วันนี้! จับตา ‘ประชุมเตรียม AEC’ เปิดเสรีปลูกป่า ด้านสภาเกษตรกรฯ ออกโรงค้าน

วันนี้! จับตา ‘ประชุมเตรียม AEC’ เปิดเสรีปลูกป่า ด้านสภาเกษตรกรฯ ออกโรงค้าน

ชวนติดตามประชุมเตรียมพร้อม AEC วันนี้  เปิดเสรีการลงทุนปลูกป่า และเปิดเสรีลงทุนแก่นักลงทุนนอกอาเซียน สภาเกษตรกรแห่งชาติค้านหวั่นทำลายเกษตรรายย่อย ด้านมูลนิธิชีววิถีชี้สร้างความขัดแย้ง-เหลื่อมล้ำเรื่องการใช้ที่ดินในสังคมให้มากยิ่งขึ้น เหตุยังมีประชาชนนับล้านครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเขตป่าและอีกนับล้านคนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง

19 มี.ค. 2558 เฟซบุ๊กเพจมูลนิธิชีววิถี (Biothai) โพสต์ภาพและข้อความเชิญชวนให้จับตาคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งแต่งตั้งโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 71/2557 (อ่านประกาศ) เตรียมการเปิดเสรีการปลูกป่า และเปิดเสรีให้นักลงทุนนอกอาเซียนได้สิทธิเฉกเช่นพลเมืองไทย

 

 

 

ด้าน เฟซบุ๊กเพจ FTA Watch โพสต์ข้อความ ช่วยกันหยุดคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยฯ เตรียมการเปิดเสรีการปลูกป่า และเปิดเสรีให้นักลงทุนนอกอาเซียนได้สิทธิเฉกเช่นพลเมืองไทย

 

 

 

การประชุมคณะกรรมการดังกล่าวจะมีขึ้น ในวันที่ 19 มี.ค. 2558 ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยสาระสำคัญในการประชุมมี 2 ประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจท้องถิ่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และอธิปไตยของประเทศ ได้แก่

1.การเตรียมการเปิดเสรีการปลูกป่า โดยจะให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในกิจการปลูกป่าในประเทศไทยได้ในตามชนิดของไม้ที่กรมป่าไม้จะนำเสนอต่อที่ประชุม ทั้งนี้ โดยเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 นี้

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาปลูกป่าได้จะเป็นการสร้างความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับการใช้ที่ดินในสังคมให้มากยิ่งขึ้นไปอีกเพราะมีประชาชนนับล้านครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเขตป่าและอีกนับล้านคนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง

“การเปิดเสรีและส่งเสริมการลงทุนปลูกป่าโดยต่างชาติ ที่แท้คือการให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ปลูกไม้ยืนต้นเชิงเดี่ยวเพื่ออุตสาหกรรม ทั้งๆ ที่เรามีทางเลือกที่ดีกว่าในการจัดสรรพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรรายย่อย พัฒนาระบบวนเกษตร ธนาคารต้นไม้ หรือฟื้นฟูป่าชุมชน ซึ่งเกื้อกูลต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น สอดคล้องกับนิเวศป่าเขตร้อน และสร้างความเป็นธรรมทางสังคมไปพร้อมๆ กัน” วิฑูรย์ กล่าว

2.พิจารณายกเลิกข้อสงวน เพื่อให้นักลงทุนนอกอาเซียนที่ได้ลงทุนในอาเซียน (Foreign-owned Asian-based Investors) ได้สิทธิเช่นเดียวกับพลเมืองประเทศไทย (หลักปฏิบัติเยี่ยงคนในชาติ) ซึ่งการยกเลิกข้อสงวนนี้เท่ากับการใช้ความตกลงการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน (ACIA-Asian Comprehensive Investment Agreement) เปิดเสรีให้กับนักลงทุนทั่วโลกนั่นเอง

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า การเปิดเสรีการลงทุนเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง เพราะแม้แต่ประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศก็คัดค้านเรื่องนี้ เมื่อมีความพยายามที่จะผลักดันให้การเปิดเสรีการลงทุนเข้าไปอยู่ในกรอบการเจรจา WTO และในการเจรจา TPP ก็ยังชะงักงันเพราะประเด็นการคุ้มครองการลงทุนที่ให้สิทธิกับนักลงทุนต่างชาติเกินไปจนสามารถฟ้องล้มนโยบายสาธารณะและเรียกค่าเสียหายจากเงินงบประมาณแผ่นดินได้ หากรัฐมีนโยบายไปกระทบการทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติ

“หากการผลักดันให้มีการเปิดเสรีการลงทุนใน 2 ประเด็นดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ รัฐบาลชุดนี้จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่เปิดเสรีการลงทุนให้ต่างชาติมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาล 2 ชุดที่ผ่านมา” วิฑูรย์ กล่าว

อนึ่ง คณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีกรรมการประกอบไปด้วย ทหาร ปลัดกระทรวงต่างๆ และภาคธุรกิจ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

สภาเกษตรกรแห่งชาติ ออกโรงค้านเปิด

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ทำจดหมายไปยัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า สภาเกษตรกรไม่เห็นด้วยที่จะเปิดเสรีให้มีการลงทุนในสาขาการปลูกป่า และเปิดเสรีให้กับนักลงทุนนอกอาเซียน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากเพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติซึ่งควรสงวนสำหรับเกษตรกรรายย่อย

ประพัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบพอสมควร โดยมีข้อสงวนสำหรับการลงทุนทั้งในเรื่องการเพาะขยายพันธุ์พืช การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการปลูกป่า โดยในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมามีเพียงการอนุญาตให้เปิดเสรีการลงทุนเฉพาะเมล็ดหอมหัวใหญ่ การเพาะเลี้ยงทูน่าในกระชังน้ำลึก และการเพาะเลี้ยงกุ้งมังกร อีกทั้งได้สงวนไม่ให้มีการเปิดเสรีสำหรับนักลงทุนนอกอาเซียนที่จะมาใช้สิทธินักลงทุนอาเซียนด้วย  

“สภาเกษตรกรแห่งชาติคาดหวังว่ารัฐบาลนี้จะคำนึงถึงผลกระทบต่อเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินนับล้านครอบครัว มากกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติ” นายประพัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ในเอกสารความเห็นของสภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งเสนอต่อ ประธานอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีข้อเสนอต่อรัฐบาล 3 ประเด็นสำคัญคือ

1.ให้สงวนการปลูกป่า เช่นเดียวกับการทำนา ทำสวน ทำไร่  2.ให้คงข้อสงวนของประเทศไทยที่จะไม่เปิดเสรีให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ได้ลงทุนในอาเซียนให้มีสถานะเหมือนนักลงทุนอาเซียน และ 3.ก่อนคณะอนุกรรมการจะเสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีต้องเปิดให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง และต้องส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง เพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องได้รับความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ