กว่า 11 ปี คดีประวัติศาสตร์การต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ‘กรณีอุ้มหาย’ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน หายตัวไปอย่างลึกลับ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 โดย วันที่ 29 ธันวาคม 2558 เวลา 9.30 น. ศาลฏีกานัดฟังคำพิพากษา ที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ
ประมวลลำดับเหตุการณ์ของคดีในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา…
ทนายสมชาย เป็นทนายความให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาว่าก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น คดีกูเฮงเผาโรงเรียนเมื่อปี 2537 คดีหมอแวพัวพันกลุ่มก่อการร้ายเจไอ (เจมาอิสลามียา) นอกจากนั้น ยังให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่กลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในคดีปล้นอาวุธปืน ของทหารกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส ซึ่งถูกซ้อมทรมาณให้รับสารภาพ
การทำงานของทนายสมชายหลายคดี เปิดโปงพฤติกรรมของตำรวจ หลายฝ่ายเชื่อกันว่า ผลงานในอดีตของเขาน่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกทำให้หายไป
การหายตัวไปอย่างลึกลับของทนายสมชายเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนทุกแขนง และประชาชนทั่วประเทศ เนื่องจากในขณะนั้นเขาอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อจำนวน 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอรัฐบาล (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางส่วนของสงขลา
17 มีนาคม 2547 สภาทนาย ความได้มีหนังสือที่ สท.783/2547 ทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรม กรณีทนายสมชายถูกลักพาตัว และสภาทนายความได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานติดตามกรณีทนายสมชาย เพื่อดำเนินการตรวจสอบและรวบรวม ข้อเท็จจริงทั้งหมด
กระทั่ง 7 เมษายน 2547 พนักงาน สอบสวนได้มีการขออนุมัติหมายจับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม จำนวน 5 นายต่อศาลอาญา เพื่อนำตัวมาสอบสวน โดยพนักงาน สอบสวนและพนักงานอัยการ มีความเห็นสั่งฟ้อง คดีผู้ต้องหาทั้ง 5 คน
อัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1952/2547 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงาน อัยการพิเศษคดีอาญา 6 สำนักงาน คดีอาญา) โจทก์ โดย พ.ต.ต.เงิน ทองสุข ที่ 1, พ.ต.ท.สินชัย นิ่งปุญญกำพงษ์ ที่ 2, จ.ส.ต.ชัยแวง พาด้วง ที่ 3, ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต ที่ 4 และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ที่ 5 จำเลย ในข้อหาฐานความผิดร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และข่มขืนใจผู้อื่น ซึ่งจำเลยทั้ง 5 คน ได้ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 สภาทนายความมีหนังสือถึงคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้พิจารณารับโอนสำนวนคดีที่ ทนายสมชาย ถูกประทุษร้าย และสูญหายเป็นคดีพิเศษ และมีหนังสือลงวันที่ 14 มีนาคม 2548 ถึง นายกรัฐมนตรี ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริง กรณีการหายสาบสูญของนายสมชาย ซึ่ง พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิต รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณา
ต่อมาศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาในคดีความผิดต่อเสรีภาพ และปล้นทรัพย์ โดยมีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก จำเลยที่ 1 กับพวก คดีหมายเลขดำที่ 1952/2547 คดีหมายเลขแดงที่ อ.48 /2549 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549
โดยมีความสรุปว่า “.. ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว โจทก์มีพยานเป็นพนักงานสอบสวน เบิกความสอดคล้องตรงกัน ทั้งเวลาและสถานที่ ทำให้เชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่านายสมชายหายตัวไปจริง ส่วนการที่โจทก์นำข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้ง 5 ที่ติดต่อกันหลายครั้งในสถานที่ต่างๆ ในช่วงวันเวลาก่อนเกิดเหตุและในวันเกิดเหตุที่นายสมชายหายตัวไป ศาลเห็นว่ายังมีข้อสงสัยในเอกสารหลักฐานการใช้โทรศัพท์ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำ ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) และรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.บชน.) ที่อ้างว่าเป็นผู้ประสานขอเอกสารดังกล่าว จากบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่มาเบิกความยืนยันในชั้นศาล”
“… ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยยุติและปราศจากข้อสงสัยว่า ตามวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3-5 คนได้ร่วมกันจับตัวนายสมชาย นีละไพจิตร เข้าไปในรถที่จำเลยที่ 1 กับพวกเตรียมมา โดยที่นายสมชาย นีละไพจิตร ไม่ยินยอมแล้วขับออกไปจากที่เกิดเหตุ…”
“ .. ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ต.ต.เงินกระทำผิด ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรค 1 และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใด โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรค 2 ให้ลงโทษในบทหนักสุด ฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวเป็นเวลา 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-5 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน ในการกระทำผิดตามฟ้อง”
ต่อมา ระหว่างการอุทธรณ์ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ถูกให้ออกจากราชการ และไปช่วยญาติทำงานรับเหมาก่อสร้างที่เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก และพลัดตกน้ำหายไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามค้นหาแต่ก็ไม่พบศพ
7 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยมีจำเลยที่ 2-5 มาศาล ยกเว้น พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 ซึ่งทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษา โดยอ้างว่าจะต้องรอฟังคำสั่งศาลจังหวัดปทุมธานี ที่ร้องขอให้ พ.ต.ต.เงินเป็นบุคคลสาบสูญจากกรณีหายตัวไปในเหตุการณ์คันกั้นน้ำถล่มที่เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก
ศาลเห็นว่าศาลจังหวัดปทุมธานียังไม่มีคำสั่งในคดีดังกล่าว นายประกันไม่นำตัวจำเลยมาส่งศาลเพื่อฟังคำพิพากษาตามนัด ถือว่าผิดสัญญาประกัน จึงให้ปรับนายประกันเป็นเงิน 1.5 ล้านบาท และนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีกครั้ง ในวันที่ 11 มีนาคม 2554 เวลา 09.00น.
ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีทนายสมชาย เมื่อวันที่ 11 มีนาคมว่า ครอบครัวนายสมชายไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้องแทนผู้เสียหาย และยกฟ้องจำเลยซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
คดีนี้แม้ว่าศาลอุทธรณ์จะยกฟ้องและทางอัยการจะมีความเห็นไม่ยื่นฎีกา แต่ทางแต่ทางครอบครัวเห็นว่าควรจะต้องยื่นฎีกาต่อ
21 มีนาคม 2557 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ของนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ในส่วนที่ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อขอให้ศาลสืบพยานเพิ่มเติมในชั้นศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำที่ ด.1952/2547 โดยเห็นว่า ระหว่างการสืบพยานในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ โจทก์ไม่ได้นำพยานเข้าสืบตั้งแต่แรก จึงไม่รับพยานหลักฐานเพิ่มเติม ให้ยกคำร้อง
นอกจากนี้ ครอบครัวได้ยื่นคำร้องต่อศาลฏีกาในอีก 3 ประเด็น คือ 1.ขอให้ศาลรับฎีกา 2.ขอให้ครอบครัวเข้าเป็นโจทก์ร่วม และ 3.ขอให้ศาลฎีการับฟังหลักฐานการใช้โทรศัพท์ของพวกจำเลย ที่ครอบครัวได้ยื่นอุทธรณ์ไปก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์ไม่รับพิจารณา โดยคำร้องดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
เรีบยเรียงข้อมุลจาก:
– https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2_%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3
– https://www.facebook.com/permalink.php?id=151226688371009&story_fbid=267823850044625
– http://www.thairath.co.th/content/409256
– http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9570000056367
– http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/WNPOL5705210020010