สันนิบาตเทศบาลภาคเหนือ เตรียมประชุมวิชาการสันนิบาตเทศบาลภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2558 เตรียมความพร้อมกระจายอำนาจรับการเปลี่ยนแปลง ระหว่างวันที่ 28 -30 ม.ค.2558 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่
ดร.จำรูญ เร่งถนอมทรัพย์ นายกเทศมนตรีตำบลหางดง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ในฐานะประธานสันนิบาตเทศบาล จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้นการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 อาทิ ด้านงบประมาณ การแก้ไขกฎหมายบริหารงานบุคคล การจัดการศึกษา แนวทางการปฏิรูป และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยจะมีนายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล และประธานสภา ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ รวม 567 เทศบาล จำนวนกว่า 1,700 คน เข้าร่วมการประชุม
กำหนดการคือ วันที่ 29 ม.ค. เวลา 09.00 น.นายวัลลภ พริ้งพงษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประธานเปิดการประชุม จากนั้น นายสมดี คชายั่งยืน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะบรรยายเรื่องการบริหารงานบุคคล ปี 2558 ภาคบ่ายจะมีการบรรยายเรื่อง การจัดการศึกษา ปี 2558 โดย นางยิษฐา แว่วศรี ผอ.สำนักประสานและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น ต่อด้วยการบรรยายพิเศษเรื่อง การปฏิรูปท้องถิ่น โดย รศ.วุฒิสาร ตันไชย สถาบันพระปกเกล้า วันที่ 30 ม.ค.เริ่มเวลา 09.00 น.นายโชคชัย เดชอมรธัญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บรรยายเรื่อง การเงินการคลัง ปี 2558 ต่อด้วยภาคบ่ายจะมีการสรุปประเด็นเพื่อเสนอ ส.ท.ท.และกำหนดการประชุมครั้งต่อไป โดย นายมานพ ปัทมาลัย ประธานสันนิบาตเทศบาลภาคเหนือ ประธานสันนิบาตเทศบาล จ.เชียงใหม่ ด้วยว่าการประชุมครั้งนี้จะได้แลกเปลี่ยนและนำเสนอปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน แล้วนำแนวทางการแก้ไขปัญหาไปบูรณาการ บริหารจัดการภารกิจของเทศบาล ให้มีการพัฒนาอย่างมีระบบ เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การปฏิรูปประเทศที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเทศบาลโดยตรง ให้ทราบถึงแนวทางการบริหารงานบุคคล งบประมาณ การจัดการศึกษา ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558
มีรายงานว่าการประชุมครั้งนี้มีการเชิญคณะกรรมาธิการด้านปฏิรูป ของสภาปฎิรูปแห่งชาติมาร่วมถกแถลงด้วย
”สันนิบาตเทศบาลภาคเหนือ” เป็นองค์กรตัวแทนของเทศบาล 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยดำเนินการภายใต้ข้อบังคับ “สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย” ในการร่วมส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างเทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ องค์กรชุมชน ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชนต่างๆ
โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ (เดิม) ได้บัญญัติให้รัฐต้อง “กระจายอำนาจ” ให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง และตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึง และ “เท่าเทียมกัน” ทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัด ซึ่งมีวิวัฒนาการเรื่อยมา มีการกระจายอำนาจการปกครองที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับเทศบาลหลายครั้ง ต่อมามีการยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขึ้นเป็นเทศบาลหลายแห่ง ในปัจจุบันเทศบาลทั่วประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2,440 แห่ง