องค์กรสิทธิฯ ขอพบ’กอ.รมน.ภาค 4 สน.’ คุยมาตรการตรวจเก็บ DNA

องค์กรสิทธิฯ ขอพบ’กอ.รมน.ภาค 4 สน.’ คุยมาตรการตรวจเก็บ DNA

3 ก.ค. 2558 องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกส่งถึง ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เรื่อง ขอเข้าพบเพื่อแสวงหาแนวทางและมาตรการการตรวจเก็บดีเอ็นเอในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

จดหมายเปิดผนึกระบุถึง ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ (CERD) ในเรื่องการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจเก็บดีเอ็นเอ และรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีข้อเสนอให้ทบทวนมาตรการการตรวจและการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ และการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนให้สอดคล้องกับกฎหมายทั้งในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากหน่วยงานที่ทำงานในเรื่องเหล่านี้จำต้องมีมาตรฐานและแนวทางในการทำงานที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน 

องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม จึงขอเข้าพบผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 สน.เพื่อปรึกษาหารือถึงมาตรการและแนวทางในการปฏิบัติในการตรวจเก็บดีเอ็นเอให้สอดคล้องและเป็นไปตามคำแนะนำดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติงานที่เป็นที่ยอมรับและได้รับความร่วมมือจากประชาชน 

 

จดหมายเปิดผนึก

 

วันที่  3 กรกฎาคม  2558

เรื่อง    ขอเข้าพบเพื่อแสวงหาแนวทางและมาตรการการตรวจเก็บดีเอ็นเอในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
เรียน    ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

ตามที่คณะกรรมการประจำอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ (CERD) ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 เพื่อสอบถามขอรายละเอียดและคำชี้แจงเพิ่มเติมในกรณี  การเข้าตรวจค้นสำนักงานศูนย์วัฒนธรรมสลาตัน BUMI เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 และการเก็บดีเอ็นเอ เยาวชนอาสาสมัครของ BUMIจำนวน 8 คน นอกจากนี้ยังมีความ พยายามเข้าตรวจค้นสำนักงานของสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ PERWANI  ตามเอกสารแนบ หมายเลข 1

จดหมายดังกล่าวระบุถึงรายงานการเข้าตรวจเก็บดีเอ็นเอในปี 2555 ทั้งที่โรงเรียนปอเนาะ (ตาร์เบียร์ตุล-วาตันมูลนิธิ) จ.ยะลา และการตรวจดีเอ็นเอของประชาชนในตำบลไทรทอง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี  ทางคณะกรรมการระบุว่า หากเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเป็นความจริง ก็จะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งเป็นการละเมิดอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ  และคณะกรรมการยังมีความกังวลต่อเรื่องที่มีการเก็บดีเอ็นเอของเยาวชนโดยไม่ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอ หรือได้รับความยินยอมอย่างเต็มใจ  

คณะกรรมการยังเรียกร้องให้รัฐมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อขจัดการตรวจบัตรประชาชน หรือการจับกุมบนพื้นฐานของการมุ่งปฏิบัติการไปที่เชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง  (Racial Profiling) รวมถึงทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงในพื้นที่ให้เทียบเท่ากับมาตรฐานระหว่างประเทศ และตรวจสอบข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งนำตัวบุคคลที่กระทำผิดมารับผิดชอบ

นอกจากนี้คณะกรรมการยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ระบุข้างต้นภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2558 โดยขอข้อมูลในเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1) เหตุผลที่จนท.ทำการเก็บดีเอ็นเอกรณีของอาสาสมัครเยาวชน 2) มาตรการที่บังคับใช้เพื่อติดตามตรวจสอบผลการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชน 3) มาตรการที่จะปกป้องคุ้มครองให้ภาคประชาสังคมไม่ถูกข่มขู่หรือคุกคาม 4) มาตรการที่จะใช้สอบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิที่ระบุไว้ในจดหมายและผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบหรือไม่

อีกทั้ง ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีรายงานการตรวจสอบเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 เรื่องสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลและเสรีภาพในการเดินทาง  การตรวจเก็บดีเอ็นเอโดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึก โดยมีข้อเสนอให้ กอ.รมน.ภาค 4 ทบทวนมาตรการการตรวจและการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ และการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนให้สอดคล้องกับกฎหมายทั้งในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมต่อเยาวชนและครอบครัว ตามเอกสารที่แนบหมายเลข 2

จากข้อความข้างต้น องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมตามรายนามด้านล่างนี้มีความเห็นว่า การดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ (CERD) ในเรื่องการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดของท่านในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจเก็บดีเอ็นเอนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากหน่วยงานที่ทำงานในเรื่องเหล่านี้จำต้องมีมาตรฐานและแนวทางในการทำงานที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน 

ดังนั้น องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม จึงเรียนมาเพื่อขอเข้าพบท่านและคณะของท่าน เพื่อปรึกษาหารือถึงมาตรการและแนวทางในการปฏิบัติในการตรวจเก็บดีเอ็นเอให้สอดคล้องและเป็นไปตามคำแนะนำ ทั้งจากที่มาจากคำชี้แจงแนวทางโดยคณะกรรมการประจำอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ (CERD) และจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติงานที่เป็นที่ยอมรับและได้รับความร่วมมือจากประชาชน ตลอดจนเอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสันติสุขต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม – CrCF
2. กลุ่มด้วยใจ – Duayjai Group
3. เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี HAP
4. มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา Nusantara
5. สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา LEMPAR
6. ศูนย์วัฒนธรรมสลาตัน BUMI  
7. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม MAC
8. เครือข่ายอาสาผู้ช่วยทนายความ SPAN
9. สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ PERWANI

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ