วิวาทะการทำหน้าที่ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ชายแดนใต้” ตอน 1

วิวาทะการทำหน้าที่ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ชายแดนใต้” ตอน 1

วิวาทะการทำหน้าที่ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ชายแดนใต้”
: กับการโต้ตอบของคนสามจังหวัด (ปรับปรุงฉบับล่าสุด)
 
นายอิสมาอีล เจ๊ะนิ (มะแอ)[1]

บทนำ

คงเป็นความท้าทายไม่น้อยเมื่อจะหยิบคุย การทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ชายแดนใต้ กับการโต้ตอบของคนสามจังหวัด เพราะความที่สื่อมวลชนเองนั้นทุกคนต่างก็รับรู้ถึงพลังแห่งอำนาจ ผ่านบทบาทที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์สมัยใหม่มากขึ้นทุกขณะ แม้ใครจะมองเขาผ่านการทำหน้าที่อันทรงเดช ไร้ประสิทธิภาพ ไร้สมอง  ไร้อย่างคิด แต่อาจปฏิเสธไม่ได้คือ ความเป็นสื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่กระจก ติดตาม ตรวจสอบ และสะท้อนสังคม ในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะการที่เราสามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ล้วนผ่านเจ้าตัวที่ชื่อว่า “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย”[2] นั้นเอง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่คนสามจังหวัดร้อนรน และกลุ้มใจแต่ประการใด แต่คนสามจังหวัดร้อนรน และเฝ้ามองวิธีการทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ต่างหากที่ทำให้คนสามจังหวัดต้องออกนอกหน้าวิวาทะกับการทำหน้าที่ดังกล่าว เป็นเพราะความเป็นคนสามจังหวัดที่ต้องกล้าตั้งคำถาม หาคำอรรถาธิบาย และแสวงหาหนทาง ภายใต้สภาวะที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย กำลังทำอยู่นั้น มันชวนให้คนสามจังหวัดอย่าง เราๆ ต้องกล้าถอดรหัส และสร้างความจริงท่ามกลางที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ชายแดนใต้ กำลังเป็นที่สนใจของสังคมพื้นที่แห่งนี้
 
ฉบับที่ 1 ฉบับรู้ตัวตนแห่งชื่ออันยิ่งใหญ่ + สื่อมวลชนแบบไทย ไทย  = เนื้อแท้?

คนสามจังหวัด : สวัสดี….จิก โก๋ดื้อๆ มันคงคิดว่าสถานะแห่งชื่อและตำแหน่งแห่งที่ของเจ้านั้น จะชวนให้ใครหลายๆ คนเกรงใจ และอ่อนข้อ กระนั้นหรือ ความจริงการที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย พยายามประกาศตัวอะไรบางอย่างอยู่นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าคนสามจังหวัดอย่างเราๆ จะตัดโอกาสพิสูจน์ตัวตนก็หาไม่เพราะคนสามจังหวัดเข้าใจตลอดว่า การพิสูจน์ตัวตนแห่งชื่อนั้น เป็นขั้นตอนของการยืนยันความอยู่จริง จากสิ่งที่คุณมี  สิ่งที่คุณเป็นออกเช่นกัน แม้สื่อมวลชนแบบไทย ไทย จะแปรสภาพเป็นพลังหลักในการกำหนดว่าสังคมไทยคืออะไร และอะไรคือสังคมไทย อะไรจริง อะไรเท็จ อะไรสำคัญ ไม่สำคัญ ล้วนอยู่ในกำมือของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ก็ไม่ได้ทำให้คนสามจังหวัด จะไม่กล้าที่จะออกนอกหน้ามาวิวาทะ ตัวตนที่ชื่อ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย”เลย เพราะคนสามจังหวัดรู้ดีตลอดถึงเนื้อแท้ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยว่า แท้จริงตัวของมันเองก็ถูกอิทธิพลภายใต้เจ้าจักรวรรดิสื่อครอบโลกออกเช่นกัน

จากการศึกษาระบบการสื่อสารมวลชนทั่วโลก ศาสตราจารย์เจเรมี ทันสตอลล์ (Jeremy Tunstall) ยืนยันว่า การสื่อสารมวลชนในโลกล้วนถูกครอบงำโดยอเมริกาอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งทางด้านเทคโนโลยี เนื้อหา การศึกษา และอุดมการณ์ทางวิชาชีพ แม้กระทั่งระบบการสื่อสารมวลชนที่ก่อตั้งขึ้นมาของแต่ละประเทศ ก็จัดว่าเป็นส่วนขยายของความเป็นอเมริกัน (พิทยา ว่องกุล , 2541 : 6)

แม้แต่งานเขียนเรื่อง “จักรวรรดิสื่อครอบโลก : สงครามล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรม” ที่มองว่า แท้จริงสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ได้ตกเป็นทาสของสื่อตะวันตกตั้งนานแล้ว เพราะการที่สื่อมวลชนตะวันตกทำให้สื่อมวลชนแบบไทย ไทย เชื่อว่าสื่อของเขาคือ ตัวแทนความเป็นอิสระ และความเป็นประชาธิปไตย (ยุค ศรีอาริยะ, 2541 : 38-40) คนสามจังหวัดมองว่านั้นเป็นความพยายามชวนเชื่อว่า เสรีภาพของสื่อคือพื้นฐานของ “อิสรภาพ และประชาธิปไตย” 
 
ความจริงเป็นมายาภาพที่เป็นความพยายามต่อภาพด้วยการแสดงตัวของสื่อตะวันตกว่า สนใจอย่างยิ่งต่อปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาความโปร่งใส ปัญหาสิ่งแวดล้อม การต่อต้านเผด็จการ และเสรีภาพด้านข่าวสารนั้น แท้จริงสื่อมวลชนแบบไทย ไทยกลับมองไม่เห็น และเกือบจะตาบอดสนิท เพราะการที่สื่อตะวันตกพยายามจูงให้สื่อมวลชนแบบไทยไทย เชื่อตามนั้นเป้าหมายแท้จริงคือ ความพยายามในการสร้างอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่ในการกำหนดเหนือทิศทางของข่าวสารใน ประเทศไทยต่างหาก เป็นต้นว่าทุกอย่างที่ข่าวตะวันตกบอกคือ ความจริง หรือการชวนหลอกให้เชื่อว่า “สื่อ” คือสถาบันที่ให้คำตอบแก่สังคม และสื่อมวลชนก็เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางสังคมเช่นกัน ฉะนั้นสื่อมวลชนย่อมมีอิสระเต็มที่ ตามสบายที่จะเสนอ ตามสบายที่จะเขียน ตามสบายที่จะลงข่าว ตามสบายที่จะใช้คำ และตามสบายที่จะพาดหัวข่าว จะดีก็ได้ จะชั่วก็เชิญ

คนสามจังหวัด : คำถามอยู่ที่ว่าการที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย เป็นได้ถึงขนาดนั้นมันเป็นเพราะอะไรหรือ?…ความ จริงคนสามจังหวัดอยากทำความเข้าใจอะไรบางอย่างมากกว่านี้สำหรับคนในพื้นที่ สามจังหวัด โดยเฉพาะการทำความเข้าใจต่อความเป็นตัวตนของสื่อสารมวลชนแบบไทย ไทย ไม่ว่าการที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย มักถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของนายทุนหรือบริษัทอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ในการแข่งขันแสวงหาผลกำไรสูงสุด สถาปนาอำนาจของตนเหนือการครอบงำความรับรู้ของประชาชน(หรือประชากรโลก) พิทักษ์ปกป้องและเป็นเครื่องมือกระตุ้นลัทธิบริโภคนิยม บิดเบือนหรือไม่เสนอข่าวที่ขัดกับวัตถุประสงค์ของตน นักการเมือง สถาบัน และบริษัทธุรกิจที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน โดยเลือกสรรข่าวสารไปตามอำเภอใจมากกว่ามีจุดยืนเพื่อรับใช้สาธารณประโยชน์ และพิทักษ์สิทธิมนุษยชนอย่างสำนึก (พิทยา ว่องกุล, 2541 : 8)

จะไม่แปลกเลยถ้าคนสามจังหวัดจะให้ชื่อว่า “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย” ซึ่ง อาจไม่เป็นที่พอใจมากนักของนักสื่อมวลชน แต่คนสามจังหวัดเพียงอยากให้คนในพื้นที่สามจังหวัดได้เข้าใจในตัวตนของสื่อ มวลชนแบบไทย ไทย เพราะคนสามจังหวัดรู้สึกว่า สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ผ่านมานอกจากจะตกอยู่ภายใต้อุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมที่ผูกขาด เช่น กรณีการซื้อหุ้นเครือมติชน บางกอกโพสต์ และวิทยุชุมชนที่ถูกภาคธุรกิจเข้าครอบงำอย่างสิ้นเชิง
 
นอกจากนั้นยังเห็นสภาพที่สื่อมวลชนถูกภาครัฐยังใช้สื่อเป็นเครื่องมือสื่อสาร การตลาด กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง สร้างโฆษณาชวนเชื่อสู่สาธารณะ เช่น กรณีการจัดรายการนายกฯ นอกจากนี้ยังมีการสร้างสื่อที่เป็นของรัฐโดยเฉพาะหรือสื่อเทียม เพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ผลงานและนโยบายของรัฐ รวมถึงถูกสังคมมองว่าสื่อมวลชนอย่างสื่อวิทยุและโทรทัศน์ยังไม่สามารถเป็น ที่พึ่งของประชาชนในการรับข่าวสารได้อย่างแท้จริง เนื่องจากเจ้าของกิจการหรือเจ้าของสัมปทานผู้ควบคุมสื่อ ยังขาดวิสัยทัศน์ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่เข้าใจอุดมการณ์ของความเป็นสื่อมวลชน ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ แม้จะสามารถพึ่งได้พอสมควร แต่ยังไม่ถึงที่สุด เพราะยังต้องอาศัยงบการโฆษณาเป็นด้านหลัก
หรือ ที่สื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐ ทำให้ไม่สามารถคาดหวังถึงการรายงานข่าวสารทางการเมืองมาสู่ประชาชน ทำให้การรายงานข่าวของสื่อมวลชนไม่มีความเป็นอิสระและไม่เป็นไปเพื่อ ประโยชน์ของประชาชน แต่จะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาล โดยเฉพาะสิ่งที่น่ากลัวในการทำงานของสื่อในยุคปัจจุบันที่เห็นการทำข่าวแบบ มักง่าย เพียงแค่แกะเทป พิมพ์ข่าวส่ง โดยแทบจะไม่มีการตรวจสอบรายละเอียดของเนื้อหาข่าวแต่อย่างใด (ฉัตรชัย สุนทรส, 2549 http://www.polpacon7.ru.ac.th/modules.php?name=News&file=article&sid=5)

หากคนสามจังหวัดสามารถด่ำลึกถึงสัจธรรมของสื่อมวลชนก็จะเห็นว่า สื่อมวลชนเป็นดาบสองคม ที่หันปลายอันคมกริบอยู่เบื้องหน้าประชาชน มีโอกาสที่จะเป็นทั้งเครื่องมือที่ดีและเลวได้ตามเงื่อนไขสภาพการณ์ของสังคม และตามอารมณ์ความรู้สึกหรือโลกทัศน์ของผู้กุมด้านดาบเล่มนี้ได้เช่นกัน (พิทยา ว่องกุล, 2541 : 19) การที่คนสามจังหวัดพยายามตอกย้ำนั้น ต้องการที่จะบอกว่า “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่กล่าวหานั่น” จึงไม่ใช่เป็นเพียงธุรกิจธรรมดาที่มีเป้าหมายเฉพาะเพื่อการหากำไรเท่านั้น แต่สื่อ คือเครื่องมือทางการเมือง และการโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพสูงสุด (ยุค ศรีอาริยะ, 2541 : 45)
 
สื่อมวลชนแบบไทยไทย : ทำไม…ประชาชน คนสามจังหวัดไม่คิดที่จะเข้าใจบทบาท และทบทวนบทบาทของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย บ้าง?…เพราะถ้าคนสามจังหวัดหัดที่จะวิเคราะห์ในแนวคิดเชิงมานุษยวิทยาของ สื่อมวลชน (พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล, 2550 : 132-137) เพื่อเติมเต็มความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ของบทบาทสื่อมวลชนกับการสร้าง ความจริงในสังคม ผ่านกรอบการวิเคราะห์ที่ว่าด้วยการสร้างชั้นความจริงเสมือนของสื่อมวลชนว่า มิได้มีสาเหตุมาจากการผูกขาดความเป็นเจ้าของในโครงสร้างของสถาบันสื่อมวลชน แต่เพียงด้านเดียว หากแต่มีปัจจัยเชิงวัฒนธรรมและบรรทัดฐานความเชื่อของสังคมเป็นองค์ประกอบ สำคัญในการกำหนดกระแสและทิศทางของเนื้อหาในสื่อมวลชนเหล่านั้นอยู่ด้วย ที่สำคัญคนสามจังหวัดจะต้องเข้าใจในหน้าที่ของสื่อมวลชน ความจริงสื่อมวลชนแบบไทย ไทยเอง ก็พยายามอย่างแรงกล้าในการนิยามและสร้างคุณค่าให้กับตัวแสดงต่างๆ ที่อยู่ ในสถานการณ์หนึ่งๆ อย่างตรงไปตรงมา และพยายามที่จะแปลงและตีความเนื้อหาและให้น้ำหนักเชิงคุณค่ากับผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียในแทบทุกสถานการณ์อยู่แล้ว

สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ตระหนักอยู่เสมอ (เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์, 2541 : 28-33) และเข้าใจว่า โลกปัจจุบัน สื่อมวลชนได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เพราะข้าสื่อมวลชนรู้ดีตลอดว่า นอกจากข้าจะทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสาร ความรู้ ความคิด วิเคราะห์ และความบันเทิงแล้ว สื่อมวลชนยังต้องสวมบทบาทเป็นทั้งโจทก์และจำเลยของสังคม คือ เป็นทั้งผู้เรียกร้อง ปกป้อง รักษาสิทธิ หาผลประโยชน์และความถูกต้องให้แก่สังคม และยังพร้อมที่ต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นเหตุแห่งความเสื่อม ความเสียหาย ความไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมต่างๆ หรือการที่ถูกตีตราหน้าว่า ข้าเป็นต้นแบบแห่งวัฒนธรรมทางความคิด และพฤติกรรมแบบสังคมบริโภค ที่สวนทางกับวิถีชีวิตและค่านิยมของสังคมไทย คนสามจังหวัดจะเข้าใจในหน้าที่อันหนักอึ้งบ้างไหม

คนสามจังหวัด : ดู เหมือนว่าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย พยายามอ้างทฤษฎี บวกกับบทบาทหน้าที่ของตนเพื่อสร้างความเห็นใจแต่คนสามจังหวัดก็อดที่จะ ถามออกเช่นกันว่า แล้วการที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย เลือกและคัดสรรเนื้อหาของข่าวที่มักจะถูกการควบคุมผ่านสถานะของการเป็นเจ้า ของสื่อ ทั้งในบทบาทของรัฐบาล และในบทบาทของนายทุน มิหนำซ้ำ ตัวผู้ผลิตสื่อเองก็มีแนวโน้มในการนำเสนอเนื้อหาของข่าวให้สอดคล้อง และเป็นไปตามกระแสของสังคมและอุณหภูมิทางการเมือง ผ่านกระบวนการเลือกประเด็นที่ให้ช่องทางของข่าวสารที่กำลังเป็นกระแสอยู่ใน ขณะนั้น ให้มีความชอบธรรมในการยึดครองพื้นที่ บนสื่อสาธารณะ โดยมิได้เผื่อพื้นที่ไว้สำหรับความหลากหลายทางความคิด แล้วจะให้เราเข้าใจการทำหน้าที่สื่อแบบไทย ไทย ได้อย่างไร 

การที่คนสามจังหวัดอย่างเราๆ ได้แลเห็น และจับจ้องมองสื่อแบบไทย ไทยกระทำอยู่ ณ เวลานี้ ไม่ว่าการไม่หลุดพ้นเนื้อแท้ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่มีลักษณะนิสัยของการรวมศูนย์อำนาจก็ดี หรือการเมืองเรื่องช่อง 11 กับการควบคุมสื่อของรัฐบาลที่เราเห็นๆ ก็ดี หรือความอ่อนล้าของเจ้าของชื่อ “สุนัขเฝ้าบ้าน” ที่เคยได้ยินมาว่ามีความอ่อนแรงในหน้าที่ก็ดี หรือการขาดความน่าเชื่อถือในข้อมูลก็ดี  หรือผู้พิพากษาที่สร้างตราบาปไปชั่วชีวิต หรือการที่อยู่ในฐานะเป็นเครื่องมือของนักการเมืองก็ดี หรือการที่เคยถูกกล่าวหาสื่อมวลชนประเภทหนังสื่อพิมพ์ว่า Yellow Journalism (ยอดธง ทับทิวไม้, 2541 : 86) คือหนังสือพิมพ์ประเภท “ขยะ” หรือ “สวะ” ของหนังสือพิมพ์ที่เขียนขึ้นเพื่อการรีด การไถหรือหาผลประโยชน์ บิดเบือนความจริง หรือเขียนข่าวยกเมฆ ยกลมให้มากกว่าความเป็นจริง เพื่อจะสร้างความอึกทึกครึกโครม และดึงดูดความสนใจของคนอ่านก็ดี

คำถามอยู่ว่าแล้วคนสามจังหวัดจะทนได้อย่างนั้นเหรอ? ยิ่งคนสามจังหวัดได้พบผลการวิจัยเรื่องการพัฒนาการข่าวสารสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จารียา อรรถอนุชิต, มปป. : 2-4) พบว่าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับทั้งมติชน ไทยรัฐ และกรุงเทพธุรกิจ เน้นการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นรายวัน มากกว่าประเด็นข่าวในเชิงการพัฒนาพื้นที่ ส่วนเนื้อหาหรือสารที่นำเสนอในข่าว 1 ข่าวจะมีทั้งข่าวที่มีทั้งประเด็นข่าวเชิงลบและข่าวเชิงบวก แต่ส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในทางลบ กล่าวคือ จากจำนวนขึ้นข่าวที่สุ่มตัวอย่าง 1,500 ชิ้น พบว่า เป็นการนำเสนอประเด็นข่าวในเชิงลบ ได้แก่ การรายงานเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น จำนวน 1,335 ชิ้น ในขณะที่มีจำนวนชิ้นข่าวที่เป็นไปในเชิงบวก 1,062 ชิ้น เป็นประเด็นการติดตามผู้กระทำผิด หากมองดูในแง่เนื้อหาข่าวสาร ตลอด 12 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่มีความแตกต่างกันในด้านกระบวนการคัดเลือกข่าวสารที่ให้น้ำหนักหรือคำนึง ถึงความสำคัญของข่าวอยู่ที่การรายงานเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นรายวัน มากกว่าการนำเสนอข่าวที่ถือเอาประโยชน์หรือความต้องการของผู้รับสารเป็นตัว ตั้งในการนำเสนอ  นี้ก็เป็นภาพสะท้อนสภาพของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ได้อีกเช่นกัน แล้วแบบนี้มันไม่เพียงพอที่จะบอกสถานะแห่งชื่อว่า “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย “ ได้อีกเหรอ

คนสามจังหวัด : ความจริงคนสามจังหวัดอย่างเราๆ ไม่ใช่ประเภทชอบจับผิด เหมารวม และพิพากษาเกินเลย คนสามจังหวัดเอง ก็พยายามที่จะหาความจริงออกเช่นกัน แต่ถ้าบทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยไม่เชื่อ และเห็นเกินเลยต่อวิวาทะนี้ คนสามจังหวัดจะลองเขียนอย่างตรงไปตรงมา จากการตอบแบบสอบถามปลายเปิดตามความรู้สึกและความอิสระจากคำถามในการศึกษาผล กระทบการรายงานข่าวความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ภาพสะท้อนของนักศึกษาในพื้นที่

จากข้อคำถามที่ว่า ท่านมองอย่างไรต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบันอย่างไร? คำตอบที่พบบอกว่า…” สื่อนำเสนอเกินความจริง สื่อทำหน้าที่ของสื่อได้ดี แต่สื่อนำเสนอข่าวไม่หมด และบางครั้งสื่อนำเสนอข่าวเกินความเป็นจริง รายงาน ข่าวเกินความจริง แทนที่จะเอาสถานการณ์ที่เป็นที่น่าชมมารายงาน ควรที่จะเอาหลักความจริงมานำเสนอไม่ใช่แค่อยากขายสื่อให้ประชาชนบริโภคเท่า นั้น การทำหน้าที่ของสื่อกับการรายงานข่าวความรุนแรงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าสื่อให้ความสนใจ มีความเป็นกลาง แต่ยังขาดความเป็นจริง มองเท่าที่มองเห็น แต่ไม่สัมผัสความเป็นจริง ก็ดี เพราะทำให้คนในพื้นที่ได้รู้ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ได้อย่างดี แต่บางที่ข่าวก็ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริง การทำหน้าที่ของสื่อ ส่วนใหญ่ชอบนำเสนอประเด็นที่มีความรุนแรง เน้นการขาย มากกว่าที่จะนำเสนอมุมมองในแง่ดีๆ  ควร นำเสนอตามความจริง สื่อนำเสนอแต่ความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบ และในกรณีของผู้กระทำความผิด ที่จริงแล้วไม่ควรจะนำเสนอหน้าตา(รูปภาพ) ชื่อ เพราะอาจเป็นการละเมิดสิทธิ …” 

จากการที่คนสามจังหวัดถามจากนักศึกษาในพื้นที่ สิ่งที่คนสามจังหวัดพอเห็นจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย นั้นน่าคิด และน่าที่จะตั้งคำถามกับบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การที่บอกว่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ผ่านมามักเสนอข่าวเกินจริง เสนอข่าวไม่หมด มองเท่าที่มองเห็น ไม่สัมผัสความเป็นจริง เน้นการขายข่าวมากกว่าที่จะนำเสนอมุมมองในแง่ดีๆ หรือชอบละเมิดสิทธิ ซึ่งคนสามจังหวัดมองว่านี้ก็เป็นหนึ่งในลักษณะของการทำหน้าที่อันบกพร่องของ สื่อมวลชน เพราะการรายงานข้อมูลที่บิดเบือนหรือเกินจริง การนำเสนอข่าวโดยขาดความสมดุลและเที่ยงธรรม ไม่รายงานรอบด้าน การายงานอย่างมีอคติ ไม่เป็นกลาง ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลหรือเหตุการณ์ รวมทั้งขาดความรู้และความเข้าใจ (นุวรรณ ทับเที่ยง, มปป. : 4) นั้นมันแสดงถึงความล้มเหลวต่อลักษณะที่ดีของการรายงานข่าวของ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย” ได้อีกเช่นกัน

เพราะหากดูในข้อเสนอแนะต่อการรายงานข่าวของสื่อมวลชนที่บอกว่า สื่อควรนำเสนอข้อมูลอย่างรัดกุม ไม่ควรนำเสนอข้อมูลที่จะสร้างความตระหนกแก่สาธารณะชนแต่ควรสร้างความตระหนัก ในข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ นำเสนออย่างสร้างความเข้าใจ สร้างสรรค์ และสร้างสติให้กับสังคม หรือที่บอกว่าควรเน้นการรายงานข่าวเชิงตีความ-วิเคราะห์ที่ให้ข้อมูลอธิบาย สาระสำคัญของเหตุการณ์ที่เน้นการตอบคำถาม “ทำไม” มากกว่าเพียงการอธิบาย “ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-เมื่อไร” ควรนำเอาข้อมูลในอดีต อธิบายพร้อมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อชี้ให้เห็นแนวโน้มเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือมองว่าต่อไปนี้สื่อฟรีทีวีทั้งหมด ควรวางตนเป็นกลาง ปราศจากอดติ ไม่มีความลำเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะควรจะนำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงของข่าวอย่าง รอบด้าน หลากหลาย และเป็นธรรม ไม่ควรชี้นำความคิดของผู้ชมให้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง (โอเคเนชั่น,2551 :http://www.oknation.net/blog/print.php?id=334105) ก็เป็นอะไรที่คนสามจังหวัดจะรับได้

เพราะนั่นหมายความว่ายังไม่ตอบสนองสำหรับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่คาด หวังมากนัก (นุวรรณ ทับเที่ยง, มปป. : 6) และหากจะบอกว่ามันเป็นการสะท้อนวิกฤติทางจริยธรรมของสื่อมวลชนในปัจจุบันอีก รูปแบบหนึ่งที่มีผลต่อวิกฤติข่าวสาร (พิทยา ว่องกุล, 2541 : 9) ก็ว่าได้ เพราะภาวะวิกฤติข่าวสารนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันกันเสนอข่าวสารที่นำ ไปสู่การทำลาย หรือสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรง และบิดเบือน เลือกสรรโดยลำเอียง หรือปกปิดข่าวสารที่มีผลกระทบต่อสาธารณชน หรือไม่เสนอข่าวของประชาชน หากสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ไม่เชื่ออีก คนสามจังหวัดยังมีหลักฐานอีกมากมายที่สามารถสะท้อนการทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบ ไทย ไทย เพื่อจะให้เห็นภาพมากขึ้น โดยเฉพาะจากงานศึกษาเรื่อง “สื่อมวลชน” ดาบสองคมที่มีผลกระทบต่อเด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จุฑารัตน์ สมจริง, 2549 : 2) กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาของสื่อมวลชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สรุปบางอย่างที่น่าสนใจ เป็นต้นว่า การที่บอกว่าหลายครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลเกินจริง หรือไม่สมดุล เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป

ประกอบ กับสื่อมวลชนบางกลุ่มมีการแสดงออกทางความคิดเห็นที่อยู่บนพื้นฐานความอคติ ทางชาติพันธุ์ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง หรือบอกว่าสื่อมวลชนยังทำหน้าที่บกพร่องในหลายประเด็น เช่น โครงสร้างการเขียน ภาษาและคำที่ใช้ อีกทั้งท่วงทำนองของเรื่องที่นำเสนอว่ามีความโน้มเอียงที่ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการรับรู้ (Cognition) การเข้าใจ (Perception) และการประเมิน (assessment) เหตุการณ์ของผู้รับสาร หรือแม้แต่ยังพบว่าประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เชื่อมั่นในข่าวสาร ที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชน โดยเฉพาะภาพสะท้อนของเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดที่นำเสนอผ่านสื่อโดย ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือการสร้างภาพข่าวให้มีความรุนแรงเกินจริง จนส่งผลให้เกิดการสร้างภาพแบบฉบับตายตัวว่าคนมุสลิมทุกคนเป็นโจร เป็นผู้ก่อการร้าย น่ากลัว และหัวรุนแรง เป็นต้นว่า ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับแบบสอบถามที่คนสามจังหวัดได้ถามนักศึกษาในพื้นที่ สามจังหวัดในหลายๆ คน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ