ศาลภูเขียวกำหนดนัดวันฟังคำตัดสินศาลฎีกา คดีระหว่างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ฟ้องขับไล่ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว จำนวน 31 คน ข้อหาจำเลยและบริวารกระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม วันที่ 30 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
รายงานโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน
26 มิ.ย.2560 ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ รวมทั้งชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กว่า 100 คน เดินทางไปศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อร่วมฟังการไต่สวนคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่เสียชีวิต และฟังนัดหมายศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีบุกรุกสวนป่าคอนสาร (สวนป่ายูคาลิปตัส) ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ฟ้องขับไล่ นายนิด ต่อทุน จำเลยที่ 1 พร้อมพวกรวม 31 คน ในข้อหาว่าจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม
ถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน แจ้งว่า ตามที่ศาลจังหวัดภูเขียวมีคำสั่งนัดไสวนคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 13 (นายตา ปลื้มวงษ์)ที่ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ภายหลังการไต่สวน ศาลพิเคราะห์จำเลยที่ 3 เสียชีวิตในวันดังกล่าวจริง โดยมีนางสวย ปลื้มวงษ์ เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทผู้มีสิทธิ์รับของจำเลยที่ 13
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 13 ถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา กำหนดรับฟังคำสั่งและฟังคำพิพากษาศาลฎีกา วันที่ 30 ต.ค.2560 เวลา 10.00 น.
ที่มาของพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร
ในส่วนของพื้นที่พิพาทนั้น เกิดขึ้นนับแต่ ปี พ.ศ. 2521 หลังจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ในบริเวณเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ อย่างไรก็ตาม การปลูกสร้างสวนป่าไม่ได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย คือบริเวณป่าเหล่าไฮ่ แต่ได้นำไม้ยูคาลิปตัสเข้ามาปลูกทับที่ดินทำกินชาวบ้าน จนนำมาสู่ปัญหาส่งผลกระทบให้หลายครอบครัวถูกอพยพออกจากที่ทำกิน ชาวบ้านจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวมานับแต่นั้น กลายเป็นข้อพิพาทและมีการบังคับ ข่มขู่ คุกคาม ระหว่าง ออป.กับชาวบ้าน เรื่อยมา
ที่มาของการถูกดำเนินคดี เกิดขึ้นหลังจาก
ในวันที่ 17 ก.ค. 2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนเข้าปฏิบัติการยึดพื้นที่พร้อมกับจัดตั้ง “ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ” ขึ้นมาเพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ และเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การปกป้องสิทธิในที่ดินของชุมชน นอกจากนี้เพื่อรอคำตอบในการแก้ไขปัญหาสวนป่าคอนสารจากรัฐบาล ภายหลังจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า ตามที่ชาวบ้านมีข้อเรียกร้อง คือ ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด ให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน และในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่
อย่างไรก็ตาม อ.อ.ป. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องดำเนินคดีชาวบ้าน ตามลำดับ ดังนี้
ลำดับการถูกดำเนินคดี
วันที่ 27 ส.ค.2552 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขับไล่ นายนิด ต่อทุน และพวกรวม 31 คน ข้อกล่าวหาว่าจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งขับไล่ออกจากพื้นที่ พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และไม้ผลไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้
วันที่ 28 เม.ย.2553 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลย ที่ 1 ถึง 31 และบริวารออกจากพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ที่ได้นำไปปลูกไว้ในพื้นที่พิพาท ซึ่งจำเลยได้อุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไว้ชั่วคราว แต่ในขณะเดียวกันโจทก์ยื่นคำให้การแก้อุทธรณ์และคัดค้านคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีชั่วคราว
วันที่ 13 ธ.ค. 2553 ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการบังคับคดีชั่วคราวตามที่จำเลยยื่นคำร้อง และโจทก์ได้วางเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อติดหมายบังคับคดีในพื้นที่พิพาท ในวันเดียวกัน
วันที่ 4 ก.พ. – 16 มี.ค. 2554 ทำให้ชาวบ้านได้เคลื่อนไหว โดยการเดินเท้าทางไกลจากคอนสาร ถึง กทม.เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้ ออป.ถอนการบังคับคดี และเร่งประกาศพื้นที่โฉนดชุมชนในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินดังกล่าว
วันที่ 2 มี.ค. 2554 ผลการเจรจาระหว่างผู้แทนชาวบ้านกับ อ.อ.ป.นำมาสู่ข้อตกลง 3 ข้อคือ 1. อ.อ.ป.จะไม่เร่งรัดบังคับคดี 2. การนำพื้นที่จำนวนประมาณ 1,500 ไร่ ไปดำเนินการโฉนดชุมชน ให้ผู้แทน อ.อ.ป. สำนักนายกรัฐมนตรี และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน และ 3. การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ให้นำข้อกำหนดของ อ.อ.ป.มาปรับปรุงให้เกิดการยอมรับร่วมกัน แต่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนให้แต่อย่างใด นอกจากจำนวนพื้นที่เดิม (ประมาณ 86 ไร่) ที่ชาวบ้านร่วมกันยึดเข้ามาได้ในวันที่ 17 ก.ค.2552
วันที่ 21 ธ.ค. 2554 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ต่อมาในวันที่ 21 มี.ค. 2555 จำเลยได้ฎีกา
วันที่ 2 พ.ค. 2560 ศาลจังหวัดภูเขียวนัดจำเลยทั้ง 31 คน ฟังคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ศาลไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ เนื่องจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 13 เสียชีวิต ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกให้ทายาทของผู้เสียชีวิตมารับมรดกความ ศาลจึงได้อนุญาตตามที่ทนายจำเลยขอ โดยได้มีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคดีออกไป และมีคำสั่งเรียกให้ทายาทของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 13 ที่เสียชีวิต มายื่นคำร้องขอรับมรดกความภายใน 15 วัน คือวันที่ 16 พ.ค.2560 และศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอรับมรดกความของทายาท จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 13 ในวันที่ 2 มิ.ย.2560
วันที่ 2 มิ.ย. 2560 ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอรับมรดกความ แต่เนื่องจากเอกสารทะเบียนสมรสของผู้เป็นภรรยาของจำเลยไม่คบถ้วน ต้องไปขอคัดสำเนาที่ทำการอำเภอคอนสาร ศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนนัดไต่สวนคำร้องขอรับมรดกความ ไปเป็นวันที่ 26 มิ.ย.2560