ทนายและญาตินายชัยภูมิ ป่าแส ยังยืนยันเรียกร้องเปิดกล้องวงจรปิดชี้การตายชัยภูมิ

ทนายและญาตินายชัยภูมิ ป่าแส ยังยืนยันเรียกร้องเปิดกล้องวงจรปิดชี้การตายชัยภูมิ

ทนายและญาตินายชัยภูมิ ป่าแส ยังยืนยันเรียกร้องเปิดกล้องวงจรปิดชี้การตายชัยภูมิ นักวิชาการและนักกฏหมายสากลเสนอปรับปรุงวิธีการไต่สวนการตายเพื่อความโปร่งใส ขณะที่ศาลเชียงใหม่จะอ่านคำสั่งไต่สวนการตายพรุ่งนี้ (6มิ.ย.61)

วันนี้ (5 มิ.ย.61) ที่ลานตั้งนะโม(หอศิลป์-มีเดียอาร์ต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มคนและองค์กรที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิป่าแสจัดงาน “วงจร(เ)ปิด 1 ปี ชี้การตายชัยภูมิ”ขึ้น เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น 1 วัน ก่อนที่วันพรุ่งนี้ (6 มิถุนายน) จะถึงกำหนดที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่จะอ่านคำสั่งไต่สวนการตายของชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนชาวลาหู่ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมไป โดยไม่มีการเรียกหรือตามหาภาพจากกล้องวงจรปิด ณ สถานที่และวันเกิดเหตุมาเป็นพยานหลักฐาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายญาติและทนายของผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมเห็นว่าเป็นหลักฐานสำคัญของการไต่สวนการตาย

ภายในงานมีการจัดแสดงวัฒนธรรมชนเผ่า มีการเสวนา 2 ประเด็นคือ 1.เสียงจากญาติพี่น้องของผู้สูญเสีย และ2.เสวนา “วิสามัญมรณะ” และมีผู้สนใจติดตามร่วมงานจำนวนมาก

ญาติผู้สูญเสียเผยผลกระทบ

โดยบนเวทีเสียงจากญาติผู้สูญเสีย ได้มีญาติของ นายชัยภูมิ ป่าแส และนายอาเบ แซ่หมู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญฆาตกรรมไปเมื่อปี 2560 โดยเจ้าหน้าที่ได้อ้างว่าเป็นการป้องกันตัว ซึ่งการชันสูตรพลิกศพของทั้งสองกรณีมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือถูกยิงด้วยอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่และภายในมือจะมีอาวุธเช่นวัตถุระเบิด

มารดาของนายอาเบ เล่าว่า ตั้งแต่ที่สูญเสียลูกชายไป จิตใจยังคิดถึงเขาตลอดเวลา เมื่อกลับไปยังสถานที่เดิมๆที่ลูกชายเคยไปยังทำใจไม่ได้  ขณะนี้ตนได้มอบสวนที่ลูกชายเคยทำให้กับคนอื่นไปแล้วเนื่องจากเส้นทางไปสวนนั้น จะต้องผ่านจุดเกิดเหตุที่ลูกถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมทำให้อดคิดถึงไม่ได้ จึงเลือกที่จะไม่กลับไปตรงจุดนั้นอีก

 —  “ยังเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นและยังเชื่อว่าลูกชายบริสุทธิ์ อยากให้กระบวนการพิสูจน์ความจริงเสร็จสิ้นโดยเร็ว”  —

เธอบอกว่า เธอพบความผิดปกติ โดยในวันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบวัตถุระเบิดในมือข้างขวาของลูกชาย ทั้งที่หากลูกชายของเธอจะปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ทำไมระเบิดไม่อยู่ในมือข้างซ้ายซึ่งเป็นมือที่ลูกชายถนัด

 

ขณะที่นายไมตรี จำเริญสุขสกล ผู้ที่เคยช่วยเหลือและดูแลนายชัยภูมิ ป่าแส

เล่าว่าหลังจากเหตุการณ์ที่นายชัยภูมิถูกวิสามัญ ตัวเขาเป็นคนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับครอบครัวของนายชัยภูมิจึงดำเนินเรื่องเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชัยภูมิแต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมจนไม่สามารถอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านได้ ผลที่ตามมาครอบครัวของเขาคือ ลูกทั้งสองไม่ได้เรียนหนังสือต่อ และเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่ไม่ได้นอนที่บ้านต้องอพยพครอบครัว ออกจากหมู่บ้าน

 

ไม่เพิ่มพยานและหลักฐาน ทนายชี้ญาติชัยภูมิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยาก

ส่วนในเวทีเสวนา “วิสามัญมรณะ”ได้มีการพูดถึงความคืบหน้าทางคดี ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ จะมีการนัดฟังคำไต่สวนการตายของนายชัยภูมิป่าแส ในวันพุธที่ 6 มิถุนายน 2561 ตั้งแต่เวลา 09:00 น.เป็นต้นไป

นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความผู้ดูแลคดีนายชัยภูมิ ป่าแส กล่าวว่า คดีนี้ญาติของผู้ตายมีความยากลำบากในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมาก เนื่องจากญาติได้ร้องขอในชั้นอัยการให้สอบสวนพยานที่สำคัญเพิ่มเติม เนื่องจากในชั้นสอบสวนมีการสอบสวนพยานบุคคลชาวบ้านที่ให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวนว่าเห็นเหตุการณ์ว่าในวันเกิดเหตุนายชัยภูมิไม่ได้มีอาวุธหรือมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แต่ในคดีนี้พนักงานอัยการไม่ได้ส่งพยานดังกล่าวขึ้นในชั้นไต่สวนในศาล ซึ่งเป็นพยานสำคัญ

นอกจากนั้นอีกวัตถุพยานหนึ่งที่มีความสำคัญและมีความเป็นกลาง คือภาพจากกล้องวงจรปิด ที่ด่านรินหลวง ซึ่งภาพนี้จะบอกข้อเท็จจริงโดยไม่เข้าใครออกใคร ซึ่งในภาพจะสามารถบอกได้ว่าการตรวจค้นเป็นไปตามระบบหรือไม่ นายชัยภูมิ ป่าแสใช้อาวุธมีดหรือมีระเบิดหรือไม่ แต่พยานวัตถุส่วนนี้ทางอัยการไม่ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนนำเข้าสำนวนสอบสวน แต่อัยการได้ส่งรายงานการพิสูจน์ให้กับทางศาล ซึ่งในรายงานการพิสูจน์นั้นมีการระบุว่าภาพจากกล้องวงจรปิดนั้นหายไป แต่พบว่ามีการทำสำเนาภาพในวันเกิดเหตุออกไป โดยเจ้าหน้าที่ทหาร และมีการให้ปากคำโดยเจ้าหน้าที่ทหารว่าได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดและได้ทำสำเนาตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา

“ทางเราขอให้ศาลเรียกวัตถุพยานนี้พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหารนายนั้น เข้าเบิกความ แต่ศาลให้ดุลย์พินิจเห็นว่าพยานหลักฐานนั้นเพียงพอแล้ว ในการที่จะทำคำสั่งจึงยกคำร้องไม่เรียก ซึ่งในวันพรุ่งนี้ทางทนายก็จะขอดูในคำสั่งของศาลว่าพยานหลักฐานนั้นสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่เพียงพอแล้วหรือไม่”…

นายรัษฎา บอกว่า ถ้าทางอัยการเพิ่มเติมในสิ่งที่เราอยากจะให้มีก็คือภาพจากกล้องวงจรปิด คือก็จะนำข้อเท็จจริงสู่ศาลให้มากที่สุด ทุกฝ่ายมีหน้าที่นำข้อเท็จจริงสู่ศาลดูแล้วเนื่องจากว่าระบบนี้คือการไต่สวนหาความจริงให้กับญาติผู้ตายจึงเป็นเรื่องสำคัญที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ต้องช่วยกันทุกฝ่ายมิเช่นนั้นอาจจะทำให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก

นายสุมิตรชัย หัตถสาร นายกสมาคมนักกฏหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าบริเวณด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จุดเกิดเหตุมี กล้องวงจรปิด 9 ตัว ในจำนวนนี้ มี 6 ตัวที่หันหน้าไปยังจุดที่มีการค้นรถ นายชัยภูมิ นอกจากนั้นมีระบุในบันทึกในชั้นสอบสวนว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐยศจากร้อยโท ได้รับคำสั่งจากนายให้ไปถอดฮาร์ดดิสก์จากกล้องวงจรปิดออกมาและเอาฮาร์ดดิสก์ตัวใหม่ไปเปลี่ยนใส่เเทน ก่อนที่จะส่งให้พนักงานสอบสวนในเวลาต่อมา นอกจากนั้นยังมีคำให้การว่าก่อนถอดพบว่ามีภาพอยู่ด้านในด้วย และเมื่อฮาร์ดดิสก์ถึงมือพนักงานสอบสวน ก็มีการส่งต่อให้กองพิสูจน์หลักฐานต่อ

จากการตรวจของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน พบว่า

  1. ภาพในฮาร์ดดิสก์มีภาพอยู่ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป ไม่พบภาพที่บันทึกในวันเกิดเหตุคือ 17 มีนาคม 2560
  2. พบดรอปไฟล์ คือมีการคัดสำเนาภาพจากฮาร์ดดิสก์ออกไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นไฟล์ที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ความยาวประมาณ 10 นาที

ขณะที่สื่อแห่งหนึ่งได้พยายามขออนุญาตให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลจากกล้องวงจรปิดจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร และคณะกรรมการฯมีความเห็นให้สามารถเปิดเผยภาพต่อสาธารณะได้ แต่ปรากฏว่าภาพนั้นไม่มีอยู่แล้วจึงไม่สามารถเปิดเผยได้

 

—  ระบุการไต่สวนการตายควรเพิ่มความโปร่งใส  —

นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า การวิสามัญฆาตกรรมนั้นไม่ได้มีกฎหมายพิเศษที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่แต่ว่าเจ้าหน้าที่มักจะอ้างว่าการวิสามัญฆาตกรรมนั้นคือการปกป้องตนเองจากการทำร้ายของผู้ต้องหาหรือจำเลย และถ้าหากว่าเจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นกำลังพยายามทำร้าย เขาก็ป้องกันตัวเองเหมือนกับพลเมืองป้องกันตัวเอง ถ้าพิสูจน์ได้ว่าชอบด้วยกฎหมายเจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องรับผิด ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ เราเองในฐานะพลเมืองก็มีสิทธิ์ป้องกันตัวเอง

สำหรับ การวิสามัญฆาตกรรมนั้นไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นยังมีกรณีศึกษาในต่างประเทศยกตัวอย่างเช่น ประเทศแคนาดาเฉลี่ยแล้วมีประมาณปีละ 20 คนซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชาการ โดยมีเหตุผลคือมีการควบคุมการครอบครองอาวุธปืนในประเทศและมีการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มีทักษะการยับยั้งชั่งใจ สามารถเจรจาหรือต่อรองกับผู้ต้องหาและใช้อาวุธให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

ส่วนในประเทศไทยนั้นเท่าที่หาข้อมูลยังไม่พบการบันทึกจำนวนการวิสามัญฆาตกรรมว่ามีกี่คนต่อปี จึงไม่รู้ว่าพลเมืองของเราถูกฆ่าในนามของรัฐจำนวนเท่าใด และเหตุผลของการวิสามัญในประเทศของเรานั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร เนื่องจากยังไม่มีการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า ความเคร่งครัดของกฏหมายที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างการวิสามัญว่าเป็นไปตามระเบียบนั้น ยังไม่มากพอ

นอกจากนั้นการไต่สวนการตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในสายงานเดียวกัน ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะสั่งไม่ฟ้องหรือดำเนินคดีได้ โดยการไต่สวนการตายในขณะนี้ จะจำกัดบทบาทอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และแพทย์ ดังนั้นเห็นว่าทางออกที่จะให้เกิดความเป็นธรรม ควรจะเพิ่มภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไปเช่นญาติผู้ตาย สื่อมวลชนหรือตัวแทนองค์กรวิชาชีพ เช่น สภาทนายความเข้าไป ก็จะทำให้การไต่สวนการตาย มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานรัฐเองหรือญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพราะสำนวนการไต่สวนการตายจะนำไปสู่การดำเนินคดีหรือไม่ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ

ด้านผู้เชี่ยวชาญการไต่สวนการตาย นายคิงสลิย์ แอ๊บบอต คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลกล่าวว่า การไต่สวนการตายตามหลักสากลแล้วก็ต้องใช้ความเป็นกลางให้มากที่สุด รวดเร็วและโปร่งใส โดยหลักฐานที่เป็นกลางมากที่สุด อย่างในกรณีนี้ก็คือภาพจาก CCTV ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นเครื่องมือในการปกป้องเจ้าหน้าที่แต่ภาพทั้งหมดจะบอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดโดยละเอียดโดยไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่สำคัญญาติกับผู้ตายจะต้องได้รับความคุ้มครองจากหน่วยงานของภาครัฐด้วย และในการไต่สวนการตายนั้น ครอบครัวของผู้ตายเป็นส่วนสำคัญที่สุดเนื่องจากจะรู้เรื่องราวของผู้ตายมากที่สุด และที่สำคัญรัฐต้องให้ข้อมูลกับญาติผู้ตายให้มากที่สุดถึงความคืบหน้าในการสอบสวนเป็นระยะ … ส่วนคำตัดสินของศาลในวันพรุ่งนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานอีกด้วย

ออกแถลงการณ์ขอสังคมร่วมติดตามตรวจสอบคดี

ในช่วงท้ายของเวทีเสวนา. เครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส ออกแถลงการณ์ขอยืนยันว่า ขอสนับสนุนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมและเรียกร้องให้สังคมร่วมกันติดตามความคืบหน้าของคดีนี้ต่อไป จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ทราบถึงความจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน

เนื่องจากการวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่มีความจำเป็นเพราะเกิดการต่อสู้ขัดขวางของนายชัยภูมิ และขณะนั้นได้ยืนยันว่ามีหลักฐานโดยเฉพาะภาพจากกล้องวงจรปิด อย่างไรก็ตามภายหลังที่ครอบครัวได้พยายามต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง พยานหลักฐานที่เคยกล่าวอ้างจากทางเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เคยปรากฏอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ