หวั่นกระบวนการปรึกษาหารือฯ ไร้น้ำยา หลังลาวเดินหน้า ‘เขื่อนปากแบง’ เขื่อนน้ำโขงแห่งที่ 3

หวั่นกระบวนการปรึกษาหารือฯ ไร้น้ำยา หลังลาวเดินหน้า ‘เขื่อนปากแบง’ เขื่อนน้ำโขงแห่งที่ 3

ลาวเดินหน้าสร้างเขื่อนปากแบงกั้นโขงอีก ใกล้ชายแดนไทยด้านเชียงราย หวั่นน้ำเอ่อถึงเวียงแก่น ภาคประชาชนหวั่นกระบวนการปรึกษาหารือไร้น้ำยา แนะรัฐบาลไทยยุติโครงการก่อน

20162802163203.jpg

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2559 นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่า ได้ทราบข้อมูลว่าจะมีการเดินหน้าก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบง บนแม่น้ำโขง ที่แขวงอุดมไซย ทางภาคเหนือของลาว ในเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจหมายถึงการนำโครงการเขื่อนปากแบงเข้าสู่กระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedure for Notification, Prior Consultation, and Agreement- PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ที่ 4 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม) ได้ลงนามร่วมกัน 

นอกจากนี้ยังอาจมีการเดินหน้าเขื่อนสานะคามด้วยเช่นเดียวกัน เท่ากับว่าจะมีการก่อสร้างเขื่อนแห่งที่ 3 และ 4 บนแม่น้ำโขงในลาวอีกไม่นาน 

นายนิวัฒน์กล่าวว่า กลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ซึ่งได้ทำงานติดตามการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงมาตลอด มีความกังวลอย่างยิ่งต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว เนื่องจาก 2 เขื่อนที่ผ่านมา คือ เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ากระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าฯ ไม่ได้มีแก่นสารใดๆ ที่จะทำให้เห็นว่าเป็นการหารือหรือรับฟังจากประเทศสมาชิกอย่างแท้จริง ยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงที่จะเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำโขง ยิ่งลำบากมาก ไม่มีโอกาสแม้แต่จะแสดงความคิดเห็น

“พวกเราเคยเข้าประชุมซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือเอ็มอาร์ซี ซึ่งกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าฯ กำหนดระยะเวลา 6 เดือน แต่ประสบการณ์ที่เราเข้าประชุม 2 เขื่อนแรก ก็มีแค่การจัดประชุมโดยเชิญผู้เข้าร่วมไม่กี่คนมาฟัง ข้อมูลที่นำเสนอก็น้อยนิด ถามไปก็ตอบอะไรไม่ได้ เจ้าของเขื่อนไม่ได้มาตอบเอง เขาจะสร้างของเขาอยู่แล้ว มาจัดเวทีรับฟังก็แค่ทำตามระเบียบไปเท่านั้น ไม่ได้มาฟังเพื่อแก้ไข” นายนิวัฒน์ กล่าว

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า เครือข่ายฯ เรียกร้องให้รัฐบาลไทย และสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ยุติโครงการเขื่อนเหล่านี้ทันที จนกว่าจะมีการแก้ไขกลไกในการจัดการแม่น้ำโขงให้มีส่วนร่วมและคำนึงถึงภาค ส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงและพึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำในการดำรงชีพ ตลอดจนมีการจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดน 

“เราอยู่ที่เชียงราย น้ำโขงทุกวันนี้ผันผวนไปหมดตั้งแต่เขื่อนในจีนกั้นไว้ เขาปล่อยน้ำก็ไม่บอกล่วงหน้า ปล่อยมาท่วมแปลงผัก ท่วมเครื่องมือหาปลา เรือ หากสร้างเขื่อนปากแบงทางตอนใต้อีก เราคงแย่แน่ๆ” นายนิวัฒน์กล่าว 

อนึ่ง จากข้อมูลพบว่าเขื่อนปากแบงจะตั้งอยู่ห่างจากเมืองปากแบง 14 กิโลเมตร มีกำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกกะวัตต์ โดยบริษัทต้าถัง ของจีน ได้ลงนามพัฒนาโครงการ และอาจลงทุนร่วมกับบริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ก่อนหน้านี้เอกสารการศึกษา SEA ที่ว่าจ้างโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเมื่อปี 2553 ระบุว่า โครงการเขื่อนปากแบงมีขนาดอ่างเก็บน้ำ 87 ตารางกิโลเมตร และมีความกังวลว่าอาจทำให้น้ำท่วมและส่งผลกระทบโดยตรงมาถึง อ.เวียงแก่น และอ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยเฉพาะที่บ้านห้วยลึก และบ้านอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงในประเทศไทย

20162802163555.jpg

ที่มาภาพ: TERRA โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ