รวมพลัง ‘คนเลย’ ค้าน ‘ร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับ คสช.’ หวั่นทำชุมชนล่มสลาย

รวมพลัง ‘คนเลย’ ค้าน ‘ร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับ คสช.’ หวั่นทำชุมชนล่มสลาย

ชาวบ้านในพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่เมืองเลยจากหลายโครงการในนาม ‘เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจังหวัดเลย’ รวมพลังค้านร่างกฎหมายแร่ฉบับ คสช. หวั่น Mining Zone ทำชุมชนล่มสลาย ร้องให้เห็นแก่ความเดือดร้อนของ ปชช. แนะใช้ร่างกฎหมายฉบับประชาชนที่ คปก. ร่างเอาไว้มาพิจารณาแทน

27 ก.ค. 2559 ที่ศาลากลางจังหวัดเลย เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. กลุ่มชาวบ้านหลายพื้นที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่ในจังหวัดเลย ประกอบด้วย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง พื้นที่ต่อต้านเหมืองทองคำ กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว ต.เชียงกลม อ.ปากชม พื้นที่ต่อต้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินบิทูมินัส กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ ต.นาดินดำ อ.เมือง พื้นที่ต่อต้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองแดงและเหล็ก และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดอุมุง ต.บุฮม อ.เชียงคาน พื้นที่ต่อต้านกรณีการทำเหมืองแร่เหล็ก อ.เชียงคาน จ.เลย รวมตัวกันในนาม ‘เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจังหวัดเลย’ ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อขอคัดค้าน ‘ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …’ ที่กำลังอยู่ในขั้นพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 

ข้อเรียกร้องของ ‘เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจังหวัดเลย’ ระบุว่า ตามที่ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. … ฉบับที่ สนช. ตั้ง ‘กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ….’ เพื่อพิจารณาอยู่ในขณะนี้ เพื่อต้องการบรรลุเป้าหมายสำคัญอย่างน้อย 4 ประการนั้น จะก่อให้เกิดความล่มสลายอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั่วประเทศได้

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญอย่างน้อย 4 ประการดังกล่าว ซึ่งกลุ่มชาวบ้านเห็นว่าอาจส่งผลกระทบ ประกอบด้วย

1. การกันเขตทรัพยากรแร่ หรือ Mining Zone ออกจากพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่นให้ชัดเจน เนื่องจากกฎหมายแร่ที่ผ่านมาและที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีข้ออ่อนอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ไม่มีสิทธิในพื้นที่/ที่ดินเป็นของตนเอง เมื่อเทียบกับกฎหมายป่าไม้ฉบับต่าง ๆ จะเห็นสภาพได้ชัดเจนว่ากฎหมายป่าไม้มีสิทธิใน ‘พื้นที่ป่าไม้’ เป็นของตนเอง แต่กฎหมายแร่ไม่มีสิทธิใน ‘พื้นที่แร่’ เป็นของตนเอง 

จึงทำให้การจะอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานในการสำรวจและทำเหมืองแร่ต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ตามกฎหมายอื่นมาโดยตลอด ซึ่งยุ่งยาก เดินเรื่องหลายขั้นตอน และไม่มีสิทธิโดยชอบธรรมและเด็ดขาดในพื้นที่ที่ขออนุญาต เป็นเพียงการเช่าหรือยืมใช้พื้นที่ในระหว่างอายุสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่เท่านั้น เมื่อหมดอายุสัมปทานก็ต้องคืนและฟื้นฟูพื้นที่กลับสู่การใช้และการสงวนหวงห้ามตามกฎหมายอื่นเช่นเดิม

ข้ออ่อนนี้ทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทยเข้าสู่หนทางตีบตันพอสมควรในการเปิดให้เอกชนมาลงทุนขอสัมปทานในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่มีแร่ปรากฎอยู่ หากไม่แก้หลักการนี้ที่จะทำให้กฎหมายแร่มีสิทธิใน ‘พื้นที่แร่’ เป็นของตนเอง ก็จะทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทยเข้าสู่หนทางตีบตันยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ 

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ตลอดร้อยกว่าปีของประวัติศาสตร์กฎหมายแร่ไทยก็จะเห็นร่องรอยการต่อสู้ในเรื่องนี้มาโดยตลอด จนมาสบโอกาสในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มองเห็นโอกาสว่าหลักการ Mining Zone มีลักษณะใกล้เคียงไม่ต่างจากการผลักดัน ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ ดังนั้น จึงน่าจะอาศัยโอกาสนี้ในการผลักดันให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายแร่ทั้งฉบับด้วยการเสนอให้มี Mining Zone ในร่างกฎหมายแร่ฉบับนี้

ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้น คือ หลักการของ Mining Zone มีลักษณะกดทับและลดสถานะกฎหมายอื่น (Overrule) จนทำให้กฎหมายหลักหลายฉบับกลายเป็นกฎหมายประกอบในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่มากจนเกินไป จนทำให้พื้นที่ทุกประเภทที่ไม่เหมาะสมต่อกิจกรรมสำรวจและทำเหมืองแร่ต้องถูกทำลายจนเสื่อมโทรมและเสียสภาพทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาไปจนหมดสิ้นได้ 

ไม่ว่าพื้นที่เหล่านั้นจะเป็นชุมชน แหล่งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของประชาชน พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ แหล่งอาศัยสำคัญของสัตว์ป่าและพรรณพืชหายาก พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือพื้นที่อ่อนไหวทางระบบนิเวศอื่น ๆ ตั้งแต่พื้นที่บนภูเขาสูงไปจนถึงที่ราบต่ำและชายทะเล และพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่น เช่น พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร พื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ทางโบราณวัตถุ โบราณสถาน หรือแหล่งฟอสซิลที่ควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์ไว้ ฯลฯ ก็ไม่ถูกละเว้น

2. การลดขั้นตอนการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ให้สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ เพื่อความรวดเร็วต่อเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่สัมปทาน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความเห็น เพื่อพิจารณาการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ เช่น การทำประชาคมหมู่บ้าน และมติจาก อบต. หรือเทศบาล เพื่ออนุญาต/ไม่อนุญาตให้เอกชนดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรต่อไปได้ เพื่อเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบในการขอใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบในการขอใช้พื้นที่โบราณวัตถุหรือโบราณสถาน พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร พื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของประชาชน ฯลฯ จะถูกตัดทิ้งหมด เนื่องจากปัญหาใหญ่ของการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ในประเทศไทยที่มีเอกสารยื่นคำขอสัมปทานตกค้างอยู่หลายพันฉบับ 

เพราะไม่สามารถดำเนินการอนุมัติ/อนุญาตให้ได้ก็ด้วยเหตุที่การคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ขอสัมปทานต่าง ๆ นั้นเอง

3. ทำให้หน่วยงานในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เป็นหน่วยงานเดียวและใช้กฎหมายฉบับเดียว (คือกฎหมายแร่) ในการบริการเพื่อให้ได้รับอนุมัติ/อนุญาตสัมปทาน หรือ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอกชนไม่ต้องยุ่งยากในการเดินเรื่องประมูลหรือขอสัมปทานกับหลายหน่วยงานและหลายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

เพราะใช้เวลานานและเชื่องช้า ไม่ตอบสนองการอำนวยความสะดวกและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ลงทุน รวมถึงเป็นหน่วยงานเดียวที่มีสิทธิ อำนาจและหน้าที่อย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการแร่ในพื้นที่ Mining Zone ที่ถูกตัดแบ่งออกมาจากพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่นด้วย

4. จัดทำรายงาน EIA/EHIA สำหรับพื้นที่ที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ล่วงหน้าไว้ก่อน แล้วนำพื้นที่ที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ที่ผ่านความเห็นชอบ EIA/EHIA แล้วเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อเข้ามาทำเหมืองแร่ได้เลย

ซึ่งหลักการนี้ในร่างกฎหมายแร่เป็นหลักการที่ขัดและฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2553 ที่ออกประกาศตามความพระราชบัญญัติดังกล่าวระบุให้การทำเหมืองแร่ทุกประเภทและขนาดต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) ในขั้นตอนการขอประทานบัตร นั่นหมายถึงว่าการทำเหมืองแร่ในพื้นที่พิเศษนี้ไม่ต้องมีหรือไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการขอประทานบัตรอีกต่อไป

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยส่งหนังสือของชาวบ้านยื่นต่อ สนช. เพื่อขอให้ถอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …. ออกทั้งฉบับเสีย และให้นำร่างกฎหมายแร่ฉบับประชาชนที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ร่างเอาไว้แล้วนำมาพิจารณาแทน เพื่อเห็นแก่ความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศที่อาจจะเกิดความล่มสลายได้ หากร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ถูกประกาศใช้บังคับ เพราะจะเปิดโอกาสให้รัฐและเอกชนนำพื้นที่ป่าและที่ดินทำกินของราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตป่า พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่สาธารณประโยชน์ หรือพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่นใดอีกมาประมูลเพื่อการสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่เต็มไปหมด

20162707231942.jpg

นอกจากนี้ กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้วยังได้ยื่นหนังสืออีกฉบับหนึ่งเพื่อขอให้ยกเลิกการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ในเขตท้องที่ ต.เชียงกลมแก่เอกชนรายใด ๆ ก็ตามทั้งหมดโดยเด็ดขาดด้วย เนื่องจากขณะนี้มี หจก.ไทยเจริญไมนิ่ง และบริษัท ซี.เอส.เอ็น ไมนิ่ง จำกัด ได้เข้ามาบุกรุกที่ดินทำกินชาวบ้านด้วยการปักหมุดเขตคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหิน (ชนิดบิทูมินัส) โดยไม่แจ้งและขออนุญาตแก่เจ้าของที่ดินแต่อย่างใด และหวั่นเกรงว่าพื้นที่ทำกินและห้วยน้ำลำธารที่ใช้อาศัยหาอยู่หากินส่วนใหญ่จะได้รับความเสียหายหากเกิดการทำเหมืองแร่ถ่านหินขึ้นจริงจนถึงขั้นก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างรุนแรง 

20162707232016.jpg
 
ด้าน นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยออกมารับหนังสือจากชาวบ้านด้วยตัวเอง โดยได้กล่าวกับชาวบ้านว่า “เพิ่งได้รับทราบว่ามีร่างกฎหมายแร่ฉบับนี้ขึ้นมา” 

“จะส่งหนังสือตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านทั้งสองฉบับ ฉบับที่ค้านร่างกฎหมายแร่จะส่งไปยังเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอีกฉบับที่ขอให้หยุดการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ในเขตท้องที่ ต.เชียงกลม อ.ปากชม โดยเด็ดขาดจะส่งไปยังสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอปัญหาชาวบ้าน” นายวิโรจน์ ระบุ

พร้อมกันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยยังได้พูดถึงกรณีการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินของ หจก.ไทยเจริญไมนิ่ง และบริษัท ซี.เอส.เอ็น ไมนิ่ง จำกัด ในพื้นที่เขตแหล่งแร่ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2534 ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาแก้ว-ดงปากชมว่า อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยต้องทำประกาศให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียยื่นหนังสือคัดค้านการขอประทานบัตร ซึ่งชาวบ้านต้องแสดงเจตจำนงในการคัดค้านการขอประทานบัตรดังกล่าว 

ขั้นตอนต่อมา หจก.ไทยเจริญไมนิ่งและบริษัท ซี.เอส.เอ็น ไมนิ่ง จำกัด ผู้ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินต้องทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ถ่านหิน และนำเรื่องเข้าสภาเทศบาลพิจารณาให้มีมติ

นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยยังได้เชิญชวนชาวบ้านให้ไปใช้สิทธิในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 2559 อีกด้วย “จะการับหรือไม่รับก็เป็นสิทธิ์ของทุกท่าน ขอให้พิจารณากันให้ดี” ผู้ว่าฯ กล่าวทิ้งท้าย

20162707232032.jpg

ต่อจากนั้นชาวบ้านได้รวมตัวกันรณรงค์สั้น ๆ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยการ ชูมือเป็นกากบาทและตะโกนเสียงดังว่า “ไม่รับร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับใหม่” และ “เหมืองแร่ ออกไป” เป็นเวลาหลายครั้งโดยพร้อมเพรียงกัน

20162707232045.jpg

20162707232054.jpg

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ