อีสานระดมอีก ชู ‘แผนแม่บทป่าไม้ประชาชน’ ยันข้อมูลผลกระทบ ‘แผนแม่บทจากรัฐ’

อีสานระดมอีก ชู ‘แผนแม่บทป่าไม้ประชาชน’ ยันข้อมูลผลกระทบ ‘แผนแม่บทจากรัฐ’

รายงานโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

 

เมื่อวันที่ 28 – 29 มี.ค.2558 ณ ศาลาบ้านดินชุมชนหนองจาน ต.นาหองทุ่ม อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ภาคประชาชนอีสาน ที่ได้รับผลกระทบที่ดินทำกิน ทั้งในเขตพื้นที่ป่าไม้ และที่สาธารณะประโยชน์ กว่า 80 คน ร่วมแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็น จัดทำร่างแผนแม่บทป่าไม้โดยประชาชน เตรียมเสนอภาครัฐ โดยทนายความประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน วิบูลย์ บุญภัทรรักษา สมนึก ตุ้มสุภาพ รวมทั้ง ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมแลกเปลี่ยน

20153103213533.jpg

สมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า การระดมความเห็นครั้งนี้ต่อเนื่องจากเวทีสัมมนา “ยกร่างแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐฯ เมื่อวันที่ 19 – 20 มี.ค.58 ณ โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น โดยในวันดังกล่าว นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า ร่วมกับตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้ที่ดินในภาคอีสานระดมความคิดเห็นและจัดทำร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชน เสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป 

ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวเพิ่มว่า เวทีครั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นัดหมายร่วมกันจัดทำแผนยกร่างแผนแม่บทฯ ที่จัดการกันเองโดยชุมชนขึ้นอีกครั้ง เพื่อรวบรวม และร่วมระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแต่ละพื้นที่ ทั้งปัญหา ผลกระทบต่างๆ เพิ่มเติม เตรียมเสนอภาครัฐให้ร่วมพิจารณาสนับสนุนแผนแม่บทที่ร่างโดยประชาชน ให้มีการกระจายอำนาจสู่ชุมชน รวมทั้งให้ผู้มีอำนาจสั่งการยกเลิกคำสั่ง 64/2557 ยกเลิกการจับกุม ไล่รื้อ และตัดฟันพืชผลอาสินจากประชาชนผู้ยากไร้ และในแผนให้มีการชดเชย เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่วมกับภาคประชาชน เพื่อศึกษาว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทจำนวนเท่าไร อย่างไร

สมนึก กล่าวอีกว่า ในพื้นที่ภาคอีสานภายหลังคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/57 และประกาศใช้แผนแม่บทป่าไม้ในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ของรัฐ พบว่า ประชาชนหรือราษฎร ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าว เท่าที่ร่วมแลกเปลี่ยนจากตัวแทนที่เข้าร่วมครั้งนี้ พบว่า มีไม่ต่ำกว่า15 พื้นที่ และไม่น้อยกว่า 10 จังหวัด ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ เช่น ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ นับจากวันที่ 25 ส.ค. 57 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังปิดป้ายประกาศไล่รื้อ ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง

นอกจากนี้ บางพื้นที่ถูกตัดฟันอาสิน จับกุมดำเนินคดี และถูกผลักดันออกจากพื้นที่ ทั้งขโมยทรัพย์สินชาวบ้าน ติดป้ายตรวจยึด เช่น ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมภูพาน และป่าดงกระเฌอ บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร โดยหน่วยงานภาครัฐเข้าทำการตัดต้นยางพาราไป 380 กว่าไร่ แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก 37 ราย โดนทั้งคดีอาญา บางรายโดนรื้อบ้าน และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูพาน บ้านดานเม็ก ต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ โดยเจ้าหน้าฝ่ายปกครองอำเภอสามชัย เจ้าหน้าที่ทหารชุดร้อย รส.1 ม.พัน 14 และเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรสามชัย แจ้งให้ชาวบ้านมารวมกันเพื่อจะดำเนินการทำข้อมูลออกเอกสารสิทธิที่ดินให้ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมบัตรประชาชนไว้ จากนั้นได้ทำการจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้าน

“แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาส่งผลต่อความหวาดระแวงของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินชีวิตแบบไม่มีความสุข ไร้สิ้นซึ่งความมั่นคง บางพื้นที่ถูกผลักดันออกไปแล้ว คือ กรณีป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ บ้านเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ครอบครัวต้องบ้าน สูญสลาย กระจัดกระจายไปรับจ้างทำงานต่างถิ่น ซึ่งข้อเท็จจริงกรณีข้างต้น มีอีกเป็นจำนวนมาก รัฐบาลที่ผ่านมาหลายยุคสมัยไม่สามารถดำเนินการให้เป็นที่ยุติได้ กระทั่งปัจจุบัน หากแผนแม่บทดังกล่าวดำเนินการต่อ โดยไม่พิจารณาประวัติศาสตร์และพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่นั้นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐ ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิที่ดิน การถูกอพยพอาจเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งชาวบ้านต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้บุกรุกที่ดินอย่างแน่นอน ดังนั้นชาวบ้านจึงร่วมระดมยกร่างแผนประชาชนดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่ซ้ำรอยมานับครั้งไม่ถ้วน” ผู้อำนวยการศูนย์ ฯ กล่าว

20153103213643.jpg

ด้าน ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น ชาวบ้านมักเป็นผู้ถูกกระทำมาตลอด บานปลายมาสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐ โดยภาพรวมมองว่า นอกจากปัญหาความเหลี่ยมล้ำที่ต่อเนื่องมาจากทุกยุคสมัย รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายกระจายการถือครองที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด เพราะรัฐมีเป้าหมายให้ที่ดินกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทุนเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย เช่น การอนุญาตให้เอกชนเช่าทำประโยชน์ในเขตป่าและที่ดินของรัฐ ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกต่อต้านความไม่เป็นธรรม แม้ชุมชนจะมีหลักฐานพร้อมข้อเท็จจริงในสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าฯ แต่ขาดโอกาสที่จะเข้าพบและอธิบายข้อมูลให้กับผู้มีอำนาจให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัญหาเรื้อรังมาตลอด

ฉะนั้นหากเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจสั่งการ ไม่พร้อมเปิดใจรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริง ให้เกิดการมีส่วนร่วมตัดสินใจกันหลายฝ่าย หาใช่ฟังความเพยงเจ้าหน้าที่รัฐตัดสินฝ่ายเดียว ไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกมาโดยตลอด ขณะเดียวกันภาครัฐกลับไม่เคยเข้าใจว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน ตลอดจนครอบครัว และญาติพี่น้อง ทั้งในเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน ถูกละเมิดสิทธิชุมชน ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพียงฝ่ายเดียว

“การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบ หรือการพิสูจน์สิทธิ์ ต้องมีความหลากหลาย ทั้งนี้ต้องมีลักษณะจำแนกแยกแยะให้ชัดเจน ระหว่างนายทุนที่ถือครองที่ดินในเขตป่า กับชาวบ้านที่มีกรณีพิพาทสิทธิในที่ดินกับหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ควรมีการระงับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ออกไว้ก่อน และดำเนินการทบทวน โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในช่วงที่ผ่านมา” อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมือง กล่าว

20153103213732.jpg

วิบูลย์ บุญภัทรรักษา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายฯ กล่าวว่า หากพิเคราะห์ลึกลงไปในรายละเอียดให้มากกว่านี้ จะเห็นว่า นับแต่มีกฎหมายป่าไม้ รวมทั้ง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่คลอดออกมา ทุกฉบับไม่มีพื้นที่สำหรับในเรื่องของสิทธิชุมชน ที่เอื้อประโยชน์ให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารจัดการได้เลย ดังนั้น หลักการแก้ไขปัญหาต้องคำนึงถึงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน โดยพิจารณามาตรการหลักๆ เพื่อผลักดันให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า กองทุนธนาคารที่ดิน และการส่งเสริมสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อความยั่งยืนในแต่ละพื้นที่ด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นจะสามารถดำเนินการแก้ไขได้ ควรอย่างยิ่งที่ภาครัฐหันมาให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ฯ ไม่เช่นนั้น คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 66/57 ที่ระบุและมีผลบังคับใช้ ว่า การกระทำใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ยกเว้นผู้บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการขั้นตอนต่อไป 

ตรงกันข้ามผู้มีอำนาจกลับไม่หยิบคำสั่ง 66/57 มาบังคับใช้ ในฐานะที่ชาวบ้านต่างถือครองทำประโยชน์มาก่อนที่รัฐจะเข้ามาประกาศเขตป่าต่างๆ ทับซ้อน อีกทั้งชาวบ้านก็ไม่ได้มีการบุกรุกเพิ่มแต่อย่างใด รวมทั้งพื้นที่พิพาทก็ได้มีกระบวนการแก้ไขมาโดยตลอด ล่าสุดมติตามนโยบายข้อเสนอในที่ประชุมให้ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน

“หากวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุแห่งความขัดแย้ง จะพบว่า กรอบความคิด และแนวปฏิบัติของรัฐ จะมุ่งผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว รวมทั้งทัศนะในการมองปัญหาว่าการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศเกิดจากการบุกรุกของราษฎร ทำให้ความไม่ชอบธรรมตกอยู่ที่ชาวบ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการสร้างความไม่ปกติสุขในการดำเนินชีวิตให้กับชาวบ้าน ไม่ใช่เป็นการคืนความสุขอย่างแท้จริง และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง” ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายฯ ให้ความเห็นทิ้งท้าย

20153103213819.jpg

แหล่งข่าว แจ้งเพิ่มว่า จากเวทีระดมความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ภาครัฐมีส่วนร่วมการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐที่ประกาศทับซ้อนชุมชนและพื้นที่ทำกิน จัดทำแนวเขตและจำแนกที่ดินให้ชัดเจน รวมทั้งจัดสรรที่ดินและรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับราษฎรที่ยากจน และส่งเสริม สนับสนุนการจัดการที่ดินร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ หรือการใช้แนวคิดในระบบนิเวศวัฒนธรรมชุมชน เพื่อการฟื้นฟูฐานทรัพยากรโดยชุมชน รวมทั้งเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ผลกระทบพื้นที่เขตป่า ผู้เข้าร่วมกรณีพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ถูกหน่วยงานท้องถิ่นฉวยโอกาสอาศัยช่วงหลังมีประกาศคำสั่ง 64 / 2557 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ เข้ามาดำเนินการปิดกั้นพื้นที่พิพาทชาวบ้าน รวมทั้งยื่นคำขาดให้ออกจากพื้นที่ เช่น 1.กรณีที่สาธารณะประโยชน์โคกป่าแดง ต.สำโรงปราสาท อ.ปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงปราสาท อ้างคำสั่ง คสช.ที่ 64 /2557 จัดทำโครงการขุดคลองส่งน้ำโดยขุดผ่านที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของชาวบ้าน รวมทั้งมีการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านข้อหาบุกรุกพื้นที่

2.กรณีที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งซำเสี้ยว ต.สระโพนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดำเนินการขุดลอกแนวเขตที่สาธารณะประโยชน์ทำให้พืชพันธุ์ผลอาสิน (ไร่อ้อย และนาข้าว) ถูกทำลายได้รับความเสียหาย

และ 3 กรณีที่สาธารณะโคกหนองสิม ต.โพนสูง อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด จากเหตุการณ์วันที่ 12 ก.พ.58 กองกำลังเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยจังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด กองทัพภาคที่สอง รวมทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กว่า 60 นาย เข้ามาลงตรวจสอบพื้นที่ พร้อมข่มขู่ให้ชาวบ้านไปร่วมลงชื่อออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ยังจะกระทำการรื้อถอนวัดออกจากพื้นที่ พร้อมจับพระออกจากวัด ทั้งขู่ว่าหากกลับเข้ามาจะจับสึกโดยทันที ถึงวันนี้พระยังไม่กล้ากลับเข้ามาจำวัด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ