ศาลปกครองชี้ ‘คดีเผาไล่ที่กะเหรี่ยงบางกลอย’ จนท.ทำตามกฎหมาย แต่เผาข้าวของสั่งชดเชยให้คนละ 10,000

ศาลปกครองชี้ ‘คดีเผาไล่ที่กะเหรี่ยงบางกลอย’ จนท.ทำตามกฎหมาย แต่เผาข้าวของสั่งชดเชยให้คนละ 10,000

7 ก.ย. 2559 ศาลปกครองกลางนัดฟังคำพิพากษา คดีที่นายโคอิ หรือ คออี้ มีมิ (ปู่คออี้) ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงแห่งป่าแก่งกระจาน และพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรณีการรื้อเผาบ้านชาวบ้านในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต่อศาลปกครองกลาง 

20160709130333.jpg

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Pai Deetes 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. วันนี้ (7 ก.ย. 2559) ปู่คออี้ วัย 105 ปี พร้อมชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เดินทางถึงศาลปกครอง โดยมี นายพฤ โอ่โดเชา ชาวกะเหรี่ยงจาก จ.เชียงใหม่ องค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนที่ติดตามคดีเดินทางมาร่วมให้กำลังใจจำนวนมาก

ทั้งนี้ระหว่างรอเข้ารับฟังผลการพิจารณาคดีมีการทำพิธีบายสีสู่ขวัญ โดยปู่คออี้กล่าวว่า แค่ขอคืนสู่บ้านเดิมที่ใจแผ่นดินดำรงวิถีที่เคยอยู่มาอย่างเคารพธรรมชาติ

ด้านคำพิพากษาศาลปกครองระบุ ผู้ฟ้องคดี ไม่มีสิทธิในการทำกินในที่ดินซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพราะไม่ใช่ชุมชนดั้งเดิม พื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่เป็นป่ารกทึบ การไล่รื้อของเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นไปตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ อย่างไรก็ตามการที่เจ้าหน้าที่เผาทำลายข้าวของเครื่องใช้เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ให้ชดใช้ชาวบ้านคนละ 10,000 บาท ส่วนคำขออื่นๆ ให้ยกทั้งหมด

ขณะที่กลุ่มชาวบ้านกล่าวภายหลังฟังคำพิพากษายืนยันว่าพื้นที่บริเวณนั้นอาศัยอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษและไม่ได้บุกรุก หลังจากนี้จะหารือร่วมกับทางทีมทนายความว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่

 

หลังศาลตัดสินปู่

Posted by พฤ โอโดเชา on Tuesday, September 6, 2016

 

จากข้อมูลของผู้ฟ้องคดี คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อเดือน พ.ค. 2554 ที่นายชัยวัฒน์ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน ละทิ้งออกจากบ้านเรือนที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยมีความผิดพลาดในข้อเท็จจริง ซึ่งไม่มีการตรวจสอบสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติและทะเบียนราษฎร รวมถึงไม่ตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนดั้งเดิมเสียก่อน โดยกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน เป็นชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และรื้อถอน เผา ทำลาย ทรัพย์สิน

ผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่าเป็นการกระทำทางปกครองที่ขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และขัดต่อหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ทั้งยังเป็นการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายปกครองที่ขัดต่อหลักกฎหมายปกครอง 

ดังนั้นการกระทำของนายชัยวัฒน์ ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ทำให้ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน พื้นที่ทำกิน อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ และศักยภาพในการสืบทอดวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรม ซึ่งเป็นวิถีเอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและวิถีชีวิตพอเพียงตามรัฐธรรมนูญ

ผู้ฟ้องคดี จึงขอให้ศาลมีคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 หน่วยงาน ชดใช้ค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 9,533,090 บาท และขอสิทธิในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิม ซึ่งเป็นพื้นที่บรรพบุรุษ โดยให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

ก่อนหน้านี้องค์กรชาติพันธุ์ 11 เครือข่าย ร่วมเผยแพร่จำหมายเปิดผนึกถึงสังคมไทย ขอความข้าใจให้พี่น้องบ้านบางกลอย-ป่าแก่งกระจาน ระบุเนื้อหาดังนี้

จดหมายเปิดผนึกถึงสังคมไทย
ขอความข้าใจให้พี่น้องบ้านบางกลอย-ป่าแก่งกระจาน
———–

ในวันที่ 7 กันยายน 2559 ศาลปกครองจะอ่านคำพิพากษา กรณีปู่คออี้ มิมี ผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช ในกรณีที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เข้าดำเนินการรื้นถอน เผาทำลายบ้านเรือน ยุงฉางข้าว และบังคับให้ชาวบ้านอพยพย้ายจากถิ่นฐานดั้งเดิมมาอยู่ในที่แห่งใหม่

ในนามพลเมืองแห่งสยามประเทศ ที่เฝ้าติดตามดูสถานการณ์ของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจากใจแผ่นดิน (บางกลอยบน ในผืนป่าแก่งกระจาน ต้นน้ำเพชรบุรี) ตามที่เคยเป็นประเด็นข่าวเรื่องการการรื้อ เผา ทำลายบ้านเรือน ยุงฉางข้าว และอพยพชาวบ้านออกจากแผ่นดินถิ่นบ้านเกิดใจแผ่นดิน ลงมาสู่พื้นที่จัดสรรที่บ้านบางกลอยล่าง เมื่อ พ.ศ.2553 จากการดำเนินนโยบายปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด้วยการอ้างเหตุผลต่างๆ ตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้นั้น    ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงต่างมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกับป่าแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยมายาวนานโดยเฉพาะชาวบ้านที่ใจแผ่นดิน ไม่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ของผืนป่าและระบบนิเวศน์ความหลากหลายทางชีวภาพ เราสามารถเห็นได้จากพื้นที่ดังกล่าวมีการตั้งถิ่นฐานชุมชนมายาวนานกว่าร้อยปี และยังมีสภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์จนกลายเป็นผืนป่าที่ใหญ่และมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในเวลาต่อมา

การอพยพชาวบ้านและปู่คออี้ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ทำร้ายชุมชนดั้งเดิม เป็นการทำลายพื้นที่จิตวิญญาณ เป็นการทำลายผู้มีจิตสำนึกรักธรรมชาติ รักษ์ป่า เป็นการทำลายผู้มีจิตใจรักเคารพธรรมชาติอันมีวิถีวัฒนธรรมดีงามในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติป่าไม้ตามวิถี

พี่น้องชาวบ้านใจแผ่นดินอันมีปู่คออี้ เป็นผู้นำไม่เคยมีปัญหาเรื่องการบุกรุกขายพื้นที่เลย นอกจากมีหน่วยงานราชากรเข้ามาบุกรุกทำลายวีถีชีวิตคนกับป่า ยิ่งกว่านั้นปู่คออี้และชาวบ้านต่างมีน้ำใจและให้ความร่วมมือกับราชการด้วยดีตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ดังนั้นเราขอความเข้าใจและเห็นใจจากสังคมไทย และสังคมโลก ดังนี้

1.ขอให้สังคมประเทศไทยเปิดใจกว้าง และรับฟังข้อมูลอีกด้านหนึ่ง โดยเฉพาะการที่ปู่คออี้ ซึ่งมีอายุล่วงเลย 105 ปีแล้ว ยังต้องดั้นด้นเดินทางขึ้นศาลในวันที่ 7 กันยายน 2559 นี้

2.ขอความเป็นธรรมให้ปู่คออี้ มิมี และพี่น้องชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงแห่งใจแผ่นดิน ได้กลับไปอยู่ถิ่นฐานเดิม ซึ่งอยู่มาก่อนกว่าร้อยปี

3.เราเชื่อว่าชาวสยามทุกคนมีความเมตตาต่อผู้ด้อยโอกาสกว่าเสมอ ดังนั้นขอเชิญชวนพี่น้องผู้รักความเป็นธรรมและผู้รักธรรมชาติทุกท่านร่วมเดินทางให้กำลังใจปู่คออี้ ณ ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะด้วยกัน

4.เราชาวปกาเกอะญอขอความเห็นใจจากท่านทั้งหลาย ช่วยส่งเสริมวิถีชีวิต สนับสนุนชาวบ้านผู้มีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืนด้วย

5.ขอให้พี่น้องปกาเกอะญอ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทย และทั่วโลกส่งกำลังใจให้ปู่คออี้ และชาวบ้านบ้านบางกลอยทั้งให้กำลังใจทีมงานที่ให้การช่วยเหลือปู่คออี้

ด้วยจิตคาราวะและความเชื่อมั่น

1.เครือข่ายกลุ่มชุมชนกะเหรี่ยง 8 จังหวัดภาคเหนือ
2.เครือข่ายกลุ่มเกษตกรภาคเหนือ
3.เครือข่ายชุมชนจัดการป่าลุ่มน้ำขานตอนบน
4.เครือข่ายชาวบ้านจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำวางตอนบน
5.เครือข่ายลุ่มน้ำปิงตอนบน
6.เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์พื้นที่สูงอำเภอจอมทอง
7.เครือกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน
8.เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมจังหวัดตาก
9.เครือข่ายกะเหรี่ยงจังหวัดเชียงราย
10.เครือข่ายกะเหรี่ยงจังหวัดแม่ฮ่องสอน
11.เครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดลำปาง

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ