เครือข่ายผู้ป่วยตั้งวงวิเคราะห์สิทธิของผู้ป่วยและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยฉบับใหม่ ชี้บั่นทอนความมั่นใจต่อการเข้ารับบริการรักษา หวั่นอ้างประกาศปัดความรับผิดชอบ เล็ง 24 ก.ย.นี้ ร้อง รมต.สธ.จี้แก้ไขเรื่องนี้ พร้อมยืนยันใช้คำประกาศสิทธิแบบเดิมโดย ไม่มีข้อพึงปฏิบัติหรือการกำหนดหน้าที่ให้ผู้ป่วย
21 ก.ย. 2558 กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เครือข่ายเพื่อโรคไต เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เครือข่ายผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมทั้งองค์กรเอกชนด้านเอดส์และสุขภาพ จัดเวที “วิเคราะห์คำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยฉบับใหม่” เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ข้อดีข้อด้อยของคำประกาศดังกล่าว และหารือเพื่อหาจุดยืนและการแสดงท่าที และจัดแถลงข่าวในวันนี้ (21 ก.ย.2558)
หลังจากเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา สหวิชาชีพด้านสุขภาพ เช่น แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น ได้แถลงข่าวการประกาศใช้ “คำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย” ฉบับใหม่ แทนฉบับเดิมที่ใช้มานานกว่า 17 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและ ให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องสิทธิ ควบคู่กับหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบตัวเองเพื่อให้การรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ในการฟ้องร้องคดีความ
กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย ระบุว่าได้ติดตามการประกาศสิทธิดังกล่าวและมีความเห็นว่าคำประกาศดังกล่าวได้เพิ่มข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยขึ้นมา เมื่อดูเนื้อหาแล้วเหมือนขัดแย้งกับสิทธิผู้ป่วย ซ้ำยังสร้างความไม่เชื่อมั่นที่จะได้รับความคุ้มครองในการเข้ารับบริการรักษา
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า คำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับใหม่ที่เพิ่มข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยเข้ามา แม้ว่าเจตนาจะสร้างความเข้าใจกับผู้ป่วยต่อการเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ในขณะเดียวกันก็บั่นทอนความมั่นใจของผู้ป่วยไปด้วย เพราะในคำประกาศมีการพูดถึงความไม่แน่นอนของการรักษา เช่นการระบุว่าทุกการรักษา หรือการวินิจฉัยโรคทางการแพทย์อาจเกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์หรือสุดวิสัยได้
“ปกติเราก็เข้าใจหลักการนี้ แต่เมื่อมาอยู่ในข้อพึงปฏิบัติ มันทำให้เราต้องตีความเลยว่า แล้วถ้าเกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์จริงทางผู้ให้บริการทางการแพทย์จะร่วมรับผิดชอบไหม เพราะก็จะอ้างได้ว่าได้แจ้งในประกาศแล้ว ซึ่งแบบนี้ไม่น่าจะดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ อาจจะยิ่งทำให้เกิดการฟ้องร้องกันมากขึ้น ในขณะที่ประเทศเรายังไม่สามารถออกกฏหมายคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ได้“ นายอภิวัฒน์ กล่าว
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การมีข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ถ้าไม่ค้านจะกลายเป็นว่าทุกคนต้องยอมรับโดยดุษฎี ซึ่งต่อไปหากจำเป็นต้องมีการฟ้องร้องกรณีที่ผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ผู้ป่วยจะแพ้หมด เพราะจะอ้างว่าผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามเองและหมอทำเต็มที่แล้ว ฉะนั้นต้องคัดค้าน
“ที่ผ่านมาเคยมีคดีที่อ้างมาตราหนึ่งใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่ให้ผู้ป่วยทำหน้าที่แต่ไม่ทำ ศาลชี้ตามให้ผู้ป่วยแพ้ ซึ่งกรณีนี้คงต้องมีการเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนั่งเป็นนายกพิเศษกับสภาวิชาชีพทุกแห่ง เพื่อเสนอคำคัดค้านอย่างเป็นทางการต่อไป” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวเพิ่มเติมว่า คำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับใหม่นี้ แม้จะอ้างว่าได้จัดเวทีรับฟังความเห็นแล้ว มีเครือข่ายผู้ป่วย และตัวแทนผู้บริโภคเข้าร่วมด้วยตั้งแต่ตุลาคมปี 2557 แต่ก็เป็นเพียงเวทีเดียว และในเวทีก็ได้มีการท้วงติงประเด็นนี้แล้ว แต่สภาวิชาชีพแก้เฉพาะหัวข้อจากหน้าที่ของผู้ป่วย มาเป็นข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น
ส่วนนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ตอนนี้มีความเคลื่อนไหวโดยสภาวิชาชีพ โรงพยาบาลเอกชน และบริษัทยาข้ามชาติ พยายามใส่เนื้อหาแบบนี้ในอีกหลายจุด ทั้งในร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปแล้ว ธรรมนูญสุขภาพที่อยู่ระหว่างการรีวิว ในคำประกาศนี้ และอีกหลายกฎหมายซึ่งเราต้องช่วยกันจับตา
ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย ระบุว่า ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ จะขอเข้าพบ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เพื่อขอแก้ไขเรื่องนี้และขอยืนยันใช้คำประกาศสิทธิแบบเดิมโดยไม่ต้องการให้มีข้อพึงปฏิบัติหรือการกำหนดหน้าที่ให้ผู้ป่วย
คำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยฉบับใหม่