เจาะลึกประเด็น “ค่าไฟแพง” จากวงฟังเสียงประเทศไทย ใครคือผู้ได้ประโยชน์ และใครคือผู้ที่ต้องแบกรับภาระ

เจาะลึกประเด็น “ค่าไฟแพง” จากวงฟังเสียงประเทศไทย ใครคือผู้ได้ประโยชน์ และใครคือผู้ที่ต้องแบกรับภาระ

“ไฟฟ้า” คือ สาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญ แต่เมื่อสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายแพงขึ้นแบบก้าวกระโดด ใครคือผู้ที่ได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ ใครคือผู้ที่ต้องแบกรับภาระ และใครคือผู้ที่จะคลี่คลายปัญหาทั้งหมดนี้ได้

รายการฟังเสียงประเทศไทย เราพูดคุยเจาะลึกเรื่องนี้กับผู้ที่สนใจและทำการศึกษาเรื่องพลังงานทั้ง 3 คน คือ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) และนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นานถึง 3 ชั่วโมง กับบทสนทนาทั้งหมดที่อยู่ด้านล่างนี้

ค่าบริการ ค่า Vat และค่า Ft บนบิลค่าไฟที่ทุกเราทุกคนต้องจ่าย คืออะไร และแต่ละค่าจำเป็นแค่ไหน ที่เราต้องฟักเงินจ่าย

นายวิฑูรย์ – ค่าบริการ หรือค่าจดมิเตอร์ ถ้าไปดูจะเจอชื่อแปลก ๆ เช่น ช้างคู่ ซึ่งอ้างว่าเป็นบริษัทที่จ้างมาเป็น Subcontract แต่ประเด็นก็คือ บางที่โรงงานใหญ่โตมโหฬาร มีมิเตอร์เดียว เหมือนแต่ละบ้านที่มี 1 มิเตอร์ ซึ่งเก็บเงินเท่ากันในราคา 38-40 บาท 

ผมเคยตั้งคำถามว่า ถ้าชุมชนจดกันเอง จะต้องจ่ายเงินในส่วนนี้ให้กับคนจดหรือชุมชนไหม สมมติผมมีสมาชิกอยู่ร้อยหลังคา ผมจดร้อยหลังคา แล้วเอาไปให้ที่การไฟฟ้านครหลวง จะจ่ายให้ผมรายละ 38 บาทหรือเปล่า แต่ไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งผมเคยเสนอให้เขายกเลิก ผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรม เพราะรายเล็ก รายใหญ่โดน 38 บาท เท่ากันหมด ในความเป็นจริง มันมีวิธีอื่น ที่ใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียรายละ 38 บาท

นายวรภพ – เสริมประเด็นนี้ต่อว่า ก่อนหน้านี้เรามีโมเดลที่จะช่วยลดเรื่องของค่าบริการ ที่เทศบาลอาจสามารถ เราทำเป็นสมาร์ทมิเตอร์น้ำ ที่สามารถอ่านค่าน้ำได้ และส่งมาที่เทศบาล ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายของคนที่จะไปเก็บ ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าบริการก็จะหายไป นี่เป็นตัวอย่างที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ขั้นสูงอะไร เป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกทำมาหมดแล้ว และเราทำแล้วที่เทศบาลตำบลอาจสามารถ เราจึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นไปได้

นายอิฐบูรณ์ – ส่วนเรื่องของค่า Vat เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง และกรมสรรพกร เป็นหลักกฎหมายเลยสมมติว่ามีเงิน 100 บาท แบงค์ใบเดียวกัน ผมจ่ายให้คุณวิฑูรย์ไป เงินนั้นจะเป็นรายได้ของเขา ซึ่งคุณวิฑูรย์ต้องเสียภาษีจากรายได้นั้น และถ้าคุณวิฑูรณ์ เอาเงินแบงค์ใบเดียวกันไปจ่ายให้คนอื่นต่อ คนนั้นก็จะเสียภาษีเป็นทอด ๆ ตามหลักกฎหมาย

ตอนนี้ทุกคนเจอ Vat 7% ซึ่งเวลาใครขึ้นมาเป็นรัฐบาล จะมีเสียงกระตุ้น หรือพายกระซิบ ขอเพิ่มขึ้นเป็น 10% มันเป็นการแสวงหารายได้เข้าคลังผ่านทางการใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนทุกคน และดูเหมือนจากสถิติที่เผยแพร่ของกระทรวงการคลัง Vat ดูเหมือนเป็นรายได้ที่สำคัญมากของรัฐบาล 

ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปที่ตัวของรัฐบาล ว่ามีวิธีการอย่างไร ที่จะแสวงหารายได้เข้าสู่กระทรวงการคลัง เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ เรื่องนี้เราพบว่ามีประเด็นปัญหาเหลื่อมล้ำอยู่ในหลาย ๆ จุด อย่างเช่น ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ มาผลิตเป็นปิโตรเคมี หรือพลาสติก และส่งออกนอกประเทศ โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ขุดจากอ่าวไทยของบ้านเรา แต่ปรากฎว่า การส่งออกต่างประเทศ รัฐมีนโยบายไม่เรียกเก็บภาษี พอรัฐขาดภาษีตรงนี้ ก็แสวงหามาเก็บกับคนในประเทศ 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้กำกับนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการเงิน การคลังของประเทศ จะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมในการเก็บรายได้ จากคนที่ใช้ประโยชน์ หรือมีอำนาจการเข้าถึงทรัพยากร และมาจัดสรรปันส่วนให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย โดยไม่ต้องเพิ่มภาระภาษี หรือลดทอนตรงนี้ขึ้นมา อันนี้เป็นเรื่องของการจัดสรรความเป็นธรรมเรื่องของการจัดเก็บภาษีผ่านรายได้

ส่วนเรื่องของค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ค่านี้ถูกสร้างขึ้นมา เมื่อประมาณปี 2535 หลังมีรัฐประหาร รสช. ตอนนั้นมียโยบายอยากจะเพิ่มโรงไฟฟ้าเอกชน เข้ามาอยู่ในระบบการผลิตไฟฟ้า เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาผลิตระบบไฟฟ้าขายให้กับ กฟผ. และไปบอกให้ กฟผ. แก้กฎหมายของตัวเอง ให้สามารถรับซื้อไฟจากเอกชนได้ 

แต่พอเอาเอกชนเข้ามาได้ เอกชนก็คือ เอกชน ต้องมีเรื่องของกำไรเข้ามาเพื่อแบ่งปันกัน มีความคาดหวังว่า ปีหน้าต้องมีกำไรเท่านั้น เท่านี้ ต้องมีค่าเชื้อเพลิง โดยที่ไม่ขาดทุน นี่คือการสร้างแรงจูงใจ  เพราะฉะนั้นต้องมีการปรับค่าไฟ เพื่อเอาไปให้กับเอกชน ประชาชนก็มาด่ารัฐบาลว่าไม่ปกป้องประชาชนเลย เพระาฉะนั้นก็ต้องมีคนกลุ่มหนึ่ง มีความคิดว่า เราสร้างกระโถนขึ้นมาใบหนึ่ง อะไรที่เป็นต้นทุนเกินจากที่เอกชนไม่อยากรับ เพราะถ้าเกินขึ้นมา เขาจะขาดทุน ก็เลยเอาส่วนที่ต้นทุนสูงขึ้น มาใส่ในกระโถนใบนี้

แต่เดิม ก่อนที่จะมีค่า Ft ค่าไฟจะปรับขึ้นแต่ละครั้ง ไม่ใช่เรื่องง่าย ประชาชนโวยแน่นอน และเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลนั้นโดยตรง แค่ขึ้น 0.50 บาท ก็ด่ารัฐบาลเต็มที่แล้ว แต่พอมีค่า Ft มันก็เป็นโอกาสดี ถ้าเอกชนเห็นดีด้วยว่าให้มี Ft รัฐบาลก็เอาด้วย เวลาปรับขึ้นค่า Ft ก็สามารถปรับขึ้นได้ทุก ๆ 4 เดือน โดยที่รัฐบาลบอกว่า รัฐบาลไม่เกี่ยว อันนี้เป็นค่า Ft ผันแปรอัตโนมัติ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล 

ดังนั้น ค่า Ft จึงเหมือนเป็นกระโถนที่มีกลุ่มคนได้ประโยชน์อยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ เอกชนที่ร่วมผลิตไฟฟ้า ประกันความเสี่ยงทางธุรกิจของตัวเอง กลุ่มที่สอง คือ นักการเมืองหรือรัฐบาลของเราที่จะทำให้ไม่ถูกด่า เวลามีการปรับขึ้นค่า Ft โดยอัตโนมัติ ส่วนประชาชน คือ คนที่ถือกระโถนแบกรับมาในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา จนรอบล่าสุด ค่า Ft ขึ้นมาเกือบ 1 บาท จากฐานเดิม คือ ขึ้นเกือบ 200%

การปรับขึ้น ค่า Ft ทุก ๆ 4 เดือน มีความเชื่อมโยงกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างไร

นายวิฑูรย์ – ค่าไฟเพิ่มหรือลด 0.1 บาทต่อหน่วย หนึ่งปี กฟผ. ได้เงิน 2 พันล้านบาท แต่เราไม่เคนรู้สึกตัว คราวนี้เขาจะปรับขึ้น 0.93 บาท เท่ากับว่า กฟผ. จะได้เงินประมาณ 1 แสน 8 หมื่นล้านบาท จากการแค่ขยับค่า Ft ขึ้น 

ผมทำเรื่องนี้มา 30 ปี ผมรู้ว่ามันไม่ง่ายที่เราจะพูดเรื่องค่าไฟ เพราะผู้บริโภค 1 ราย จ่าย 0.10 บาท หรือ 0.20 บาท จะไม่รู้สึกอะไร แต่พอเอามารวมแล้วมันเยอะ นั่นคือสิ่งที่อยากจะให้ทุกคนตระหนัก 

ทีนี่พอมาพูดถึงเรื่องค่า Ft ในความเห็นผม ระบบที่เขาพยายามอ้างว่า มันสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง  เขาพยายามจะบอกเราว่า ค่าไฟ มันมีค่าเชื้อเพลิง และค่าลงทุนอื่น ๆ ซึ่งค่าเชื้อเพลิง ราคามันผันผวนไปตามตลาดโลก ตรงนี้มันเลยไม่คงตัว จะทำอย่างไร เมื่อคิดถึงค่าไฟแล้วมันตรงตัว เอกชนรายใหญ่จะได้วางแผนได้ง่าย ก็เลยมีกลไกเรื่องค่า Ft ขึ้นมา เพื่อเกลี่ยค่าไฟที่คิดไว้แล้ว กับค่าเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนไปให้มันลงตัว 

แต่ผมคิดว่า ปัจจุบันคอนเซ็ปต์นี้ไม่เป็นผลแล้ว ยกตัวอย่าง กฟผ. อ้างว่า ตอนนี้เขามีหนี้อยู่ 8 หมื่น 3 พันล้าน ก็คือ ค่า Ft ที่รัฐบาล ไม่ยอมให้เอามาเทใส่ในค่าไฟ หรือมีการเอาค่า Ft ของบางกลุ่มมาชดเชยไว้ เพราะฉะนั้นปรัชญา หรือความคิดว่า ค่า Ft จะช่วยทำให้ราคาทุก ๆ 4 เดือนมันเกลี่ยกัน ไม่เป็นจริงแล้ว  

ในความคิดเห็นของผม ทำไมถึงไม่ทำให้ค่าไฟฐานมันง่ายต่อการปรับให้สะท้อนความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องมีค่า Ft ที่เราพูดกันว่า ค่า Ft มันสะท้อนความเป็นจริง โดยเอาต้นทุนทุกอย่างมาใส่ไว้ และก็กลายเป็นการประกันหน่วย ที่ กฟผ. คาดการณ์ว่าเขาจะขายได้ สมมติว่าคาดการณ์ว่า จะขายได้ 1 ล้านหน่วย ปรากฎว่า ทำไปทำมา เกิดโควิด-19 ทำให้ขายได้แค่ 8 แสนหน่วย ทีนี้ 2 แสนหน่วยที่หายไป เขาสามารถเอามาบวกอยู่ในค่า Ft ได้  นี่คือการประกันว่า ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ค่า Ft จะช่วย เหมือนเอามาเป็นกลไกทางการเมือง 

เราจะพบว่า ค่า Ft ตัวที่ใหญ่ตัวหนึ่งถ้าเราไปดู เขาเรียกว่า ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ เฉพาะแค่ค่าแอดเดอร์ 8.12 บาท ที่บวกให้กับไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของฟาร์มขนาดใหญ่ จ่ายประมาณหมื่นกว่าล้าน ทุก ๆ 4 เดือน ในขณะที่ถ้าประชาชนทำรูฟท็อปขายให้ เขาให้แค่ 2.20 บาท เขาต้องการสร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เลยต้องมีเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP เข้ามา โดยให้ส่วนเพิ่มบวกไป 5 บาท มันกลายเป็นตราบาปของพลังงานหมุนเวียน

ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนต้นทุนไม่ถึง 2 บาท แต่ว่าที่เราใช้อยู่ คือ 8 บาท มันกลายเป็นภาระที่ต้องแบกรับ ทำไมถึงไม่มีการเจรจาใหม่ ทำไม กกพ. ถึงไม่เจรจากับผู้ที่ได้รับสัมปทานเหล่านี้ใหม่ ทำไมต้องแบกรับแอดเดอร์เหล่านี้ไป ทำให้เวลาเราพูดถึง เรื่องพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ก็ชอบพูดว่า เห็นไหมตั้ง 8 บาท ทั้งที่ความเป็นจริงมีมูลค่าไม่ถึง 2 บาท มันเหมือนกับการจัดการเรื่องเชื้อเพลิง ที่อ้างว่าเป็นภาวะของตลาดโลกที่มีสงคราม ในความเห็นผม มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เป็นปลายเหตุ แต่มันมีต้นทุนที่ถูกใส่ลงไปในค่าไฟจำนวนไม่น้อยที่เป็นความผิดพลาดของรัฐ แต่เขาไม่แตะ เช่น กำลังสำรองที่ล้นเกิน 

พูดง่าย ๆ ว่าขณะนี้ ระบบที่เรามี คือ ตลาดผู้ซื้อรายเดียว กลายเป็นว่า เอกชนที่เข้ามาผลิต เขาขายให้คนอื่นไม่ได้ต้องขายให้ กฟผ. และ กฟผ. ก็ต้องให้หลักประกันกับเขาเป็นสัญญา 30 ปี และก็กลายเป็นว่า ทั้ง กฟผ. และผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP แข่งกัน เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการใหม่ ๆ อยู่ในแผน PDP ตลอดเวลา กฟผ. ก็อ้างว่า ถ้า กฟผ.  มีต่ำกว่า 50% กฟผ. จะคุมไม่ได้ ฝ่ายเอกชนก็วิ่งเหมือนกันอีก

นายอิฐบูรณ์ – เสริมต่อว่า เมื่อก่อนตอนที่มี กฟผ. เป็นผู้ผลิตเพียงเจ้าเดียว สังคมก็กล่าวหาว่า กฟผ. เป็นเสือนอนกิน เพราะยังไงผลิตมาก็ต้องมีคนซื้อ เพราะชาวบ้านต้องใช้ไฟ แต่ตอนนี้พอเปิดพื้นที่ให้เอกชน ผลิตไฟขายให้ กฟผ. ทำให้ กฟผ. เหลือกำลังการผลิตแค่ 30% กับเอกชน 50% 

โดยที่เอกชนผลิต กฟผ. รับซื้อในราคาที่สูงกว่าค่าไฟฐาน ตอนนี้อยู่ที่ 3 บาทกว่า และปริมาณการใช้ไฟฟ้าตอนนี้ ด้วยโควิด-19 ก็ดี ด้วยเศรษฐกิจที่หดตัวก็ดี หรือด้วยเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถผลิตได้เองทำให้เขาไม่ต้องมาซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. 

ทำให้ตอนนี้มีโรงไฟฟ้าที่อยู่ในระบบ ทั้งของ กฟผ. และเอกชน อยู่ที่ประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นของปีนี้ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงแค่เสี้ยวนาที คือ เดือนเมษายน อยู่ที่ประมาณ  30,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นส่วนที่เราไม่ได้ใช้ ที่เราเรียกกันว่า มันล้นเกินอยู่ในระบบ คำนวณแล้วอยู่ที่ประมาณ 53%-55% จากฐานที่ยอมรับกันได้มันอยู่แค่ 15% เท่านั้น นี่คือสิ่งที่ต้องแบกรับภาระ

และตอนนี้เราพบข้อมูลที่สำคัญซึ่งเปิดเผยอยู่บนหน้าเว็บไซต์ของ กฟผ. โรงไฟฟ้าของเอกชนขนาดใหญ่ที่มีรายชื่อ มีอยู่ 13 โรง ทั้งหมดนี้ มีอยู่ 7 โรงไฟฟ้าที่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และไม่ได้เดินเครื่องมา 8 เดือนแล้ว ตามหลักฐานที่มีการระบุไว้ แต่ความจริงที่เราทราบคือ มันเป็นเวลากว่า 1-2 ปีมาแล้ว ที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เพราะเราไม่ได้ใช้ไฟขนาดนั้น แต่เขาได้เงินที่เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่าย 

นายวิฑูรย์ – ค่าความพร้อมจ่ายต่อหน่วยที่เราต้องจ่าย คือ 0.70 บาท กำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 20,000 เมกะวัตต์ที่ไม่ได้ถูกผลิต เท่ากับ เขื่อนภูมิพลที่กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ประมาณ 30 เขื่อน อันนี้คือต้นทุนที่เอกชน หรือการไฟฟ้าได้สร้างขึ้นมา และเอามารวมกับค่าไฟ โดยที่เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ถ้าโรงไฟฟ้าสร้างก่อนปี 2558 เงินในส่วนนี้จะรวมอยู่ในค่าไฟฐาน แต่ถ้าโรงไฟฟ้าสร้างหลังจากนั้นจะรวมอยู่ในค่า Ft 

นายอิฐบูรณ์ – จากเอกสารที่พบ 7 โรงไฟฟ้านี้มีชื่อทั้งหมด และอยู่ในฐานของการคำนวณค่า Ft รอบกันยายน – ธันวาคม ทั้งหมด มีการประเมินว่า ค่า Ft ที่เราโดนอยู่ขณะนี้ ทำให้ค่าไฟอยู่ 4.70 บาท ยังไม่พอ ปีหน้ายังคงค้างอยู่ เงินที่ได้มาเหมือนเป็นเงินที่เวียนกระแสเป็นเงินสดเท่านั้นเอง แต่หนี้ที่อ้างว่า มีอยู่ 8 หมื่น 3 พันล้านบาทยังไม่ได้รับเลย เพราะฉะนั้นปีถัดไป กกพ. บอกให้เราทำใจแล้วนะว่า ค่าไฟของเราจะไม่ได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.70 บาท แต่จะขึ้นไปประมาณ 6 บาท

เมื่อกำลังการผลิตไฟฟ้า มีมากกว่าความต้องการใช้ไฟของประชาชน อีกหนึ่งสาเหตุทำค่าไฟพุ่ง

นายวิฑูรย์ – ประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ 20,000 เมกะวัตต์ แต่เขามีแผน ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าไปเรื่อย ๆ เซ็นอนุมัติไปแล้วก็มี อย่างช่วงโควิด-19 มีโรงไฟฟ้าเพิ่มประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ โดยที่เราไม่มีความต้องการไฟฟ้าเลย 

ขณะที่เรามีไฟฟ้าสำรองอยู่แล้ว แต่ก็เพิ่งจะเซ็นสัญญาซื้อขายใหม่กับลาวไปอีก 3 เขื่อน โดยที่ไม่มีความต้องการเลย ระบบที่เรามีอยู่ไม่ปรับตัวตามข้อเท็จจริง อย่า่งที่ยกตัวอย่างว่า สัญญาที่เป็นค่าโง่ ก็ไม่มีการเจรจาใหม่ เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่เขาคาดการณ์ก็ไม่มีการทบทวน หรือยกเลิกโครงการเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่หลายโครงการยังไม่สร้าง มันสามารถยกเลิกได้ก็ไม่ยกเลิก จึงทำให้ทุกอย่างลงไปตกอยู่ที่ผู้บริโภค เพราะระบบของมันทำให้ผลักภาระให้ผู้บริโภคได้

นายวรภพ – เรื่องค่าไฟฟ้าแพง ผมคำนวณให้เห็นเลยว่า การที่เรามีโรงไฟฟ้าเกิน 54% มันทำให้ทุกหน่วยไฟฟ้าที่เราจ่ายไป ทุก ๆ 0.01 บาท เราจ่ายให้กับนายทุน เบื้องหลังบิลค่าไฟฟ้า มันมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ผูกขาดอยู่ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ตอนนี้เราจ่ายค่าไฟฟ้าแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ให้กับเจ้าสัวที่รวยที่สุดของไทยอย่างธุรกิจพลังงาน

ประเด็นที่สองที่รัฐบาลอ้างมาตลอดว่า ค่าไฟมันแพงเพราะสงคราม เนื่องจากค่าเชื้อเพลิงมันขึ้น แต่สิ่งที่เขาไม่ได้บอก คือ ที่มันแพงเพราะเราไปนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ เขาอธิบายว่า เพราะก๊าซธรรมชาติต้องทำเป็นเหลวเข้ามา มีเทคโนโลยีเยอะเลยแพง และสิ่งที่เขาไม่ได้บอกเราก็คือ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเรา เราผลิตอยู่ที่ 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ผลิตไฟฟ้าในประเทศ และมีราคาถูก แต่ก็มีกลุ่มทุนพลังงานสามารถเอาไปทำปิโตรเคมี หรือเอาไปขายให้อุตสาหกรรม เอาไปเผาเป็นเชื้อเพลิง และส่วนต่างที่เขาขายได้จากต้นทุนที่ถูก ๆ ก็คือกำไรของกลุ่มทุน ปตท. อันนี้เกิดจากนโยบายของรัฐ ซึ่งเกี่ยวกับการเมืองแน่นอน ทำให้ผมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 

โรงไฟฟ้าที่เกิน นอกจากจ่ายให้กับค่าโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องแล้ว เบื้องลึกอีกอันก็คือ มีค่าผ่านท่อก๊าซ ที่ไม่มีก๊าซผ่าน เพราะโรงไฟฟ้าไม่ได้วิ่ง พอโรงไฟฟ้าไม่ได้วิ่ง แต่ต้องทำสัญญาซื้อก๊าซกับ ปตท. กลายเป็นว่า ประชาชนต้องมาจ่ายทั้งค่าโรงไฟฟ้าและค่าผ่านท่อก๊าซที่ทำสัญญากันไว้ โดยที่ค่าผ่านท่อก๊าซตรงนี้ คนที่ได้ผลประโยชน์ก็คือ ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคลังถือหุ้นอยู่ 51% เลยเป็นคำถามว่า ทำไมรัฐบาลถึงไม่เจรจา 

มองเหตุผลลึกไปอีก ก็คือ ต่อให้โรงไฟฟ้านั้นจะเดินเครื่อง ปตท.ก็ไม่มีก๊าซให้ เพราะอยู่ในช่วงเป็นสัมปทาน ดังนั้นก๊าซในอ่าวไทย ที่บอกว่า เราต้องนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่ม เพราะช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานก็เป็นกลุ่ม ปตท. ที่เข้าไปรับช่วงต่อและไม่สามารถผลิตก๊าซออกมาได้ทันต้องการ ผลพวงทั้งหมดก็เกิดจากการที่รัฐบาลบอกว่า ทำตามสัญญา ทำตามนโยบายของรัฐที่วางไว้ โดยไม่ได้คิดไปเจรจา เพื่อประโยชน์ของประชาชน

นายอิฐบูรณ์ – ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ที่เรียกว่า แหล่งเชื้อเพลิงของตัวเองอยู่ตรงกลางอ่าวไทย อย่างประเทศญี่ปุ่นเขายังต้องนำเขาก๊าซ LNG ล้วน ๆ เพราะอยู่กลางทะเล แต่ลึกมาก ไม่มีสัมปทานก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม แต่ประเทศไทยมีสัมปทานก๊าซธรรมชาติ สมัยป๋าเปรม โชติช่วงชัลวาล สมัยนั้นบอกว่าเราจะกินดีอยู่ดี เพราะเราค้นพบก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยของเรา และเราจะได้ใช้เชื่อเพลิงราคาถูก เราจะมีไฟฟ้าใช้ มีก๊าซหุงต้มใช้ 

ข้อมูล ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยเราจัดหาก๊าซธรรมชาติได้ 2,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต แต่ตัวเลขจริง ๆ ต้องอยู่ที่ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต จากข้อมูล แหล่งเอราวัณ ซึ่ง ปตท.สผ เป็นบริษัทลูกได้รับสัมปทาน ก๊าซหายไป 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า การเปลี่ยนผ่านจะทำให้ก๊าซหายไป แต่ทำไมถึงไม่มีการจัดการ 

คำถามต่อมาก็คือ เหลือเท่านี้เพียงพอต่อการผลิตไหม ซึ่งพอไปเช็ค ทั้งโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และเอกชนที่ใช้ก๊าซนี้ผลิตอยู่ที่ 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต ยังพอ แสดงว่า ประชาชนยังเข้าถึงก๊าซธรรมชาติที่เป็นของเราเองได้ แต่เขาบอกว่า เราไม่ต้องใช้ตรงนี้ เพราะมีเครือของ ปตท. อยู่ใกล้ปากท่อตรงระยอง ตั้งเป็นอุตสาหกรรมเคมี เป็นนิคมอยู่ที่ระยอง พวกนี้ได้เข้าถึงก๊าซธรรมชาติก่อน เอาไป 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต มันก็เลยไม่พอ ก็มีการไปดีลจัดหาก๊าซเข้ามาให้กับโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ในประเทศไทย แต่แทนที่จะหาในราคาที่ถูกที่สุด แต่ดันไปหาราคาที่อยู่ในพื้นฐานของกำไรสูงสุดของมุมธุรกิจเอกชน 

ดังนั้นมุมที่เราได้มา คือ ไม่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติวัถตุดิบของเราในราคาที่ถูกที่สุด แถมยังถูกผลักออกไปใช้ของนอกที่ราคาแพง โดยคนจัดหาก็คือ รัฐวิสาหกิจของเราเองที่เอามาขายให้ สุดท้ายเมื่อไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ก็มีค่า Ft มารอ ดังนั้นอะไรที่แพง ก็มาลงที่ค่า Ft ทั้งหมด ส่วนกำไรพวกเขาก็เอาไปทั้งหมด 

ข้อเสนอแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟแพง

นายวิฑูรย์ –  ทางออกของเรื่องนี้ง่ายนิดเดียว คือ เรามีก๊าซจากแหล่งหลัก ๆ อยู่ 3 แหล่ง แหล่งแรก คือ อ่าวไทย แต่แหล่งนี้ราคาประมาณ 200 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู แหล่งที่สอง เราซื้อมาจากประเทศเมียนมาร์ราคาประมาณ 300 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู ส่วน LNG หรือก๊าซเหลว ราคาขึ้นไป 700 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู 

ซึ่ง กฟผ. ซื้อจากประเทศเมียนมาร์และเอามารวมกับก๊าซเหลว ราคาอยุ่ที่ 400 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู  ดังนั้นจะเห็นว่า กฟผ. ซื้อไฟแพงกว่า ที่ปตท. ขายให้บริษัทลูกที่ทำปิโตรเคมีครึ่งหนึ่ง คือ ขายให้บริษัทลูก 200 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู แต่ขายให้ กฟผ. 400 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู

ทางออกมันง่ายนิดเดียว แทนที่จะเอาราคาที่ขายให้ 200 บาทแยกออกไป ก็เอามันมาผสมด้วยกัน และเกลี่ยราคา ให้ ปตท. ขายให้บริษัทลูกเท่ากับที่ขายให้กับ กฟผ. ราคาค่าไฟก็จะถูกลง เราคำนวณแล้วว่า ถ้าทำตามนี้ เราจะได้เงินมาลดค่าไฟ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี 

หรืออีกทาง คือ ปตท. ขายแก๊สให้ กฟผ. ผลิตไฟ ขายก๊าซให้เอกชนรายใหญ่ หรือ IPP และ เอกชนรายเล็ก หรือ SPP ผลิตไฟ แต่กำไรที่ ปตท. บวกให้ SPP รายเล็ก 7% เป็น 9% และ SPP ขายไฟให้ กฟผ. ก็เอาค่าที่บวก 7% มาเป็นค่าไฟ แค่ปตท.ขายก๊าซให้กับ SPP ราคาเดียวกับที่ขายให้กับ กฟผ. จะลดไปได้ 7,000-8,000 ล้านบาท 

นายวรภพ – แนวทางของผมคล้ายกับที่คุณวิฑูรณ์พูด ข้อมูลที่มี คือ ก๊าซบ้านเราตอนนี้มีอยู่ 4,374 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อ่าวไทย ผลิตได้ 2,759 ล้านลูกบาศก์ฟุต ตกอยู่ที่ 233 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู แพงขึ้นมาหน่อยคือ นำเข้าจากพม่า ราคา 398 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู ถัดมาเป็น ก๊าซ LNG ราคา 700 ล้านบาทต่อ 1 ล้านบีทียู

แต่จะเห็นว่า อ่าวไทยถูกปิโตรเคมี กับอุตสาหกรรมแย่งไปใช้ก่อน เหลือเท่าไหร่ถึงจะเอาไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นจะเห็นว่า อ่าวไทยเราที่มีราคาถูก เป็นสัดส่วนที่นำมาผลิตไฟฟ้าแค่ประมาณ 40% ทั้งที่จริงแล้ว เราต้องกลับมาคิดดูว่า ก๊าซธรรมชาติของไทยเป็นทรัพยากรของคนทุกคน ไม่ใช่ของกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง ดังนั้นก๊าซตรงอ่าวไทยตรงนี้ก็ควรนำมาใช้ประโยชน์เพื่อคนไทยทุกคน ก็คือนำมาผลิตไฟฟ้าก่อน 

ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 400 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู แต่ถ้าเราเปลี่ยนใหม่ เอาแบบประโยชน์เต็มที่เลย คือให้อ่าวไทยไปผลิตไฟฟ้าทั้งหมดเลย ก็จะกลับมาเหลือ 200 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู ค่าไฟฟ้าก็จะถูกลง 0.90 บาท ซึ่งถือว่าถูกลงเยอะมาก เพราะค่าก๊าซถูกลงมาครึ่งหนึ่ง 

ทางเลือกที่สอง ถ้าเราบอกว่าเอาก๊าซจากอ่าวไทยมาใช้ผลิตไฟฟ้าก่อนอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมมีทางเลือก ไปใช้น้ำมันเตา หรือทางเลือกอื่นที่ถูกกว่า อีกเหตุผลก็คือ เขาทำสัญญากับปิโตรเคมีระยะยาว ก็จะลดค่าไฟได้ 0.70 บาท

ทางเลือกที่สาม ถ้าเอาต้นทุนของทุกคนมารวมกันและหารเท่ากัน จะอยู่ที่ประมาณ 360 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู ค่าไฟจะลดลงมา 0.40 บาท ซึ่งก็ถือว่าเยอะอยู่ดี 

มันฟังดูง่าย แต่ผมคิดว่ามันต้องใช้ความกล้าทางการเมืองเปลี่ยนนโยบายนี้ออกมา เพราะมันหมายถึงผลประโยชน์ของคนทุกคน แต่ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานจะหายไป

นายวิฑูรย์ – นักการเมืองจะต้องมองให้ออกว่า ทางเลือกมีอะไรบ้าง อย่างที่คุณวรภพพูด มี 3-4 ทางเลือก บอกตรง ๆ ว่า ผมไม่เคยได้ยินว่ารัฐบาลมีอะไรเป็นทางเลือกเลย ก๊าซจากอ่าวไทยมันเหมือนไม้สัก คุณจะเอาไม้สักมาเป็นฝืนเผา เพื่อผลิตไฟฟ้าคุณไม่เสียดายหรอ เหตุผลนี้ทำให้บริษัทลูกของ ปตท. ได้ประโยชน์ในการซื้อก๊าซถูกมาเป็นระยะเวลานาน แล้วก็เปลี่ยนสัมปทานจากเชฟลอน มาเป็นบริษัทลูกของ ปตท.สผ และเปลี่ยนระบบมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต มันขัดแย้งกันไปหมด ในเมื่อคุณเปลี่ยนระบบแบ่งปันผลประโยชน์ แต่คุณไม่สามารถเปลี่ยนเอาราคามาเกลี่ยให้เท่ากัน และก็ให้บริษัทลูกซื้อผลผลิตในราคาเดียวกันกับ กฟผ. ในการผลิตไฟฟ้า  

ในประเทศอื่น ๆ เวลาเอาก๊าซเหล่านี้ไปผลิต สิ่งที่เขาทำอันดับแรก คือ ปุ๋ยเคมี และยารักษาโรค นั่นคือเหตุผลที่จะอ้างว่าเป็นไม้สัก แต่ของไทยไม่ได้ทำ เราไม่ได้ผลิตปุ๋ย หรือผลิตยา เราเอาไปทำปิโตรเคมี กับเม็ดพลาสติก ส่งออกไปจีน เกาหลี แล้วถามว่าประเทศไทยได้อะไร นอกจาก ปตท. ได้หุ้นราคาดีขึ้น

นายวรภพ- ปิโตรเคมีสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งก็เป็นคำถามว่า บนต้นทุนของใคร ถ้าย้อนไป 30 ปีก่อน พูดตามตรง มันมีเหตุผล เพราะก๊าซมันมีเยอะ มันสามารถแบ่งสวนหนึ่งมาทำเม็ดพลาสติกได้ แต่วันนี้ไม่ใช่

ยิ่งเราสนับสนุนเอาก๊าซแบ่งให้เขาไปใช้ทำปิโตรเคมีก่อน แล้วประชาชนก็ต้องมาจ่าย ทั้งที่เขามีทางเลือก เปลี่ยนการลงทุนใหม่ไปใช้น้ำมัน แต่เขาเลือกบนทางที่เป็นกำไรสูงสุดของเขาและเป็นการแบกรับของประชาชน โดยความเห็นชอบจากนโยบายรัฐ

นายอิฐบูรณ์ – ค่า Ft มันคือปลายน้ำ ซึ่งไม่ได้เกิดจากเอกชน แต่เป็นธรรมชาติของเอกชนเขาอยากได้กำไรสูงสุด อยากแสวงหาทรัพยากรที่ราคาถูกที่สุด เพื่อให้เกิดกำไรสูงสุด แต่คนของเรา หรือผู้กำหนดนโยบายทำตัวเหมือนไม่ใช่คนของเรา ซึ่งเป็นทุกชุดยังคงตักตวงแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่รัฐบาลดันจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติตามโครงสร้างราคา โดยให้ส่วนที่ประชาชนใช้ไปรวมอยู่กับของต่างประเทศ ใช้ของราคาแพงไป แต่ถ้าเป็นเอกชนให้ใช้ถูกลงมาอีกครึ่งหนึ่ง 

มันโยงไปถึงก๊าซหุงต้มที่เราใช้ในครัวเรือนทุกวันนี้ ซึ่งมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ ก็มาจากการเอาก๊าซธรรมชาติไปให้ปิโตรเคมีใช้ และพอภาคครัวเรือนใช้ไม่พอ ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามา แม้จะมีส่วนน้อยมากก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีโรงกลั่นน้ำมัน ที่แยกน้ำมันดิบออกมาเป็นก๊าซ LPG ได้เหมือนกัน แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการทำธุรกิจของเขา ก็ให้ใช้โครงสร้างในราคาเสมือนกับการนำเข้าก๊าซ LPG มาจากซาอุดิอาราเบีย ทั้งที่เรานำเข้าแค่ 10% – 20% เท่านั้นเอง นี่เป็นเพราะนโยบายที่เกิดจากการจัดสรรทรัพยากรของแผ่นดินที่ไม่เป็นธรรม แล้วเกิดเป็นกลไกที่ฉ้อฉลเงินของประชาชนทั้งในรูปของค่าไฟและค่า LPG โดยที่ประชาชนไม่มีพลังในการไปต่อรองของตัวเอง

ปัจจุบันเศรษฐกิจประเทศไทยไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมรถยนต์  ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอสมัยนานาชาติ แต่กลายเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงาน ปกติเราผลิตอะไรขึ้นมาต้องขายไปนอกประเทศ แล้วเอาเงินกลับเข้าประเทศ 

แต่ตอนนี้อุตสาหกรรมพลังงานของเรา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอันดับ 1 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และยังเป็นเศรษฐีติดอันดับ 1 ในประเทศไทยขณะนี้ด้วย แต่เป็นการผลิตขึ้นมาแล้วขายให้พี่น้องประชาชนในประเทศเท่านั้น ไม่ได้ขายให้คนอื่น คือ การล้วงเงินจากประชาชนและสร้างการเติบโตให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง ถือเป็นอันตรายต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศ

กระจายอำนาจ ลดการผูกขาด สร้างความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

นายวิฑูรย์ – เงื่อนไขของระบบผู้ซื้อรายเดียว ซึ่งขณะนี้ กฟผ. คือผู้รับผิดชอบเรื่องของระบบสายส่ง โดยตลาดเป็นผู้ซื้อ ผมคิดว่าเป็นคอขวดใหญ่ เพราะ กฟผ. เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ โครงสร้างนี้เราอยากเห็นมันแยกออกจากกัน 

สายส่งที่เราเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่เดียว คือ กฟผ. และก็ทำสัญญะระยะยาว ถ้าเราไม่สามารถแก้โครงสร้างที่จะทำให้ระบบรวมศูนย์ ปล่อยให้มีการรวบอำนาจไว้ โครงการขนาดย่อยที่จะเกิดขึ้นในจุดอื่น ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ เช่น เรื่องโซลาร์รูฟท็อป มีระบบที่ไปเชื่อมต่อกับฝ่ายจ่ายจำหน่าย ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งระบบใหญ่ แต่ภายใต้ระบบเดียวที่เป็นอยู่ ทำให้ถูกครอบ 

เรายังไม่ได้มองเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือการตระหนักเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันไม่ได้เกิดจากเรื่องของราคาแพงอย่างเดียว แต่มันเกิดจากทุกเรื่องที่เราพูดกัน ทั้งการผลิตไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อน 

ขณะที่เทคโนโลยีปัจจุบันที่ผลิตโดยพลังงานแสงอาทิตย์ราคาตกมาไม่ถึง 2 บาท อีกทั้งวัตถุดิบที่นำมาใช้ยังหาได้ง่าย แต่ตราบใดที่เรามีระบบโครงสร้างแบบที่เป็นอยู่ มันจะฉุดไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิด เราก็ยังต้องรับภาระใช้หนี้ค่าความพร้อมจ่าย 30 ปี ตามสัญญา 

มีการศึกษาของ UN สรุปมาว่า ฉากทัศน์ที่สำคัญของโลก ที่จะทำให้พ้นวิกฤตโลกร้อน มีอยู่ 3 ข้อเสนอ คือ

1. การเป็นผู้ใช้ที่ฉลาด หรือ Smart Consumption

2. การเป็นผู้ผลิตที่ฉลาด หรือ Smart Generation

3. การกระจายที่ฉลาด หรือ Smart distribution 

เพราะระบบโครงสร้างปัจจุบันของเราที่เป็นอยู่มันไม่ฉลาด สิ้นเปลืองและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม เราต้องทำให้การผลิตไฟฟ้าและการบริโภคไฟฟ้าอยู่ใกล้กัน ไม่ใช่เดินทางคนละประเทศ หรือใช้ระบบส่งที่มันรั่วไหล และการผลิตไฟฟ้าอยู่จะอยู่บนฐานของเชื้อเพลิงที่หาได้ในท้องถิ่นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

อันนี้คือ ฉากทัศน์ที่สรุปมาว่า ถ้าเราจะพ้นจากภาวะโลกร้อนได้ เราต้องไปสู่ตรงนั้น โดยรูปธรรมที่ใหญ่ที่สุด คือ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวนกลับมาที่ผู้ใช้ ต้องเริ่มทวงอำนาจ โดยไม่ขึ้นตรงกับผู้ผลิต เริ่มจากหันมาดูว่า ที่เราใช้ไฟ และต้องจ่ายแพง ๆ  เรามีอะไรที่ไม่ฉลาดพอ ต่อจากนี้ไปสิ่งที่เราคิดว่า เรื่องไฟฟ้าต้องเป็นเรื่องของวิศวะ ต้องสร้างโรงงานใหญ่ ๆ ไม่จริงแล้ว

นายอิฐบูรณ์– ประเทศเราอยู่ภายใต้การประนีประนอมสมประโยชน์ร่วมกัน โดยหาเป้าหมายเรื่องอนาคตของลูกหลานที่ชัดเจนไม่ได้เลย ซึ่งต้องบอกว่า บริบทพลังงานของทั้งโลกเป็นแบบนี้ แต่อยู่ที่ผู้นำของประเทศจะมีวิสัยทัศน์อย่างไร จึงจะเปลี่ยนได้เร็ว 

ยกตัวอย่าง ผู้นำของ แคริฟอร์เนีย พบปัญหาเอกชนผูกขาด ชวนกันดับไฟ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เขาวางธงเป็นเป้าหมายของรัฐตัวเองเลยว่า ต้องผลักดันให้ติดโซลารูฟบนหลังคาที่อยู่อาศัย ไม่ใช่ในฟาร์ม เนื่องจากมันกระจายการเข้าถึงของเศรษฐกิจครัวเรือน การอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งมีความยืดหยุ่นและเป็นธรรมชาติมากกว่า ในการบริหารแบบ Smart Grid คือ บริหารการจัดการสายส่งไฟฟ้าได้ 

สิ่งที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำลังผลักดัน คือ การเปลี่ยนระบบที่เรียกว่า การคิดระบบมิเตอร์ที่อยู่หน้าบ้าน ที่มีปัญหา เนื่องจากเวลาที่เราติดโซล่าเซลล์ไปบนหลังคาเรา ซึ่งถ้าเราผลิตตอนกลางวันและใช้ตอนกลางวันมันไม่มีปัญหา เราสามารถใช้ของเราได้ ถ้าไม่พอก็ใช้ไฟของการไฟฟ้าได้ เพราะเป็นระบบที่เชื่อมกับสายส่งของการไฟฟ้า 

แต่ที่เกิดปัญหา คือ วันที่เราไปทำงาน โซล่าเซลล์ยังคงผลิตไฟเหมือนเดิม แต่เราไม่ได้ใช้ไฟ ซึ่งหม้อมิเตอร์ของเราเป็นระบบจานหมุน มันจะหมุนย้อนกลับ แต่การไฟฟ้าบอกตัวเองเสียผลประโยชน์ ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคมองว่า จะต้องยอมรับระบบนี้แล้วใช้วิธีหักลบกลบหน่วยกัน แต่ กฟผ. ไม่ยอมเลยใช้ระบบหักลบบิล เข้าสู่ระบบการขายไฟ ซึ่งก็ยังพอยอมรับได้ 

การกระจายอำนาจ ผมอยากย้ำว่า ต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อนเลย อำนาจอยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่ที่ใคร

ความคุ้มค่า และนโยบายของการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

นายอิฐบูรณ์– ณ ตอนนี้ ค่าไฟของคุณ คือ 4.70 บาท ถึงแค่เดือนธันวาคม หลังจากนั้นจะมีข่าวออกมาที่เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ว่า กกพ. กำลังอนุมัติค่าไฟรอบใหม่ของบิลรอบใหม่ แล้วคุณก็จะได้ตัวเลขค่า Ft ใหม่ออกมาเพิ่มขึ้นอีก 1 บาท และจะประกาศใช้เดือนมกราคม – เมษายน จาก 4.70 บาท กระโดดไปที่ 5-6 บาท 

กลับกันติดโซลาร์รูฟท็อปแค่ 1 กิโลวัตต์ ราคาจากการศึกษาอยู่ที่ประมาณ 35,000-40,000 บาท ต่อกิโลวัตต์ และหนึ่งบ้าน ติดแค่ 2-3 กิโลวัตต์ก็สามารถดูแลตัวเองได้แล้ว 

นายวรภพ – ถ้าทางด้านนโยบาย มาตรการการรับซื้อโซลาร์รูฟท็อป หรือ Net Metering เป็นสิ่งที่ต้องรีบทำ เพราะถ้าเราซื้อไฟฟ้าในราคาที่ 5 บาทต่อหน่วย ในขณะที่เราติดโซลาร์รูฟท็อป และเราขายคืนกลับเข้าไป มันก็ควรจะหักลบกลบกันได้เลย ไม่ใช่ขายคืนอีกราคา อันนี้ผมมองว่าไม่เป็นธรรม และที่สำคัญมาตรการการรับซื้อโซลาร์รูฟท็อป หรือ Net Metering คำนี้อยู่ในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่อยู่ในนโยบายและก็ตั้งใจจะทำ แต่ว่า เขายังไม่ทำ

นายวิฑูรย์ – โซลาร์รูฟท็อปของบ้านเราตอนนี้ รวมกันแล้วประมาณ 130 เมกะวัตต์ เวียดนาม 1 ปี เขาทำได้ประมาณ 15,000 เมกะวัตต์ เพราะรัฐบาลเขาสนับสนุน 

ซึ่งผมคิดว่า เรื่องของโซลาร์รูฟท็อปในปัจจุบันประชาชนมีความพร้อมที่จะเดินหน้า แต่มันมีอุปสรรคอย่างเรื่องราคา เรื่องใหญ่ จริง ๆ ควรจะเป็นราคาเดียวกัน นี่เป็นเงื่อนไขของประเทศที่เขาสนับสนุนเรื่องนี้เพราะถ้าคุณติดโซลาร์รูฟท็อปโดยที่ไม่ได้อยู่บ้านช่วงกลางวัน อาจจะไม่สอดคล้อง เพราะคุณขายไฟให้กับระบบถูกเกินไป 

ในหลายประเทศเขาใช้วิธีการรัฐบาลทำเหมือนมูลนิธิ ส่งเสริมและเอาเงินในส่วนนี้ไปจ่าย ไม่ต้องเข้าระบบ แต่ กฟผ. เอาส่วนนี้ไปเข้าระบบคิดค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดความยุ่งยากเกินไป ซึ่งความจริงคุณควรต้องแยกออกมาเลย และใช้ระบบส่งเสริมให้มันโตพอ มีตัวอย่างต่างประเทศมากมายให้ดู เช่น มาเลเซีย ไม่สนับสนุนโซลาร์ฟาร์มเลย สนับสนุนโซลาร์รูฟท็อป 

Image Name

 ถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะเริ่มที่ตรงไหน

นายวรภพ – สำหรับผม ปัญหาที่เกิดขึ้น มันเกิดจากนโยบายของรัฐ ดังนั้นกระทรวงพลังงานสำคัญที่สุด ซึ่งจะมีทั้งเจ้ากระทรวงรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ นโยบายที่ว่ามีโรงไฟฟ้าเกิน จัดสรรก๊าซ หรือนโยบายของโซล่ารูฟท็อปจะเป็นอย่างไร มาจากการเมือง หรือนโยบายรัฐล้วน ๆ 

อันดับสองที่ต้องทบทวนก็คือ ปตท. หรือ การไฟฟ้า ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องทบทวนว่า การคงอยู่ของรัฐวิสาหกิจ คือ มีไว้เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อองค์กรเขา ที่อยากฝากก็คือ เปลี่ยนนโยบายที่พูดถึง 

Image Name

นายวิฑูรย์ –  60 ปี ที่เรามีไฟฟ้า มันมีนัยสำคัญ ผมไม่คิดว่าที่เราพูดกันอยู่ตอนนี้ อยู่ดี ๆ จะเปลี่ยนได้ชั่วข้ามคืน คงเป็นพัฒนาการ แต่มันช้าและเฉื่อยเกินไป แถมมีอุปสรรคที่ไม่น่าเชื่อ 

จริง ๆ ต้องยอมรับว่า กฟผ. มีคุณูปการช่วยทำให้ประชาชนเกือบ 100% มีไฟฟ้าใช้ และก็ต้องถือว่า มีระบบโครงสร้างไฟฟ้าพื้นฐานที่มั่นคง เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคนี้ แต่นั่นก่อน พ.ศ. 2540 ความสำเร็จของ กฟผ. ได้ถูกท้าทายเมื่อมีวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งท้าทายอยู่ 2 เรื่อง เนื่่องจากเมื่อก่อน กฟผ. ต้องกู้เงินมาสร้างโรงไฟฟ้า แต่ด้วยโลกเปลี่ยนคุณจะมีหนี้มาสร้างโรงไฟฟ้าพื้นฐานไม่ได้แล้ว ต้องเปิดให้เอกชนเข้ามามีบทบาท 

อีกเรื่องคือ  เราเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ การที่เราไปกู้เงินจาก IMF มา กฟผ.ก็เลยต้องตั้งบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และเอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งเป็นเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP รายแรก หลังจากนั้นค่อยมีการประมูลเพิ่มให้ กกพ. เข้ามา 

แต่ที่ใช้ว่า พ.ศ. 2540 เพราะว่า เป็นความท้าทายแรกที่เชื่อว่า ทกุอย่างจะโตไปเหมือนเครื่องบินขึ้น เราเชื่อแบบนั้น แต่ปีนั้นมันทำลายระบบความเชื่อนี้ทั้งหมด ดังนั้นแผนที่คุณวางไว้ ระบบที่คุณมีมันต้องทบทวนใหม่ แต่บ้านเราไม่ทบทวน ยังคงใช้ระบบแบบเดิมที่เคยประสบความสำเร็จเมื่อตอนเริ่มต้น  

กฟผ. ยังนึกถึงวันวาน นึกถึงความอยู่รอดขององค์กร ไม่ได้นึกถึงผู้บริโภคแล้ว ซึ่งผมอยากจะฝากบอกเขาว่า เลิกเป็นตัวเฉื่อย ส่วน กกพ. เขาต้องเป็นตัวแทนผู้บริโภคที่เข้าไปทำให้เกิดความเป็นธรรมในระบบ และที่สำคัญผมหวังว่า จะทำอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่พรรคการเมืองครอบไปทั้งหมด เมื่อคุณเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วต้องมีศักยภาพและความเข้มแข็งกับเรื่องนี้เพียงพอและเท่าทัน ต้องเอาประชาขนเป็นแรงสนับสนุน  เพราะถ้าคุณไม่เปลี่ยน คุณจะถูกโลกเปลี่ยนคุณ


ดูคลิปเต็มวงเสวนาฟังเสียงประเทศไทย : เข็ก (บิล) ค่าไฟ ใครพร้อมจ่าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ