สกต.ชี้ปัญหาที่เอกชนทิ้งร้าง ต้นต่อ ‘คดีชุมชนน้ำแดงฯ’ ร้องจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร

สกต.ชี้ปัญหาที่เอกชนทิ้งร้าง ต้นต่อ ‘คดีชุมชนน้ำแดงฯ’ ร้องจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ออกแถลงการณ์เรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่เอกชนทิ้งร้าง-การดำเนินคดีไม่เป็นธรรมต่อสมาชิกชุมชนน้ำแดงฯ เผยชาวบ้านเข้าทำกินตั้งแต่ปี 2551 แต่กลับถูกฟ้องคดีบุกรุก-อั้งยี่ ขอ DSI รับดูคดี หวั่นการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ทั้งการคุกคามโดยนายทุน-จนท.รัฐ พร้อมให้รัฐบาลกระจายสิทธิการถือครองที่ดินให้เกษตรกรได้เช่าซื้อในราคาที่เป็นธรรม

9 ก.ย. 2560 สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ดินเอกชนทิ้งร้างและการดำเนินคดีไม่เป็นธรรมต่อสมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเกษตรกรไร้ที่ดินที่เข้าไปทำกินในที่ดินของบริษัทเอกชนทิ้งร้างมาตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่จะก่อตั้งเป็นชุมชนน้ำแดงพัฒนาเมื่อปี 2552 แต่ปัจจุบันสมาชิกในชุมชน 15 คน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา

ในส่วนคดีอาญาสมาชิกชุมชนน้ำแดง 15 คน ถูกยื่นฟ้องโดยพนักงานอัยการ แบ่งเป็น 3 คดี คือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1460/2560, หมายเลขดำที่ 1461/2560 และหมายเลขดำที่ 1462/2560 โดยแต่ละคดีจะถูกฟ้องใน 3 ข้อหา คือ 1) บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข 2) ทำให้เสียทรัพย์ และ 3) อั้งยี่

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ระบุข้อมูลว่า ในขั้นตอนการจับกุมชาวบ้านไม่ได้มีการออกหมายเรียกและไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาก่อนดำเนินการจับกุมตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และยังปรากฏว่ามีการเพิ่มหลักทรัพย์การประกันตัวจากเดิมข้อหาละ 90,000 บาท เป็นข้อหาละ 200,000 บาท รวม 3 ข้อหา ต้องใช้เงินประกันตัวทั้งสิ้น 600,000 บาทต่อคน ในขณะที่สมาชิกที่ถูกจับกุมมีฐานะยากจน

นอกจากนี้ กรณีที่กลุ่มชาวบ้านไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ทำให้ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้หญิง 2 คน ต้องถูกจำคุก 48 วัน เพื่อรอญาติรวบรวมหลักทรัพย์มายื่นขอประกันตัว

ล่าสุด ในวันจันทร์ที่ 11 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี นัดไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา 4 คน จากทั้งหมด 15 คน ซึ่งถูกบริษัทอีควอโทเรียล คอมมิวนิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ร่วม ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560 และ 28 ส.ค. 2560 โดยในคำร้องอ้างว่าทั้ง 4 คนเป็นภัยต่อโจทก์ร่วมและพยานของโจทก์ร่วม

ข้อเท็จจริงที่ฝ่ายบริษัทโจทก์ร่วมอ้างมาเพื่อเป็นเหตุในการขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 23 มิ.ย. 2560 วันที่ 17 และ 21 ก.ค. 2560 ที่คนของบริษัทฯ ได้เข้ามาทำการเก็บเกี่ยวพืชผลในชุมชนน้ำแดงพัฒนา และชาวบ้านได้เข้าไปขอให้คนของบริษัทฯ ยุติการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ชาวบ้านเพาะปลูกไว้ แต่บริษัทอ้างว่าชาวบ้านได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินแปลงที่บริษัทโจทก์ร่วมอ้างเป็นเจ้าของ

สำหรับชาวบ้านน้ำแดงพัฒนาทั้ง 4 คนที่ถูกยื่นคำร้องของเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ได้แก่ นายไพโรจน์ กลับนุ้ย นายอดิศร ศิริวัฒน์ นายสุวรรณ์ คงพิทักษ์ และนายเริงฤทธิ์ สโมสร ทั้งหมดเป็นผู้นำชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินในชุมชนน้ำแดงพัฒนา

ส่วนแถลงการณ์ของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ระบุข้อเสนอและเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง 6 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดไม่เลือกปฏิบัติต่อเกษตรกรที่เรียกร้องสิทธิในที่ดิน

2.ขอให้มีมาตรการลงโทษทางวินัยและดำเนินคดีตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติการณ์ข่มขู่ คุกคาม เกษตรกรในพื้นที่ให้เกิดความหวาดกลัว และร่วมมือกับนายทุนรวมทั้ง ผู้มีอิทธิพลแสวงหาผลประโยชน์จากสวนปาล์มทิ้งร้าง

3.ตรวจสอบและลงโทษทางวินัย กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธ หรือบ่ายเบี่ยง ไม่รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจากเกษตรกรที่เป็นผู้เสียหายเนื่องจากถูกขโมยผลปาล์มน้ำมัน

4.ขอให้กองทุนยุติธรรมพิจารณาช่วยเหลือผู้ตกเป็นจำเลยในคดี โดยการอนุมัติเงินเพื่อยื่นประกันตัว และเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือเกี่ยวเนื่องด้วยการต่อสู้คดีในชั้นศาล

5.พิจารณาให้คดีที่เกี่ยวข้องกับชุมชนน้ำแดงพัฒนาและสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เป็นคดีพิเศษในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เนื่องจากมีข้อเท็จจริงชี้ชัดแล้วว่าที่ดินบางส่วนที่นำมาอ้างเป็นมูลฟ้องได้มาโดยการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังมีการข่มขู่คุกคามชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันระหว่างนายทุนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

6.เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง และลดการเผชิญหน้าระหว่างเกษตรกรรายย่อยและแรงงานไร้ที่ดิน กับบริษัทฯ ที่ผูกขาดการถือครองที่ดิน จึงขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ ผ่านสถาบันธนาคารที่ดิน เพื่อจัดซื้อที่ดินทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ แต่มีเอกสารสิทธิ์ของบริษัท/เอกชน เพื่อนำมาจัดสรรกระจายสิทธิการถือครอง ให้เกษตรกรได้เช่าซื้อ ในราคาที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ข้อมูลของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) ระบุว่า ชุมชนน้ำแดงพัฒนาตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งชาวบ้านใช้เลี้ยงสัตว์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2518 – 2519 มีนายทุนสิงคโปร์ ชื่อนาย อันก้ก แซ่ลิ้ม ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทสากลการลงทุนได้ร่วมมือกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน โดยตกลงจะให้เงินในราคาครอบครัวละ 10,000 บาท และได้จ่ายมัดจำให้กับชาวบ้านก่อนครอบครัวละ 100 -200 บาท หลังจากนั้นก็ไม่มีการจ่ายเงินส่วนที่เหลือแก่ชาวบ้านแต่อย่างใด

ต่อมาเมื่อประมาณปี 2530 ทางบริษัทฯ ได้มีการขัดผลประโยชน์กันเองภายใน จนทำให้ขาดการบริหารจัดการ มีหนี้สินจำนวนมาก จนถูกฟ้องล้มละลาย ที่ดินติดจำนองในธนาคารกลายเป็นหนี้เน่าที่ลูกหนี้ไม่ประสงค์ไถ่ถอน (ที่ดิน NPL) จึงปล่อยพื้นที่กลายเป็นสวนปาล์มทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์

เกษตรกรไร้ที่ดินจึงได้ร่วมกันเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยใช้มติ ครม.เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2546 และอ้างอิงสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อทำการเข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่ และได้ก่อตั้งเป็นชุมชนน้ำแดงพัฒนาขึ้นในวันที่ 19 ก.ย. 2552

ปัจจุบันมีเกษตรกรอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ 58 ครอบครัว เกษตรกรได้บุกเบิกใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในที่ดินเอกชนทิ้งร้าง ทำให้เปลี่ยนจากสภาพสวนปาล์มทิ้งร้างเป็นป่าทึบ กลายเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เป็นฐานเศรษฐกิจให้คนจนมีรายได้พออยู่พอกิน

 

แถลงการณ์
เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินเอกชนทิ้งร้าง และการดำเนินคดีไม่เป็นธรรม
ต่อสมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนา สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ตามลำดับ มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิเกษตรกร สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และประชาธิปไตย

จากกรณีที่สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ สังกัดชุมชนน้ำแดงพัฒนา ซึ่งตั้งชุมชน เมื่อปี 2551 อยู่ในที่ดินบริษัททิ้งร้างยาวนานกว่า 20 ปี ของบริษัทสากลทรัพยากรพัฒนา จำกัด

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน – 22 มิถุนายน 2560 ตำรวจได้ทยอยเข้าจับกุมสมาชิกชุมชนน้ำแดง รวมจำนวน 9 คน ส่วนสมาชิกที่เหลือได้ทยอยเข้ามอบตัว ทั้งหมดต่างประสบปัญหาในการหาหลักทรัพย์เพื่อใช้ประกันตัว เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม และในจำนวน 15 คน มีผู้หญิง 2 คน ที่ต้องถูกจำคุก 48 วัน เพื่อรอญาติรวบรวมหลักทรัพย์มายื่นขอประกันตัว

ทั้ง 15 คน ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง-อาญา ในส่วนคดีอาญา สมาชิกชุมชนน้ำแดง ถูกตั้งข้อหาว่าได้กระทำผิดทางอาญา 3 ฐานความผิด ได้แก่ บุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ และซ่องโจร

ในขั้นตอนการจับกุมดังกล่าวมิได้มีการออกหมายเรียกและมิได้แจ้งข้อกล่าวหาก่อนดำเนินการจับกุมตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และยังปรากฏว่ามีการเพิ่มหลักทรัพย์การประกันตัวจากเดิมข้อหาละ 90,000 บาท เป็นข้อหาละ 200,000 บาท รวม 3 ข้อหา ต้องใช้เงินประกันตัวทั้งสิ้น 600,000 บาท/คน ในขณะที่สมาชิกที่ถูกจับกุมมีฐานะยากจน

ต่อมา 28 สิงหาคม ฝ่ายโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการประกันตัวจำเลย จำนวน 4 ราย โดยกล่าวหาว่าทั้ง 4 ราย “ได้เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในพื้นที่พิพาท” ศาลจึงนัดไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัว ในวันที่ 11 กันยายน 2560 นี้

เพื่อเป็นหลักประกันว่าสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนน้ำแดงพัฒนา จะได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคตามกฎหมายและได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมในการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว และการพิจารณาคดีด้วยความเที่ยงธรรม

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมีความห่วงใย และกังวลถึงสวัสดิภาพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเกษตรกรในพื้นที่ชุมชนน้ำแดงพัฒนา เนื่องจากในอดีตเคยมีการลอบสังหารสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำนวน 5 คนในระหว่าง ปี 2553 – 2558

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จึงมีข้อเสนอและเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดไม่เลือกปฏิบัติต่อเกษตรกรที่เรียกร้องสิทธิในที่ดิน

2.ขอให้มีมาตรการลงโทษทางวินัยและดำเนินคดีตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติการณ์ข่มขู่ คุกคาม เกษตรกรในพื้นที่ให้เกิดความหวาดกลัว และร่วมมือกับนายทุนรวมทั้ง ผู้มีอิทธิพลแสวงหาผลประโยชน์จากสวนปาล์มทิ้งร้าง

3.ตรวจสอบและลงโทษทางวินัย กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธ หรือบ่ายเบี่ยง ไม่รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจากเกษตรกรที่เป็นผู้เสียหายเนื่องจากถูกขโมยผลปาล์มน้ำมัน

4.ขอให้กองทุนยุติธรรมพิจารณาช่วยเหลือผู้ตกเป็นจำเลยในคดี โดยการอนุมัติเงินเพื่อยื่นประกันตัว และเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือเกี่ยวเนื่องด้วยการต่อสู้คดีในชั้นศาล

5.พิจารณาให้คดีที่เกี่ยวข้องกับชุมชนน้ำแดงพัฒนาและสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เป็นคดีพิเศษในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เนื่องจากมีข้อเท็จจริงชี้ชัดแล้วว่าที่ดินบางส่วนที่นำมาอ้างเป็นมูลฟ้องได้มาโดยการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังมีการข่มขู่คุกคามชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันระหว่างนายทุนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

6.เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง และลดการเผชิญหน้าระหว่างเกษตรกรรายย่อยและแรงงานไร้ที่ดิน กับบริษัทฯ ที่ผูกขาดการถือครองที่ดิน จึงขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ ผ่านสถาบันธนาคารที่ดิน เพื่อจัดซื้อที่ดินทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ แต่มีเอกสารสิทธิ์ของบริษัท/เอกชน เพื่อนำมาจัดสรรกระจายสิทธิการถือครอง ให้เกษตรกรได้เช่าซื้อ ในราคาที่เป็นธรรม

แถลง ณ วันที่ 7 กันยายน 2560
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ