ฟังเสียงชนเผ่าม้ง และเครือข่ายชนเผ่าชาติพันธุ์ เหตุไฉนจึงร่วมปฏิรูป?

ฟังเสียงชนเผ่าม้ง และเครือข่ายชนเผ่าชาติพันธุ์ เหตุไฉนจึงร่วมปฏิรูป?

“เราเป็นคนหนึ่งที่เลือกเกิดในแผ่นดินไทยไม่ได้ แต่เราก็เป็นเจ้าของแผ่นดินไทย เราก็มีโอกาสที่จะพัฒนาทำให้บ้านเมือง เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเราชาวม้ง รวมทั้งชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆถูกละทิ้งมานาน และการพัฒนาที่ผ่านมานั้นไม่ตรงตามความต้องการของเรา” พนา กำเนิด นายกสมาคมม้งแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 57 ได้นั่งพูดคุยกับนายเกิด พนากำเนิด นายกสมาคมม้งแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับวิกฤตทางการเมือง การปฏิรูป ในวงคุยถกแนวคิดหารือถึง “แนวคิดและรูปธรรมของการจัดการตนเองและการมีส่วนร่วมปฏิรูปประเทศไทย” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานพัฒนาชาวไทยภูเขา สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท./IMPECT) ต.สันทรายน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดเห็นในประเด็น “การจัดการตนเอง”และแสวงหาแนวทางการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทย

ทำไมถึงเข้ามาร่วมเสวนาครั้งนี้?

เพราะเรามีหลายประเด็นที่กระทบเรา ประเด็นที่หนึ่งคือชาติพันธ์ม้งถูกข้อหาว่าเป็นผู้ทำลายป่า สองม้งถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มที่ใช้ยาเยอะ ประเด็นสาม ถูกกล่าวหาว่าพัวพันเรื่องยาเสพติด และการทำลายป่า แต่ใช่ว่ามีเพียงแต่ม้ง เพราะว่าภาคกลาง ภาคอีสานไม่มีม้งป่าก็หมด ส่วนนี้เคยมีข้าราชการที่ขับไล่ม้งในจังหวัดเชียงใหม่ มาอยู่พื้นที่ราบลุ่มเป็นประเด็นนี้เราได้รับผลกระทบมา

เรื่องการค้าขายยาบ้ายาเสพติด มีแค่ชาวม้งบางส่วนที่ค้าขายยาเสพติด แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ใช่ส่วนทั้งหมด คนดีๆมีอีกเยอะ ทำให้ถูกมองเหมารวมและกระทบต่อพวกเราทั้งหมด

เรื่องสิทธิการศึกษา เรายังเข้าไม่ถึง เราไม่มีโอกาส ส่วนใหญ่แล้วเราเป็นชายขอบนะครับ เราไม่มีเงินทุนสำหรับการศึกษามากนั้น ซึ่งตรงนี้เราก็ยังขาด

สิทธิการทำมาหากินของพี่น้องม้งมี 266 หมู่บ้าน โดยตัวเองเป็นคนถูกต้องตามกฎหมาย มีบัตรประจำตัวประชาชน แต่ที่อยู่ชาวม้งส่วนใหญ่นั้นไม่ถูกต้อง เป็นที่ของอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ป่าสงวน สิ่งเหล่านี้เราอยู่เป็นคนถูกต้อง แต่ที่อยู่ไม่ถูกต้องเลย เราทำอะไรไม่ได้ ไม่สามารถที่จะทำในการพัฒนาตัวเองหรือจะพัฒนาในสิ่งต่างๆเหล่านี้ให้เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้กระทบต่อพวกเราอย่างมหาศาล พวกเรากลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ถ้าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากในหลวง เรายิ่งจะลำบากกว่านี้

เราจะเห็นว่าใครที่เปิดโอกาสให้ร่วมพัฒนา ปฏิรูป เราก็พร้อมที่จะปฏิรูป และพร้อมที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง ทุกอย่างสิ่งเหล่านี้เราสนับสนุน การเลือกตั้งที่ผ่านมา ประเทศไทยมีประชาธิปไตยจริงนั้นมันไม่ใช่มันเป็นแค่คำพูดนะครับ แต่การเลือกตั้งอะไรต่างๆเหล่านี้ประชาชนน่าจะมีสิทธิในการที่จะเสนอความคิดเห็นเสนอที่จะพัฒนาตัวเอง เขาอยู่ปกติมาตลอดแล้ว หากภาครัฐเข้ามาเสริมอีกหน่อยจัดให้เป็นระบอบระเบียบ เสริมให้ดียิ่งขึ้นเท่านั้นก็ได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นนโยบายจากข้างบนมากกว่า ที่จะให้ประชาชนมีสิทธิที่จะพัฒนาตัวเองค่อนข้างจะยาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกระทบพวกเรา เราจึงเห็นว่า น่าจะมีการปฏิรูปในหลายๆด้าน ทุกภูมิภาคส่วน พวกราชการก็ดี ที่ได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน แต่ถ้ามีงบมา พวกเขาก็ไม่มาพัฒนาประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราเห็นว่าไม่เป็นธรรมในสังคม

เราเป็นคนหนึ่งที่เลือกเกิดในแผ่นดินไทยไม่ได้ แต่เราก็เป็นเจ้าของแผ่นดินไทย เราก็มีโอกาสที่จะพัฒนาทำให้บ้านเมือง เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาถูกชาวม้ง รวมทั้งชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆถูกละทิ้งมานาน และการพัฒนานั้นไม่ตรงตามความต้องการของเรา

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ตั้งในถิ่นฐานที่ค่อนข้างดีมาก อุดมสมบูรณ์มาก เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่กลับเป็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่บริโภคแต่สิ่งที่ไม่ดี กลายเป็นว่ากำลังจะขายสิ่งดีๆให้กับประเทศอื่นๆไปแล้ว ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ที่ไม่ดี แล้วเราไม่ได้ปฏิรูปทั้งในเรื่องความไม่ธรรมต่อสังคมแล้ว ประเทศเราก็ยิ่งจะล้าหลังมากกว่านี้ไปอีก ถ้าหากเราพัฒนาประเทศโดยให้ทุกคนที่เป็นเจ้าของแผ่นดินพัฒนาประเทศแล้ว เชื่อว่าประเทศจะก้าวหน้าเร็วกว่านี้

เรารักแผ่นดินนี้ เรารักประเทศนี้ เราต้องการความเป็นธรรม

การปฏิรูปประเทศส่วนใหญ่มาจากส่วนบนมากกว่า และเขาไม่ได้ทำตามความต้องการของประชาชน เราต้องการอีกอย่างหนึ่ง แต่เขาทำอีกอย่างหนึ่ง แล้วก็พัฒนารูปแบบ แต่รูปแบบทีว่ามี อบต. มีคณะกรรมหมู่บ้านขึ้นมา แต่เนื้อหาไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย ส่วนใหญ่ยังใช้เนื้อหาเก่าๆไปปฏิบัติ ที่บอกว่ามี  อบต. ไว้เพื่อกระจายอำนาจ แต่จริงๆแล้วกลับเป็นด่านตักตวงอีกด่านหนึ่ง ที่จะเพิ่มพลังงบมหาศาลให้กับ อบต. แล้วก็งบที่ให้ชาวบ้านกลับน้อยนิด ส่วนโครงการต่างๆเดี๋ยวนี้ต้องซื้อเท่านั้น ถ้าไม่ซื้อก็ไม่มีทางได้งบประมาณมาเลย นี้คือสิ่งที่มองเห็น และคิดว่าน่าจะกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณให้มากกว่านี้ ให้ประชาชนอยู่อย่างอยู่ดี กินดี อยู่อย่างมั่นคง ประเทศชาติจะมั่นคงได้ครับ…

ช่วงบ่าย เวลา 13.00 น. ได้เปิดเวที  อภิปรายและแลกเปลี่ยนมุมมอง ในเรื่อง “สถานการณ์วิกฤติการเมืองไทยกับกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย ที่เห็นตัวตนและการมีส่วนร่วมของชนเผ่าพื้นเมือง” 

อาจารย์ไพสิฐ  พาณิชย์กุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวไว้ว่าการปฏิรูปในกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่นั่น อันดับแรก ต้องกำหนดขอบเขตต้องมีรูปแบบเป็นอย่างไร มีพื้นฐานข้อมูล อันที่สอง ทำไงให้ข้อมูลดังกล่าวรับรู้ แล้วก็ออกมาเป็นรูปแบบที่ไม่ใช่แค่ปากเปล่า แต่ว่าต้องเป็นลักษณะเป็นลักษณะหลักฐาน อันที่สามก็คือว่า ทำยังไงที่ให้เกิดการเชื่อมโยงให้กลุ่มต่างๆในลักษณะลดความขัดแย้ง ที่อยู่ภายในของพี่น้องด้วยกันเองลงมา อันที่สามต้องไปเชื่อมโยงที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น อบต. พ่อหลวง หรือแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ แล้วอันที่สี่ต้องให้ Empower เสริมพลังให้ชาวบ้านข้ามพ้นความกลัวในเชิงของการที่ยึดคลุมพื้นที่ แล้วก็กติกาที่อยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของข้อตกลงแบบเก่าแบบเดิม หรือว่าแบบที่เป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น อันนี้ผมคิดว่ารูปธรรมที่ทำหลายๆที่มันได้ผมนะครับ อันนี้คือความหมายของยึดคลุมพื้นที่ในแบบนี้

แล้วที่นี้คำถามว่า แล้วการขับเคลื่อนการปฎิรูปจะผ่านทางอย่างไหน ผมคิดว่าอย่าไปรังเกียจ เส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง แต่ว่าต้องแบ่งหน้ากันเล่น เช่น พี่แย้ (สุมิตรชัย หัตถสาร) เอาอีกฝั่งเรื่อง ชาติพันธุ์ใส่เข้าไป หรือว่าคนอื่นมีช่องทางอย่างอื่น แล้วยกระดับ อบต. ส่วนราชการ พรรคการเมือง หรือไม่ก็ กปปส. แต่ที่สำคัญที่สุด ต้องทำให้มีปรากฏในสื่อเอาไว้ถ่ายวีดีโอ ลงยูทูปไว้ เพราะนี้ก็คือกระบวนการขับเคลื่อนแล้วก็อ้างอิงไว้ว่า ครั้งหนึ่งเราเคยพูดว่าอย่างไง

หรือสิ่งที่เราต้องการผลักดันต่อ มันทำให้เห็นถึงกำลังใจที่เกิดขึ้นร่วมกัน ในแง่ของการที่ว่า หันกลับไปมองด้านหลัง ว่า เราไม่ได้วางเฉย แต่เราร่วมกันผลักดัน อันนี้ทำทั้งแนวราบ ทำทั้งแนวตั้ง แล้วก็ถ้าหากมีเครือข่ายที่อยู่นอกเหนือประเทศไทย แต่ว่าเป็นประเด็นร่วมกัน ผมคิดว่าเราน่าจะต่อด้วยในระหว่างเครือข่ายชนชาติพันธุ์ด้วยกัน พี่น้องจากอเมริกา จากยุโรป ต่างๆ เพราะว่าการปฏิรูปดังกล่าว มันไม่ได้แค่ให้เปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ แต่มันหมายถึงอย่างที่พี่ชัชบอก ความหลากหลาย เรื่องชาติพันธุ์ เรื่องของสิทธิมนุษยชน สิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่มันจำเป็นต้องต่อกับเชื่อมโยงเรื่องต่างๆที่มีอยู่ อาจต้องใช้กระแสต่างประเทศเข้ามาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศด้วย ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญนะครับ..

ด้านอาจารย์ชัชวาลย์  ทองดีเลิศ ผู้ผลักดันท้องถิ่นจัดการตนเองเชียงใหม่มหานคร กล่าวไว้ว่า  ผมคิดว่าถ้าเราปล่อยให้พรรคการเมือง ระบบราชการ ถ้าเราให้ใครก็ไม่รู้ที่มีอำนาจเป็นผู้นำการการปฏิรูปผมว่าไม่ถูกใจเราอีกละ ไม่ตรงกับสิ่งที่เราทำอยู่ดี เพราะฉะนั้นกระแสที่เกิดขึ้น กระแสประชาชนที่เกิดขึ้น ผมว่าต้องใช้โอกาสนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเราได้แสดงพลังการปฏิรูปให้เห็นนะ

ทั้งนี้ยังได้เสนอว่าการปฏิรูปอยู่ในมือประชาชน แล้วทำให้ประชาชนรวมตัวกันกับพี่น้องชนเผ่าด้วยกัน เป็นเจ้าของปฏิรูปให้ได้ แต่สถานการณ์ขณะนี้เป็นสถานการณ์วิกฤต เป็นจังหวะเป็นโอกาสทอง เราถือโอกาสนี้ที่จะ สร้างกระแสในตัวเรา ตื่นตัว ลุกขึ้น กระฉับกระเฉง รวมตัวกัน กระชับพลังใหม่ ใช้โอกาสนี้กระชับพลัง ผมคิดว่า องค์กรพวกเราต้องเกิดขึ้น สภาชนเผ่า ต้องเกิดขึ้น เข้มแข็งขึ้นด้วย แล้วที่สภานี้ต้องทำงานทั้งสามเรื่องในขณะนี้ 1 สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครองด้วย ผมคิดว่าต้องคิดพร้อมกันเลย ผมคิดว่าที่ผ่านมา เราอาจไปเน้นเรื่องวัฒนธรรม เศรษฐกิจ ทำมาหากิน หรืออะไรค่อนข้างเยอะ แต่ขณะนี้เรากำลังจำเป็นต้อง 1 มีองค์กร และเครือข่าย เริ่มต้นจากสภาชนเผ่าของเรา ทำให้มีนัยยะ ให้มีวิวาทะ ลุกขึ้นมากับกระแส ลุกขึ้นมาวิวาทะในสถานการณ์การปฏิรูปนี้ว่าเรามีข้อเสนออะไร ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองการปกครอง อย่างที่พ่อหลวงเกิดว่า เสนอเรื่องชนเผ่าพึ่งตนเอง เราขอเสนอมีเขตปกครองพิเศษ ของพี่น้องชนเผ่าได้ไหม อะไรอย่างนี้ ก็ว่าไป จังหวะนี้เป็นจังหวะที่สำคัญ องค์กรทั้งหลายต้องไปให้ถึงขั้นว่า เราต้องมีพื้นที่ของเราที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่าไปเสนอให้เขาเสร็จ แล้วแต่เขาจะทำหรือไม่ทำ แล้วเรามานั่งรออยู่ที่บ้าน แบบนี้ไม่เอา เลิก เราเลือกเขาแล้ว แล้วมานั่งรอฟังอยู่ที่บ้านว่าจะทำให้เรา ไม่ทำเนี่ย ต้องเลิกนะ เราต้องจัดระบบการดูแลการปกครองตัวเองของเรา ข้อเสนอต่อไปคือเราต้องมีพื้นที่ ที่จะเสนอ ที่จะตัดสินใจ ที่จะแสดงออกอำนาจของเราด้วย…

เวทีในครั้งนี้ตรงกับสถาการณ์การเคลื่อนไหวการชุมนุมด้านการเมืองที่เพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้น กลุ่มต่อต้านรัฐบาลได้ชุมนุมปิดกรุงเทพ ตามที่เรียกว่าซัตดาวน์กรุงเทพด้านสุมิตรชัย หัตถสาร ที่ปรึกษาเครือข่ายพื้นเมืองประเทศไทย ได้เสนอแนะมองว่าการที่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปเรียกร้อง ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะการที่ถกเถียงกันในเรื่องของความเห็นที่ไม่ตรงกันของคนในสังคม คือสิทธิในการแสดงออก เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมานานกว่าสิบปีแล้ว อย่างเรื่องการเมืองทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องออกมาร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา เพราะมันคือโจทย์เดียวกัน อย่างเช่น เรื่องคอรัปชั่น ที่มองว่าคงไม่มีประชาชนคนไหนชอบและพร้อมที่จะต่อต้านการคอรัปชั่นอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีทางหาจุดยุติเรื่องนี้ได้ จริงๆ แต่ก็ถือว่าประชาชนของไทยโชคดีที่ได้มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งไม่เหมือนบางประเทศที่มีกฎอัยกาศึก ซึ่งประชาชนไม่สามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมืองได้เลย ดังนั้นวิธีการแก้ไขในระยะยาวคือการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ให้กับประชาชนได้มีบทบาทกำหนดแนวทางการพัฒนาตนเองให้มากยิ่งขึ้น …

ทั้งนี้หลังจากเวทีเสวนาเสร็จสิ้น เราได้มีโอกาสนั่งพูดคุยถึงการเมือง และเหตุผลการปฏิรูปของกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ กับอาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ซึ่งได้ฝากข้อคิดที่ควรต้องปฏิรูปด้วย

ทำไมต้องปฏิรูป?

ทำไมต้องมีการปฏิรูป แม้สังคมไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยมา 80 กว่าปีแล้ว แต่เราก็ยังพบว่ามีปัญหา เช่น การรัฐประหาร มีรัฐบาลที่ผูกขาดจะโดยจากที่ถูกรัฐประหาร โดยใช้กำลังแบบทหาร หรือนายทุนผูกขาด โดยใช้เงินอย่างนี้ เป็นต้น เราอยู่ในท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ ก็พบว่าเสียงของพี่น้องประชาชน ไม่ได้รับการเคารพ และมองข้าม นี่คือประเด็น

เพราะฉะนั้น อำนาจที่รวมศูนย์ มอบอำนาจให้คนกลุ่มน้อยเป็นผู้กำหนด ทำให้คนกลุ่มน้อย คนเสียงเล็กเสียงน้อย คนชายขอบ ไม่ได้รับเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมือง ทิศทางนโยบายการพัฒนาตนเองที่ต่างออกไป จึงเกิดให้เกิดวิกฤตการณ์มากมาย โอกาสนี้เราถือว่าเป็นภาวะฝีแตกมากกว่า ที่สั่งสมจนในที่สุดก็ระเบิด ไม่ว่าจะเป็นประเด็นคอรัปชั่น หรือโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องชุมชน หรือพี่น้องชุมชนในป่าที่ต้องอพยพออกมา จนในที่สุดก็ถูกจับ ปัญหาเหล่านี้ฝีกำลังจะแตก แสดงให้เห็นว่าสะท้อนโครงสร้างของระบบการเมืองการปกครอง สะท้อนโครงการทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพราะฉะนั้นจึงถึงเวลาที่จะปฏิรูป

ทำไมจึงมีพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ลุกขึ้นมาร่วมกันปฏิรูปในครั้งนี้?

พี่น้องชนเผ่าชาติพันธุ์ ถือว่าเป็นประชาชนร่วมที่อยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มชนเผ่าต่างๆ มากกว่า 70 กลุ่มชาติพันธุ์ แต่ที่ผ่านมาความเป็นชนเผ่า อัตลักษณ์ของพี่น้องชนเผ่าถูกทำลาย ถูกครอบงำ ถูกจำกัดสิทธิมากมาย ด้วยระบบที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในโครงสร้างการเมืองการปกครอง ไม่ได้เป็นผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือถูกครอบงำทางวัฒนธรรม โดยสังคมไทยเป็นวัฒนธรรมให้คนส่วนกลางเป็นผู้กำหนด สิ่งนี้คือความไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นเสียงของพี่น้องชนเผ่า จึงเป็นสิทธิที่สำคัญในฐานะพลเมืองไทยด้วย ดังนั้นพี่น้องชนเผ่าจึงมีส่วนร่วมในการกำหนดทุกเรื่องในสังคมด้วยเช่นกัน

แล้วกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่า จะปฏิรูปอย่างไรบ้าง?

อย่างที่เราคุยกันว่า ใครที่ได้เป็นรัฐบาล หรือไม่ได้เป็นรัฐบาล จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือหลังเลือกตั้งก็ตาม ตรงนี้กระแสการปฏิรูปได้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นกระแสใหญ่ที่การเมืองจะต้องมีการดำเนินการเรื่องนี้แน่นอน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ประชาชนทุกกลุ่มเป็นเจ้าของในการปฏิรูป ไม่อย่างนั้นเราจะถูกช่วงชิง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุน กลุ่มข้าราชการ กลุ่มทหาร กลุ่มการเมืองจะกำหนดในการปฏิรูปอีก ซึ่งก็คงจะไม่สอดครองกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ เพราะฉะนั้นโอกาสนี้พี่น้องชนเผ่าจะต้องเข้าไปมีพื้นที่ เป็นเจ้าของการปฏิรูป ต้องไปเสนอข้อเสนอของตัวเอง ต้องเสนอว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิอย่างไร มีข้อเสนออย่างไร และจะมีพื้นที่ให้กับตัวเองให้พี่น้องชนเผ่าเข้าไปกำหนดนโยบายการพัฒนา จะมีส่วนร่วมการเมืองการปกครอง นโยบายเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งนโยบายอาเซียน ต่างๆเหล่านี้ จะทำได้อย่างไร

ถ้าเราไม่ลุกขึ้นไม่มีส่วนร่วมในการกำหนด เราก็จะถูกผู้อื่นกำหนดแล้วเราก็จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ แล้วเราก็จะเป็นผู้ที่มีสิทธิเสียงน้อย เป็นคนชายขอบอยู่อย่างนี้ตลอดไป ซึ่งก็จะเกิดปัญหามากมายอย่างที่เราได้เจอมาแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องลุกขึ้น เป็นเจ้าของปฏิรูปอย่างแท้จริง

เราจะต้องแสดงตัวตน แสดงอัตลักษณ์ แต่ต่อไปจะต้องแสดงตัวตนผ่านเศรษฐกิจ ผ่านนโยบาย การเมืองการปกครอง เรื่องประชาธิปไตย เรื่องกระแสปฏิรูปอย่างนี้ด้วย…

การเข้ามามีสิทธิและร่วมกันกำหนดทิศทางผลักดันการปฏิรูปของทุกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการแก้ปัญหาในระยะยาว รวมถึง ประเด็นเรื่องของชนเผ่าที่แม้จะเป็นเสียงส่วนน้อย แต่ย่อมมีสิทธิที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฎิรูป

เกล็ดแก้ว จอมคำ

รวิษฎา ธรรมวงค์

นักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ