วันนี้ (25 ม.ค. 2559) เวลาประมาณ 10.30 น. ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้รับมอบอำนาจ ได้ยื่นขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ชาวบ้านจาก 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงได้ยื่นฟ้อง 5 หน่วยงานรัฐ รวมทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
“คดีนี้เป็นคดีที่จะเป็นคดีตัวอย่างสำหรับคดีข้ามพรมแดนอื่นๆ ซึ่งจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งศาลสามารถที่จะออกแนวปฏิบัติโดยใช้คำพิพากษาเป็นแนวทางในการคุ้มครองปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนได้ ซึ่งเชื่อว่าศาลปกครองสูงสุด จากที่เคยวินิจฉัยรับคำฟ้องไว้ได้เห็นปัญหานี้ วันนี้ที่มายื่นอุทธรณ์จึงมีความหวังที่จะเห็นคำพิพากษาที่มีความก้าวหน้าในการคุ้มครองปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน” นางสาวส.รัตนมณี กล่าว
นางสาวฐาปณี เมืองโคตร หนึ่งในผู้ฟ้องคดี จากบ้านป่งขาม ต.ป่งขาม อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 2559) ในช่วงเย็นเวลาราว 18.00 น. ได้นั่งรถรับจ้าง เดินทางมาจากบ้านซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขง โดยนั่งรถทัวร์มาถึงสถานีขนส่งหมอชิตตอนเช้ามืด และต่อมายังที่ศาลปกครอง โดยยังมีความหวังและมั่นใจว่าศาลจะเป็นที่พึ่งของประชาชน และให้ความเป็นธรรมกับประชาชนลุ่มน้ำโขง เนื่องจากเชื่อในคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่รับฟ้องเมื่อเดือนมิ.ย. 2557 และมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม
ทั้งนี้ เนื้อหาส่วนหนึ่งในคำอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดี โดยพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างพอเพียงและจริงจัง การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนจะดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี
นอกจากนี้คำอุทธรณ์ยังระบุว่า คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ของสหประชาชาติ ได้มี การตั้งคำถามกับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับปัญหาข้ามพรมแดนนี้ และมีการยกประเด็นเขื่อนไซยะบุรีว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
นางสาวฐาปณี กล่าวเพิ่มเติมว่า สวนไผ่เลี้ยงริมน้ำโขงของเธอได้รับผลกระทบจากความผันผวนของ ระดับน้ำโขงมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน โดยน้ำขึ้นๆ ลงๆ ผิดปกติ ทำให้ตลิ่งพัง เธอต้องสูญเสียที่ดินริมแม่น้ำไปแล้ว 2-3 ไร่ กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชผักริมโขงยิ่งเสียหายกว่านี้ ปลูกผักไว้น้ำก็บ่าลงมาท่วมผิดฤดู
“ในเดือนที่ผ่านมาระดับน้ำโขงขึ้นๆ ลงๆ อย่างมาก เห็นข่าวว่าจีนกักน้ำในเขื่อน นี่หากสร้างเขื่อนไซยะบุรีเสร็จ อยู่ใกล้พรมแดนไทยที่ อ.เชียงคาน เพียงร้อยกว่ากิโลเมตร คงจะยิ่งเกิดความเสียหาย กับระบบนิเวศและชาวบ้านริมโขงสาหัสมากกว่านี้” นางสาวฐาปณีกล่าว
ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อปี 2554 ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงรวม 37 คน ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานราชการ 5 หน่วย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี ต่อศาลปกครอง ฐานกระทำการโดยมิชอบในการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ซึ่งเป็นเขื่อนที่จะส่งไฟฟ้ากว่า 95% ให้กับไทย (แต่คิดเป็นไม่ถึง 2% ของไฟฟ้าที่ต้องใช้ทั้งประเทศ) ก่อสร้างโดยผู้รับเหมาสัญชาติไทย และปล่อยกู้โดยธนาคารสัญชาติไทยทั้งหมด 6 แห่ง