สช.หนุนวางกรอบใช้โซเชียลมีเดีย สกัดละเมิดสิทธิสุขภาพ

สช.หนุนวางกรอบใช้โซเชียลมีเดีย สกัดละเมิดสิทธิสุขภาพ

เวที สช.เจาะประเด็น ห่วงสังคมไทยใช้เทคโนโลยีไม่ยั้งคิด ละเมิดสิทธิของผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต ยกกรณีเหตุระเบิดราชประสงค์-ดาราในห้องฉุกเฉินเป็นอุทาหรณ์ นักวิชาการหนุนวางบรรทัดฐาน ม. 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ให้องค์กรวิชาชีพถือปฏิบัติ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญโซเชียลมีเดียแนะเผยแพร่กติกา ความรู้ ให้สังคมควบคู่ด้วย

20152909221326.jpg

29 ก.ย. 2558 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดเวที “สช. เจาะประเด็น ครั้งที่ 5/2558”เรื่อง “ระวัง! แชท แชร์ ทวิต ละเมิดสิทธิสุขภาพ” ที่ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยว่า ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้การเผยแพร่ภาพและข้อมูลที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อสาธารณะเป็นไปได้ง่าย รวดเร็ว ฉับไว จนขาดการระมัดระวัง ละเลยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพ อาจเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย ตาม มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ระบุว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยและทำความเสียหายให้บุคคลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นโดยตรง ซึ่งผู้ละเมิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

20152909221437.jpg

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ มีภาพผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ที่ไม่น่าดูจำนวนมาก เผยแพร่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย สะท้อนการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำจนไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ถ้าสังคมนึกถึงคุณค่าทางจิตใจ ไม่ซ้ำเติมผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต หรือญาติของเขา ภาพดังกล่าวจะไม่ถูกกระจายไปในวงกว้างและรวดเร็วเช่นนั้น

“สิ่งที่สังคมต้องตระหนักคือ เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวไกล มิติทางจิตใจต้องก้าวหน้าไปด้วย ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการส่งต่อภาพหรือข้อมูล ควรระลึกถึงคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิส่วนบุคคลเสมอ” นพ.อำพล กล่าว

นพ.อำพล ระบุด้วยว่า ปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายเป็นเครื่องมือปกป้องคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ การเรียนรู้ของสังคม ซึ่งขณะนี้หลายหน่วยงานและโรงพยาบาลได้รณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ การรักษาความลับผู้ป่วย โดยใช้หลักการทางกฎหมายเป็นพื้นฐาน น่าจะเป็นสัญญาณที่ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

ด้าน นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันพบการละเมิดสิทธิข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล โดยการโพสต์ภาพและข้อความในหลายกรณี ซึ่งถ้าผู้นั้นได้รับอนุญาตก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าผู้ป่วยไม่รู้เห็นด้วย ก็จะมีประเด็นตามมาว่า การกระทำนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ 

ยกตัวอย่าง กรณีภาพดาราที่ป่วยอยู่ในห้องฉุกเฉิน ทางโรงพยาบาลบอกว่าไม่ทราบเรื่อง เพราะคนไข้ ญาติ หรือเพื่อนโพสต์เอง กรณีเช่นนี้จะดำเนินการอย่างไร ดังนั้น จึงควรมีการกำหนด แนวทางปฏิบัติ (Guideline) ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 อย่างชัดเจน ว่ากรณีใดทำได้หรือไม่ควรทำ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ นำไปใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

20152909221926.jpg

“เมื่อมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติแล้ว ก็ควรเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน รวมถึงสภาวิชาชีพก็ควรจะนำไปพิจารณาต่อ เช่น แพทย์ควรวางตัวให้เหมาะสม อย่างไรบ้าง หรือบุคลากรในโรงพยาบาลด้านอื่นๆ เช่น เภสัชกร พยาบาล เวรเปล ควรมีหลักปฏิบัติอย่างไร”

นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรรายการข่าวไทยรัฐทีวี และโฆษกเครือข่ายพลังบวก กล่าวว่า โซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดความรวดเร็วในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ แต่ข้อเสียคือขาดการกลั่นกรอง โดยเฉพาะการรายงานข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียที่มาจากประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่มีกองบรรณาธิการหรือบรรณาธิการมาตัดต่อเหมือนการรายงานโดยสื่อมวลชน 

อีกสาเหตุ มาจากประชาชนจำนวนมากไม่รู้ข้อกฎหมาย โดยเฉพาะในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ควรเร่งรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรา 7 ให้มากขึ้น เหมือนกรณีการห้ามเผยแพร่ภาพของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ถูกดำเนินคดี เมื่อสังคมรับทราบข้อกฎหมายมากขึ้น การนำเสนอภาพก็จะใช้วิธีเบลอหน้าเด็ก เป็นต้น

“ถ้าไม่ต้องการให้คนละเมิดกฎหมายหรือกติกา ก็ต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เกิดองค์ความรู้และความเข้าใจให้มากขึ้น ผมคิดว่าสถานการณ์การละเมิดสิทธิในโลกโซเชียลจะดีขึ้นอย่างแน่นอน” โฆษกเครือข่ายพลังบวก กล่าว

20152909221949.jpg

นายพงศ์สุข ยกตัวอย่าง กรณีการเผยแพร่ภาพศพของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ ไม่นานก็มีคนโพสต์เตือนว่าไม่ควรมีการเผยแพร่ เพราะแม้แต่ที่ประเทศญี่ปุ่นเกิดเหตุการณ์สึนามิ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ก็ยังไม่ปรากฎภาพของผู้เสียชีวิตออกมา หรือกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพของ แตงโม-ภัทรธิดา ในโรงพยาบาล เมื่อมีการเตือนกัน ก็ทำให้หยุดการโพสต์หรือแชร์รูปที่ไม่เหมาะสมเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าบางกรณีจำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐในการปิดและลงโทษ เช่น บางเว็บไซต์ที่นำข้อมูลหรือข่าวไปตัดต่อและเผยแพร่จนผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้มียอดคนดูสูงมากกว่าเว็บไซต์สำนักข่าวต่างๆ ด้วย การดำเนินคดีทางกฎหมายจะช่วยได้มากกว่า และประชาชนต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะความจริงกับความเห็นออกจากกันด้วย 
 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ