6 พ.ย. 58 ครบรอบ 1 เดือนการเข้าโจมตีของทหารเมียนมาในพื้นที่ชุมชนรัฐฉานตอนกลาง ประเทศเมียนมา ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรัฐฉานในไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่ นำโดย ying harn fah เข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนสถานกงสุลเมียนมา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ขอให้มีการหยุดยิ่ง ยุติความรุนแรงในรัฐฉานตอนกลาง แต่สถานกงสุลเมียมา ยังไม่รับหนังสือ และขอให้ส่งจดหมาย ผ่านไปรษณีย์หรืออีเมลเข้ามา.ying harn fah บอกว่า ในวันที่ 8 พ.ย.ที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น มีบางพื้นที่ในรัฐฉานตอนกลางได้ประกาศยกเลิกการเลือกตั้งแล้ว.จากนั้น ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรัฐฉานในไทยได้เดินทางต่อไปเข้ายื่นหนังสือผ่านสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำเชียงใหม่ เพื่อให้ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงท่าทีต่อรัฐบาลเมียนมา
Posted by นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) on Thursday, November 5, 2015
ยื่นหนังสือกงสุลเมียนมา ยุติความรุนแรงในรัฐฉาน
6 พ.ย. 2558 ที่สถานกงสุลใหญ่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรัฐฉาน (Community Based Organisations – CBOs) ในไทยนำโดยหยิง หาน ฟ้า (ying harn fah) เข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนสถานกงสุลเมียนมา หลังครบรอบ 1 เดือนการเข้าโจมตีชุมชนรัฐฉานตอนกลาง ของทหารเมียนมา โดยขอให้มีการหยุดยิ่ง ยุติความรุนแรงในรัฐฉาน
อย่างไรก็ตาม สถานกงสุลเมียนมา ยังไม่รับหนังสือ และขอให้ส่งจดหมาย ผ่านไปรษณีย์หรืออีเมลเข้ามา
หยิง หาน ฟ้า บอกว่า ในวันที่ 8 พ.ย.ที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น มีบางพื้นที่ในรัฐฉานตอนกลางได้ประกาศยกเลิกการเลือกตั้งแล้ว
จากนั้น ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรัฐฉานในไทยได้เดินทางต่อไปเข้ายื่นหนังสือผ่านสถานกงสุลใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงท่าทีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังรัฐบาลพม่า
องค์กรชุมชนรัฐฉานจี้เนปิดอว์หยุดโจมตีรัฐฉาน-กลุ่มชาติพันธุ์
ในวันเดียวกัน (6 พ.ย. 2558) องค์กรชุมชนรัฐฉาน ยังออกแถลงการณ์ ‘เนปิดอว์ต้องหยุดการโจมตีศูนย์กลางของรัฐฉานในทันที และปลดปล่อยชุมชุมให้ได้กลับบ้าน’ ลงวันที่ 6 พ.ย. 2558 ระบุประนามอย่างรุนแรงต่อเหตุการณ์การโจมตีศูนย์กลางรัฐฉานของกองทัพจากกรุงเนปิดอว์ ตั้งแต่ช่วงเดือนที่ผ่านมาหลังวันที่ 6 ต.ค.2558 ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บและไร้ที่อยู่มากกว่า 6,000 ชุมชน
ปฎิบัติการกองกำลังขนาดใหญ่ 14 กองพัน ติดอาวุธหนักทั้งปืนใหญ่และเครื่องบินไอพ่นสำหรับต่อสู้ คุกคามชุมชนท้องถิ่นกว่า 22 หมู่บ้านในต้างยาน มองซู เมืองโต๋น เมืองนอง และเขตชุมชนเกซี ทำให้ชาวบ้านที่มีทั้งผู้หญิงและเด็กต้องละทิ้งบ้านเรือน โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรม
ขณะนี้ผู้อพยพได้พักอยู่ในค่ายที่สร้างขึ้นเอง จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการปกป้อง โดยทหารเมียนมายังคงรุกคืบโจมตีเข้าใกล้ค่ายพักอย่างต่อเนื่อง และเริ่มตัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้อพยพ
สิ่งที่เลวร้ายกว่าคือ หลังจากที่ถูกโจมตี รัฐบาลทหารได้ใช้เป็นข้ออ้างในการยกเลิกการเลือกตั้งในเมืองมองซู และเขตชุมชนเกซี ทำให้สูญเสียสิทธิด้านประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง เป็นที่รู้กันดีว่านี่จะเป็นเหตุผลให้พรรค Military- Backed Party แพ้การเลือกตั้งในพื้นที่นี้
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า เป็นที่น่าตกใจว่าสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เกิดภายใต้สัญญาการหยุดยิงกับพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (Shan State Progress Party)/ กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army) (SSPP/SSA) สร้างความชัดเจนว่ารัฐบาลทหารไม่ปรารถนาสันติภาพ
แม้จะมีการเชิญทุกกลุ่มร่วมลงนามสัญญาการหยุดยิงและยุติความรุนแรงในการใช้กำลังทหาร เพื่อปูทางไปสู่การตกลงทางการเมือง แต่รัฐบาลทหารยังคงดำเนินกลยุทธ์ระยะยาวในการ รุกราน สร้างความหวาดกลัวต่อกลุ่มชาติพันธ์ เพื่อปล้นชิงความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติในรัฐฉาน ทั้งการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำสาละวิน เพื่อส่งออกพลังน้ำ
ทั้งนี้ องค์กรชุมชนรัฐฉาน เรียกร้องให้ กองกำลังทหารเนปิดอว์หยุดการโจมตีต่อศูนย์กลางของรัฐฉานและพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ของพม่าในทันที และระงับการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงการทำให้เกิดการปฎิรูปเป็นสหพันธรัฐ
อีกทั้งยังเร่งรัดให้นานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามการเลือกตั้งในพม่า พร้อมทั้งประนามต่อกองกำลังเนปิดอว์ในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ และให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้อพยพจากความขัดแย้งที่ผ่านมา
8 กลุ่มชาติพันธุ์ ประชุมติดตามผลความเคลื่อนไหวหลังเจรจาหยุดยิง
นอกจากนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 5 – 7 พ.ย. 2558 มีการจัดประชุมเชิงปฎิบัติการของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (EAOS) เพื่อติดตามผลความเคลื่อนไหวของการหยุดยิง ในเรื่องของกรอบกติกาและการเจรจาทางการเมือง
เวทีนี้กล่าวถึงการติดตามผลและกรอบข้อตกลงทางการเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมจาก 8 กลุ่มที่ได้ลงนามในสัญญาการหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และสหพันธ์ผู้หญิงในพม่า เพื่อจะนำไปสู่ก้าวต่อไปในการเจรจาทางการเมืองเพื่อจะนำไปสู่การเขียนกรอบทางการเมืองร่วมกัน
ทั้งนี้ ได้มีการวางแนวทางการทำงานเป็น 3 ระดับ คือ ระดับสหภาพ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น ซึ่งทั้งสามระดับนั้นครอบคลุมถึงผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ และชาวบ้าน โดยขณะนี้ได้เสร็จสิ้นการคุยในด้านกลไกการติดตามผลระดับสหภาพในสัปดาห์ที่แล้ว ณ เมืองย่างกุ้ง และยังคงดำเนินการเจรจาในระดับรัฐและระดับท้องถิ่นต่อไป