พบ “ล่ามชุมชนอาสา” พากลุ่มชาติพันธ์ุเข้าถึงบริการสาธารณสุข สถานการณ์ด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ อ.เชียงแสน หลังเปิดเขตการค้าเสรี ไทย-จีน บทบาทของโบสถ์คริสต์กับการเป็นกลไกระดับพื้นที่ในการแก้ไขปัญหา
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) จัดงานนำเสนอกิจกรรมใน จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 22-23 ตุลาคม 2553 โดยมีการนำเสนอทั้งกิจกรรมล่ามชุมชนอาสา โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง บทบาทของคริสตจักรห้วยผึ้ง อ.แม่ฟ้าหลวงต่อการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล สถานการณ์ด้านสุขภาพ การเพิ่มขึ้นของหญิงบริการในพื้นที่ อ.เชียงแสน หลังเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน และร่วมงานประเพณีบุญข้าวใหม่ม้ง ณ บ้านทุ่งนาน้อย ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย
น.ส.บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ที่ปรึกษา คพรส. กล่าวถึงภาพรวมของโครงการและสถานการณ์แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลใน จ.เชียงราย ว่า คพรส.มีความมุ่งหมายจะให้แรงงานข้ามชาติ คนไร้รัฐ ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยในพื้นที่ จ.เชียงราย คพรส.ได้สนับสนุนให้เครือข่ายสุขภาพชาติพันธ์ุบนพื้นที่สูงได้พัฒนาพื้นที่ต้นแบบ “ล่ามชุมชนอาสา” เพื่อช่วยเหลือคนไร้สัญชาติในการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ เช่น พาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล กรอกข้อมูล แปลภาษา รวมทั้งรายงานสถานการณ์ปัญหาสุขภาพในระดับพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีล่ามชุมชนอาสาประมาณ 20 คน ประจำอยู่ใน อ.แม่สาย แม่ฟ้าหลวง และเชียงของ จ.เชียงราย
สำหรับสถานการณ์ของแรงงานในพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งภายหลังการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ได้มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆเข้ามาดำเนินการ โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือ ทำให้มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาเป็นกรรมกรในพื้นที่ท่าเรือจำนวนมาก ซึ่งแรงงานเหล่านี้เข้าไม่ถึงบริการต่างๆที่ควรได้รับ โดยเฉพาะบริการด้านสุขภาพและสิทธิแรงงานต่างๆ และอีกไม่นานการสร้างท่าเรือแห่งที่ 2 จะเสร็จในปี 2554 รวมทั้งการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 จะเสร็จสิ้นในปลายปี 2555 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
น.ส.เจนจินดา ภาวะดี ผู้ประสานงานโครงการพันธกิจคริสตจักรลุ่มน้ำโขง สภา
คริสเตียนแห่งเอเชีย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตั้งแต่จีนเปิดประเทศทำให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีมากขึ้น อย่างไรก็ตามการอพยพย้ายถิ่นมาอยู่อีกชุมชนหนึ่งที่แปลกใหม่ไป แรงงานเหล่านี้กลับไม่ได้รับการต้อนรับจากชุมชนที่ย้ายเข้ามา การเข้าไม่ถึงบริการต่างๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ เพราะชุมชนไม่ได้ตั้งรับกับสถานการณ์ เกิดความไม่เข้าใจกันในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนเชียงแสน – เชียงของ ที่เรือขนส่งจีนขนสินค้าเข้ามา มีแรงงานจีนมากับเรือ อยู่ในเรือมานาน พอขึ้นบกมาแรงงานต้องหาที่ระบายอารมณ์ ทำให้เกิดหญิงบริการจำนวนมากขึ้น นำไปสู่เรื่องค้ามนุษย์ตามมา ฉะนั้นถ้าชุมชนในพื้นที่ไม่ตั้งรับ มาคอยแก้ปัญหาทีหลัง จะกลายเป็นปัญหาปลายเหตุ สำคัญที่ชุมชนต้องตั้งรับกับปัญหาต่างๆ เอาประชาคมทุกภาคส่วนมานั่งคุยกัน ถึงแนวทางการคลี่คลายปัญหาในอนาคต เพราะเราไม่สามารถหยุดยั้งการค้าเสรีได้ แต่เราสามารถป้องกันล่วงหน้าได้
นอกจากนั้นแล้วปัญหาทัศนคติของคนในชุมชนที่มีต่อแรงงานที่เข้ามา การมองเขาเป็นคนอื่น นี้เป็นปัญหาที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดถนน R3A หรือการสร้างสะพาน การมีคาสิโนในพื้นที่ ก็จะทำให้มีคนเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ส่วนหนึ่งคนก็ต้องเสาะแสวงหาความบันเทิงเริงรมย์ สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดการค้าบริการมากขึ้น ผลกระทบต่อสุขภาพเรื่องเอดส์ พบว่ารัฐบาลจีนจะเปิดเผยข้อมูลเฉพาะคนที่เป็นเอดส์เท่านั้น แต่คนติดเชื้อยังถูกปกปิดข้อมูลอยู่ ซึ่งคนเหล่านี้มีการเคลื่อนย้ายสูง ทำให้โอกาสที่ HIV จะแพร่เชื้อก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน”
น.ส.บุษยรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนในพื้นที่บ้านทุ่งนาน้อย ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธ์ุม้งกว่า 90 % อาศัยอยู่ นอกจากนั้นเป็นกลุ่มม้งกลุ่มใหม่ซึ่งเพิ่งอพยพเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างในหมู่บ้าน โดยปัญหาหลักของพื้นที่นี้คือ ความแตกต่างกันทางชาติพันธ์ุกับคนพื้นราบที่อาศัยอยู่เดิม จนเกิดความไม่เข้าใจกัน เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทำให้คนม้งต้องรักษาแบบตามมีตามเกิดในหมู่บ้าน บางครั้งก็ไม่กล้าไปจดทะเบียนการเกิด ส่งผลให้เด็กไร้สถานะบุคคล จากสถานการณ์เหล่านี้ คพรส.จึงสนับสนุนให้องค์กรทางศาสนา คือ หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย มาเป็นกลไกในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ในการทำให้แรงงานข้ามชาติและบุคคลชาติพันธ์ุที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยเข้าถึงสิทธิสถานะบุคคล แรงงาน และสุขภาพ
นายณัฐพงษ์ มณีกร หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของคริสตจักรในการเป็นกลไกระดับพื้นที่ จ.เชียงราย ว่า จะเน้นการทำงานในเรื่องสัญชาติ สถานะบุคคล ของพี่น้องเผ่าต่างๆ ประมาณ 5-6 เผ่า โดยมีกลไกคือ อาสาสมัครอาสาในชุมชน และมีคริสตจักรเป็นเครือข่ายทำงานอบรมให้ความรู้ว่า พวกเขามีสิทธิอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไรบ้าง และขอความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่สามของการทำงาน ผลที่ออกมาก็ดีมาก ผู้นำชุมชนและภาครัฐเข้าใจงานที่เราทำมากขึ้น มีท่าทีที่ดีขึ้น อาสาสมัครของเราจึงทำงานง่ายขึ้น ทำให้คนที่ควรได้รับสัญชาติได้รับสัญชาติมากขึ้น หลังจากที่พวกเขาได้รับสัญชาติ ชีวิตพวกเขามีความสุขขึ้น ไปลองคุยกับพวกเขาได้ คือ จากที่ไม่ได้แล้วได้มา ดีนะ เวลาผมคุยกับพวกเขา ใบหน้า แววตาของเขาบอก ถึงแม้บางคนจะยังไม่ได้ แต่ลูกๆเขาได้รับสัญชาติ ก็ยังดี ต่อจากนี้ไป ก็อยากจะขยายการทำงานไปยังระดับตำบลและอำเภอ อย่างที่ทำได้ผลแล้วที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก
“สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่เทิดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง นั้น ความน่าสนใจคือ การอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธ์ุมาอยู่ร่วมกันได้ เรื่องนี้รัฐทำได้ดี แต่การอยู่ร่วมกันทำให้เกิดช่องว่างการฉกฉวยผลประโยชน์ของกลุ่มคนต่างๆ เป็นที่รู้กันดีว่าพื้นที่เทอดไทยเป็นพื้นที่เสี่ยง เป็นจุดยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ที่เห็นชัดก็คือคนดั้งเดิมของที่นี่เขาสูญเสียสิทธิที่เขาควรจะได้รับ โดยเฉพาะในเรื่องสัญชาติที่เขาเป็นไทยเกิดในประเทศไทย แต่การเข้าถึงสิทธิในฐานะที่เป็นคนไทย เขาเข้าไม่ถึง นี้เป็นเรื่องใหญ่มาก คริสตจักรได้พยายามมาทำหน้าที่ตรงนี้แทน เพราะเห็นปัญหาของพี่น้องในชุมชน เพราะโบสถ์เป็นพื้นที่ศูนย์รวมทางจิตใจ ที่สามารถดึงคนหลากหลายชาติพันธ์มาอยู่ร่วมกันได้ อย่างไรก็ตามโบสถ์ทำงานไปสักระยะหนึ่งก็เกิดปัญหา พบว่ามีพี่น้องเข้าไม่ถึงสิทธิ ถูกละเมิดสิทธิมากขึ้น ก็มีเวทีการพูดคุยกัน จึงเกิดทีมงานที่เป็นอาสาสมัครในคริสตจักรชุมชน ที่เป็นศิษยาภิบาลในเครือข่ายสภาคริสตจักรในประเทศไทย โดยพยายามทำในขอบเขตในศักยภาพที่จะทำงานได้ หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคมก็มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานนี้ มีการจัดอบรมอาสาสมัคร การช่วยลงรายงานสถานะบุคคล โดยการประสานงานกับราชการ อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ โดยทำงานผ่านผู้นำชุมชนที่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เข้าสิทธิพื้นฐาน” นายณัฐพงษ์กล่าว