หลังคำสั่งศาลปกครอง ชวนฟัง… สังคมไทยควรเรียนรู้อะไรจากกรณีแม่เมาะ?

หลังคำสั่งศาลปกครอง ชวนฟัง… สังคมไทยควรเรียนรู้อะไรจากกรณีแม่เมาะ?

คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม กลุ่มจับตาพลังงาน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย จัดนำเสนอข้อมูลภายใต้หัวข้อ “สังคมไทยควรเรียนรู้อะไรจากกรณีแม่เมาะ” ว่าด้วยเรื่อง คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีแม่เมาะ ย้อนทบทวนการขยายตัวของเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ชวนมองไปข้างหน้า และการร่วมสะท้อนเสียงจากคนในพื้นที่ วันที่ 6 เม.ย.นี้

20150204162628.jpg

ที่มาภาพ: http://maemohmine.egat.co.th/

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษาในคดีปกครอง 2 คดี เกี่ยวกับเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม้ศาลปกครองชั้นต้นจะมีคำพิพากษาแล้วเมื่อปี 2552 แต่ กฟผ. ได้ยื่นอุทธรณ์ ทำให้ทั้ง 2 คดี ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 11 ปี 

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดต่อคดีดังกล่าว จึงถือเป็นความยุติธรรมที่ชาวบ้านแม่เมาะรอคอยมาอย่างยาวนาน และในระหว่างการรอคอยอย่างยาวนานนี้ มีชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งสองคดี ได้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 30 ราย

กล่าวโดยสรุป คดีแรกที่อ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2558 ฟ้องโดยชาวบ้านกว่า 380 คน เกี่ยวกับการปล่อยมลพิษและไม่ปฏิบัติตามาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมแนบท้ายรายงาน EIA ของเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ โดยเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดต่อสุขภาพ และให้ กฟผ. ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และปฏิบัติตามมาตรการแนบท้าย EIA ที่ใช้ในการขออนุญาตประกอบกิจการ 

ทั้งนี้ สรุปใจความสำคัญของคำพิพากษาศาลศาลปกครองสูงสุด คือการให้ กฟผ. ปฏิบัติตามมาตรการแนบท้าย EIA ซึ่งรวมถึงการอพยพประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรที่อาจได้รับผลกระทบ การฟื้นฟูขุมเหมืองที่ขุดเสร็จแล้ว และปลูกป่าในพื้นที่ที่ กฟผ. เอาไปทำสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติ

คดีที่ 2 อ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2558 ฟ้องโดยชาวบ้าน 131 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเหมืองหรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน คดีนี้ผู้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางสุขภาพ /สิ่งแวดล้อม และให้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ให้ กฟผ. จ่ายค่าเสียหายต่อชาวบ้านในส่วนที่ได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมเป็นเงินประมาณ 24 ล้านบาท

หลังจากคำพิพากษาทั้ง 2 คดีดังกล่าว เริ่มมีการสื่อสารในสังคมไปในทางว่า ผลกระทบจากเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนกำลังได้รับการแก้ไข เยียวยา ชดเชย และปัญหาต่างๆ น่าจะสิ้นสุดลงด้วยคำตัดสินของศาลในครั้งนี้ 

ดังที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนไทยในชาติ” เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2558 ออกอากาศโดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และถูกนำไปพาดหัวในจดหมายข่าวประชาสัมพันธ์ กฟผ. ฉบับที่ 44/2558 วันจันทร์ที่ 9 มี.ค. 2558 ว่า “นายกรัฐมนตรี ย้ำ กรณีแม่เมาะเป็นคดีเก่า ปัจจุบัน กฟผ. ดูแลจนไร้มลพิษแล้ว” พร้อมไปกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างหนักของ กฟผ. เพื่อผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดอื่นๆ ซึ่งกล่าวอ้างถึงโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของโครงการเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายแง่มุมที่สังคมควรได้เรียนรู้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดทั้งสองคดีในกรณีเหมืองลิกไนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เพื่อเป็นบทเรียนให้ได้นำไปพิจารณาในการคิดและผลักดันนโยบายสาธารณะด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเชื้อเพลิงถ่านหิน เพื่อไม่ให้โศกนาฏกรรมอย่างเช่นที่แม่เมาะ เกิดซ้ำซากและเลวร้ายยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่อาศัยอยู่รอบโครงการดังกล่าว แต่ไม่ได้ร่วมฟ้องคดีทั้งสอง และยังไม่ได้รับความยุติธรรม หากว่าพวกเขาเหล่านั้นหายใจเอาอากาศเปื้อนมลพิษอันเดียวกันเข้าไป

ด้วยเหตุนี้เอง คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม กลุ่มจับตาพลังงาน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยจึงจัดรับฟังการนำเสนอ (Press Briefing) ภายใต้หัวข้อ “สังคมไทยควรเรียนรู้อะไรจากกรณีแม่เมาะ” โดยในงานจะมีการพูดคุยถึงการอธิบายคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีแม่เมาะ กุมภาพันธ์ 2558 ประกอบด้วย การสรุปคำพิพากษา โดย นิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ และ การให้ความเห็นในมุมมองนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมโดย สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีการให้ข้อมูลถึงการขยายตัวของเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กรณีผลเชิงนิเวศ-วัฒนธรรม โดยเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา และผลเชิงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดย ดร.อาภา หวังเกียรติ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ในส่วนการมองไปข้างหน้า สันติ โชคชัยชำนาญกิจ จากกลุ่มจับตาพลังงาน จะนำเสนอหัวข้อแม่เมาะและพลังงานถ่านหินไทย และตัวแทนชาวบ้านแม่เมาะจะมาร่วมสะท้อนเสียงจากพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถ ลงทะเบียนเข้าร่วมที่ http://goo.gl/forms/n2VXF2IMVN หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมจาก เพจเฟซบุ๊ก 

https://www.facebook.com/ThaiClimateJustice
https://www.facebook.com/thaisej.soc
https://www.facebook.com/Enlawthai2001

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ