สถานการณ์โครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

สถานการณ์โครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

ความเคลื่อนไหวและสถานการณ์โครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)   มีความจำเป็นในการจัดหาถ่านหินกำมะถันต่ำ (Low sulfur coal) เพื่อนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งจะช่วยทำให้ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศในพื้นที่ลดลง อีกทั้งยังทำให้ระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคงยิ่งขึ้น จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า แหล่งถ่านหินเวียงแหงมีถ่านหินกำมะถันต่ำ ซึ่งเหมาะจะนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จึงได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติม และพบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและคุ้มทุน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จึงมีแผนที่จะพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหงอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยได้จัดตั้งโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหงขึ้น ซึ่งโครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานจัดการด้านการจัดหาแหล่งเชื้อเพลิง เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ภายใต้การดำเนินงานสายงานธุรกิจเหมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาเชื้อเพลิงถ่านหินชนิดมีกำมะถันต่ำ (Low sulfur coal) โดยการผลิตขุดขนถ่านหินเวียงแหง และนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โดยทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศในพื้นที่ อ.แม่เมาะ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และความมั่นคงของระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้เริ่มดำเนินการสำรวจแหล่งถ่านหินเวียงแหงรั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2526 และสำรวจขั้นรายละเอียดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2530 โดยร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ภายใต้มาตรา 6 ทวี แห่ง พ.ร.บ. แร่ปีพ.ศ. 2510 และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ให้กันพื้นที่แอ่งเวียงแหงให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯเพื่อการพัฒนาผลิตกระแสไฟฟ้า

ผลการศึกษาทางธรณีวิทยาแหล่งถ่านหินพบว่ามีปริมาณสำรองรวมกันทั้งสิ้นประมาณ  80-90 ล้านตัน และเป็นถ่านหินคุณภาพดีกว่าที่เหมืองแม่เมาะ คือมีค่าความร้อน (Net heating Value) เฉลี่ยประมาณ 3100 Kcal/kg มีค่าความร้อน (Gross heating Value) เฉลี่ยประมาณ 3700 Kcal/Kg ความชื้นเฉลี่ยประมาณ 32 % โดยน้ำหนัก ขี้เถ้าเฉลี่ยประมาณ 15 % โดยน้ำหนัก และกำมะถันเฉลี่ยประมาณ 1 % โดยน้ำหนัก (As Received Basis).

จากการศึกษาด้านการนำไปใช้ประโยชน์พบว่า นอกจากจะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์อย่างดี ดังนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จึงได้ส่งคืนแหล่งถ่านหินเวียงแหงตามความประสงค์ของกรมทรัพยากรทรัพยากรธรณี โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2535 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ส่งคืนแหล่งถ่านหินเวียงแหงให้แก่กรมทรัพยากรธรณี พร้อมรายละเอียดของข้อมูลและผลการศึกษาเพื่อให้กรมทรัพยากรธรณีนำไปเปิดประมูลต่อไป

เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันเงื่อนไขต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น เส้นทางคมนาคมสู่แอ่งเวียงแหง ซึ่งได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นมาก กรมทางหลวงได้ดำเนินการลาดยางเส้นทางทั้งหมด โดยมีกำหนดจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2541 นี้ และความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ในการที่จะขนส่งถ่านหินจากแหล่งเวียงแหง เพื่อนำไปใช้ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และความจำเป็นด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศในเวลานี้ ทำให้ความต้องการและการพึ่งพาทรัพยากรแร่พลังงานในประเทศมีมากขึ้น ทั้งนี้เป็นการโอบอุ้มสถานะทางการเงินของชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล

ในปี พ.ศ. 2541 สายงานธุรกิจเหมือง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจึงมีแผนทบทวน การศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ก่อนการพัฒนาเปิดเหมืองจากแหล่งถ่านหินเวียงแหง เพื่อนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยได้ทำการเจาะ สำรวจแหล่งข้อมูล เพิ่มเติมร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ภายใต้มาตรา 6 ทวิ แห่ง พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 เพื่อตรวจสอบและยืนยันศักยภาพในการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้ในเบื้องต้นพบว่า สามารถขุดถ่านหินนำมาใช้ประโยชน์โดยคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ได้ ไม่น้อยกว่า 15-20 ล้านตัน

โครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นขั้นตอน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ประกอบด้วย

1. ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่เดิม สำรวจเก็บข้อมูลที่จำเป็นเพิ่มเติม ประมวลผลข้อมูลทั้งหมดเพื่อสร้างแบบจำลองทางธรณีวิทยาและการทำเหมืองแหล่งถ่านหินเวียงแหง พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาทำเหมืองเปิด (Open Pit Mining) และการขนส่งถ่านหิน ไปยังโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี พ.ศ. 2541

2. ดำเนินการให้ได้มาซึ่งประทานบัตรการทำเหมืองถ่านหินเวียงแหง ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2543 ซึ่งจะต้องดำเนินการในสิ่งต่อไปนี้ เสนอขอเปลี่ยนมติครม.ให้กฟผ.เข้าดำเนินการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง โดยผ่านความเห็นชอบจากกรมทรัพยากรธรณี และสำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ ยื่นเรื่องขอประทานบัตรต่อกรมทรัพยากรธรณี ขออนุมัติการใช้พื้นที่ป่าต่อกรมป่าไม้

3. จัดการด้านกรรมสิทธิ์ที่ดินจากผู้ถือครอบครองสิทธิ์ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการทำเหมือง ดำเนินการศึกษาเพื่อหาแนวทางการนำเสนอรูปแบบการทำเหมือง และรูปแบบการประกอบการเพื่อพัฒนาเหมืองเวียงแหง ให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2543

แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนาโครงการเหมืองถ่านหินได้เนื่องจากเกิดการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจึงได้ทำมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจและแสวงหาการยอมรับจากชาวบ้าน ดังนี้ 

ความเคลื่อนไหวในด้านของงานมวลชนสัมพันธ์

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ในพื้นที่เดือนตุลาคม และ พฤศจิกายนเป็นเทศกาลหลังจากออกพรรษา โครงการเหมืองฯ ได้ออกร่วมงานบุญกฐิน สลากภัตร ของแต่ละวัดแต่ละหมู่บ้าน 

ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์เข้าไปมีบทบาทในเรื่องของการจัดเข้าค่ายเยาวชน ในโครงการค่าย ศิลป “Art For All” โดยมีเยาวชนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากชนเผ่า กะเหรี่ยง ลีซอ จีนฮ่อ และไทยใหญ่  เข้าร่วมโครงการฯ 120 คน และครูในท้องถิ่นอีกจำนวน 30 คน อีกกิจกรรมหนึ่ง ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดงานปีใหม่ไตย (ไทยใหญ่) ซึ่งจัดขึ้นที่บ้านเปียงหลวง โดยงานจะจัดขึ้นทุกปี เป็นการรวมกลุ่มกันประสานสามัคคี อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของคนไตย ใน อำเภอเวียงแหง ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่มีโครงการเหมืองเวียงแหงเข้าไปจ่ายเงินสนับสนุน

สนับสนุนโครงการกีฬาสหมิตร และการแข่งขันกีฬาต่างๆ ในพื้นที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะมีโครงการเหมืองเข้าร่วมสนับสนุนงบประมาณทุกครั้ง
โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้สนองต่อนโยบายดังกล่าว และดึงโรงเรียนเวียงแหงวิทยาคม ร่วมด้วยเป็นกรณีพิเศษ (จากจดหมายข่าวของการไฟฟ้า ฉบับที่ 4)

มอบเงินให้แก่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านกองลม จำนวน สามหมื่นกว่าบาทเพื่อสนับสนุนซ่อมแซมระบบประปาของหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีแต่ละหมวด ในหมู่บ้านกองลม สามารถเขียนโครงการเพื่อขอรับเงิน จำนวน หมวดละ 5,000 บาท

ร่วมจัดงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2547 โดยทางการไฟฟ้า บริจาคผ่านตัวแทนครู เพื่อร่วมกับทุกโรงเรียน

สนับสนุน งานพิธีอัญเชิญพระรูป สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขึ้นประดิษฐาน ณ ข่วงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บ้านปางควาย ระหว่างวันที่ 24-25 มกราคม (วันกองทัพไทย) ที่ผ่านมา โดยร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 จัดงานขบวนแห่จำลองนักรบโบราณ รอบคูเมืองบ้านเวียงแหง ในงานดังกล่าวเป็นจุดหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะให้สถานที่อำเภอเวียงแหง เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ให้ได้ โดยการนำของข้าราชการระดับสูงในอำเภอเวียงแหง ร่วมกับการไฟฟ้า 

การจัดงานดอกไม้พญาเสือโคร่งบาน ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยกะเกณฑ์บังคับให้แต่ละหมู่บ้านเข้าร่วมรับผิดชอบในงาน ทั้งนี้เพื่อจัดหาทุนสร้างข่วงสถาน ในเรื่องดังกล่าว มีความเห็นในพื้นที่ แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย 

การอ้างคำอธิบายเชิงประวัติความเป็นมา ฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ผลักดันและมีความพยายามเชื่อมโยม ชักนำ ประชาสัมพันธ์ให้มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในครั้งขณะออกรบ และสวรรคตที่เมืองหาง ในฝั่งพม่า ตรงกันข้ามบ้านหนองอุก อำเภอเชียงดาว  (คนกลุ่มนี้เชื่อว่า เมืองหาง คือ เมืองแหงอำเภอเวียงแหง) ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง มองว่า  คนดั้งเดิม ชาวบ้านส่วนมาก คนเฒ่าคนแก่ มิได้ตื่นเต้นหรือมีส่วนร่วมในโครงการงานดังกล่าว

เพราะที่ผ่านมา ในพื้นที่เองก็มิได้มีการพูดต่อของช่วงอายุคนต่อคน หรือหลักฐานอ้างอิงใดๆ ที่เกี่ยวข้องที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเดินทัพหรือสวรรคต เรื่องดังกล่าวเพื่อถูกปลุกเป็นกระแสเพียงแค่ 2–3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งในพื้นที่ข่วงดังกล่าวก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ ระหว่างชาวบ้านเจ้าของที่ดิน ซึ่งได้ทำกินตั้งแต่บรรพบุรุษมา มีการปลูกต้นไม้ยืนต้นจนออกผลผลิต มีการสร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยแล้ว เพียงแต่ว่าไม่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้นเอง กับฝ่ายของอำเภอที่อ้างความชอบธรรมทางกฎหมาย เข้าไปยึดพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจัดสร้างเป็นข่วงสถานฯ ดังกล่าว 

จากสถานการณ์ งานมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้า ซึ่งเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมกับชุมชนมากขึ้น การสร้างภาพและการลงพื้นที่ของฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ฯของ กฟผ.เข้าถึงประชาชน ทำให้ประเด็นปัญหา หรือสถานการณ์ปัญหาเรื่องเหมืองมิได้กล่าวถึงถูกกลบเกลื่อนด้วยสิ่งของ เงินสนับสนุน ฯลฯ  อาจทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งมีความไขว้เขว และเอนเอียง ตลอดจนถึงเกรงใจในแง่ของผู้ให้ กับผู้รับ ได้

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเหมืองแร่

ในส่วนของการไฟฟ้าเอง ออกมายอมรับว่า มีความผิดพลาดกับการทำงานในพื้นที่ โดยเฉพาะการบริหารงบประมาณ ด้านมวลชนสัมพันธ์ ที่ใช้งบประมาณกระจุกอยู่ในส่วนของหน่วยงานราชการ  และผู้นำ โดยมิได้ลงสู่รากหญ้าหรือชุมชนอย่างแท้จริง จึงเกิดการสับเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงพนักงานไฟฟ้าในพื้นที่บางคน ในส่วนของพนักงาน และเจ้าหน้าที่ เป็นที่น่าสังเกต ก็คือจะเข้ามาเช่าอาศัยบ้านในชุมชน โดยเฉพาะบ้านกองลม มีการช่วยเหลือด้านงบประมาณ การไปมาหาสู่เพื่อช่วยเหลือ และกลมกลืนกับชาวบ้าน

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 ทางการไฟฟ้าได้เป็นผู้สนับสนุนออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ช่อง 11 เพื่อดำเนินการถ่ายทอดสดรายการ  “หมายเหตุประเทศไทย” และ รายการ ”กรองสถานการณ์” โดยทางการไฟฟ้าจะดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าร่วมรายการ ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มคนที่เห็นด้วยและสนับสนุน ในด้านของผู้เข้าชมส่วนหนึ่ง ถูกคัดเลือกจากหมู่บ้านที่เห็นด้วยกับโครงการ 

การจัดเวทีในครั้งนี้ กฟผ. ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานโดยให้ช่อง 11. ถ่ายทอดสด ซึ่งในช่วงเช้าจะเป็นภาพรวมประวัติของอำเภอเวียงแหง วิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเพื่อให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงความเป็นมาของเวียงแหง

ในช่วงหลังเป็นการเสวนาในประเด็น “โครงการพัฒนาเหมืองแร่ลิกไนต์ ” โดยเชิญเจ้าหน้าที่ กฟผ. คณะ EIA และตัวแทนชาวบ้านขึ้นเสวนา มีชาวบ้านเข้าร่วมฟังประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่ กฟผ. จ้างมาฟังคนละ 200 บาท โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ถึงการจัดเวที เพราะกลัวชาวบ้านคัดค้าน  สิ่งที่น่าสังเกตคือ ชาวบ้านที่เข้าร่วมเสวนา 2 คนเป็นคนที่สนับสนุนโครงการดังกล่าว ดังนั้นการจัดเวทีในครั้งนี้จึงไม่มีความหลากหลาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตพยายามจัดฉากบังหน้า เพื่อให้คนทั้งประเทศได้รับทราบว่า คนเวียงแหงไม่ได้มีการคัดค้าน ดังนั้นจึงถือว่าเวทีครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรมและปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และสิ่งที่ชาวบ้านไม่พอใจมากที่สุดคือ คำสัมภาษณ์ของนายอำเภอเวียงแหงที่บอกว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนเวียงแหง 5,000 บาทต่อปีและเก็บป่าขาย ซึ่งเป็นการดูถูกคนเวียงแหงทั้งเมือง และขัดแย้งกับความเป็นจริง

นอกจากนี้การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ยังมีความสับสนในพื้นที่ อันเนื่องมาจาก ทางการไฟฟ้า อ้างถึงคณะอาจารย์ นักวิชาการจากสถาบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าในขณะนี้มีการเซ็นสัญญาว่าจ้าง และอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านได้รับคือ ยังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องของงบประมาณค่าจ้าง ความมั่นใจในคณะทีมที่จะเข้ามาศึกษา ความโปร่งในเป็นกลาง ยังเป็นข้อวิตกที่เกิดขึ้นในพื้นที่

แต่มา ณ ปัจจุบันการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ยกเลิกไป และในปี พ.ศ. 2553 (เดือนเมษายน 2553) ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้างนายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ เข้ามาดำเนินงานตามโครงการที่เรียกว่า สันติวิธี โดยมองถึงความขัดแย้งในพื้นที่อย่างรุนแรงหลังจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเข้าไป ทำอย่างไรถึงจะสร้างสันติวิถีให้เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอเวียงแหง ในขณะที่ชาวบ้านเองมองว่าไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรงแต่อย่างไร ชาวบ้าน 14 หมู่บ้าน จึงลุกขึ้นมาคัดค้านไม่เอาการศึกษาใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ 

ความเห็นและความเคลื่อนไหวของชาวบ้าน เกี่ยวกับโครงการเหมืองในพื้นที่

ในช่วงที่ผ่านมาปี พ.ศ. 2549 ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ทำการสุ่มสำรวจ ความเห็นของชาวบ้าน ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ใน 14 หมู่บ้าน 3 ตำบล (อำเภอเวียงแหงมี 22 หมู่บ้าน 3ตำบล) อันมีสาเหตุมาจาก  ทางการไฟฟ้า โดยอนุกรรมการชุดหนึ่งที่แต่งตั้งขึ้นมา ได้นำข้อมูลโดยการคาดคะเนว่า ประชาชนในพื้นที่อำเภอเวียงแหง จำนวนมาก ได้มีความเห็นที่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาเหมือง เสนอให้คณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในข้อมูลและข้อเท็จจริง จึงมีการสุ่มสำรวจโดยผู้นำชุมชน จากการสำรวจความเห็นประชาชน 14 หมู่บ้าน  3 ตำบล ผลที่ออกมา ตรงกันข้ามกับทางการไฟฟ้าได้นำเสนอ โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ94.66 มีความเห็นคัดค้าน มีประชาชนร้อยละ 5.34 ที่มีความเห็นเป็นกลาง และ เห็นด้วย (ตามตาราง)

 
สรุปการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
การเปิดเหมืองแร่ลิกไนซ์ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง

ตำบลเปียงหลวง   อำเภอเวียงแหง  จังหวัดเชียงใหม่

ที่   บ้าน            จำนวนประชากร      กลุ่มสำรวจ   ความเห็น
               ชาย   หญิง   รวม   ครัวเรือน   ชาย   หญิง   รวม   ครัวเรือน   เห็นด้วย   คัดค้าน   เป็นกลาง
1   เปียงหลวง   791   698   1489   1868   –   –   –   –   –   –   –
2   บ้านจอง   234   204   438   317   166   154   320   115   3   308   9
3   มะกายยอน   243   171   414   221   181   171   352   114   0   352   0
4   ม่วงเครือ   224   199   423   156   130   135   265   93   0   260   5
5   ห้วยไคร้   450   467   917   419   196   180   376   133   0   376   0
6   แปกแซม   89   97   186   47   –   –   –   –   –   –   –
   รวม   1859   1776   3635   3028   673   640   1313   424   3   1,296   14
หมู่บ้านที่ทำการสำรวจ   1.   บ้านจอง  2.   บ้านม่วงเครือ    3.   บ้านใหม่มะกายยอน     4.   บ้านห้วยไคร้
หมู่บ้านที่ไม่ได้ส่งแบบสำรวจ    1.   บ้านเปียงหลวง   2.  บ้านแปกแซม

ตำบลแสนไห   อำเภอเวียงแหง  จังหวัดเชียงใหม่

   ที่   บ้าน   จำนวนประชากร   กลุ่มสำรวจ   ความเห็น
         ชาย   หญิง   รวม   ครัวเรือน   ชาย   หญิง   รวม   ครัวเรือน   เห็นด้วย   คัดค้าน   เป็นกลาง
   1   สันดวงดี   107   89   196   74   62   54   116   43   0   114   2
   2   สามปู   79   62   141   48   72   60   132   60   0   132   0
   3   ม่วงป๊อก   287   260   547   249   231   225   456   193   0   444   12
   4   มหาธาตุ   144   95   239   101   –   –   –   –   –   –   –
   5   ปางป๋อ   394   366   760   294   –   –   –   –   –   –   –
      รวม   1011   872   1883   766   365   339   704   103   0   690   14
หมู่บ้านที่ทำการสำรวจ   1. สันดวงดี   2. บ้านสามปู   3.  บ้านม่วงป๊อก                                 
หมู่บ้านที่ไม่ได้ส่งแบบสำรวจ   1.   บ้านมหาธาตุ  2.  บ้านปางป๋อ

ตำบลเมืองแหง   อำเภอเวียงแหง  จังหวัดเชียงใหม่

ที่   บ้าน   จำนวนประชากร   กลุ่มสำรวจ   ความเห็น
      ชาย   หญิง   รวม   ครัวเรือน   ชาย   หญิง   รวม   ครัวเรือน   เห็นด้วย   คัดค้าน   เป็นกลาง
1   แม่หาด   331   320   651   158   182   165   347   110   0   344   3
2   กองลม   568   518   1086   352   324   290   614   223   0   583   31
3   ป่าไผ่   185   153   338   203   36   40   76   26   13   8   55
4   แม่แพม   206   150   356   72   119   100   219   62   0   219   0
5   ปางควาย   248   220   468   181   44   33   77   31   20   17   40
6   กองลมใหม่   253   242   495   166   138   121   259   96   0   250   9
7   นามน   277   259   536   135   120   109   229   86   1   226   2
   รวม   2068   1862   3930   1267   963   858   1821   634   34   1647   140

หมู่บ้านที่ทำการสำรวจ   1. บ้านแม่หาด  2.  บ้านกองลม   3. บ้านป่าไผ่   4. บ้านแม่แพม   5. บ้านปางควาย  6. บ้านกองลมใหม่  7. บ้านนามน                             
หมู่บ้านที่ไม่ได้ส่งแบบสำรวจ    1.  บ้านเวียงแหง   2.  บ้านห้วยหก   3.  บ้านเลาวู   4.  บ้านสามหมื่น

การเคลื่อนไหวสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2553

กลุ่ม เครือข่ายองค์กรชาวบ้าน ในนามเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่ก่อรูปขึ้นมา ภายใต้สถานการณ์จากโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และการรวมกลุ่มกันเพื่อการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ในระดับพื้นที่ โดยกลไก โครงสร้างการทำงานของผู้นำที่มาจากหลากหลายองค์ประกอบ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน เยาวชน พระสงฆ์ มาคิด วางแผน สรุปทบทวนการทำงาน การติดตาม ความเคลื่อนไหวภายในพื้นที่และภายนอกที่เข้าไปเชื่อมกับกลุ่ม ภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งนี้เพื่อนำมาเป็นแนวทางที่จะขับเคลื่อนภายในพื้นที่ร่วมกัน โดยเฉพาะการขยายฐานแนวคิดไปสู่หมู่บ้านอื่นๆอีก 8 หมู่บ้าน รวมทั้งหย่อมบ้าน จาก 14 หมู่บ้านที่เข้ามาร่วมในเครือข่าย

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ช่วงต้นปี พ.ศ. 2553 สถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างเงียบ ไม่มีกระแสการประชาสัมพันธ์ การสนับสนุนของการฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้าแต่อย่างใด  ทำให้เครือข่ายและชาวบ้านเอง คิดว่า คงจะจบไปแล้ว โครงการพัฒนาถ่านหินลิกไนต์คงไม่จะเกิดแน่แท้

แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ส่งนายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ เข้ามาทำโครงการสันติวิธี สร้างความสมานฉันท์ในชุมชน เมื่อเดือน เมษายน 2553 เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวถึงการเคลื่อนไหวในการเข้ามาครั้งนี้ ต่างรวมตัวกัน ไม่ถึงข้ามคืนรุ่งเช้าชาวบ้านกว่าพันคน ลุกขึ้นมา คัดค้าน ขับไล่คณะนายแพทย์วันชัย โดยมองว่าเป็นเครื่องมือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเข้ามาดำเนินโครงการสันติวิธี อ้างความชอบธรรมเพื่อที่จะขับเคลื่อนให้มีการเปิดเหมืองขึ้นมาอีกครั้ง

เมื่อชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ ทำให้มาสรุปร่วมกันทั้งสมาชิกเครือข่าย แกนนำ ผู้นำชุมชน ต่างมองว่า หากสู้เคลื่อนไหว เช่นนี้คงจะไม่ไหว เพราะไม่รู้ว่าจะมาอีกเมื่อไหร่ ต้องหาแนวทางเพื่อตั้งรับ และรุกอีกครั้ง

ในขณะที่ผู้นำหลายคนได้ขยายแนวคิด แนวร่วมไปยังกลุ่มผู้นำในหมู่บ้านอื่นๆ  ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงไม่หยุดนิ่ง ทำงานใต้คลื่น เจาะเป็นรายคนโดยเฉพาะแกนนำ สร้างคน สร้างทีมขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ เพื่อให้เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการพัฒนาถ่านหินลิกไนต์เวียงแหงครั้งนี้

จนกระทั่งเหตุการณ์ซ้ำซ้อนขึ้นมาและชาวบ้านเองเชื่อว่า เป็นกระบวนการหนึ่งของการลดทอนแกนนำ ผู้นำคัดค้านเหมืองลิกไนต์ โดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย รื้อฟื้นคดีความของผู้นำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ข้อหา ปิดถนนม๊อบกระเทียม รวม 9 คน หนึ่งในนั้นมีนายคำ ตุ่นหล้า ประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน และฐานะที่สมาชิกผู้ปลูกกระเทียมอำเภอเวียงแหง ไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นโฆษก ช่วงของการเจรจาต่อรองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นสิทธิอันชอบธรรมด้วยหลักเสรีประชาธิปไตย ที่ประชาชนเมื่อได้รับความเดือดร้อนจะลุกขึ้นมาเสนอให้ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหา

ในขณะเดียวกันช่วงของการรื้อฟื้นคดีความนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง ได้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหงขึ้นมาใหม่ โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 4 คน มีนายคำ ตุ่นหล้า ลงรับสมัครการเลือกตั้ง และข่าวภายในพื้นที่ ทางฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ ส่งแกนนำที่เห็นด้วยการกับการไฟฟ้าฯ ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก 1 คน  ณ วันสมัครรับเลือกตั้งได้มีหนังสือออกหมายจับนายคำ ตุ่นหล้า ข้อหาหนีคดีม๊อบกระเทียมเมื่อปี 48 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่จะเรียกว่าบังเอิญ หรืออะไรก็ตาม แต่ข้อสังเกตลักษณะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ เพื่อยันคู่ต่อสู้อำนาจการเมือง และเมื่อเข้าไปสู่กระบวนการทางกฎหมายเมื่อเข้ามอบตัว  ดูเหมือนขั้นตอน กระบวนการเร็วเกินจนทำให้ตั้งรับไม่ทัน และที่แกนนำที่เหลืออีก 7 คน จะถูกกระทำเช่นนี้ด้วยหรือไม่ ยังคงเป็นคำถาม เพราะหลายครั้งมักจะไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากกระบวนการที่ต้องสู้ในพื้นที่เองแล้ว ทางชั้นกฎหมายที่หลายคนถูกดำเนินคดี และอีกหลายคนกำลังจะได้รับเช่นเดียวกันนี้ กระแสการสร้างมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ภาคประชาชน ยังคงคิด วางแผน ที่จะขับเคลื่อน จัดวางจังหวะก้าว กลไกการทำงานที่ชัดเจนให้มากขึ้นทั้งเพื่อตั้งรับ และรุกเมื่อมีสถานการณ์เข้ามา ที่สำคัญการสร้างขวัญ กำลังใจกับพี่น้องเครือข่าย พี่น้องอำเภอเวียงแหง ที่ไม่เอากับเหมืองถ่านลิกไนต์ ความพร้อมและจังหวะก้าวของทุกฝ่าย ทุกคนเดินไปพร้อมๆกันหลังจากนี้อย่างมีเป้าหมาย

ที่มา: ศูนย์ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ตำบลเมืองแหง  อำเภอเวียงแหง  จังหวัดเชียงใหม่ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ