30 ต.ค. 2558 เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาริมคลองนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง คืนคลองให้สาธารณะ ชุมชนมีส่วนร่วมและการสร้างทางเลือกที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม ทั้งใช้ประโยชน์จากคลอง การสัญจรทางน้ำ เชื่อมต่อรถไฟฟ้า ระบบระบายน้ำกรุงเทพฯ
เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาริมคลอง
ชุมชนริมคลองจะอยู่กับเมืองอย่างไรในอนาคต เป็นคำถามสำคัญอย่างมากของการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ริมคลอง เพราะชุมชนริมคลองเติบโตมาพร้อมกับการขยายขนาดของเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร จากชุมชนริมน้ำในอดีตที่เห็นกันในภาพในอดีต ได้กลายเป็นการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะอย่างผิดกฎหมายไปในปัจจุบัน
กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ริมคลองของชุมชนจึงมีส่วนสำคัญในการร่วมกันปรับปรุงคลองให้สามารถระบายน้ำดีขึ้น ภูมิทัศน์ที่สวยงามขึ้น พื้นที่สาธารณะที่ร่วมกันดูแลโดยคนในชุมชนมากขึ้น
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาริมคลองได้พัฒนาแนวคิดยุทธศาสตร์การอยู่อาศัยริมคลอง ซึ่งเป็นแผนระยะยาวของการร่วมกันพัฒนาระหว่างรัฐ ชุมชน ชาวบ้าน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีการขยายตัวออกไปโดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร
เมื่อสถานีรถไฟฟ้ามาอยู่ตรงจุดตัดกับคลอง ทำให้คลองสามารถกลายเป็นจุดเชื่อมต่อของระบบขนส่งแบบต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น เรือในคลอง ท่ารถประจำทาง วินมอเตอร์ไซต์ รถไฟฟ้า และพื้นที่บริเวณจุดเชื่อมต่อสามารถกลายเป็นย่านการค้าชุมชนเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจทั้งย่าน โดยที่ชุมชนที่เคยรุุกล้ำคลอง ย้ายขึ้นมาบนพื้นที่เช่า พื้นที่ที่มีการจัดสรรใหม่ ผ่านการออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่ให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น อาคารที่พักแนวตั้ง เช่นหอพัก หรือแนวราบเช่น บ้าน ตึกแถว เป็นต้น
ทั้งนี้ เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาริมคลองได้นำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ให้สามารถอยู่ร่วมกับคลองได้ โดยชุมชนสามารถรักษาวิถีชีวิตของชุมชนไว้ได้ คลองเองก็สามารถระบายน้ำได้สะดวกมากขึ้นและยังช่วยเสริมวิถีชีวิตให้มีคุณภาพดีขึ้น ขณะที่เมืองก็มีพื้นที่สาธารณะมากขึ้นมีการเชื่อมโยงการคมนาคมที่หลากหลายมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านด้วยกันคือ
1. คืนคลองให้สาธารณะ ทางจักรยาน เว้นทางวิ่งออกกำลังกาย
2.ชุมชนมีส่วนร่วมและการสร้างทางเลือกที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม
3.พัฒนามากกว่าคำว่าบ้าน สวัสดิการสิ่งแวดล้อม สร้างโอกาสพัฒนาอาชีพและรายได้ของชุมชน
4.ใช้ประโยชน์จากคลอง การสัญจรทางน้ำ เชื่อมต่อรถไฟฟ้า ระบบระบายน้ำกรุงเทพฯ
เครือข่ายวิชาการฯ หวังว่าเมืองจะสามารถอยุ่ร่วมกับคลองกับชุมชนและกับชาวบ้านได้ โดยที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์กันเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัย คลอง และเมืองร่วมกัน