สภาธุรกิจอเมริกัน-อาเซียนชวนไทยเข้า TPP หวังหลอกรัฐบาลทหารกอบโกยประโยชน์

สภาธุรกิจอเมริกัน-อาเซียนชวนไทยเข้า TPP หวังหลอกรัฐบาลทหารกอบโกยประโยชน์

20151108233145.jpg

11 ส.ค. 2558 ภาคประชาสังคมไทยที่ติดตามการเจรจาการค้าและพฤติกรรมของนักลงทุนสหรัฐได้ร่วมกันแถลงข่าว กรณีที่สภาธุรกิจสหรัฐฯ – อาเซียน (USABC) ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยชักชวนเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) เสนอให้ไทยเป็นฮับเมล็ดพันธุ์ คัดค้าน พ.ร.บ.ยา โดยระบุว่า ข้อเสนอของ USABC นั้นเป็นความประสงค์ร้ายเพื่อหวังใช้จังหวะที่รัฐบาลทหารของไทยกำลังต้องการได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากดดันไทยเพื่อประโยชน์ตัวเอง

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า การเจรจาความตกลง TPP มีประเด็นที่ไทยไม่เคยเจรจาเปิดเสรีมาก่อนในเอฟทีเอกรอบอื่นๆ เพราะเป็นประเด็นที่มีผลกระทบสูง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ  การคุ้มครองการลงทุนที่เปิดโอกาสให้การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนสามารถใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (Investor-State Dispute Settlement – ISDS) เป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาทซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศ ทั้งด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองผู้บริโภค 

การตัดสินใจจะเข้าร่วมหรือไม่จึงต้องเป็นกระบวนการที่รอบคอบมากที่สุด แต่พบว่า กระบวนการที่ผ่านมาแม้จะมีมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็ยังเป็นไปอย่างเร่งรีบและรวบรัด ทำให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ทำความเห็นถึงทั้งรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะรุนแรงมากเกินเยียวยาเมื่อเทียบกับผลประโยชน์สิทธิพิเศษทางการค้าในระยะสั้น
 
“นักลงทุนอเมริกันทราบดีว่า รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารมักต้องการได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ เราจะพบว่าทุกครั้งที่มีรัฐบาลประหารจะมีทั้งข้อเสนอ คำขู่ คำปลอบมาตลอด รัฐบาลทหารที่ผ่านมาก็เคยหลงเชื่อ” รศ.ดร.จิราพร กล่าว

รศ.ดร.จิราพร ยกตัวอย่าง ในปี 2535 รัฐบาล รสช.ยอมแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ยอมรับสิทธิบัตรยาก่อนหน้าที่ความตกลงใน WTO จะบังคับถึง 8 ปี ทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศ ยอมตัดภาษีนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร ทำให้สารเคมีอันตรายทะลักเข้ามา พืชผักของเรามากกว่า 60% มีสารเคมีทางการเกษตรตกค้างในระดับอันตราย ปี 2551 รัฐบาล คมช.ยอมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายของญี่ปุ่นในการทิ้งขยะอันตราย และครั้งนี้นักธุรกิจอเมริกันก็กำลังจะใช้มุขเดิม
 
อย่างไรก็ตามยังเห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ยังใช้ข้อมูลงานวิชาการที่ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพอยู่ โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นอีกปีละไม่ต่ำกว่า 81,356 ล้านบาท ขณะที่การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็นปีละ 27,883 ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมการปล่อยคำขอสิทธิบัตรที่ไม่มีคุณภาพให้ได้สิทธิผูกขาดที่เรียกว่า evergreening patent ที่จะทำให้ยามีราคาแพงโดยไม่มีคู่แข่งในตลาดอีกยาวนาน แต่ต้องจับตาเพราะแรงกดดันมีมาก

ส่วน วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ตั้งข้อสังเกตว่า จากการเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในครั้งนี้มีบริษัทมอนซานโต้ยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรของสหรัฐซึ่งทราบกันโดยทั่วไปว่ากำลังผลักดันอย่างหนักผ่านหน่วยงานต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัย กระทรวงต่างๆ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ฯลฯ เพื่อกดดันให้ประเทศไทยอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอโดยเร็ว 

วิฑูรย์ กล่าวว่า ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติด้านการเกษตรของสหรัฐได้อ้างต่อพลเอกประยุทธ์ว่า “สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และอยากให้ประเทศไทยเป็น “seed hub” เนื่องจากประเทศไทยมีที่ตั้งที่เหมาะกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ และจะช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์พืชที่มีคุณภาพได้โดยตรง และจะช่วยลดต้นทุนการผลิต”  โดยเอกสารเผยแพร่ของทำเนียบรัฐบาลได้ระบุว่า “นายกรัฐมนตรียินดีให้การสนับสนุน”

“แม้ยังไม่ชัดเจนว่าการให้คำตอบว่ารัฐบาลไทยให้การสนับสนุนนั้นจะออกมาในรูปแบบใด แต่ไบโอไทยซึ่งได้ติดตามการผลักดันของมอนซานโต้และรัฐบาลสหรัฐคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจมีการเสนอร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบ เพื่อเปิดทางสะดวกในการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย ทั้งๆ ที่ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาเอื้ออำนวยแก่มอนซานโต้ให้สามารถปลูกพืชจีเอ็มโอได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น จน สปช.มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้ถอนร่างออกจากการพิจารณาของ สปช.เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา” วิฑูรย์ กล่าว

ผู้อำนวยการไบโอไทยยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากผลประโยชน์มหาศาลจากการปลูกพืชจีเอ็มโอของมอนซานโต้ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าเกษตรของไทยเพราะตลาดทั่วโลกมีแนวโน้มต่อต้านสินค้าจีเอ็มโอมากเพิ่มขึ้นแล้ว มอนซานโต้และกลุ่มบริษัทเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐยังได้ผลักดันให้ประเทศไทยแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรให้คุ้มครองสิ่งมีชีวิต และแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ให้ไปใช้ระบบกฎหมายที่เรียกว่า UPOV1991 ด้วย การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทข้ามชาติสามารถเข้ามาจดสิทธิบัตรและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพโดยไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ 

“ไบโอไทยและกลุ่มนักวิชาการเคยประเมินผลกระทบของการสูญเสียประโยชน์จากกรณีดังกล่าวว่าจะมีผลให้เกิดความเสียหายซึ่งจะทำให้เกษตรกรจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท และทำให้ประเทศต้องสูญเสียประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพคิดเป็นมูลค่า 70,000-120,000 ล้านบาท/ปี รวมผลกระทบ 120,000-220,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ไม่นับถึงผลกระทบระยะยาวที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและผลกระทบต่ออธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพซึ่งมีค่าที่ไม่อาจประเมินได้อีกด้วย” วิฑูรย์ กล่าว

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคประชาสังคมและและภาควิชาการใน 12 ประเทศที่กำลังเจรจา TPP ต่างคัดค้านและท้วงติงอย่างมากโดยเฉพาะเนื้อหาการคุ้มครองการลงทุนที่ให้อำนาจนักธุรกิจต่างชาติฟ้องล้มนโยบายสาธารณะที่คุ้มครองประชาชน จนทำให้การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งประเทศไทยเจอกรณีใกล้เคียงกันนี้ ทั้งกรณีที่ถูก บ.วอลเตอร์บาวน์ ผู้ถือหุ้นดอนเมืองโทลล์เวย์ฟ้องร้อง ค่าเสียหายมากกว่า 1,400 ล้าน และที่ผู้ถือหุ้นของ บ.ทุ่งคา ฮาเบอร์ฟ้องร้อง 

ดังนั้น ขณะนี้รัฐบาลชั่วคราวจึงไม่ควรเข้าไปเจรจาผูกมัดประเทศชาติ แต่ควรทำหน้าที่สนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ดี และเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีบรรยากาศประชาธิปไตยเต็มที่ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์นำเสนอข้อมูลต่อสังคม ไม่ใช่เป็นดังเช่นในปัจจุบันที่มีแต่นักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศคอยให้ข้อมูลแก่รัฐบาลเท่านั้น

“การร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 193 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ มีจุดที่น่าวิตกคือ นิยามหนังสือสัญญาไม่นับรวมสัญญาเงินกู้ ซึ่งส่วนใหญ่สัญญาเหล่านี้มีเงื่อนไขบังคับประเทศ ไม่นับรวมการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ และไปอ้างอิงความตกลงใน WTO ซึ่งมีความตกลงน้อยลงทุกที ส่วนใหญ่เกิดนอก WTO มากกว่า นอกจากนี้ กรอบการเจรจาผ่านการพิจารณาแค่ระดับคณะกรรมาธิการต่างประเทศ ไม่ใช่รัฐสภาดังที่เคยเป็นตามรัฐธรรมนูญ 2550 และยังไม่มีการรับฟังเสียงของประชาชนก่อนลงนามผูกพัน หากเป็นเช่นนี้โอกาสที่จะพิจารณาให้เกิดความรอบคอบไม่สามารถเกิดขึ้นได้” กรรณิการ์กล่าว

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ