ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ เข้ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่วันนี้ ร้องเปิดรายชื่อผู้ป่วยเดิม และเปิดสถิติผู้เจ็บป่วยเพื่อความชัดเจน และขอให้ผู้ประกอบการดูแลคนงานเหมืองแม้จะอยู่ในช่วงหยุดพักกิจการ
น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ทองคำ เปิดเผยว่า วันนี้ (27 มกราคม 2558) ตัวแทนกลุ่มจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอให้ดำเนินการ
1.ขอให้เปิดเผยข้อมูลรายชื่อประชาชนผู้ป่วยจำนวน 250 คน ที่อธิบดี กพร.มีคำสั่งให้บริษัท อัครารีซอร์สเซส (มหาชน) จำกัด นำไปรักษา
2.ขอให้ตรวจสอบและมีการเปิดเผยตัวเลขข้อมูลและสถิติการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบันในเขตพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และพิจิตร สู่สาธารณะตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อเปรียบเทียบว่าเกิดความผิดปกติหรือไม่ในการมีเหมืองแร่ทองคำ
3.ขอให้ดูแลเรื่องค่าแรงงานคนงานภายในเหมืองแร่ทองคำ ขณะบริษัทปิดทำการถึงแม้จะเป็นเรื่องภายในของบริษัทฯแต่ว่าคนงานจำนวนมาก คือ คนในชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนและแตกแยกในชุมชน เนื่องจากคนงานเกรงว่าพวกเขาจะตกงานและบางคนเข้าใจผิด ว่ากลุ่มชาวบ้านที่เรียกร้องทำให้พวกเขาต้องตกงาน เพื่อลดปัญหาการแตกแยกที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงได้
4.ขอให้ผู้ประกอบการยอมรับในผลการตรวจของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทีร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิตที่ผ่านมา เพื่อหาทางแก้ไขช่วยเหลือประชาชนร่วมกัน และแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
น’ส.สื่อกัญญากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีข้อมูลว่ากลุ่มคนงานของบริษัทเข้ารับการตรวจสารพิษ และพนักงานหลายคนไม่ได้รับรายงานผลตรวจเลือดของตน และไม่กล้าแสดงตนเพราะกลัวจะตกงาน จึงขอเรียกร้องให้กรมฯเปิดเผยข้อมูล เพื่อที่จะได้ทราบว่าชาวบ้านรายใดตรวจแล้วหรือยังไม่ตรวจ เพื่อความสะดวกในการทำงานร่วมกับหน่วยงานกลางต่างๆ
ทั้งนี้จากที่เป็นข่าวอยู่นั้นว่าบริษัทได้รายงานไปยังอุตสาหกรรมว่า ได้ส่งผู้ป่วยไปตรวจรักษาแล้วนั้น พวกเราชาวบ้าน 3 จังหวัด ยังไม่เคยทราบเรื่องมาก่อนว่าผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับสารพิษในเลือดจำนวน 250 คน ตามคำสั่งอธิบดี กพร.ซึ่งเป็นผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2556 ว่าเป็นใครบ้าง และเหตุใดบริษัทและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจึงปล่อยปละละเลยปกปิดข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับชาวบ้าน
น.ส.สื่อกัญญา ระบุอีกว่า ขอให้ผู้ประกอบการยอมรับในผลตรวจของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อให้ช่วยเหลือเร่งด่วนต่อชาวบ้านอย่างเสมอภาคกัน ไม่เลือกปฎิบัติเฉพาะกลุ่มคน เนื่องจากชาวบ้านที่ป่วยหนักส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานในเหมือง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเกรงว่าหากยอมรับผลจะมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจของบริษัทในเครือ จึงอาจพยายามปกป้องโดยการใช้ทีมผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการเข้าในพื้นที่พูดไม่ให้ประชาชนตกใจ หรือตื่นตระหนก กับผลตรวจเลือดที่ผ่านมา