ภัยพิบัติทางธรรมชาติกับการปรับตัวของคนในสังคม:แง่คิดจากภาคเหนือตอนล่าง โดยสาคร สงมา

ภัยพิบัติทางธรรมชาติกับการปรับตัวของคนในสังคม:แง่คิดจากภาคเหนือตอนล่าง โดยสาคร สงมา

ภัยพิบัติทางธรรมชาติกับการปรับตัวของคนในสังคม
การจัดการตนเองหลังภัยพิบัติของคนจอมทอง

                                              สาคร   สงมา
                                      มูลนิธิคนเพียงไพร (ภาคเหนือตอนล่าง)

                        ปีนี้ดิน ฟ้า อากาศผิดปกติ คือคำบอกเล่าของคนในชุมชน “มีทั้งร้อนมาก   ฝนตกต่อเนื่องตลอด   บางวันมีทั้งฝนตก แดดออก และหนาว พืชผลทางการเกษตร กล้วย มะนาวออกผลผลิตผิดแปลกจากหลายปีที่ผ่านมา มะนาวออกลูกดกจนต้นโทรมตาย มะม่วงออกตลอดปี แทงยอด ติดลูกในต้นเดียวกัน กล้วยงามมาก นกนางแอ่นอพยพไปอาศัยในบ้านคน แมลง หอยทากเยอะมาก เป็ด ไก่ตายยกเล้ายกฝูง ไม้ผล ยืนต้นตายจากการขาดน้ำ”
ฝนตกติดต่อกันตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๔ นี่คือปรากฏการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คนในชุมชนสัมผัสได้จากเวทีแลกเปลี่ยนของ “กลุ่มครอบครัวสร้างโลกเย็น” เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ บนคำถามถ้าเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเราจะปรับตัวอย่างไร? พร้อมกับนำแผน แนวคิด แนวทางไปปฏิบัติ เช่น การปรับระยะเวลาการทำนา การทดลองหยอดข้าวไร่  การปลูกพืชผลหลากหลายชนิด การสรรหาพันธุ์พืชทนน้ำท่วมหรือทนแล้ง การค้นหาพันธุ์ดั้งเดิมมาปลูก

                      บทเรียนน้ำท่วมดินโคลนถล่มจังหวัดน่าน ถูกหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนในเวทีเครือข่ายพี่น้องภาคเหนือตอนล่าง พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ที่วนอุทยานแห่งชาติแม่เรวา ตำบลแม่เลย์ อำเภอแม่วงก์  จังหวัดนครสวรรค์ ข้อสรุปวันนั้น นับแต่นี้ต่อไปประเทศไทยจะประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงจนคาดไม่ถึง
   
                  วัชรา สงมา เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่มีประสบการณ์ในการติดตามช่วยเหลือน้ำท่วมดินโคลนถล่มที่จังหวัดน่าน บอกว่า “เหตุที่เกิดมีทั้งน้ำเปลี่ยนสาย มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ เรือที่เข้าไปช่วยเหลือในเมืองแล่นไม่ได้ ด้วยขนาดของเรือกับเส้นทางไม่สมดุลกัน  คนไม่ยอมออกจากบ้าน การช่วยเหลือไปไม่ทั่วถึง ความโกลาหลขนาดย่อมๆ  จึงเกิดขึ้น แม้จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีการทำงานทั้งภาคประชาสังคมและข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่นที่เข้มข้น ยังเกิดภาวะสับสนวุ่นวาย”

                  นายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง นายแพทย์แกนหลักนครสวรรค์ฟอรั่ม ฟันธงและฝากให้ทีมภาคเหนือตอนล่างคิด “ถ้าเกิดน้ำท่วมเมืองใหญ่ๆ นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ ขอนแก่น ฯลฯ อะไรจะเกิดขึ้น บทบาทของพวกเรา ประชาสังคมอยู่ตรงไหน ความรู้เรื่องนี้มีพอมั้ย” วันนั้นยังไม่เอ่ยถึงกรุงเทพฯ หมอสมพงษ์บอกว่า กลียุคแน่นอน ทุกคนไม่พร้อม ความรู้ไม่พอ ระบบไม่มี รูปธรรมในการแก้ปัญหาไม่มี มีเพียงบางส่วนในพื้นที่เล็กๆ เช่น การปรับตัวปลูกพืช การปรับตัวกับการทำนา การปลูกพืชที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงอากาศ แต่ขาดการสรุปและเผยแพร่ให้สังคมรับทราบ
   
                 ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมเทพนคร จังหวัดพิษณุโลก เครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่าภาคเหนือตอนล่าง ร่วมกับเครือข่ายนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนล่าง จัดเวทีสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของชุมชนท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคเหนือตอนล่าง โดยมีเนื้อหาการระดมสถานการณ์ภัยพิบัติ และการวางแผนรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีผู้ร่วมเสวนากล่าวไว้ ”จากปรากฏการณ์ภัยพิบัติและการปรับตัวเพื่อรับมือจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของคน หรือความแปรปรวนของภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ชุมชนก็มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวให้ได้ แต่จะอยู่อย่างไร ทุกคนต้องช่วยกันค้นหา และแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างสม่ำเสมอ เราไม่สามารถให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติหายไป และเราจะอยู่กับมันอย่างไร นับวันจะถี่และรุนแรงขึ้น”
       
                       

                 นี่คือสิ่งที่เครือข่ายภาคประชาสังคมพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ บนฐานความรู้และรูปธรรมที่จำกัดของชุมชนประสบการณ์เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นเพียงการเริ่มต้น “การปรับตัวของครอบครัว ชุมชนท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติ” ของภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง

                ความจริงเกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมใหญ่เริ่มตั้งแต่มิถุนายน ๒๕๕๔ ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจากภาคเหนือตอนบน เขื่อนทุกเขื่อนกักเก็บน้ำไว้เต็มที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ น้ำเริ่มท่วมขังไร่นา สวน บ้านเรือน ทะลักไหลท่วมเมืองขนาดใหญ่ นครสวรรค์ ลพบุรี อุทัยธานี อยุธยา ปทุมธานี รวมทั้งกรุงเทพฯบางส่วน

         นาล่ม สวนจม บ้านพัง นิคมอุตสาหกรรมพังพินาศ ประมาณค่ามูลค่ามิได้ ที่อยู่อาศัยของคน เกิดโกลาหลครั้งใหญ่ พร้อมกับความขัดแย้งของคนในสังคม นักการเมือง การแก้ปัญหาไร้ทิศทาง การแย่งชิงบทบาทของนักการเมือง ฝ่ายรัฐ ฝ่ายค้าน การบรรจุกระสอบทราย การระดมความช่วยเหลือ การด่าทอกัน การกร่นด่ารัฐบาล การแย่งกันทำงาน การก้าวข้ามความขัดแย้งบนสีเสื้อในการช่วยเหลือน้ำท่วม น้ำตาของผู้คน ชาวบ้านชาวนาผู้ยากไร้ น้ำตาของธุรกิจชั้นแนวหน้าของไทย ข่าวลือสารพัดที่เกิดขึ้น นี่คือภาวะโกลาหลครั้งใหญ่ที่ทุกคนคาดไม่ถึง พื้นที่นาสวน บ้านเรือน ชีวิตผู้คน นิคมอุตสาหกรรม คนตกงาน นักการเมืองมุ่งผลประโยชน์ ไร้ความรู้ นับแต่วันนี้กลียุคกำลังจะมาเยือน การกักตุนสินค้า การขาดแคลนน้ำ ข้าว อาหาร เครื่องก่อสร้างจะขึ้นราคา  การเรียกร้องความช่วยเหลือ การอพยพแรงงานกลับถิ่นจะเกิดขึ้น นี่คือภาระของคนทุกคนต้องตระหนัก รับรู้ และเข้ามามีส่วนร่วมขบคิด ปัดเป่า แก้ปัญหาร่วมกัน อย่าฝากความหวังกับรัฐบาลที่ไร้ประสบการณ์ และฝ่ายค้านที่เชื่องช้า การขาดเอกภาพของข้าราชการและนักการเมืองที่ไร้ความรู้ เท่ากับเป็นการเพิ่มความเข้มข้นของปัญหา
ชุมชนเล็กๆ ตั้งหมู่บ้านเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน –แควน้อย ใต้เขื่อนขนาดใหญ่ที่ฝันว่า “เขื่อนจะสามารถป้องกันน้ำท่วมและใช้น้ำทำนา”   ก็ประสบภัยพิบัติไม่แตกต่างกับคนค่อนประทศ    อยู่ในสภาพ “สิ้นหวัง”

               ชุมชนจอมทองกับการอยู่ร่วมกับภัยพิบัติธรรมชาติบนฐานการจัดการตนเอง จากวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ – ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๒ เดือนที่ชุมชนหมู่ ๗ และหมู่ ๙ ตำบลจอมทอง ประสบภาวะน้ำท่วมขัง น้ำท่วมนา สวน ที่อยู่อาศัย เส้นทางคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค พร้อมกับหดหู่ สิ้นหวัง ก่นด่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำนารายได้หลัก ทำสวนรายได้รอง วันนี้ทั้งนาและสวนเสียหาย ๑๐๐ % ไม่ต่างอะไรกับพื้นที่อื่นในประเทศไทย ค่าชดเชยนา สวน ใช้หมดไปกับน้ำท่วม หนี้สินต้นทุนทางการเกษตร ค่าการซ่อมบ้านเรือน รอยต่อฤดูทำนาที่ไม่ตรงตามฤดูกาล คลองส่งน้ำที่เป็นสายเลือดหลักของคนทำนาเสียหายยับเยิน ไม่สามารถทำนาในฤดูต่อไป พร้อมกับคำถาม “ปีหน้าน้ำจะท่วมอีกมั้ย” นี่คือสิ่งที่หมุนวนอยู่ในหัวของคนจอมทอง บนความสิ้นหวัง ไร้คำตอบกับการตัดสินใจอนาคตตนเอง

              กำลังใจจากคนภายนอกช่วงทุกข์ยากลำบาก คือความคาดหวังของผู้ประสบภัย แล้วเราจะบริหารความหวัง ให้สอดคล้องกับความจริงอย่างไร คนนอกควรระวัง นี่คือบทเรียนของผู้หวังดีควรเข้าใจเบื้องต้น

              การเริ่มต้นของคนกลุ่มเล็ก “กลุ่มครอบครัวพอเพียง ครอบครัวสร้างโลกเย็น” ในหมู่ ๗ และหมู่ ๙ ตำบลจอมทอง การพูดคุยแลกเปลี่ยนผ่านแผนที่ที่สร้างขึ้นเอง น้ำเข้าทุ่งตรงไหน บ้าน สวน หนองน้ำ  แหล่งที่สูง เส้นทางการขนของหนีน้ำ การลุกขึ้นมาเริ่มต้นการทำข้อมูลอย่างง่าย โยงสู่คำถามเราจะอยู่อย่างไร คันกั้นน้ำ ข้าว น้ำ ถุงยังชีพ ปัญหาน้ำเน่า สุขภาพ ระบบเกษตรที่พอจะเลี้ยงชีพ เริ่มอย่างไร หลังน้ำลดจะอยู่จะกินอย่างไร นี่คือการพูดคุยของคนในชุมชนจอมทอง

                   
                การสร้างและพัฒนากลไกการประสานภายในภายนอก จัดระบบตัวเองในพื้นที่จากผู้ประสบภัยเชื่อมกับเครือข่ายกลุ่มพี่น้องที่รู้จัก หน่วยงานที่คุ้นเคย การระดมความช่วยเหลือที่เป็นระบบ การแจกจ่ายของจำเป็นที่เท่าเทียม การสร้างความโปร่งใสทั้งผู้ให้และผู้รับ นี่คือกำลังใจเริ่มต้นจากภายนอกที่จะให้ผู้ประสบภัยก้าวต่อ ข้าว มาม่า ปลากระป๋อง น้ำมันพืช สารส้ม น้ำดื่ม คือความจำเป็นพื้นฐาน ประคองตัวเอง ครอบครัวให้อยู่รอด พูดคุยแบ่งปันกัน ทุกข์ สุข ในช่วงน้ำท่วม
“ชาวบ้านช่วยชาวบ้าน” คือการสร้างความหวังและบริหารความหวัง หากิจกรรมคลายเครียด งาน อาชีพอย่าคาดหวังรายได้ แบ่งข้าวปลาอาหารกินร่วมกัน คิดแผนระยะยาวหลังน้ำลด คิดแผนสั้นและลงมือทำให้เกิดรูปธรรมสร้างความเชื่อมั่นให้คนรอบข้าง

                    ลงมือทำวันนี้ (วันที่น้ำท่วม) ของคนจอมทอง
   การเริ่มต้นพูดคุย ประสานภาคีภายนอก นักวิชาการ NGOS นักเคลื่อนไหวทางสังคม การพูดคุยที่ให้กำลังใจกันกับคนภายนอก เริ่มลงมือทำ
•   การสำรวจพืชทนน้ำท่วม ชนิด วิธีการปลูก พันธุ์ พืชทนน้ำในท้องถิ่น  ๑๓ ชนิด ที่เหลืออยู่ ได้แก่ มะม่วงแก้วกิ่งตอนอายุ ๕ ปีขึ้นไป มะกรูดเพาะเมล็ด  มะยม ฝรั่งกิ่งตอนทุกสายพันธุ์ มะพร้าวขนุนสำมะลอเพาะเมล็ดที่น้ำท่วมไม่มิดยอด ส้มโอขาวทองดี อายุ ๑๐ ปีขึ้นไป มะปรางหวานพันธุ์พื้นบ้านเพาะเมล็ดอายุ ๑๐ ปีขึ้นไป มะปรางลำยง  กระท้อน  มะดัน ไผ่สีสุก และไผ่กิมจู นี่คือพืชบางส่วนที่รอดจากน้ำท่วม
•   เมื่อประเมินว่าน้ำท่วมขังนานแน่ หลังจากนั้นจะมีอะไรกิน พันธุ์จะเอามาจากไหน สิ่งแรกที่แกนนำสตรีได้เริ่มคิด และทำ โดยยังไม่คิดถึงระยะไกลในเรื่องรายได้ โดยเริ่มจากการขุดย้ายหน่อกล้วย พันธุ์ไม้ ไว้ที่สูงในขณะน้ำท่วม ผักทุกชนิด ชะอม ข่า ตะไคร้ มะรุม แค ไม้ผล เพกา หลังน้ำท่วมขังตายหมด นี่คือสิ่งที่เริ่มปลูกเร่งด่วน เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต

               
•   การปรับตัวอยู่กับน้ำ หาประโยชน์จากปลา ปักเบ็ด ลงข่าย โพงพาง พัฒนาการแปรรูปปลา

             
             

•   การเพาะผักระยะสั้นในแปลงรวมเพื่อแบ่งปันให้ทันฤดูหนาว รวมทั้งการะดมทุนระดมแรงทั้งภายนอกภายใน ลงมือทำแผนระยะยาวให้เป็นกิจกรรมของคนในชุมชนและกลุ่มเยาวชน เพาะพันธุ์ผักในระยะแรก ๑๓ ชนิด ควบคู่กับการปลูกผักพื้นบ้านคือ มะละกอ มะเขือยาว มะเขือจานม่วง มะเขือเจ้าพระยา พริกแจว พริกหยวก กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แตงกวา แตงร้าน ผักกาดคอกควาย ฟักทอง บรอคโคลี่ และผักกาดขาว โดยใช้แกลบดำ ดิน ปุ๋ยหมักชีวภาพ และปุ๋ยคอก เพาะในถุงดำและถาดเพาะเพื่อการแจกจ่าย ที่สะดวกนำไปเป็นอาหารในระยะสั้น และที่สำคัญ “คำนึงถึงพันธุ์ที่จะทนกับภาวะน้ำท่วม” ที่จะขยายพันธุ์ในระยะต่อไป หลังการสำรวจจะมีการขยายพันธุ์ผักทนน้ำท่วม เช่น จิก ผักกุ่ม มะกอกน้ำ ฯลฯ

           

•   การระดมรวมกลุ่มล้างบ้าน แลกเปลี่ยนเครื่องมือ อุปกรณ์ล้างบ้าน ลงแรงช่วยเหลือกัน การฟื้นระบบเกษตรของตัวเองที่จะเป็นฐานระยะยาว การจัดการกับสวนที่ตายหลังน้ำท่วมขังคือภาระหลักของครอบครัว
•   การรวมกลุ่มจัดการรื้อต้นไม้ที่เสียหายจากน้ำท่วมภายในสวนนำมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพไว้ใช้บำรุงต้นไม้รายสวน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนช่วยเหลือกันทุกสวน สับให้ละเอียดหมักเป็นปุ๋ย
•   การระดมทุนทั้งจากภายนอก และภายในเป็น “กองทุนในการจัดการภัยพิบัติ”
•   การติดตามการช่วยเหลือจากรัฐ ค่าชดเชย ค่าทดแทน ติดตามตรวจสอบอย่างเป็นระยะและต่อเนื่อง
•   บางส่วนของผู้เคยประสบภัยน้ำท่วมจอมทองยังมาช่วยบรรจุของที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภาคประชาชนจังหวัดพิษณุโลก
    นี่คือรูปธรรมของคนที่ประสบภัยน้ำท่วม และอยู่ในวิกฤตประเทศที่ลุกขึ้นการช่วยตนเอง และช่วยคนอื่น

       
ชาวบ้านช่วยชาวบ้านบนฐานการจัดการตนเองของครอบครัวชุมชนจอมทอง อาจจะไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาทั้งหมด นี่คือความหวังของคนในชุมชนที่บอบช้ำจากน้ำท่วมภัยพิบัติ การปรับตัวชุมชนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ต้องได้รับการปฏิบัติทั้งรูปธรรมและความรู้  เพื่อจะนำสู่การอยู่ร่วมกับ ภัยพิบัติทางธรรมชาติผสมกับสิ่งที่มนุษย์ทำให้เกิดขึ้น ความรุนแรงจึงมหาศาล
   แต่ชุมชนก็มิได้ท้อ หมดหวัง และได้ลุกขึ้นสู้ มิได้ร้องขอจากใคร เรื่องราวเหล่านี้ก็คือ ครอบครัวชุมชนจัดการตนเอง บนฐานการพึ่งพากันภายในชุมชนของคนจอมทองที่จะก้าวผ่านวิกฤติในระยะสั้นๆ เพื่อที่จะเริ่มต้นแก้ปัญหาตนเองในระยะยาว
                    

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ