แม้จะไม่บ่อยครั้งนักที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคประชาชนถึงข้อมูลและทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ภาคอีสาน แต่เพื่อเป็นการเปิดใจรับฟัง และสร้างความเข้าใจถึงมุมมองที่แตกต่างกัน ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงจัดเวทีเสวนา “มนุษย์-สังคม” ขึ้น
ภาพและเรื่องราว : คำปิ่น อักษร
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่มีการจัดเวทีสัมมนาวิชาการระดับชาติ มนุษย์-สังคม ภาคประชาสังคม ครั้งที่ 4 นิเวศวัฒนธรรมอีสานกับงานพัฒนา “ทุกข์ของคนอีสานในบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง” ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยครั้งนี้มีองค์กรภาคประชาชน นักวิชาการ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนให้ข้อมูลเรื่องการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า รวมถึงเหมืองแร่โปแตช
โดย นายจารุกิตติ์ เกษแก้ว ผอ.สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 2 อุดรธานี ได้กล่าวถึงมุมมองของรัฐในการวางแผนพัฒนาทรัพยากรเหมืองแร่ในพื้นทีภาคอีสานว่ายังล่าช้า
“น้องๆที่เรียนอยู่ ท่านคงไม่ให้เขาไปกรีดยางใช่ไหม ท่านคงให้น้องๆลูกหลานไปทำงานด้านอุตสาหกรรม ด้านการบริการ นี่คือวิธีคิดของรัฐบาลของภาครัฐ ที่สำคัญเราปลูกพืช อย่างข้าวปีละ 2-3 รอบ มันจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี ตอนนี้ปุ๋ยเคมีเรามีแล้ว แต่เราซื้อจากเยอรมัน จากแคนาดา รัสเซีย ซึ่งที่ใต้ดินเราเนี่ยที่อีสานมันลึกอยู่ 300 เมตร กลัวเหลือเกินกลัวแผ่นดินจะยุบ แต่ที่เยอรมันนีเขาขุด 300-400 กิโลเมตรลงไปใต้ดิน แคนาดาก็ขุด แล้วเอามาขายให้ใครเอามาขายให้เอเชีย เอามาขายให้จีน แต่เรามีทรัพยากรตรงนี้ ยังช้าอยู่ในการพัฒนา”
และแม้หน่วยงานของรัฐจะมีแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ผ่านความพยายามนำทรัพยากรทางธรรมชาติต่างๆเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม แต่อีกมุมหนึ่ง นายสุวิทย์ กุหลาบวงค์ องค์กรภาคประชาชนที่ติดตามประเด็นสิ่งแวดล้อม และเหมืองแร่โปแตซ มองว่าต้องมีการศึกษาและให้ข้อมูลเรื่องอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนอย่างรอบด้าน
“แร่…เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของอุตสาหกรรมต่างๆ การขุดแร่ทองคำ แร่ดีบุก แร่ตะกั่ว หรือโปแตซเอง โปแตซเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานไปสู่การทำอุตสาหกรรมต่างๆอีกเป็นพันชนิด อันนี้คิดว่าสำคัญ ซึ่งการขุดแร่โปแตซในอีสานเป็นล้านไร่ หรือ 5 ล้านกว่าไร่ คือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในอุตสาหกรรม เพราะอย่าลืมนะครับว่าพอมีอุตสาหกรรมเหมืองแร่จะมีปิโตรเคมี หรือ เคมิคอลคอมเพล็กซ์เกิดขึ้น อย่างเช่นที่ชัยภูมิถ้าขุดเหมืองแร่ที่ชัยภูมิสำเร็จ มีการทำนิคมอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเคมิคอล ประเด็นคือมันจะกระจายอุตสาหกรรมทางอีสานไป และสิ่งที่จะเข้ามานี้ถามว่าชาวบ้านมีสิทธ์เลือกไหม ตอบว่าไม่มี รัฐเป็นฝ่ายคิด ซึ่งอาจคิดตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก็ว่าไป แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น การแย่งชิงทรัพยากรน้ำ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือแรงงานในอนาคตจะจัดการกันยังไง ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง ภาคประชาชนเองก็พยายามตั้งคำถาม “
แม้จะไม่มีข้อสรุปจากวงเสวนาในครั้งนี้ แต่การพูดคุยแลกเปลี่ยนภายใต้ข้อมูลและมุมมองทางวิชาการยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ชี้แจงและหาทางออกร่วมกันเพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลมากพอในการตัดสินใจ อันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้มีการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเป็นภาพการพัฒนาอีสานใหม่อย่างแท้จริง
เพราะการให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนอย่างรอบด้านเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยให้ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทุกโครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าทั้งหน่วยงานของรัฐ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องต่างมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในพื้นที่