สภาการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ ยื่นข้อเสนอ การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ชี้รัฐต้องยกเลิกนโยบายการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก กว่า 2,00 แห่งทันที และสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในแนวทางการศึกษาทางเลือก พร้อมเสนอให้เปลี่ยนจากการศึกษาแบบเดียวเป็นการศึกษาที่หลากหลาย
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2554 ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ นำโดย นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกพร้อมคณะกรรมการและสมาชิก ร่วมกันแถลง ถึงข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
โดยกล่าวถึงภาพรวมของวิกฤติอันมาจากระบบการศึกษา ว่าเริ่มซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีการเปลี่ยแลงรวดเร็ว เชื่อมกับโลกอันไร้พรมแดน แต่ระบบการศึกษาของไทยมีกฏเกณฑ์มากมาย บุคลากรคิดแต่อยู่ในกรอบ ปรับตัวไม่ทัน ก่อให้เกิดปัญหาตามมามาก โดยเฉพาะระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออก และรูปแบบการจัดการแบบเดียวทั้งประเทศจึงขาดความหลากหลาย เด็กผ่านการศึกษาแต่ขาดทักษะชีวิต ขาดคุณธรรม มีมากขึ้น
เมื่อเด็กจบการศึกษาแล้วตลาดงานก็หดตัวลง แนวโน้มผู้สำเร็จการศึกษาอยู่ในภาวะตกงานพร้อมกับแบกภาระหนี้สินจากการกู้เรียนตามนโยบายของรัฐ จึงมีแนวโมพบกับความเครียดและทุกข์ การจะมุ่งหน้ากลับบ้านเกิด ก็อยู่อย่างไม่มีความสุข เพราะการเรียนในระบบได้ตัดความสัมพันธุ์เด็กออกจากครอบครัวและชุมชนของตนเอง และจากการปฏิรูปการศึกษาของประเทศในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ายังไม่สามารถปฏิรูปได้ทั้งด้านโครงสร้าง ไม่ปฏิรูปไปถึงฐานคิดและกระบวนการเรียนรู้ดังที่มุ่งหวังได้ จึงเป็นที่มาของการปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 ในปัจจุบันอีก
กลุ่มองค์กรที่ดำเนินการด้วยการศึกษาทางเลือกในภาคเหนือ และรวมตัวกันในนาม “สภาการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ” ได้หารือกัน และเห็นว่า หากการปฏิรูปการศึกษา โดยภาครัฐฝ่ายเดียว ไม่น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังที่ทุกคนคาดหวัง จึงรวมตัวกัน และมีข้อเสนอดังนี้
1. ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาร่วมกันปฏิรูปการศึกษา ด้วยการจัดการศึกษาโดยครอบครัว สถาบันศาสนา ครูภูมิปัญญา และองค์กรชุมชน โดยรัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม รัฐต้องลดบทบาทในการจัดด้วยตนเอง แต่กระจายอำนาจในการจัดการศึกษาไปสู่ภาคสังคม รวมทั้งแก้กฏหมายที่เป็นอุปสรรค เอื้อให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างเร่งด่วน
2. ขอให้เปลี่ยนจากการศึกษาแบบเดียว เป็นการศึกษาที่หลากหลาย มีทางเลือก สำหรับทุกคนทุกกลุ่มที่จะกำหนดหลักสูตร การเรียนการสอน มาตรฐานและการวัดผลที่สอดคล้องกับปัญหาความต้องการ วิถีชิวิตและบริบทของตน โดยได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมเสมอกันทุกประการ
3. ให้มีหลักสูตรประวัติศาสตร์ วัฒนะรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นในโรงเรียนและผู้เรียนทุกกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในการใช้ภาษาท้องถิ่นได้
4. เอื้ออำนวยให้เด็ก สามารถใช้บัตรนักเรียน นักศึกษาในการติดต่อราชการและการเดินทางได้
5. ให้มีการติดตามการบังคับใช้กฏหมายสำหรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติ กรณีเรียนจบการศึกษาแล้ว ไม่ได้รับวุฒิบัตร
6. จัดตั้งกองทุนในรูปแบบองค์กรอิสระสนับสนุนการศึกษาทางเลือก ที่ทุกภาคส่วนในสังคมกำลังดำเนินการจัดการศึกษาทางเลือก
7. ดำเนินการออกพ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษาทางเลือก
8. กรณีเร่งด่วนรัฐต้องยกเลิกนโยบายการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก กว่า 2,000 แห่ง โดยการสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในแนวทางการศึกษาทางเลือก
นายชัชวาลย์กล่าวว่า จะนำข้อเสนอนี้พบรมว.ศึกษาธิการ คณะกรรมการปฏิรุปการศึกษา และคณะปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา ขณะเดียวกันเครือข่ายก็จะร่วมกันลงมือทำในทิศทางที่ที่เสนอด้วยตนเองกันด้วย