อาลัย “สวิง ตันอุด” ผู้ผลักดันปรับโครงสร้างอำนาจสู่การจัดการตนเอง

อาลัย “สวิง ตันอุด” ผู้ผลักดันปรับโครงสร้างอำนาจสู่การจัดการตนเอง

อาลัย “สวิง ตันอุด” ผู้ผลักดันปรับโครงสร้างอำนาจสู่การจัดการตนเอง  

20160803181510.jpg
ภาพจากเฟซคุณสวิง ตันอุด โพสต์โดย Narawadee Yokhum

เวลาเพียง  14  วัน ที่ สวิง ตันอุด ได้ใช้เพื่อ “จัดการชีวิตตนเอง” นับจากวันที่ 24 ก.พ.2559 ที่เขาได้รับทราบว่า อาการไข้สูงหลังการผ่านิ่วในไต  คือผลจากการเป็นมะเร็งกรวยไต  ตับ ท่อน้ำดีแล้วลามไปปอด  ที่ลุกลามไปในระยะที่น่ากังวล

“ผมไม่ได้ตกใจเลยผมพิจารณาความตายอยู่เสมอและผมเลือกธรรมชาติบำบัด…”คือสิ่งที่ สวิง ตอบกับหมอ หลังจากหมอตัดสินใจบอกความจริงของอาการป่วยให้กับเขาและครอบครัว คำพูดนี้ปรากฏในบันทึกของพี่วนิดา ภรรยา ที่อนุญาติให้ ติ๊ก น้องสาวผู้ร่วมทำงานด้านจัดการตนเองเผยแพร่เพื่อให้ผองเพื่อนที่รักสวิงได้รับทราบความเป็นไป

“ผมมัวแต่ไปพูดเรื่องการกระจายอำนาจด้วยยุทธศาสตร์ให้จังหวัดจัดการตนเองคับ..ผมเลยลืมเรื่องสวิงจัดการตัวเก่า”..คือคำพูดของสวิงเช่นกัน ที่เขาบอกกับพยาบาลในวันที่เข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดนิ่วก้อนใหญ่เมื่อปลายเดือนมกราคม 2559

20160803181612.jpg
       

ภาพจากเฟซบุ๊คสวิง ตันอุด  “ภาพนี้..จากสารคดีที่เคยทำร่วมกับพี่สวิงเป็นชิ้นแรก เมื่อ 10 กว่าปีก่อน (เป็นภาพการลงไปทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านแม่ทา สมัยยังหนุ่มๆ ”  โพสต์โดยTeamKrajai Sarakadee
 

 

ช่วงเวลา 7  ปีก่อนถึงวันสุดท้ายของชีวิตมานี้ สวิง ตันอุด นักพัฒนาอาวุโสของภาคเหนือ ทำงานอย่างหนักที่จะขยับวาระ “จัดการตนเอง” ให้อยู่ในกลไกการปฏิรูปประเทศ โดยหวังจะให้สังคมไทย หลุดพ้นจากหลุมดำแห่งอำนาจ ด้วยแนวคิดการกระจายอำนาจที่ทำให้เขาต้องเดินทางเพื่อบอกเล่าแนวคิด วางยุทธศาสตร์การรณรงค์ ขยายแนวร่วมตลอดจน ผลักดันร่างกฏหมายให้เข้าสู่กลไกหลายระดับ

แต่หากจะย้อนไปถึงเส้นทางชีวิตของ สวิง ตันอุด เขาคือต้นแบบ ครูนักพัฒนาของภาคเหนือและสังคมไทยมาทั้งชีวิต สวิง ตันอุด เป็นคนเชียงใหม่ เขาเกิด เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2499  จบการศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒบางแสน สาขา ภาษาไทย ระหว่างเรียน เขาเป็นอดีตนายกองค์การนิสิต มศว.บางแสน และเป็นแรงบันดาลใจของนิสิตหลายคนให้มีชีวิตเพื่อสังคมมาแต่ยุคนั้น เมื่อถึงวัยทำงาน งานของเขาที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง คือการเป็นนักพัฒนา เพื่อจัดการทางสังคมอย่างเคียงข้างประชาชนนับแต่แรกเริ่ม

ชัยวัฒน์ จันทิมา นักสื่อสารแห่งพะเยาทีวีชุมชนโพสต์ข้อความไว้อาลัยสวิง เป็นเนื้อหาที่เขาได้เคยสัมภาษณ์สวิงไว้ในหนังสือพิมพ์พะเยารัฐ ราวเดือน กันยายน 2552  ว่า

“ประมาณปี 2524 ผมเป็นอาสาสมัครมาทำงานที่แม่ต๋ำบุญโยง แม่ต๋ำอินฐาน มีพื้นที่ทำงานไปถึงเชียงคำ สมัยนั้นมีมอเตอร์ไซด์อยู่คันเดียวก็แย่งมอเตอร์ไซค์กัน ใครตื่นเช้าก็ได้มอเตอร์ไซค์กันไปทำงาน ทีนี้ เราอยากได้มอเตอร์ไซด์ บุญยืนก็ช่วยกันออมเงินไปซื้อมอเตอร์ไซด์ ซื้อมาสองพัน ซ้อนสามไปเชียงคำ ไปถึงกลางทาง ควันมันลุก มันไหม้ทั้งคัน

…ตอนนั้นเข้าไปทำงานในหมู่บ้าน คำว่า NGOs ไม่มีใครเขารู้จัก แต่ชาวบ้านจะสงสัยอยู่สองเรื่อง คือ เวลาโดนจับเหล้า เขาก็จะหาว่า เราเป็น กอ.รมน. และหากประชุมกับชาวบ้านก็หาว่า เราเป็นคอมมิวนิสต์หรือองค์กรศาสนาคริสต์…เวลานั้น เราต้องประชุมกับชาวบ้านตอนกลางคืนอย่างเดียว เพราะตอนกลางวันเขาไปไร่ไปสวน แต่ดีอย่าง ชาวบ้านเขาไม่ติดทีวี เวลาเรียกประชุมเขาก็จะมา แต่ปัจจุบัน เรียกประชุม เขาก็ไม่ค่อยมา

…ตอนนั้นเรื่องที่คุย ที่จริงแล้ว เราสู้กับเรื่องความยากจน โดยใช้แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน ไปทำกับชาวบ้านในประเด็นออมทรัพย์ ธนาคารข้าว ธนาคารวัวควาย ร้านค้า/สหกรณ์ เรามีเครือข่ายสามสี่หมู่บ้าน พื้นที่ทำงานไม่กว้าง แต่เราทำลึก ไปกินไปนอนกับชาวบ้าน…ส่วนเวลาไปประสานกับราชการ คนทำงานเอ็นจีโอจะถูกสงสัยไว้ก่อนว่า เราไม่ดี ไม่รู้จักเรา พออธิบายเสร็จ ราชการก็ยังสงสัยกันอยู่ ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีบทบาทในสังคมเลย ตอนนั้นก็ยี่สิบแปดปีแล้ว การทำงานลำบาก แต่ไม่ค่อยกว้างขวาง เวลาขับรถไปดงเจน อยู่หน้าค่ายทหารฯถนนลูกรังดินแดง เราไม่รู้จักใคร แต่ก็มีคนช่วยมาเข็นรถให้”

เป็นถ้อยคำแลกเปลี่ยนการทำงานที่สะท้อนเจตนารมณ์เพื่อประชาชนและชุมชนของสวิง ตันอุดที่สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน

บทบาทงานนักพัฒนาที่ต่อเนื่อง ในฐานะผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม  อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือ (กป.อพช. ภาคเหนือ)อดีตประธานองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ภาคเหนือ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 สสร.50  อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สป. ชุดที่ 1 (คณะยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และการทำงานร่วมกับเครือข่ายชาติพันธุ์  ทำให้สวิง ตันอุด คือนักพัฒนาของจริงที่มีพี่น้องผองเพื่อนรักใคร่มากมาย จึงไม่แปลกที่แนวคิดจัดการสังคมที่เขาเชื่อ เมื่อขับเคลื่อนสู่โมเดลจังหวัดจัดการตนเอง จึงได้รับการนิ่งฟัง และร่วมมือร่วมใจจากเพื่อนร่วมแนวคิด กระทั้งขยับสู่ขั้นตอนการผ่าน (ร่าง) พระราชบัญญัติเชียงใหม่มหานคร และ (ร่าง) 20 พ.ร.บ.จังหวัดปกครองตนเอง

สวิง เชื่อเรื่องการจัดการความรู้หรือองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้ว เขาเคยให้สัมภาษณ์สุรพงษ์ พรรณวงษ์ และทีมข่าวพลเมือง ว่าจะสามารถยกระดับองค์ความรู้นั้น แล้วนำมาบริหารจัดการอย่างไร  ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสและสิ่งที่สำคัญก็คือเขามองเห็นมาโดยตลอดว่าการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ผ่านมาเป็นการบริหารงานเชิงอำนาจมาก เป็นสังคมเชิงอำนาจสูงมาก แต่ว่าทำอย่างไงจะใช้หรือพัฒนาให้สังคมบ้านเราเป็นสังคมเชิงความรู้หรือสังคมแห่งความรู้ ซึ่งจะพลิกสถานการณ์สังคมบ้านเราให้กลายมาสู่สังคมที่เกิดการเรียนรู้กันมากขึ้นและก็จะกลายเป็นสังคมที่ไม่ใช้เพียงแค่ใช้อำนาจ 

 

20160803181925.jpg

ภาพจากเฟซบุ๊คสวิง ตันอุด โพสต์โดยสวิง เอง และเขียนบรรยายว่า “ย้อนอดีตกันหน่อยหลายคนก็หัวเปลี่ยนสีกันไปแล้ว ดูเหมือนว่าจะช่วยสรุปงานเอามื้อ ที่”บ้านห้วยหินขาว” แม่สรวย เชียงราย บ้านนี้ปัจจุบันโดนย้ายไปแล้วเหลือแต่อดีตและความทรงจำ ใครเป็นใครดูเอาเอง ทายถูกหรือเปล่า..”

สวิง เป็นคนเชียงใหม่ เขาเห็นว่าเชียงใหม่ควรจะได้รับสิทธิในการบริหารจัดการตนเอง โดยได้มีการเคลื่อนไหวจังหวัดจัดการตนเองโดยเริ่มแห่งแรกที่ เชียงใหม่มาเป็นเวลา 7  ปี  โดยให้ประชาชนพลเมืองในเชียงใหม่ได้มีส่วนร่วมในการปกครองจังหวัด จัดการพื้นที่ของตนเอง เช่น การจัดการน้ำ การจัดการทรัพยากรต่างๆ คุณสวิง กล่าว ว่า ท้องถิ่นมีบทบาทชัดมากขึ้นในการจัดบริการสาธารณะพื้นฐานในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นท้าทายในวันนี้คือ รัฐบาลและระบบราชการส่วนกลาง ยังไม่ยอมถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้ อปท. อย่างที่ควรจะเป็น การกระจายอำนาจจะทำให้ประชาชนไม่เป็นแต่ “แบมือขอ” จากภาครัฐ หากจะพัฒนาเป็นการ “มีส่วนร่วม”ในทางการเมือง โดยเริ่มต้นจากการมีส่วนร่วมในการออกแบบท้องถิ่นของตน และชี้ให้เห็นถึงผลร้ายของการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ท้องถิ่นจะทำอะไรต้องขอส่วนกลางไปทุกเรื่อง ผลคือประชาชนก็จะไม่รู้สึกคิดอยากพัฒนาพื้นที่ของตน 

การผลักดันให้เชียงใหม่จัดการตนเอง จะส่งผลดีต่อการคืนพื้นที่ให้ประชาชน รวมทั้งงบประมาณที่เคยเสียให้ส่วนกลาง 100% จะถูกแบ่งในการบริหารท้องถิ่น 70% ซึ่งหมายความว่าท้องถิ่นจะมีงบประมาณในการจัดการตนเองเพิ่มขึ้น มากกว่าการได้รับงบจากส่วนกลางที่ได้รับ 20% เท่านั้น ซึ่งท้องถิ่นจะสามารถบริหารท้องถิ่นในด้านต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น   แนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง”เดินหน้าร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเชียงใหม่หลายข่ายประเด็น นักวิชาการ นักกฏหมายจนนำไปสู่การยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อจัดตั้ง “เชียงใหม่มหานคร”  และขยายแนวร่วมกับเพื่อนในอีกหลายจังหวัดย่างเข้มข้นในปี 2557  แต่เกิดการรัฐประหาร และคลี่คลายมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในขณะนี้

ในวันที่ร่างรัฐธรรมนูญมีชัย เผยสู่สาธารณะชนเป็นวันเดียวกับที่ สวิงต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการนิ่วในไต เขาไม่มีกำลังที่ชี้ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจด้วยตนเอง แต่เชื่อมั่นในหลักคิดและมีผองเพื่อนอีกจำนวนไม่น้อยที่ร่วมกันชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญนี้ช่วงเวลาของการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

วันนี้ สวิง ตันอุด พักผ่อนนิรันดรแล้ว แม้รูปธรรมของการปกครองตนเองจะยังไม่ปรากฏให้เห็นเชิงโครงสร้างในยุคสมัยของเขา  แต่วาทกรรมกระจายอำนาจ และการจัดการตนเองที่เขาและเครือข่ายฯผลักดัน กลายเป็นวาทกรรมที่ชวนคิดและถกเถียงต่อกันต่อไปในสังคมไทยที่อยู่ในห้วงเวลาจัดสัมพันธ์ทางอำนาจอยู่ในขณะนี้

โพสต์เฟซบุ๊คสุดท้ายที่สวิง เขียนไว้เมื่อ 12 ก.พ.2559  ขณะอยู่ในโรงพยาบาลคือ  #บางคืน ก็ไม่รู้ว่า “ชาติหน้ากับพรุ่งนี้ อันไหนจะมาถึงก่อนกัน”  เช้ามืดวันที่ 8 มีนาคม 2559  สวิง ตันอุด ได้จากไป พร้อมกับการเตรียมพร้อมโดยบอกกล่าวพูดคุยกับลูกชายทั้งสอง ภรรยาไว้แล้ว และอุทิศร่างกายให้เป็นครูเพื่อการศึกษาแก่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

20160803182234.jpg

 

ชีวิตของสวิง จัดการตนเองแล้ว และจัดการสังคมเพื่อส่วนร่วมไว้ และเป็นดังคำที่ บัณรส บัวคลี่ เพื่อนรุ่นน้องผู้ร่วมขับเคลื่อนแนวคิดกระจายอำนาจเขียนไว้อาลัยถึงเขาว่า 

ชาติ  หนึ่งกำเนิดเกิดก่อ
หน้า  ที่ถักทอสร้าง-สาน
พรุ่ง  แจ้งยุติภาระงาน
นี้     เป็นอีกตำนาน ผ่านแล้วฯ

 

                    20160803183728.jpg

                   

                  20160803183910.jpg

                 20160803183922.jpg

                20160803183933.jpg

                  20160803183804.jpg
                  ภาพจากเฟซบุ๊ค สวิง ตันอุด

คลิกชม  หลักคิดด้านกระจายอำนาจ จังหวัดจัดการตนเอง ที่สวิง ตันอุดและเครือข่ายฯ เคยให้สัมภาษณ์ ทีมสื่ออาสานักข่าวพลเมืองไว้ 
https://www.youtube.com/watch?v=hngjmWsPEM8
 

คลิกชม สารคดี กระจายอำนาจ เสียงร้องจากท้องถิ่น ตอนที่ 5 ที่เสนอแนวคิดที่สวิง และเครือข่ายมุ่งหวังให้เกิดการปฏิรูปด้านโครงสร้างอำนาจการปกครองเพื่อแก้ไขปัญหาหลายอย่างในประเทศ

https://www.youtube.com/watch?v=QcNvyEhiC8Y

เรียนรู้หลักคิดกระจายอำนาจ สู่การจัดการตนเอง โดยดาวน์โหลด  ไฟล์นำเสนอ “ทำไมเราต้องคิดและทำเรื่อง ‘จังหวัดจัดการตัวเอง’ ” โดย สวิง ตันอุด  นำเสนอในเวทีสาธารณะ  “ไฟใต้ดับได้ด้วยการกระจายอำนาจ” วันที่ 4 มิถุนายน 2554ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
http://www.deepsouthwatch.org/node/2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ