26 ก.พ. 2558 จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ตามที่กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2558 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ที่ติดตามประเด็นเรื่องนี้ เสนอคว่ำร่าง พ.ร.บ.น้ำ เพิ่มเติมท้ายชื่อเป็นฉบับมัดมือประชาชน
นางอมรรัตน์ วิเศษหวาน ตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำชีที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร กล่าวว่า วิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำชีเขามีความผูกพันกับลำน้ำ มีการใช้น้ำที่ตามฤดูกาลผลิตเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากอาชีพหลักของชาวบ้านคือการทำนาที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรน้ำ การใช้น้ำของพวกเราไม่เคยมีใครจะมากำหนดว่าจะต้องใช้น้ำในปริมาณเท่าไหร่เพราะพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านมีคนละไม่กี่ไร่แต่ชาวบ้านเขาสามารถจัดการกันเองได้ อย่างเช่นในช่วงในการทำนาปี เราก็ใช้น้ำฝนจากธรรมชาติ ถ้าเข้าช่วงฤดูแล้งชาวบ้านก็มีการใช้น้ำจากกุด ห้วย หนอง และแม่น้ำชี ถือว่าเป็นวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับการจัดการน้ำ
นางอมรรัตน์ ยังกว่าเพิ่มเติมอีกว่า เคยได้ยินเรื่อง ร่างพ.ร.บ.น้ำ มานานแล้วเราก็เป็นห่วง เพราะถ้าเกิดมี พ.ร.บ.น้ำ โดยที่ชาวบ้านไม่มีส่วนในการรับรู้ข้อมูลและส่วนร่วมพวกเราไม่เห็นด้วยแน่นอน เพราะคนลุ่มน้ำจะต้องเป็นเจ้าของน้ำ เนื่องจากเขาได้ดูแลและอนุรักษ์แหล่งน้ำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังนั้นพวกเราจึงขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.น้ำ ที่จะมาเป็นตัวกำหนดวิถีของเกษตรกรอย่างพวกเรา
นางระเบียบ แข็งขัน ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว ลุ่มน้ำพอง กล่าวว่า เราไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำที่ให้อำนาจการจัดการขึ้นอยู่กับรัฐ ซึ่งถ้าชาวบ้านจะดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำจะต้องขออนุญาตจากรัฐทำให้ชาวบ้านไม่มีอำนาจในการจัดการน้ำโดยตัวเอง น้ำจะต้องเป็นของชาวบ้าน ชุมชนจะต้องมีอำนาจในการจัดการน้ำ ฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้เราจะขอคัดค้านอย่างถึงที่สุด
ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ในส่วนของพวกเราได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นประเด็นสำคัญถ้าร่าง พ.ร.บ.น้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำฉบับนี้ผ่านคนที่อยู่ในลุ่มน้ำทางภาคอีสานคงไม่ยอมแน่ เพราะในสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ได้พูดถึงอำนาจการจัดสรรน้ำเป็นของรัฐมากกว่าที่จะให้คนลุ่มน้ำเข้าไปจัดการ หรือแม้กระทั้งบางมาตรายังให้รัฐมีอำนาจพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ โดยการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำหรือขยายพื้นที่ของแหล่งน้ำได้ และในหลักการยังพูดถึงให้รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าใช้สอยแหล่งน้ำนั้นตามสมควร ถ้าใครฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษ
นายสิริศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าเราจะมาจัดการทรัพยากรน้ำผ่านกฎหมายน้ำฉบับนี้ประชาชนคนลุ่มน้ำก็จะถูกลิดรอนสิทธิจากภาครัฐอย่างแน่นอน เพราะว่าจะเป็นการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์โดยรัฐมีอำนาจ เราต้องเข้าใจว่าจารีตประเพณีของชุมชนในแต่ละลุ่มน้ำเขามีรูปแบบการจัดการน้ำที่แตกต่างกันตามภูมินิเวศที่สอดคล้อง และใช้เวลาผลิตซ้ำจนเกิดเป็นภูมิปัญญาในการจัดการน้ำโดยชุมชน อีกอย่างหนึ่งเราเห็นว่าในแต่ละยุแต่ละสมัยของรัฐบาลทั้งที่ผ่านมาก็เห็นมีแผนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้เป็นรูปธรรม บางพื้นที่กลับสร้างปัญหาให้กับชุมชนมากกว่า ฉะนั้นการร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับของกรมทรัพยากรน้ำ เราจึงไม่เห็นด้วยและพร้อมที่จะคัดค้าน
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน กล่าวว่า เป้าหมายการร่าง พ.ร.บ.น้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำ ถ้าออกมาในยุค คสช. ชุดนี้ ผมมองว่าจะสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชนมากขึ้น เท่าที่ศึกษาการนิยามในเรื่องน้ำของร่าง พ.ร.บ.น้ำนี้ “น้ำจะถูกจัดสรรให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมมากว่าเกษตรกรรายย่อยอย่างแน่นอน เพราะรัฐจะมองว่ากลุ่มทุนต้องมาก่อนเกษตรกรรายย่อย” แต่กรมทรัพยากรน้ำเวลาร่าง พ.ร.บ.น้ำ มักจะกล่าวอ้างว่าการร่างกฎหมายนี้จะเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อชาวบ้าน
ซึ่งถ้าเราดูแนวทางของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับส่วนราชการ และลดอำนาจประชาชน ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ข้าราชการจะเป็นกลไกหลักในการจัดสรรผลประโยชน์ในเรื่องน้ำโดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน แต่ที่ผ่านมาเราก็ทราบแล้วว่าหน่วยงานราชการมีความโน้มเอียงไปทางกลุ่มทุนมากกว่าเกษตรกรรายย่อย ฉะนั้นผมมองว่าร่าง พ.ร.บ.น้ำ เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ในวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่หลากหลายจากกลุ่มต่างๆ แทนที่จะมาผลักดันร่าง พ.ร.บ.น้ำ ในยุคที่ประชาชนไม่มีปากเสียง