เลี้ยงปลาไหลในบ่อซีเมนต์ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ

เลี้ยงปลาไหลในบ่อซีเมนต์ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ

ปลาไหล (eel) สัตว์น้ำจืดที่คุ้นเคยของประเทศไทย ไม่เพียงเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศในเมนูอาหารพื้นบ้านของจังหวัดสุรินทร์ หากยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ชุมชนปีละหลายล้านบาท แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การขยายพื้นที่ของชุมชนเมือง การทำลายแหล่งน้ำธรรมชาติ การปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำ รวมถึงการใช้สารเคมีภาคการเกษตร ทำให้ปริมาณปลาไหลจากแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก

ปลาไหล มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Monopterus albus Zuiew ปลาไหลที่พบตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่ค่อนข้างนิ่ง เช่น คูน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เรียกว่า ปลาไหลบึง (swamp eel) ส่วนปลาไหลที่เจริญเติบโตในนาข้าว เรียกว่า ปลาไหลนา (rice-field eel) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เอี่ยน) ปลาไหลอาศัยอยู่ตามพื้นโคลนที่มีซากพืชซากสัตว์เน่าเปื่อยสะสม ปกคลุมด้วยวัชพืชที่ชื้นแฉะ ในฤดูแล้งขุดรูลึก 1-1.5 เมตร ฝังตัวในลักษณะจำศีลใต้พื้นโคลน และสามารถอาศัยอยู่ในที่แห้งแล้งได้นาน

ลักษณะของปลาไหลนา                   

รูปร่างคล้ายงูไม่มีเกล็ด มีตาขนาดเล็ก 1 คู่บริเวณหัว ปลายหางแบนยาว มีสองเพศในตัวเดียวกัน ในช่วงวัยอ่อนจะเป็นเพศผู้ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นเพศเมีย ซึ่งจะสังเกตได้ในช่วยอายุ 4-6 เดือน ความยาว 25-150 เซนติ เมตร สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยได้แก่ ปลาไหลนา ปลาไหลแดง หรือปลาหล่อย ปลาไหลหลาด หรือปลาไหลงู

รูปแบบการวางไข่

.วางไข่บริเวณกอหญ้าหรือพืชน้ำ เพศเมียและเพศผู้จะจับคู่และก่อหวอด เพศเมียทั้งหมดใช้ปากดูดไข่ที่ผสมเชื้อแล้วพ่นติดกันกับหวอด เกาะเป็นกลุ่มบริเวณกอหญ้าบนผิวน้ำ

๒.วางไข่ปากรู เพศเมียใช้ลำตัวดันดินปากรูให้เป็นโพรงสูงกว่าระดับน้ำประมาณ 1 นิ้ว เพื่อให้ไข่ลอยอยู่ในโพรงได้ เพศเมียจะคอยระวังศัตรูอยู่ภายในรู เฝ้าดูไข่จนฟักเป็นตัวและเลี้ยงลูกจนมีขนาด 3-4 นิ้ว ลูกปลาจะกินซากพืชและสัตว์หรือแมลงน้ำตัวเล็กๆ

การเลี้ยงปลาไหลในท่อซีเมนต์

การเตรียมบ่อ หากใช้บ่อซีเมนต์ใหม่ ต้องกำจัดฤทธิ์ซีเมนต์ด้วยด่างทับทิม เกลือสินเธาว์ หรือ ต้นกล้วยสับผสมน้ำแช่ทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ ล้างทำความสะอาดและตากบ่อ 1 วัน เพื่อลดความเป็นด่างของบ่อ เติมน้ำให้พ้นจากผิวดิน 10 เซนติเมตร ใส่ดินเลนหรือดินที่มาจากแหล่งชุกชุมของปลาไหลตามธรรมชาติลงในบ่อเลี้ยงสูงประมาณ 15-30 เซนติเมตร ใส่พืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง แหน ผักตบ เพื่อเป็นที่พักอาศัยอำพรางตัว คลายร้อน และเพิ่มออกซิเจนในน้ำ คุณสมบัติของน้ำที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงปลาไหล ควรมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (ph) 6.5-8.5 อุณหภูมิน้ำประมาณ 19-28 องศาเซลเซียส ออกซิเจนในน้ำไม่ต่ำกว่า 5.0 มิลลิกรัม/ลิตร ก่อนปล่อยลูกปลาไหลลงบ่อ ควรปรับอุณหภูมิน้ำในบ่อให้ใกล้เคียงกันเพื่อป้องกันปลาช็อค โดยแช่ภาชนะขนส่งในบ่อก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยงประมาณ 30 นาที ฉาบพื้นผิวบ่อให้เรียบป้องกันการเป็นแผลถลอก

พ่อพันธุ์แม่พันธุ์

-เลือกพ่อพันธุ์ที่มีน้ำหนัก 300-420 กรัม ลำตัวยาว 60 เซนติเมตร แม่พันธุ์ที่มีน้ำหนัก 70-250 กรัม ลำตัวยาว 29-50 เซนติเมตร

-ปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในสัดส่วน (เพศผู้ : เพศเมีย) 1:3 ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร

-ลูกปลาไหลเมื่ออายุ 2 สัปดาห์ นำแม่พันธุ์ออกจากบ่อซีเมนต์ เพื่อป้องกันการกินลูกตัวเอง

การให้อาหาร

-ให้อาหารเสริมปลาไหล 2วัน/ครั้ง ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป อาหารปลาดุก อาหารปลานิล อาหารลูกอ๊อด ต้นกล้วยสับ โดยสังเกตตามขนาด เช่น ขนาดความยาว 2.5-3 เซนติเมตร กินสิ่งมีชีวิตเล็กๆวันละ 2 ครั้ง ยาว 5 เซนติเมตร ฝึกให้กินอาหารสำเร็จรูปร่วมกับแหนแดง ยาว 8-10 เซนติเมตรหรืออายุ 6 สัปดาห์ เริ่มให้ปลาสดบดวันละ 2 ครั้ง ปลาไหลมีนิสัยรวมกลุ่มอยู่อาศัยหรือกินอาหาร ชอบกินอาหารในที่มืดแทะกินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วทั้งสภาพสดที่มีกลิ่นคาวจัดจนเน่าเปื่อยมีกลิ่นเหม็น รวมถึงลูกปลาขนาดเล็ก ตัวอ่อนแมลง ไส้เดือน หอยเชอรี่ กุ้งฝอย หรือสัตว์หน้าดินต่าง ๆ ซากวัชพืชที่มีสิ่งมีชีวิตเล็กๆเกาะอาศัยอยู่

ข้อควรระวัง

  1. การพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากธรรมชาติเข้ามาเลี้ยงควรระมัดระวังในเรื่องการลำเลียง ไม่ควรให้หนาแน่นมากเกินไป จะทำให้ปลาไหลบอบช้ำได้
  2. การนำปลาไหลมาเลี้ยงควรคัดขนาดและอายุที่ไม่ต่างกันมากนักเพื่อลดปัญหาการกัดกินกันเอง
  3. การนำปลาไหลมาเลี้ยงควรพักไว้ในถังหรือกาละมังประมาณ 3-4 วันก่อนลงบ่อเลี้ยง
  4. อาหารที่ให้ปลาไหลในช่วงแรกไม่ควรแตกต่างจากที่เคยกินในธรรมชาติ (หอย, ปลาสับ)เนื่องจากปลาไหลจะไม่ยอมกินอาหาร
  5. เมื่อพบปลาไหลแสดงอาการผิดปกติหรือป่วยควรรีบตรวจสอบสาเหตุและแก้ไขทันที เลือกใช้ยารักษาโรคหรือสารเคมีที่เหมาะสม การรักษาอาการป่วยเมื่อเริ่มพบปัญหา จะช่วยให้การรักษาได้ผลดีและประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษา

วิธีการเลี้ยงปลาไหลอย่างถูกวิธีเพื่อลดการสูญเสียรวมถึงวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเลี้ยงปลาไหลนอกจากขายพันธุ์ หรือขายสดด้วยการแปรรูปที่หลากหลาย เช่น ปลาไหลต้มเปรต ผัดเผ็ดปลาไหล หลามปลาไหล ปลาไหลแดดเดียว ต้มแซ่บปลาไหล เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า

การสังเกตลักษณะการป่วยของปลาไหล

  1. ปลาไหลจะออกจากรูดินลอยอยู่ในน้ำบ่อย และหุบเอาอากาศบ่อยๆ วิธีแก้ไขคือ ควรแยกปลาไหลออกมาพักนอกบ่อ โดยใส่ถังหรือกาละมังไว้ เปลี่ยนน้ำทุกๆ 3-5 วัน ดูความแข็งแรง หากไม่แข็งแรงให้ใช้ด่างทับทิมแช่ไว้ประมาณ 1 วัน เปลี่ยนน้ำให้บ่อยที่สุด ตรวจสอบคุณภาพน้ำ หรือล้างพักบ่อทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์
  2. ปลาไหลมีแผล วิธีแก้ไขคือ แช่ด่างทับทิม จำนวน 1-3 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตรแช่นาน 1 วัน เปลี่ยนน้ำทุกวัน ประมาณ 3-5 วัน ดูความแข็งแรงแล้วปล่อยลงบ่อซีเมนต์เหมือนเดิม ส่วนมากเกษตรกรจะใช้วิธีเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ ล้างบ่อ พักบ่อ และสุดท้าย จะใช้ด่างทับทิมในการรักษาปลาไหลเมื่อป่วยหรือมีอาการข้างต้น

การดูแลจัดการ                    

สังเกตพฤติกรรมการกินอาหารของปลาไหล ปรับปริมาณอาหารให้พอดีตามความต้องการ หากให้อาหารสด ควรเปลี่ยนน้ำอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง หากเป็นอาหารสำเร็จรูปควรเปลี่ยนน้ำทุก ๆ 10-20 วัน เพราะคุณภาพน้ำส่งผลต่อการเจริญเติบโตของปลาไหล และอัตราการรอดสูงลดความเสี่ยงการเกิดโรค รวมถึงการโกยดินในบ่อเลี้ยงอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งเพื่อดูปริมาณไข่ การเจริญเติบโต และจำนวนประชากรของปลาไหล

ต้นทุนต่ำ กำไรงาม

การเลี้ยงปลาไหลนา 1 บ่อ ได้ลูกปลาไหล 30-60 ตัว/บ่อ น้ำหนัก 4-6 ขีด/ตัว ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4-6 เดือน ก็สามารถนำไปขายได้ โดยราคาขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 200 บาท 1 บ่อจะได้เงินประมาณ 5000-8000 บาท ที่มากกว่านั้นคือหากเราเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์สามารถจำหน่ายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ถึงคู่ละ 500-1000 บาท เลยทีเดียว ส่วนลูกพันธุ์ที่มีขนาด 10-15 เซนติเมตรสามารถจำหน่ายได้ถึงตัวละ 15 บาท เพียงแค่ลงทุนวงบ่อซีเมนต์ 450 บาท อาหารสำเร็จรูป 80 บาท ส่วนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากธรรมชาติก็ได้โดยไม่ต้องซื้อ ก็สามารถสร้างกำไรได้อย่างงดงาม

การแปรรูป                   

ในจังหวัดสุรินทร์ มีการเลี้ยงปลาไหลในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ อำเภอชุมพลบุรี อำเภอรัตนบุรี และอำเภอสนม ซึ่งก็คงยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ มองเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวจึงพยายามที่จะร่วมกันส่งเสริมและขยายผลให้เกษตรกรได้เลี้ยงเป็นอาชีพที่จะสร้างรายได้เพิ่มเติมเป็นอาชีพรอง หรืออาชีพหลักก็ได้ โดยการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงปลาไหล เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจได้เข้าใจในกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการเลี้ยงปลาไหลอย่างถูกวิธีเพื่อลดการสูญเสียรวมถึงวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเลี้ยงปลาไหลนอกจากขายพันธุ์ หรือขายสดด้วยการแปรรูปที่หลากหลาย เช่น ปลาไหลต้มเปรต ผัดเผ็ดปลาไหล หลามปลาไหล ปลาไหลแดดเดียว ต้มแซ่บปลาไหล เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า

ข้อมูลโดย  อ.นิชาภา  เฉตระการ

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ