บทเรียนจากประชาสังคมไทย

บทเรียนจากประชาสังคมไทย

NGOs(2)

คอลัมน์: เพราะฉะนั้นแล้ว     เรื่อง: ธร ปีติดล      ภาพ: อมรรัตน์ กุลประยงค์

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้อ่านบทความโดยท่านเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย มารค์ เคนท์[1] ด้วยความชื่นชม ท่านทูตเขียนเน้นย้ำถึงคุณประโยชน์หลายประการของระบบประชาธิปไตยที่คนไทยมักมองข้ามไป เช่น การเป็นกระบวนการที่ช่วยคลี่คลายความแตกต่างและความขัดแย้ง และเป็นกระบวนการที่ช่วยให้เสียงของประชาชนถูกตอบสนองโดยอำนาจทางการเมือง

นอกจากนี้ท่านยังได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญอีกประการ คือการอธิบายว่าทำไมการมีอยู่ของนักการเมืองและพรรคการเมืองจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในระบบประชาธิปไตย แม้ว่านักการเมืองและพรรคการเมืองจะโดนโจมตีอยู่ในแทบทุกประเทศว่าเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ แต่หากขาดนักการเมืองและพรรคการเมืองไปแล้ว ระบบการเมืองก็จะขาดช่องทางสำคัญในการถ่ายทอดเสียงของประชาชนไปเป็นนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล

ทว่าในการอ่านบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนมาสะดุดใจกับส่วนของบทความที่พูดถึงบทบาทของภาค ‘ประชาสังคม’ ท่านทูตกล่าวถึงองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ เช่น สื่อ องค์กรการกุศล องค์กรพัฒนาเอกชน ว่ามีบทบาทสำคัญในระบบประชาธิปไตย ด้วยเพราะองค์กรเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการป้องกันการลุแก่อำนาจของภาครัฐ และยังช่วยปกป้องสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชน

ท่านทูตคงเลี่ยงไม่ได้ในการพูดถึงบทบาทของภาคประชาสังคม ด้วยบทความของท่านเขียนขึ้นในวาระโอกาสวันประชาธิปไตยสากลของสหประชาชาติ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ Space for Civil Society อย่างไรก็ดี เมื่อได้ยินประโยคที่ว่าองค์กรเช่นสื่อและองค์กรพัฒนาเอกชนนั้นต่างเป็นหัวใจหลักของระบบประชาธิปไตยแล้ว ผู้เขียนก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกแปลก ด้วยเพราะประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยนั้นแตกต่างไปอย่างมากจากการมองเช่นนั้น

ในห้วงเวลาแห่งวิกฤตประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ผ่านมา เราต่างพอทราบกันดีว่า แทนที่องค์กรประชาสังคมต่างๆ ในประเทศไทย เช่น สื่อและองค์กรพัฒนาเอกชน จะทำหน้าที่เป็นหัวเรือในการปกป้องระบบประชาธิปไตย แต่พวกเขาจำนวนมากกลับกลายเป็นพลังที่นำพาประเทศออกจากระบบประชาธิปไตย กลับสู่ระบบเผด็จการทหารเสียเอง ทั้งในทุกวันนี้พวกเขายังอยู่ได้อย่างสงบเสงี่ยมภายใต้ระบบเผด็จการ และในบางครั้งยังออกมามีบทบาทช่วยระบบเผด็จการจัดการกับกลุ่มหรือบุคคลต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเสียด้วยซ้ำ

มองมุมใหม่ประชาสังคมกับประชาธิปไตย

ประสบการณ์เกี่ยวกับภาคประชาสังคมของประเทศไทย ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่วงวิชาการที่ทำการศึกษาเรื่องประชาสังคมกับประชาธิปไตยอยู่มาก ด้วยความเชื่อทั่วไปในสังคมโลกก็มักมองไปในทางเดียวกับที่ท่านทูตเขียนไว้ในบทความ คือมองว่าประชาสังคมนั้นเป็นกำลังสำคัญที่จะหนุนเสริมให้ระบบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง

แต่หากจะพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้ว ประเทศไทยเองก็ไม่ได้โดดเดี่ยวเสียทีเดียวในเรื่องนี้ แท้จริงแล้วประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ได้แตกต่างไปมากกับประเทศไทย (แม้ว่าจะไม่เด่นชัดเท่า) ข้อสังเกตนี้ถูกอธิบายไว้ในบทความที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่ไม่นานมานี้ของ Meredith Weiss[2] บทความดังกล่าวพยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประชาสังคมและประชาธิปไตยเสียใหม่ จากการสำรวจประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

Weiss พบว่าประสบการณ์จากภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นบทเรียนสำคัญที่เตือนให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้วประชาสังคมไม่จำเป็นต้องสนับสนุนประชาธิปไตยเลย การทำให้ประชาสังคมสนับสนุนประชาธิปไตยได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่จากการสนับสนุนให้องค์กรประชาสังคมต่างๆ มีความเข้มแข็งและมีเสรีภาพในการขับเคลื่อน แต่ยังอยู่ที่การมีกลไกและปัจจัยสนับสนุนอีกหลายประการ

การเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคม เป็นสิ่งที่จำเป็นแต่ไม่เพียงพอกับการสร้างระบบประชาธิปไตย แน่นอนว่าหากองค์กรภาคประชาสังคมไม่มีพื้นที่ให้เคลื่อนไหว ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศที่ระบบการปกครองยังเป็นเผด็จการอยู่เช่นพม่าหรือเวียดนามนั้น สภาพเช่นนั้นย่อมไม่เอื้อต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย

กระนั้น แม้องค์กรประชาสังคมจะมีพื้นที่ให้ขยับตัวได้อย่างเสรี แต่ยังมีกลไกอื่นๆ ที่เข้ามาครอบงำบทบาททางการเมืองได้เช่นกัน Weiss อธิบายจากการศึกษาประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ว่ากลไกที่สำคัญนั้นคือ การเข้ามา ‘กลืน’ ภาคประชาสังคมโดยรัฐหรือชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ โดยสภาพการโดนกลืนของประชาสังคมนี้ยังถูกผลักดันจากการที่องค์กรประชาสังคมต่างๆ หันไปพึ่งพิงทรัพยากรและการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น เช่นที่เกิดขึ้นกับองค์กรประชาสังคมในสิงคโปร์และไทย

การถูกกลืนโดยรัฐหรือชนชั้นนำส่งผลให้องค์กรประชาสังคมต้องหันบทบาทของตนไปในทางสนับสนุนรัฐหรือกลุ่มชนชั้นนำที่เข้ามาสนับสนุนพวกเขา การผันตัวเองไปในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้ไปพร้อมๆ กับการที่องค์กรประชาสังคมผันตัวเองไปเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มทางสังคมเฉพาะกลุ่มแทน และให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ดังกล่าวมากกว่าการสนับสนุนเสียงที่เท่าเทียมกันในทางการเมือง

พูดง่ายๆ ว่า การถูกกลืนโดยรัฐหรือชนชั้นนำนี้ เกิดขึ้นได้โดยที่องค์กรประชาสังคมเองยังพยายามแสดงบทบาทที่ตนมองว่า ‘ก้าวหน้า’ อยู่ได้ พวกเขาอาจยังต้องการผลักดันผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสบางกลุ่ม เช่น ชาวบ้านที่ขัดแย้งกับรัฐ เกษตรกรที่ต้องการต่อสู้กับระบบทุนนิยม แต่การผันตัวเองไปในทางนี้ก็เกิดขึ้นได้พร้อมๆ กับการปฏิเสธการมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองของชาวบ้านทั่วๆ ไป

นอกจากนี้แล้ว จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ยังพบว่าความซับซ้อนและย้อนแย้งของบทบาททางการเมืองของภาคประชาสังคม ยังเกิดขึ้นผ่านการที่กลุ่มองค์กรในภาคประชาสังคมนั้นต่างมีความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ทางการเมืองที่หลากหลาย แม้พวกเขายึดตัวเองเข้ากับอุดมการณ์ที่ตนมองว่ามีคุณค่า แต่อุดมการณ์ที่ชี้นำพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องไปกันได้กับประชาธิปไตย องค์กรประชาสังคมจำนวนมากเป็นองค์กรที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยความเชื่อทางศาสนาหรือแม้กระทั่งอุดมการณ์ชาตินิยม ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงในระดับสากล ที่ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้เสมอๆ ของการที่องค์กรประชาสังคมจะกลายไปเป็นพลังขวาจัดคือขบวนการลูกเสือชาวบ้านของประเทศไทยเรานี่เอง

มากไปกว่านั้น แม้ไม่มองไปที่ประชาสังคมที่ถูกชี้นำโดยอุดมการณ์เช่นศาสนาหรือชาตินิยม และมองแต่องค์กรประชาสังคมที่พยายามเล่นบทบาทในการ ‘ปฏิรูป’ แต่ความหมายของการปฏิรูปเองก็ยังเป็นไปได้หลายทาง และในบางความหมายก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย แต่เน้นไปที่การสนับสนุนบทบาททางการเมืองของกลุ่มเทคโนแครต หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนการเข้ามามีบทบาทกลุ่มอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

บทเรียนจากประชาสังคมไทย

ข้อสังเกตของ Weiss ช่วยสะท้อนสภาพหลายประการที่เกิดขึ้นกับภาคประชาสังคมของไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามอธิบายจากนักวิชาการหลายท่านว่า ทำไมองค์กรประชาสังคมต่างๆ ในประเทศไทย โดยฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน ต่างได้หันหลังให้ประชาธิปไตย

นักวิชาการเช่น สมชัย ภัทรธนานันท์[3] และอีกหลายๆ ท่าน ให้น้ำหนักกับความขัดแย้งระหว่างภาคประชาสังคมไทยโดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน กับ ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้องค์กรประชาสังคมไทยหันหลังและเดินออกจากเส้นทางประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ  ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดมาจากการที่องค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของทักษิณ ที่พวกเขามองว่าเป็นประชานิยมและดึงให้ชุมชนออกจากแนวทางที่เหมาะที่ควร และยังมองด้วยว่าทักษิณไปตัดสายสัมพันธระหว่างชาวบ้านกับพวกเขา

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ได้พยายามอธิบายถึงปัจจัยอีกประการผลักดันให้องค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากหันหลังให้กับประชาธิปไตย[4] ปัจจัยดังกล่าวคือวัฒนธรรมองค์กรของเหล่าองค์กรพัฒนาเอกชนเหล่านั้น ที่ อ.นิธิมองว่าขาดซึ่งการสะท้อนและวิพากษ์กันภายใน ส่งผลให้แนวคิดของพวกเขานั้นตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงในชนบท นำไปสู่การที่พวกเขากลายไปเป็นพลังต่อต้านการเปลี่ยนแปลงแทนที่จะยอมรับ

ผู้เขียนมองว่าข้อสังเกตของ Weiss เรื่องบทบาทของอุดมการณ์และแนวคิดในการชี้นำบทบาทของภาคประชาสังคม มีประโยชน์ในการช่วยสร้างคำอธิบายที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นให้กับคำอธิบายต่างๆ ข้างต้น เพราะอุดมการณ์และแนวคิดถือเป็นสภาพพื้นฐานที่ช่วยหล่อเลี้ยงจุดยืนและการกระทำขององค์กรประชาสังคม การเข้าใจอุดมการณ์และแนวคิดจึงทำให้เข้าใจที่มาของความขัดแย้งระหว่างองค์กรประชาสังคมและทักษิณ รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กรของพวกเขา

เช่นเดียวกลับกลุ่มทางสังคมอื่นๆ ในสังคมไทย ภาคประชาสังคมไทยเองก็อยู่ในสภาพที่อุดมการณ์และแนวคิดของพวกเขามีความแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างหลากหลายนี้เองอาจนำไปสู่คำอธิบายว่าการที่พวกเขาไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตยก็เพราะหันไปนิยมชมชอบแนวคิดที่เป็นเผด็จการ  อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่ได้มองว่าประชาสังคมไทย รวมไปถึงกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยที่หันหลังให้ประชาธิปไตย เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาไม่ใช่การเชิดชูแนวคิดเผด็จการเสียทีเดียว แต่เป็นการที่พวกเขารับเอาความหมายของประชาธิปไตยที่ถูกตีความขึ้นไม่ให้ผิดแปลกไปจากเดิม

กระบวนการตีความประชาธิปไตยขึ้นใหม่ที่ทรงอิทธิพลกับสังคมไทยอย่างยิ่ง ก็เช่น การนิยามถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งนิยามให้ปัญหาประชาธิปไตยเกิดจากนักการเมืองและความไม่พร้อมของคนชั้นล่าง ในขณะที่เชิดชูบทบาทของอำนาจนอกระบบประชาธิปไตย

การตีความประชาธิปไตยอีกแบบที่เกิดขึ้นไม่นานแต่มีอิทธิพลมากในสังคมไทยมาจากกลุ่มชนชั้นกลางที่ผสมเอาแนวคิดเรื่องการจำกัดอำนาจของรัฐบาลและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมาตีความความปัญหาหลักของประชาธิปไตยไทยให้เป็นเรื่องของเผด็จการเสียงข้างมากหรือประชานิยม

ภาคประชาสังคมไทยเองก็น่าจะรับเอาความหมายของประชาธิปไตยในแบบต่างๆ ข้างต้นอยู่พอสมควร แต่กระนั้น ผู้เขียนยังมองไปถึงการตีความประชาธิปไตยขึ้นใหม่ในอีกรูปแบบที่เกิดขึ้นในประชาสังคมไทย โดยเฉพาะกับองค์กรด้านการพัฒนาต่างๆ การตีความที่ว่านี้ก็คือการผสานเอาแนวคิดเชิงชุมชนท้องถิ่นนิยมเข้ากับประชาธิปไตย กลายไปเป็นประชาธิปไตยแบบชุมชน การตีความในลักษณะนี้มองว่ามีประชาธิปไตยแบบที่เป็นของชุมชนไทย ทำงานอยู่บนฐานของวัฒนธรรมชุมชนไทย แนวคิดอีกอันที่เกี่ยวข้องกันคือแนวคิดการกระจายอำนาจให้ชุมชนไทยปกครองตนเอง

แม้ว่าแนวคิดในลักษณะนี้ที่แพร่หลายอยู่ในองค์กรพัฒนาเอกชนไทย จะฟังดูก้าวหน้า แต่ผู้เขียนเห็นว่าควรมองแนวคิดเหล่านี้ด้วยความระแวดระวัง ด้วยการตีความประชาธิปไตยให้ไปกับวัฒนธรรมชุมชนนั้น อีกทางหนึ่งก็อาจกลายเป็นการให้ความหมายกับระบบประชาธิปไตยเสียใหม่โดยปฏิเสธการเลือกตั้งและหันไปเชิดชูผู้นำที่(มักจะ) ถูกคัดเลือกจากอำนาจภายนอกให้เป็นผู้นำที่ไปด้วยกันได้กับวัฒนธรรมชุมชน  นอกจากนี้การอ้างถึงชุมชนปกครองตนเอง ก็อาจเป็นการดึงเอาการใส่ใจกับปัญหาการเมืองไทยออกจากการเมืองระดับชาติ ทั้งที่ปัญหาเหล่านั้นก็สำคัญยิ่งกับชุมชนเช่นกัน

ผู้เขียนอยากเสริมสักนิดว่า การตีความประชาธิปไตยขึ้นใหม่ให้เป็นการเน้นไปที่คุณธรรมของผู้นำชุมชน ตามแนวคิดแบบชุมชนท้องถิ่นนิยมนั้น น่าจะช่วยอธิบายได้ถึงสภาพของวัฒนธรรมองค์กรที่เกิดขึ้นกับองค์กรพัฒนาเอกชนไทยได้อยู่หลายองค์กรทีเดียว  ความพยายามเฟ้นหาผู้นำชุมชนที่เป็น ‘คนดี’ ตามอุดมการณ์ขององค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากนั้น ท้ายที่สุดแล้วส่งผลให้วัฒนธรรมองค์กรของพวกเขาปฏิเสธกลไกเสียงข้างมากและความสำคัญของการเลือกตั้งไปด้วย เนื่องจาก ‘คนดี’ ของพวกเขามักไม่สามารถขึ้นมาได้จากกระบวนการเหล่านี้

และในอีกทางหนึ่ง การตีความประชาธิปไตยที่เน้นบทบาทของ ‘คนดี’ ในระดับชุมชน ยังช่วยอธิบายได้ถึงความเชื่อมต่อทางแนวคิดระหว่างภาคประชาสังคมกับชนชั้นนำที่เข้ามาสนับสนุนพวกเขา โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างแสวงหาช่องทางที่ออกไปจากกลไกของระบบการเลือกตั้งในการเข้าสู่อำนาจและทรัพยากรของรัฐ ในขณะที่ชนชั้นนำอธิบายที่ทางของตนในฐานะพลังทางคุณธรรมที่เข้ามากำกับการเมืองไทย องค์กรพัฒนาเอกชนและผู้นำชุมชนที่ยึดโยงกับพวกเขาก็เข้ามาขยายขอบเขตของพลังนั้นๆ ให้ยึดโยงกับพื้นที่ที่ห่างออกไป เช่น ชนบท

กล่าวโดยรวมแล้ว บทเรียนสำคัญที่ประชาสังคมไทยได้แสดงให้เห็นคือ การที่บทบาทในการสนับสนุนประชาธิปไตยของภาคประชาสังคมนั้นไปไม่ได้ไกลกว่าอุดมการณ์และแนวคิดของพวกเขา มากไปกว่านั้น ตัวอุดมการณ์และแนวคิดของภาคประชาสังคมเองนั้นล่ะเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยความลื่นไหลและอันตรายยิ่ง อุดมการณ์และแนวคิดที่พวกเขายึดถืออาจทำให้พวกเขาเข้าใจตนเองว่าเป็นพลังก้าวหน้าที่สนับสนุนประชาธิปไตยในแบบที่สมบูรณ์กว่า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขากลับถลำลึกไปเรื่อยๆ สู่การเป็นพลังที่ล้าหลังและต่อต้านประชาธิปไตย

[1] อ่านบทความได้จาก https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1697136920507341:0

[2] Weiss, M.L. 2015. “Civil society and democratization in Southeast Asia: what is the connection?”. In Case, W. (ed.) Routledge Handbbook of Southeast Asian Democratization: 135-146. Abingdon: Routledge.

[3] Somchai Phattharathananunth. 2014. “Civil Society Against Democracy”. Cultural Anthropology Online, September 23, 2014. http://www.culanth.org/fieldsights/575-civil-society-against-democracy

[4] นิธิ เอียวศรีวงศ์.  การเมืองของเอ็นจีโอ จาก http://www.prachatai.com/journal/2014/10/55980

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ