วันนี้ (22 ก.พ. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤษกร (ไพจิต) ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กรณีเขื่อนปากมูล แจ้งข้อมูลว่าเมื่อวันวานนี้ (21 ก.พ.58) มีเจ้าหน้าที่สันติบาล จ.อุบลราชธานี 2 นาย มาพบที่สำนักงานสหกรณ์เกษตรกรพิบูลมังสาหาร เชิญไปพบรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานด้านความมั่นคง ในวันอังคารที่ 24 ก.พ.58 ที่ศาลากลางอุบลราชธานี เพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดงาน 2 ทศวรรษปากมูน ช่วงวันที่ 13 – 14 มี.ค. 2558 ที่โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
“ติดตามต่อครับว่าจะได้จัดงานหรือเปล่า หวังลึกๆ ว่า คสช.และรัฐบาลจะแยกแยะว่านี่เป็นงานเรื่องปากท้อง ไม่เกี่ยวกับการเมือง” นายกฤษกร ระบุ
นายกฤษกร กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 24 ก.พ.นี้ จะเดินทางเข้าพบรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานด้านความมั่นคงตามที่ถูกเรียน ส่วนการพูดคุยกับชาวบ้านเรื่องการดำเนินการต่อไปคงต้องประเมินท่าทีหลังจากนั้น ทั้งนี้ เชื่อว่างาน 2 ทศวรรษปากมูน จะยังคงเดินหน้าไปได้แต่อาจมีข้อจำกัดและมีผู้เข้ามากำกับเพิ่มขึ้น
นายกฤษกร ให้ข้อมูลด้วยว่า งาน 2 ทศวรรษปากมูน เป็นงานใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 และในปีนี้ถือเป็นปีที่ 26 แล้วของการเคลื่อนไหวกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล ส่วนงานใหญ่ในครั้งแรกคือ “เวทีสาธารณะ 2 ทศวรรษปากมูน” ซึ่งจัดเมื่อปลายปี 2553 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเป็นประธานในการเปิดงาน ฝ่ายความมั่นคงอาจมองภาพว่าจะมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากเหมือนในครั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวชาวบ้านมีการจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ไม่ว่าในชื่องานวันหยุดเขื่อนโลก หรืองานสืบชะตาแม่น้ำ และกิจกรรมก็มักมีการเดินรณรงค์ มีคนมาร่วมจำนวนมาก ทั้งเครือข่ายชาวบ้าน นักกิจกรรม และนักวิชาการซึ่งมาร่วมรำลึกถึงพี่มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นเรื่องปกติ
นายกฤษกร ให้ความเห็นว่า สำหรับงานปีนี้ส่วนที่ดูจะเกี่ยวข้องกับการเมืองมากที่สุดคงปาถกฐานำของ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับเรื่องเขื่อนข้ามพรมแดน ตรงนี้เป็นประเด็นใหม่ และการจัดงานงานครั้งนี้มีโปรแกรมที่จะเดินทางไปลาว ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงอ้างเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าจะมีการไปรวมตัวชุมนุมในลาว ตรงนี้เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้หากจะมีความห่วงกังวล
“กิจกรรมที่ทำกันมาตลอด เป็นปกติ ไม่ว่าในรัฐบาลเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จึงไม่น่านำมาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง การจับแพะชนแกะอย่างนี้มากเกินไป เหมือนไม่ต้องการให้ชาวบ้านทำอะไรเลย” นายกฤษกร กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายกฤษกร โพสต์ผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยใช้ชื้อ ป้าย บูรพาไม่แพ้ รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ปากมูนว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2558 เวลาประมาณ 15.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก จ.อุบลราชธานี จำนวน 4 นาย เข้ามาที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูนเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการจัดงานดังกล่าว โดยมีหนังสือสั่งการจากรองผู้ว่าฯ ซึ่งเนื้อหาโดยสรุประบุให้หน่วยงานเข้าตรวจสอบในพื้นที่ จาการที่ชาวบ้านสมัชชาคนจนจะจัดเวทีเรื่องสิทธิในการค้านเขื่อนข้ามพรมแดน
เนื้อหาการพูดคุยที่ถูกนำมาเผยแพร่ มีดังนี้
ตำรวจ = จะมีงานที่ท่านรองผู้ว่าฯ (คันฉัตร ตันเสถียร) จะมาเป็นประธานในงานสัมมนาเรื่องเวทีเรื่องเขื่อนดอนสะโฮงไม่ทราบว่าทางกลุ่มสมัชชาคนจนทราบหรือจะเข้าร่วมในงานนี้หรือไม่ และทางกลุ่มทราบหรือไมว่ามีกลุ่มที่จะเข้าหรือใครจะมาร่วมงานบ้าง
ทีมงาน = ไม่ทราบครับ แต่ถ้าเป็นงานสัมมนาเรื่องเขื่อนดอนสะโฮง ในวันที่ 13 – 14 มี.ค. ที่โขงเจียม ตอนนี้เราก็ประสานงานและอยู่ในระหว่างการประสานงานกำหนดการยังไม่ชัดเจนครับ
ตำรวจ = เนื่องจากมีหนังสือคำสั่งจากทางจังหวัดให้ติดตามความเรียบร้อยในงานว่าจะมีมวลชนมากน้อยแค่ไหนจะได้ช่วยกันดูแลความสะดวกได้ ตกลงคนที่จะร่วมงานมีประมาณกี่คนครับแล้จะมีใครร่วมงานนี้บ้าง
ทีมงาน = ตามตรงไม่โกหกกันนะครับ คนประมาณ 250 คน มีชาวบ้านในพื้นที่และองค์กรเครือข่ายที่รณรงค์เรื่องทรัพยากรและชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงรวมทั้งแม่น้ำสาขา ซึ่งเราจัดกันทุกปีครับเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคมของทุกปี
ตำรวจ = ทราบว่าทางคุณหมอนิรันดร์จะมาร่วมงานนี้ด้วย
ทีมงาน = ใช่ครับเราประสานทางผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนอยู่
ตำรวจ = มีเครือข่ายใดที่จะเข้าร่วมบ้างครับเพื่อที่จะได้รายงานนายได้
ทีมงาน = มีหลายเครือข่ายครับอย่างงานนี้เราก็ประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำฯและได้มีข้อสรุปชัดเจนร่วมกันแล้วและกรมน้ำก็จะร่วมเป็นองค์กรร่วมจัดในงานครั้งนี้ด้วย หมายถึงเป็นเจ้าภาพจัดงานนะครับ
ตำรวจ = หมายถึงกรมทรัพยากรน้ำ/ซึ่งได้ข่าวว่าจะสร้างเขื่อนดอนสะโฮง
ทีมงาน = ใช่ครับงานนี้เป็นงานวิชาการครับพูดเรื่องผลกระทบเขื่อนดอนสะโฮงที่จะมีผลกระทบต่อคนไทยอย่างไรโดยกรมน้ำที่คล้ายว่าเป็นผู้มีข้อมูลมากที่สุดก็เอาข้อมูลมาเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้ มีผลกระทบหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ว่ากันไป
ตำรวจ = ต้องมีอยู่แล้วครับอย่างในตอนนี้เขื่อนที่จีนใช่ไหมครับน้ำในบ้านเราก็แห้ง บางทีน้ำก็ขึ้นโดยไม่มีเหตุผล อันนี้ก็เป็นผลมาจากเขื่อนในจีน (ใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนเรื่องเขื่อนดอนสะโฮงพอควร)
ตำรวจ = ตกลงว่าคนประมาณ 250 นะครับจะได้รายงานนาย
ทีมงาน = ใช่ครับบวกลบประมาณนั้นครับเป็นงานวิชาการครับเราจัดกันทุกปีแต่ปีนี้พิเศษหน่อยอย่างที่รู้กัน ก็ระวังอยู่ครับ
ตำรวจ = ขอบคุณมากครับมีอะไรก็โทรหากันครับจะได้ช่วยเหลือกันดูแลกันได้
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายกฤษกร เคยถูกเรียกรายงานตัวที่มณฑลทหารบกที่ 22 ในวันที่ 20 พ.ย. 2557 เพื่อทำความเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยหนังสือเรียกรายงานตัวระบุถึง การนำเสนอข่าวกรณีนายกฤษกรกล่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารขอความร่วมมือให้ปิดเฟซบุ๊กซึ่งเผยแพร่ข้อมูลการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล แต่นายกฤษกร เข้ารายงานตัวในวันที่ 25 พ.ย. 2557 เนื่องจากติดภารกิจ และได้เดินทางกลับในวันเดียวกัน โดยเขียนและลงนามในบันทึกคำให้การต่อเจ้าหน้าที่