาพ: ณฐพัฒญ์ อาชวรังสรรค์

ผู้เขียนเคยได้อ่านงานศึกษาปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไนจีเรีย[i] ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นสูงที่สุดในโลก และได้สะดุดใจกับข้อสังเกตที่ว่าแท้จริงแล้ว คนไนจีเรียส่วนใหญ่เองก็ต่างไม่พอใจกับปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศของเขา โดยมองว่าหากประเทศปราศจากซึ่งคอร์รัปชั่นแล้ว ความร่ำรวยในทรัพยากรธรรมชาติของไนจีเรียคงทำให้ทุกคนได้มีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

แม้คนไนจีเรียมักกล่าวกันอย่างติดปากไปทั่วว่า คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาหลักที่ถ่วงความเจริญของประเทศ และแม้พวกเขาโกรธแค้นผู้คนที่คอร์รัปชั่น แต่การคอร์รัปชั่นก็ไม่ได้ลดหายไปจากประเทศแต่อย่างใด ไนจีเรียยังคงเต็มไปด้วยการโกงกิน และการฉ้อโกง ถึงขั้นที่ว่าในยุคที่มีอีเมลใช้กันอย่างแพร่หลาย ทุกคนในโลกต่างต้องเคยได้รับอีเมลหลอกลวงที่ถูกส่งมาจากไนจีเรียอย่างน้อยสักหนึ่งครั้งในชีวิต

ข้อสังเกตจากกรณีของไนจีเรียสะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว การกระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์คอร์รัปชั่น มองคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาหลัก และโกรธเกรี้ยวผู้ที่คอร์รัปชั่น ก็ไม่จำเป็นว่าจะช่วยทำให้ปัญหานี้ลดลงไปได้ การกระจายตัวของคอร์รัปชั่นไปทุกส่วนในสังคม ยังเกิดได้ต่อไปพร้อมๆ การโกรธเกรี้ยวคอร์รัปชั่น

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนอยากชวนผู้อ่านลองทำความเข้าใจปรากฏการณ์เช่นนี้ ผ่านการมองคอร์รัปชั่นด้วยมุมมองอีกแบบ ซึ่งคือมุมมองทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ ผู้เขียนยังอยากลองสร้างข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่นไทยจากมุมมองทางวัฒนธรรม ว่าเราจะเข้าใจปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทยให้ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร และเหตุอันใด การวิพากษ์คอร์รัปชั่นในสังคมไทยดังที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบันนั้น อาจไม่ได้ช่วยให้คอร์รัปชั่นลดลงได้อย่างจริงจัง

มองคอร์รัปชันผ่านมุมมองทางวัฒนธรรม

เมื่อกล่าวถึงคอร์รัปชั่นแล้ว ผู้คนทั่วไปโดยเฉพาะในสังคมไทยมักนึกไปถึงเหล่านักการเมืองและข้าราชการที่ฉ้อฉล มุ่งหาประโยชน์ส่วนตนจากตำแหน่งหน้าที่ ในวงวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ ก็มักพยายามศึกษาปัญหาคอร์รัปชั่นจากแง่มุมประเภทผลเสียของคอร์รัปชั่นต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ว่าคอร์รัปชั่นอาจส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในทางใดบ้าง นอกจากนี้ ทางเศรษฐศาสตร์ยังพยายามอธิบายที่มาของคอร์รัปชั่น โดยเชื่อมโยงการเกิดขึ้นของคอร์รัปชั่นกับการที่รัฐเข้ามากีดขวางการทำงานของระบบตลาด เช่น การที่รัฐเข้ามากำหนดโควต้าการซื้อขายสินค้า หรือการที่รัฐเข้ามาให้อำนาจการผูกขาดกับผู้ขายบางราย ซึ่งพอรัฐเข้ามามีบทบาทในลักษณะนี้ ก็ย่อมเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่นเพือให้ได้โอกาสพิเศษทางเศรษฐกิจที่รัฐสร้างขึ้น

อย่างไรก็ดี การสร้างความเข้าใจต่อคอร์รัปชั่นผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ยังขาดความสามารถในการอธิบายบางแง่มุม เช่น ยังไม่ได้พยายามเข้าใจสภาวะที่คอร์รัปชั่นได้แพร่หลายและฝังรากลึกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เป็นสภาพที่เกิดขึ้นและประสบได้อยู่เสมอๆ ในชีวิตประจำวันของคนทุกคน โดยเฉพาะเมื่อคอร์รัปชั่นกลายเป็นสภาพที่ผู้คนทั่วไปต้องพบเจอในการเข้าปฏิสัมพันธ์กับรัฐและกฏเกณฑ์ของรัฐ เช่น เมื่อคนในสังคมที่มีคอร์รัปชั่นแพร่หลายต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฏหมาย พวกเขาย่อมนึกไปถึงสภาพที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น ถึงแม้ไม่ใช่การคอร์รัปชั่นด้วยตนเอง ก็ย่อมต้องคาดเดาว่าฝ่ายอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น มีส่วนในการคอร์รัปชั่นหรือไม่

เพราะฉะนั้น หากต้องการอธิบายสภาวะที่คอร์รัปชั่นนั้นหายไปได้อย่างยากเย็นในหลายๆ สังคมโลก ก็มีความจำเป็นยิ่งที่ต้องหามุมมองใหม่ต่อคอร์รัปชั่นมาสร้างความเข้าใจกับสภาพเช่นนี้ มุมมองที่ผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในลักษณะนี้ คือการมองคอร์รัปชั่นจากมุมมองทางวัฒนธรรม

นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ J.P. Olivier de Sardan ได้พยายามชักชวนให้มองคอร์รัปชั่นผ่านมุมมองทางวัฒนธรรม[ii] โดยลองถามคำถามที่แตกต่างไปจากการวิพากษ์คอร์รัปชั่นที่พบอยู่ได้ทั่วไปว่า หากเรามองการคอร์รัปชั่นผ่านมุมของผู้คนที่เข้าไปมีส่วนกับคอร์รัปชั่นเสียเองแล้ว คนเหล่านั้นอธิบายภาวะที่เกิดขึ้นอย่างไร พวกเขามีวิธีการสร้างความชอบธรรมหรือลดทอนปัญหาของการคอร์รัปชั่นที่ตัวเองเข้าไปมีส่วนอย่างไรบ้าง

ด้วยการมองคอร์รัปชั่นผ่านมุมมองทางวัฒนธรรม Olivier de Sardan ได้สร้างชุดคำอธิบายที่น่าสนใจยิ่งให้กับสภาพการแพร่หลายของคอร์รัปชั่นในแอฟริกา เขาอธิบายว่า การแพร่หลายของคอร์รัปชั่นในแอฟริกานั้นแสดงให้เห็นว่าผู้คนต่างๆ ในสังคมนั้นต่างก็ตกอยู่ภายใต้สภาพทางวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่น เขาได้อธิบายต่อไปว่าวัฒนธรรมของสังคมแอฟริกา (ซึ่งจริงๆ ก็คล้ายกับวัฒนธรรมไทยอยู่มากทีเดียว) นั้นประกอบไปด้วยแง่มุมที่แม้ไม่ได้ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นโดยตรง แต่ก็เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่นขึ้นในทุกระดับ

แง่มุมทางวัฒนธรรมที่ Olivier de Sardan ชี้ให้เห็นว่าเป็นเสมือนบ่อเกิดของการคอรัปชั่นในแอฟริกา เช่น การที่กฏเกณฑ์ต่างๆ ในสังคมนั้นล้วนแต่สามารถถูกเจรจาให้เปลี่ยนแปลงไปได้ผ่านอำนาจของผู้เจรจา สภาพที่การให้ของกำนัลเป็นการกระทำที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ต่อผู้มีอำนาจ และการที่เครือข่ายทางสังคมเช่นเครือญาติ และเพื่อนฝูงถูกคาดหวังให้เป็นเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สังเกตได้ว่าแง่มุมทางวัฒนธรรมเหล่านี้ล้วนแต่ถูกมองได้ว่าเป็นสภาพธรรมดาที่ใครๆ ต่างก็ควรต้องกระทำ  การที่เพื่อนฝูงต้องคอยช่วยเหลือกัน โดยการช่วยเหลือนี้มักรวมไปถึงการช่วยให้ก้าวข้ามกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่คนทั่วไปต้องประสบ

นอกจากแง่มุมวัฒนธรรมที่เอ่ยไปข้างต้นแล้ว อีก 2 แง่มุมมทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับการคอร์รัปชั่นในแอฟริกา เป็นแง่มุมทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการเข้าไปมีตำแหน่งหน้าที่ในทางการเมืองหรือการบริหารราชการ ซึ่งคือการที่ผู้ที่สามารถเข้าถึงตำแหน่งหน้าที่ มีบทบาทให้คุณให้โทษนั้นถูกคาดหวังให้ใช้อำนาจในการกระจายประโยชน์ให้แก่ผู้คนที่ใกล้ชิดหรือสนับสนุน และแง่มุมที่สำคัญคือ การที่ผู้เข้าถึงตำแหน่งหน้าที่ของรัฐมองว่าอำนาจจากตำแหน่งของตนนั้นสามารถถูกใช้ไปเพื่อการตอบสนองผลประโยชน์หรือเป้าหมายส่วนตัวได้ อันรวมไปถึงการใช้อำนาจรัฐมากำจัดศัตรูทางการเมืองของตนเอง

แง่มุมทางวัฒนธรรมที่เอ่ยมาแล้วทั้งหมดนั้น สร้างพื้นที่ของการกระทำในลักษณะ สีเทา ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการคอร์รัปชั่น พื้นที่สีเทานี้เองเป็นพื้นที่ที่ใครๆ ก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่เข้าไปมีส่วนในอำนาจรัฐ ต่างก็หลีกเลี่ยงการเข้าไปข้องแวะได้ยาก  ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสภาวะที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น คงพอนึกถึงสภาพดังกล่าวได้อยู่หลายๆ ประการ เช่น กรณีผู้ที่สามารถเข้าไปมีอำนาจในภาครัฐ มักถูกร้องขอให้ ‘ช่วย’ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง กระทั่ง ผู้เคยมีพระคุณ โดยหากไม่ช่วยเหลือยังอาจถูกโจมตีเสียอีกถึงความเป็นคนที่ขาดแคลนน้ำใจ

สภาพน่าสนใจที่เกิดขึ้นตามมาคือ สำหรับผู้ที่เข้าไปมีส่วนกับการกระทำสีเทาๆ ทั้งหลายนั้น พวกเขาสามารถมองการกระทำของตัวเองได้ว่าไม่ผิดอะไรมากมาย พวกเขาสามารถอธิบายผ่านมุมมองทางวัฒนธรรมถึงความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น  อย่างไรก็ดี หากลองกลับสถานการณ์ให้การกระทำดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับพวกเขาเอง แต่ไปเกิดขึ้นกับคนอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกตีตราให้เลวร้ายอยู่แล้วอย่างนักการเมือง พวกเขาอาจเปลี่ยนไปโจมตีการคอร์รัปชั่นของคนอื่นได้อย่างรุนแรงและง่ายดาย

มองคอร์รัปชั่นในสังคมไทย

หากมองการคอร์รัปชั่นในสังคมไทยผ่านมุมมองทางวัฒนธรรมแล้ว คงเข้าใจได้ไม่ยากว่า สังคมไทยของเราเองก็เต็มไปด้วยแง่มุมทางวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่นเช่นกัน  ผู้เขียนยังจำได้ดีว่าอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยเล่าถึงข้อสังเกตจากนักวิชาการชาวต่างประเทศที่มาเยือนประเทศไทยว่า “Every rules in Thailand is negotiable” (ทุกกฏเกณฑ์ในสังคมไทยต่างก็มีช่องทางให้เจรจาได้)

นอกจากนี้ ความสำคัญของเครือข่ายที่ต้องช่วยเหลือกันและกันของผู้มีอำนาจในสังคมไทย ก็สำคัญเสียจนต้องมีความพยายามลงทุนสร้างเครือข่ายกันอย่างเป็นระบบ เช่น การต้องลงทุนเข้าไปเรียนหลักสูตรพิเศษต่างๆ เพื่อสร้างคอนเนคชั่นระหว่างข้าราชการ ทหาร นักการเมือง และนักธุรกิจ

พื้นที่สีเทาที่เชื่อมโยงกับคอร์รัปชั่นในสังคมไทยจึงมีขนาดที่ใหญ่โต เอื้อให้การกระทำที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ การก้าวข้ามไปสู่พฤติกรรมการคอร์รัปชั่นในกรณีส่วนใหญ่จึงไม่ใช่การก้าวผ่านจากขาวเป็นดำ แต่เป็นการเดินอยู่ในพื้นที่สีเทา การกระทำมากมายในระบบราชการและการเมืองไทยต่างก็มีแง่มุมที่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมที่หากมองให้เป็นการคอร์รัปชั่นก็ได้ ผู้คนที่อยู่ในวงราชการและการเมืองคงทราบดีว่า การจะหลีกเลี่ยงคำร้องขอจากเครือข่ายทางสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้การที่ข้าราชการระดับสูงถูกชักชวนไปนั่งในฐานะที่ปรึกษาหรือบอร์ดบริษัทเอกชนก็กลายมาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป

สภาพอีกประการที่แสดงให้เห็นถึงขอบเขตที่ใหญ่โตของพื้นที่สีเทาอันนี้ คือการที่ผู้มีอำนาจในการตรวจสอบคอร์รัปชั่น หรือผู้ที่แสดงออกว่าตนเองเป็นนักสู้ในการกำจัดคอร์รัปชัน ก็อาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นเสียเอง เช่น ไปใช้ตำแหน่งหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้อง หรือมีพฤติกรรมเช่นการเลี่ยงภาษีหรือใช้งบราชการอย่างสิ้นเปลืองในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการนำเอาข้อสังเกตเช่นนี้มาเพื่อโจมตีใคร แต่อยากตั้งคำถามต่อไปว่า เมื่อสังคมไทยเองมีวัฒนธรรมที่เอื้อกับการคอร์รัปชั่น จนเต็มไปด้วยพฤติกรรมที่สามารถถูกหยิบยกมาโจมตีได้ว่าเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น แล้วการวิพากษ์คอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นอยู่อย่างแพร่หลายอยู่นั้นสะท้อนถึงอะไร

ผู้เขียนอยากชวนให้ลองคิดต่อไปว่า การวิพากษ์คอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้นั้น แท้จริงแล้วมักเป็นการเลือกเอาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชั่นบางแบบของคนบางกลุ่มเท่านั้นมาวิพากษ์ และที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากการวิพากษ์คอร์รัปชั่นเองก็เป็นสภาพที่ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยทางสังคม สำหรับการวิพากษ์คอร์รัปชั่นในสังคมไทย โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในแวดวงของคนชั้นกลางในเมืองนั้น ผู้เขียนมองว่าถูกขับเคลื่อนจากความตีบตันในที่ทางทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของคนชั้นกลางเอง

เราอาจสังเกตได้ว่าจริงๆ แล้วคนชั้นกลางในสังคมไทยนั้น เข้าใจถึงความจำเป็นในการต้องพึ่งพาพฤติกรรมที่เชื่อมโยงกับคอร์รัปชั่นดีกว่าคนในกลุ่มอื่นๆ ในสังคมที่พวกเขาเติบโตมานั้น พวกเขารับรู้ได้โดยไม่ยากว่ากฏเกณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงความได้เปรียบเสียเปรียบในสังคมไทยนั้นสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ แต่เดิมมานั้นชาติกำเนิดของคนชั้นสูงในสังคมไทยก็ช่วยให้พวกเขาได้เปรียบอยู่เสมอด้วยฐานะของการเป็น ‘บางคน’ ในสังคม สำหรับคนชั้นกลางที่ไม่ได้มีสถานะพิเศษอะไรมาแต่กำเนิด แต่ต้องการมีความได้เปรียบเช่นกันในการเผชิญหน้ากับกฏเกณฑ์หรือการแข่งขัน พวกเขามีอีกทางเลือกหนึ่ง คือการใช้เงินทองที่ตนมีในการแสวงหาความได้เปรียบ ตัวอย่างที่แสดงถึงสภาพเช่นนี้ได้เป็นอย่างดีคือ ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการจ่ายเงิน ‘แป๊ะเจี๊ย’ ในการเข้าโรงเรียนดีๆ ซึ่งขยายตัวมาพร้อมกับความต้องการของคนชั้นกลางในการหาโอกาสทางการศึกษาให้ลูกหลานของตน

ผู้เขียนจึงมีสมมุติฐานว่าการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการคอร์รัปชั่นในสังคมไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ถูกสนับสนุนไม่มากก็น้อยจากการที่ชนชั้นกลางได้เข้ามาแสวงหาที่ทางของตนในระบบเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น จะว่าไปแล้ว กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เข้ามามีบทบาทใช้เงินทองเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษหรือความสะดวกต่างๆ จากรัฐคงหนีไม่พ้นคนชั้นกลางเองเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ได้กลายมาเป็นนักธุรกิจหรือลูกจ้างในบริษัทใหญ่ๆ เพราะพวกชนชั้นสูงนั้นมักมีสถานะที่ได้เปรียบอยู่แล้วโดยไม่ต้องพึ่งพาบทบาทเงินทองเท่าไร ในขณะที่คนชั้นล่างมักไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีพอในการทำอะไรเช่นนั้นได้

สภาพที่ผู้เขียนมองว่าแปลกคือ ในขณะที่คนชั้นกลางเติบโตมากับการปรับเปลี่ยนในรูปแบบของการคอร์รัปชั่นดังที่กล่าวมา พวกเขาเองกลับรู้สึกต่อต้านรูปแบบการคอร์รัปชันที่มาพร้อมๆ กับการเติบโตของตัวเองมากกว่าการคอร์รัปชั่นแบบอื่นๆ เป็นที่สังเกตได้ว่าคนชั้นกลางไทยรู้สึกมีปัญหาเป็นพิเศษกับรูปแบบของคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวพันกับการใช้เงินเข้ามาแสวงหาความได้เปรียบ รวมไปถึงการขยายบทบาทของธุรกิจเข้าสู่ระบบราชการการเมือง พวกเขามักเข้าใจว่ารูปแบบของคอร์รัปชั่นเหล่านี้สะท้อนการเพิ่มขึ้นและการขยายตัวของคอร์รัปชันในสังคมไทย

แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาเองกลับไม่ได้มีปัญหาเท่าไรนักกับสิทธิพิเศษของบางคนในสังคมไทยที่ได้มาจากชาติกำเนิด บ้างก็ออกจะมองเรื่องเหล่านั้นด้วยความรู้สึกชื่นชมเสียด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังพร้อมจะยอมเชื่อเอาอย่างซื่อๆ ว่าอำนาจรัฐนั้นเหมาะสมมากกว่ากับคนบางกลุ่ม เช่น ทหารหรือข้าราชการ เพราะคนเหล่านั้นไม่ได้ทำหน้าที่ในการแสวงหาเงินทอง (เหมือนเช่นคนชั้นกลางพ่อค้าทั้งหลาย) ฉะนั้น พวกเขาจึงต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

ผู้เขียนยังไม่ได้มีคำอธิบายที่ชัดเจนให้กับสถาวะแปลกๆ เช่นนี้ แต่เข้าใจว่าน่าจะถูกผลักดันจากความตีบตันทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของคนชั้นกลางไทย กล่าวคือในแง่หนึ่งพวกเขาต่อต้านคอร์รัปชั่นเพราะอึดอัดและเหนื่อยล้ากับการต้องพยายามแข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบในสังคม โดยที่ไม่เคยแน่ใจได้เลยว่าความพยายามเหล่านั้นจะสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังไม่มีกรอบทางศีลธรรมเป็นของตนเองอย่างชัดเจน และรับเอากรอบทางศีลธรรมของคนชั้นสูงในสังคมไทยมาใช้ ส่งผลให้เข้าใจปัญหาคอร์รัปชันไปในทางที่เป็นความล้มเหลวทางศีลธรรมที่มาจากการเสื่อมลงของจารีตประเพณีเดิม โดยเฉพาะจารีตด้านการเมืองการปกครอง

แต่ไม่ว่าจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนอยากเน้นย้ำคือ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการวิพากษ์ปัญหาคอร์รัปชั่นของคนชั้นกลางไทยนั้น ยากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะไม่ได้มุ่งไปที่การจัดการกับรากฐานของคอร์รัปชั่น เพียงแค่หยิบเอาแค่รูปแบบที่เปลี่ยนไปของคอร์รัปชั่นมาเป็นปัญหา หากต้องการลดคอร์รัปชั่นให้ได้อย่างแท้จริง ก็ควรต้องมุ่งไปที่การลดขนาดของพื้นที่สีเทาที่เกิดมาจากการมีวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่น ซึ่งเราควรตั้งคำถามว่าวัฒนธรรมแบบใดกันที่เป็นฐานของการคอร์รัปชั่นในสังคมไทย และพยายามลดบทบาทของวัฒนธรรมเหล่านั้น

[i] Smith, D.J. (2008). “A Culture of Corruption: Everyday Deception and Popular Discontent in Nigeria”. NJ. Princeton University Press

[ii] Olivier de Sardan, J.P. (1999) “A moral economy of corruption in Africa?” The Journal of Modern African Studies. Volume 37 Issue 01. pp 25 52

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ