ชาวบ้าน อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด มาร่วมให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 40 ราย กรณีเทศบาลตำบลโพนสูง ฟ้องคดี บุกรุก ขับไล่ ด้านชาวบ้านเผย ศาลพิจารณาคดีเป็นการต่อสู้ในเรื่องกรรมสิทธิ์ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ส่งผลให้จำเลยได้มีโอกาสต่อสู้ในเรื่องสิทธิที่ทำกิน อีกครั้ง
23 มี.ค. 2559 ถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ทนายของชาวบ้านดอนดู่ และชาวบ้านโคกทม ต.สระบัว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งถูกเทศบาลตำบลโพนสูง ยื่นฟ้องข้อหาบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์โคกหนองสิมซึ่งเป็นพื้นที่กรณีพิพาทเนื่องจากทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน ให้ข้อมูลว่า สืบเนื่องจากเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย.2558 เทศบาลตำบลโพนสูง ยื่นฟ้องคดีความชาวบ้าน รวม 40 คดี ข้อหา บุกรุก ขับไล่ ละเมิด ต่อมาในวันที่ 29 ก.พ. 2559 ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด นัดคู่ความไกล่เกลี่ย ผลคือคู่ความแถลงร่วมกันให้เลื่อนคดีออกไป เพื่อรวมคดีแล้วเจรจากันใหม่ในนัดหน้า
ครั้งนี้ ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดนัดพร้อมอีกครั้ง เพื่อรวมพิจารณาคดี ในวันนี้ (22 มี.ค.59) ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกัน มีคู่ความบางฝ่ายเป็นคู่ความรายเดียวกัน และพยานชุดเดียวกัน จึงอนุญาตให้นำคดีมารวมพิจารณาเข้าด้วยกันเพื่อความสะดวกแก่การพิจารณาคดี
นอกจากนี้ จำเลยต่อสู้คดีเพราะเห็นว่าพื้นที่พิพาทเป็นที่ทำกิน ไม่ใช่เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ตามที่เทศบาลตำบลโพนสูงยื่นฟ้อง จึงเป็นคดีที่ต่อสู้ในเรื่องกรรมสิทธิ์ กลายเป็นคดีฟ้องที่มีทุนทรัพย์ คู่ความต้องเสียค่าขึ้นศาล อนึ่งในการจัดทำราคาประเมินให้โจทก์ทำหนังสือนำส่งไปยังสำนักงานที่ดิน เพื่อให้สำนักงานที่ดินจัดทำรายละเอียดพื้นที่ ราคาประเมินตามพื้นที่ที่พิพาทแต่ละแปลง เพื่อนำมาคำนวณค่าขึ้นศาล โดยนำมาส่งศาลก่อนวันนัด เพื่อตรวจสอบราคาประเมินตามนัดหมายครั้งต่อไป ในวันที่ 31 พ.ค.2559
ด้านธันวา ลาอินทร์ ชาวบ้านดอนดู่ ต.บัวแดง อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เล่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2558 ว่า เจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายปกครอง สนธิกำลังเข้ามาตรวจสอบพื้นที่สาธารณะประโยชน์โคกหนองสิม จากนั้นได้กลับเข้ามาจัดเวทีรับฟังข้อมูลในหมู่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่ขีดเส้นให้ชาวบ้านไปลงชื่อที่ อบต.โพนสูง เพื่อยืนยันการยอมออกจากพื้นที่ แต่ชาวบ้านต่างพร้อมใจไม่ไปร่วมลงชื่อ
แม้ชาวบ้านที่เข้ามาร่วมเวทีพยายามชี้แจงว่า มูลเหตุปัญหาที่กลายมาเป็นพื้นที่พิพาท เกิดขึ้นเมื่อปี 2519 เจ้าพนักงานที่ดินสาขาเกษตรวิสัยร่วมกับสภาตำบลโพนสูง เข้ามารังวัด พร้อมกับปักแนวเขตที่สาธารณะประโยชน์โคกหนองสิม เพื่อดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ปรากฎว่าได้ปักแนวเขตทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน ชาวบ้านจึงได้ร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องในสิทธิที่ดินทำกิน กระทั่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา ตามที่จังหวัดร้อยเอ็ดมีหนังสือให้ชะลอการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนที่มีการคัดค้านไว้ก่อน
ธันวา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่มาในวันนั้น (12 ก.พ. 58 ) ข่มขู่ว่า หากไม่ปฎิบัติตาม จะเข้ามาอพยพออกเอง และจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ได้ขับไล่พระซึ่งมีอยู่เพียง 1 รูป ให้ออกไปจากวัดโคกหนองสิม ทั้งขู่ว่า หากเข้ามาที่วัดอีกจะจับสึกทันที ทำให้พระไม่กล้ากลับมาจำพรรษาที่วัดจนถึงวันนี้
ธันวา เล่าด้วยว่า ในวันที่17 ก.พ. 2558 ชาวบ้านได้ร่วมกันไปยื่นหนังสือเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเข้าประชุมร่วมกันระหว่างขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กับหน่วยงานรัฐ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ต่อมาสำนักงานสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจังหวัดร้อยเอ็ด ตามหนังสือที่ นร.0105.04/1697 เรื่องขอความร่วมมือชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความเดือดร้อนต่อการดำเนินชีวิตตามปกติสุขของประชาชนและให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการแก้ไขจะมีผลเป็นที่ยุติ
แต่ในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ กลับเข้ามายื่นฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน ข้อหาบุกรุก ขับไล่ ซึ่งตนเองก็เป็น 1 ในจำเลยจำนวน 42 ราย ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ทำให้ต้องเดินทางมาตามศาลนัด
“พวกเราต่างก็ร่วมกันเดินทางมาเพื่อให้กำลังใจกัน และในครั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลพิจารณาคดีถือเป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ ทำให้พวกเราที่ตกเป็นจำเลย รวมทั้งญาติพี่น้องที่พลอยได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ได้มีโอกาสต่อสู้ในเรื่องสิทธิที่ดินทำกินตามกระบวนการอีกครั้ง” สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานกล่าว