สถานภาพด้านการอนุรักษ์ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

สถานภาพด้านการอนุรักษ์ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

20143107170853.jpg

ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ซึ่งประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปางสีดา ทับลาน ตาพระยาและ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงรักได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 เมื่อปี พ.ศ.2548 ที่เมืองเดอร์บัน แอฟริกาใต้ โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกตรงตามหลักเกณฑ์ ข้อที่ 10 นั่นคือ “เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายาก หรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ”

ในเอกสารที่เสนอให้ผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติซึ่งลงนามโดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสมัยนั้น (มกราคม 2547) ได้อธิบายถึงถนนสาย 304 ในฐานะภัยคุกคามจากการพัฒนาต่อความครบถ้วนสมบูรณ์ (integrity) ของผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ว่า แต่เดิมก่อนที่จะมีการสร้างทางหลวงสายหลัก (2 ช่องทางจราจร) นั้น พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางอพยพตามธรรมชาติเชื่อมผืนป่าซีกตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน และเน้นข้อเสนอให้มีแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศในช่วง กม. 27-29 และช่วง กม. 42-48 โดยมิได้ระบุถึงการขยายช่วงถนนเป็น 4 ช่องทางจราจรแต่ประการใด

การขยายทางหลวงหมายเลข 304 จาก 2 ช่องทางเป็น 4 ช่องทางจราจร เป็นที่รับรู้ในราวปี 2550 และตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการมรดกโลกร้องขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” (Environmental Impact Assessment) ของโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 304 และการออกแบบแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า (wildlife corridor) และจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนเพื่อทำแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า โดยเน้นย้ำข้อกังวลว่าโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 304 มีศักยภาพในการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นแก่ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ รวมทั้งสัตว์ป่าที่ตายตามท้องถนน (road kill) มีระดับเพิ่มขึ้น

ในรายงานสถานภาพด้านการอนุรักษ์ (State of Conservation) คณะกรรมการมรดกโลกและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เน้นย้ำถึงแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ในระยะยาวและเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลไทยจะต้องระบุและเสนอแนวทางเชื่อมต่อระบบนิเวศที่ดีที่สุด บนหลักพื้นฐานทางนิเวศวิทยารวมถึงทางเลือกที่ได้พิจารณาตลอดจนข้อสรุปที่ชัดเจนของการขยายถนนที่มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อ “คุณค่าสากลที่โดดเด่น” (Outstanding Universal Value) ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

การที่ทางหลวง 304 นอกขอบเขตผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่มีการขยายเป็น 4 ช่องทางจราจรไปแล้วนั้น คณะกรรมการมรดกโลกและ IUCN แสดงความกังวลถึงการขยายถนนนอกผืนป่าโดยไม่ต้องดำเนินการบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสมภายในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่และไม่คำนึงถึงศักยภาพของผลกระทบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของการจราจรบนทุกส่วนของถนน และไม่มีการควบคุมความเร็วของยานพาหนะ

ในรายงานสถานภาพด้านการอนุรักษ์ปี 2556 ระบุว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของพื้นที่เชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่าและโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 304 (กิโลเมตร 26- 29) อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่คณะกรรมการมรดกโลกยังไม่ได้รับรายงานฉบับภาษาอังกฤษที่สมบูรณ์ ในรายงานที่ได้รับกล่าวถึงทางเลือกของแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า และระบุตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด แต่ไม่ได้นำเสนอการประเมินทางเลือกที่แตกต่างกันและให้เพียงข้อมูลสรุปผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทางเลือกที่ต้องการและมาตรการลดผลกระทบในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้างเท่านั้น

ข้อมูลไม่ได้นำเสนอข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value) ของผืนป่า หรือรวมถึงรายละเอียดทรัพยากรที่มีอยู่ในการดำเนินการมาตรการลดผลกระทบ นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับมาตรการบรรเทาผลกระทบที่จะต้องดำเนินการ หลังจากขั้นตอนการก่อสร้าง IUCN พิจารณาว่าข้อมูลที่รัฐบาลไทยให้ไม่ได้มีรายละเอียดเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการขยายทางหลวงหมายเลข 304 จะไม่เกิดผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสมบูรณ์ของผืนป่าและคุณค่าที่โดดเด่นระดับสากล

ต่อมาคณะทำงานของ IUCN ลงพื้นที่สำรวจผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่เมื่อวันที่ 13-17 มกราคม 2557 ขณะที่รัฐบาลไทยส่งรายงานสถานะด้านการอนุรักษ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในเดือนเมษายน 2557 เพื่อนำเสนอความคืบหน้าของปัญหาการอนุรักษ์ที่ยกขึ้นมาโดยคณะกรรมการมรดกโลกในที่ประชุมครั้งก่อน รวมถึงมาตรการลดผลกระทบจากการขยายทางหลวงหมายเลข 304 เป็น 4 ช่องทางจราจรและการสร้างแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่ารวมถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม (การปลูกป่า การทำโป่งเทียม ฝายชะลอน้ำและรั้ว) และการจำกัดความเร็วของยานพาหนะ รวมทั้งการดำเนินการตามแผนจัดการสิ่งแวดล้อมมีกำหนดจะเริ่มในปี 2558

การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของการขยายทางหลวงหมายเลข 304 จากกิโลเมตร 26-29 และ 42-57 ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ตั้งขึ้นใหม่โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช) ก็ได้อนุมัติรายงาน

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีความคืบหน้าในการดำเนินงานและการวางแผนมาตรการลดผลกระทบจากการขยายทางหลวงหมายเลข 304 แต่คณะทำงาน IUCN ตั้งข้อสังเกตว่ามีแผนการเปิดถนน 3462 (จังหวัดสระแก้ว-น้ำตกปางสีดา มีระยะทาง 26 กิโลเมตร เดิมถนนเส้นนี้ไปทะลุถึงอำเภอครบุรี จ.นครราชสีมา) ใหม่อีกครั้ง รวมถึงแผนการขยายทางหลวงหมายเลข 348 (สายอรัญประเทศ-นางรองหรือถนนธนะวิถี เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันออกกับภาคอีสานตอนใต้) ซึ่งทั้งสองเส้นทางตัดข้ามผืนป่าฯ ทั้งสองแผนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะมีผลกระทบเชิงลบต่อ “คุณค่าที่โดดเด่นระดับสากล” ของผืนป่าฯ เป็นอย่างมาก  จึงแนะนำให้คณะกรรมการมรดกโลกเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้เปิดเส้นทางอีกครั้งหรือการขยายถนนใดๆ ข้ามผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่

ล่าสุด รายงานสถานภาพด้านการอนุรักษ์ปี 2557 เสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกลงชื่อผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ใน “รายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในอันตราย” อันเนื่องมาจากภัยคุกคามที่รุนแรงและเพิ่มขึ้นจากการลักลอบ ตัดไม้และการบุกรุกเข้าไปในเขตป่ารวมทั้งการขยายรีสอร์ทที่มีต่อ “คุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล” ของผืนป่า ซึ่งตรงกับหลักเกณฑ์ในการลงชื่อผืนป่าฯ ใน “รายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในอันตราย” (List of World Heritage in Danger) ตามย่อหน้า 180 ของคู่มือการดำเนินงาน (Operational Guidelines) ของแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 

ที่มา : กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาพจาก : ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ