ร้องรัฐบาลไทยกำกับการลงทุนในต่างแดน ก่อนศาลตัดสินคดีเขื่อนไซยะบุรี 25 ธ.ค.นี้

ร้องรัฐบาลไทยกำกับการลงทุนในต่างแดน ก่อนศาลตัดสินคดีเขื่อนไซยะบุรี 25 ธ.ค.นี้

20152312100309.jpg

23 ธ.ค. 2558 กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมไทยที่ตรวจสอบการลงทุนของไทยในต่างแดน ประกอบด้วย ศูนย์ข้อมูลชุมชน องค์กรแม่น้ำนานาชาติ และเสมสิกขาลัย เผยแพร่แถลงการณ์ “เอ็นจีโอร้องรัฐบาลไทยกำกับการลงทุนในต่างแดน ก่อนศาลตัดสินคดีเขื่อนไซยะบุรี” ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2558 ระบุรายละเอียด ดังนี้

กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมไทยตรวจสอบการลงทุนของไทยในต่างแดนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งบังคับใช้กฎหมายการลงทุนในต่างแดนพร้อมจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการลงทุน เพื่อป้องกันความเสียหายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดจากโครงการลงทุนต่างๆ ของไทยในต่างประเทศ และเพื่อปกป้องชื่อเสียงของชาติ

“ผู้ประกอบการไทยกำลังเดินหน้าก่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ชุมชนต่างๆ ในประเทศไทยประท้วงคัดค้าน อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมายไทย แต่กลับนำไปสร้างในประเทศเพื่อนบ้านที่มีกระบวนการยุติธรรมที่อ่อนแอกว่า เช่น เขมร ลาว และพม่า” อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล เสมสิกขาลัย กล่าว

กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมได้ออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องนี้ ในระหว่างรอฟังคำตัดสินของศาลปกครองในอีก 3 วันข้างหน้า กรณีกลุ่มชาวบ้านไทยที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้ยื่นฟ้องคัดค้านข้อตกลงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานรัฐอีก 4 องค์กรที่ลงนามจัดซื้อไฟฟ้าร้อยละ 90 จากกำลังผลิตของเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศลาวและอยู่ระหว่างก่อสร้างโดยการลงทุนของบริษัทสัญชาติไทย ในวงเงิน 3,500 ล้าน ดอลล่าร์สหรัฐฯ (กว่า 1 แสนล้านบาท)

20152312100517.jpg

แถลงการณ์ระบุว่า คดีเขื่อนไซยะบุรี เป็นที่จับตาของสาธารณะในระดับภูมิภาคและระดับโลก เนื่องจากสะท้อนข้อถกเถียงเกี่ยวกับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำเพื่อการอยู่รอด เช่น ความเสียหายต่อพันธุ์ปลา การไหลเวียนของลำน้ำและตะกอนดิน การกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อน เป็นต้น 

พื้นที่สองฝั่งริมแม่น้ำโขงเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 60 ล้านคน และเป็นชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำเพื่อความมั่นคงทางอาหารและการอยู่รอด ยังมีงานศึกษาไม่เพียงพอเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ และปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบข้ามแดนด้านสิ่งแวดล้อม (transboundary EIA) 

นอกจากนี้ ชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้านยังถูกปฏิเสธสิทธิในการร่วมปรึกษาหารือ และไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นและข้อห่วงใยเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการพัฒนาจะคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของชุมชน

ผู้ลงทุนโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง ซึ่งเป็นผู้นำการลงทุนและผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยมีธนาคารไทย 6 แห่งที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการนี้ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์)

“ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายป้องกันการลงทุนที่ไร้ความรับผิดชอบในต่างแดน ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านของเรายังมีสถาบันทางกฎหมายไม่เพียงพอต่อการกำกับการลงทุน และประชาคมอาเซียนก็ล้มเหลวในการสร้างกรอบกติการะดับภูมิภาคเพื่อกำกับดูแลมาตรฐานทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการลงทุน” ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลชุมชน ระบุ

“ยกตัวอย่างเช่น ประเทศพม่าและเขมร ปัจจุบันยังไม่มีกรอบกฎหมายเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และประเทศลาว เขมร และพม่า ยังขาดสถาบันที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการตรวจสอบทบทวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่” ส.รัตนมณี กล่าว

เพียรพร ดีเทศน์ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวเสริมว่า “ครั้งนี้เป็นโอกาสของรัฐไทยที่จะเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในการปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดีที่สุด (best practices) โดยออกกฎหมายเรื่องการลงทุนในต่างแดน และจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลการลงทุนไทยในต่างประเทศ”

ทั้งนี้ วันที่ที่ 25 ธ.ค. 2558 เวลา 8.30 น เครือข่ายชาวบ้าน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง กว่า 40 คน จะเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาศาลปกครอง คดีที่ชาวบ้านริมโขง 37 คน ฟ้อง กฟผ.และ 4 หน่วยงานรัฐ กรณีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ และหลังจากทราบผลคำวินิจฉัยจะมีการเปิดแถลงข่าว

 

ข้อมูลพื้นฐาน คดีเขื่อนไซยะบุรี
•    ปี 2554 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในสัญญาซื้อขายพลังงานร้อยละ 95 จากกำลังไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนไซยะบุรี บนพื้นฐานความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐของไทยอีก 4 องค์กร
•    กลุ่มประชาชนไทย 8 จังหวัดในลุ่มน้ำโขง จำนวน 37 คน จากจังหวัดเชียงราย ถึง อุบลราชธานี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 5 องค์กร รวมถึง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
•    คำฟ้องอ้างว่า การอนุมัติสัญญาซื้อขายพลังงานของโครงการนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย และขัดต่อข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายพลังงานระหว่าง กฟผ. และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ได้รับการเห็นชอบโดยไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามแดนทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในประเทศไทย ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับฟ้องเมื่อเดือนมิถุนายน 2557
•    ในการออกคำสั่งรับฟ้อง ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าชุมชนในประเทศไทย “มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการ ดูแล อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวิถีที่สมดุลและยั่งยืน เพื่อจะดำรงชีพได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิต”

ลำดับเหตุการณ์ โครงการเขื่อนไซยะบุรี 
•    ตุลาคม 2554 – การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยลงนามสัญญาซื้อขายพลังงานกับบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด เพื่อจัดซื้อไฟฟ้าร้อยละ 95 จากเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว
•    7 สิงหาคม 2555 – ประชาชน 37 คน ตัวแทนเครือข่ายชุมชน 8 จังหวัดในลุ่มแม่น้ำโขง จากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองไทย คัดค้านการลงนามมีส่วนร่วมในสัญญาซื้อขายพลังงานจากเขื่อนไซยะบุรีของหน่วยงานรัฐไทย 5 องค์กร
•    กุมภาพันธ์ 2556 – ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับฟ้องโดยอ้างว่านอกเหนือเขตอำนาจศาล 
•    มีนาคม 2556 – โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
•    24 มิถุนายน 2557 – ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับฟ้อง
•    17 ตุลาคม 2557 – เครือข่ายชุมชนไทยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีจนกว่าศาลจะออกคำพิพากษา
•    24 กรกฎาคม 2558 – โจทก์นำเสนอพยานหลักฐานชุดสุดท้ายต่อศาล
•    30 พฤศจิกายน 2558 – กระบวนการพิจารณาคดีครั้งแรก 
•    25 ธันวาคม 2558 – กำหนดอ่านคำพิพากษาศาลปกครอง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ