ผุดแคมเปญ ‘ใครๆ ก็เป็นสมศักดิ์เจียมฯ ได้’-จี้ มธ. หยุดอ้างเรื่องวินัยมาใช้ลิดรอนสิทธิ์

ผุดแคมเปญ ‘ใครๆ ก็เป็นสมศักดิ์เจียมฯ ได้’-จี้ มธ. หยุดอ้างเรื่องวินัยมาใช้ลิดรอนสิทธิ์

26 ก.พ. 2558 กลุ่มอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมแสดงความไม่เห็นด้วยกับทางมหาวิทยาลัย หลังจากมีคำสั่งไล่ออกจากราชการ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ จากการละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร ตามเอกสารคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 ลงนามโดย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ วันที่ 23 ก.พ. 2558 (อ่านข่าว: https://thecitizen.plus/node/4790

20152702233206.jpg

20152702233307.jpg

ภาพโดย: Janewit Chueasawatee

เวลา 17.00 น. ที่ลาน อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต กลุ่มนักศึกษาที่ใช้ชื่อว่า ประชาคมคัดค้านคำสั่งไล่ อ.สมศักดิ์ ออกจากราชการ ได้เปิดลงทะเบียนร่วมในแถลงการณ์ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและงานวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย 

แถลงการณ์ดังกล่าวร่างขึ้นโดยนักวิชาการ คณาจารย์ ภาคประชาชนจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ราว 200 คน อาทิ อ.เกษียร เตชะพีระ อ.พวงทอง ภวัครพันธ์ อ.พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์  อ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อ.ปวิน ชัชวาลพงษ์พันธ์ อ.จอน อึ๊งภากรณ์ อ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อ.ชินทาโร ฮารา อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค็ง สุชาติ สวัสดิ์ศรี วชิระ บัวสนธุ์ เดือนวาด พิมพนา และ กฤช เหลือลมัย เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื้อหาในแถลงการณ์ ระบุข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้มหาวิทยาลัยหยุดนำเรื่องวินัยบุคลากรมาใช้อ้างเพื่อลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของบุคลากรทางวิชาการ และ 2.ให้มหาวิทยาลัยแสดงบทบาทสูงสุดในการรับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลทางวิชาการและการวิจัยที่แสดงความเห็นทางวิชาการโดยอิสระและสุจริต และปกป้องคุ้มครองความมั่นคงและความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจของบุคคลากรอย่างเต็มความสามารถ โดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจทางการเมือง

3.ให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยรับประกันสิทธิในการลากิจ การลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ การลาออก และสิทธิในการขอลี้ภัยฉุกเฉินโดยไม่ต้องมีการร้องขอ โดยระบุว่าหากมหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการใดๆ ตามที่ระบุไว้ได้ อันเนื่องมาจากการแทรกแซงและแรงกดดันหรือคำสั่งจากอำนาจทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัยแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องชี้แจงแก่สาธารณชน และแสดงสำนึกของความเป็นนักวิชาการและจริยธรรมทางวิชาการด้วยการลาออก

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมจุดเทียนเพื่อแสงสว่างและเสรีภาพทางวิชาการ โดยกลุ่มนักศึกษาเห็นว่าการถูกไล่ออกของ อ.สมศักดิ์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการด้วยเหตุผลทางการเมือง

ส่วนที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลาประมาณ 18.00 น. นางสาวปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์ และนักศึกษาและนักกิจกรรมจำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ฉบับเดียวกันนี้ โดยมีสื่อมวลชน ทั้งไทยและต่างประเทศ เกาะติดการทำข่าวอย่างใกล้ชิด

20152702233926.jpg

 

 

 

จากนั้น มีการจัดแคมเปญ “ใครๆก็เป็นสมศักดิ์ เจียมฯ ได้” โดยนักศึกษาคนหนึ่งนำแป้งมาโรยที่ศีรษะเพื่อให้ผมมีสีขาว เช่นเดียวกับเอกลักษณ์ทรงผมของ อ.สมศักดิ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดกิจกรรมทั้ง 2 แห่ง ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ แสดงตนเจ้าดูแลการจัดกิจกรรมดังกล่าว มีเพียงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาสังเกตการณ์เท่านั้น 

 

000

แถลงการณ์ปกป้องสิทธิและเสรีภาพ ของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและการวิจัยในสถาบันการศึกษาชั้นสูง

อนุสนธิจากกรณีผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งไล่ดร.สมศักดิ์เจียมธีรสกุลออกจากราชการโดยที่ดร.สมศักดิ์ถูกวิกฤติการณ์ทางการเมืองคุกคามถึงชีวิตจนต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศและได้ยื่นเรื่องขอลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการไว้ก่อนแต่เมื่อถูกถ่วงเรื่องไว้จึงได้แสดงความจำนงขอลาออกจากราชการดังความปรากฏในสื่อสาธารณะแล้วนั้นพวกเราเห็นว่าดร.สมศักดิ์ควรมีสิทธิอุทธรณ์และสิทธิอื่นๆเช่นการลาเพิ่มพูนความรู้การลากิจกระทั่งการลาออก รวมไปถึงการต่อสู้คดีความในศาลยุติธรรมที่ไม่ใช่ศาลทหาร 

และขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยุติการนำข้ออ้างเรื่องวินัยบุคลากร มาใช้เพื่อรวบรัดตัดตอนและลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของบุคลากรทางวิชาการ แม้พวกเรามิได้เห็นว่านักวิชาการควรมีสิทธิพิเศษเหนือประชาชนทั่วไป แต่ในภาวะที่บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ การแสดงความเห็นวิชาการยิ่งต้องได้รับการคุ้มครอง เพื่อให้การแสดงความเห็นในประเด็นสำคัญของสังคมสามารถกระทำได้ และถูกตรวจสอบจากสาธารณชน มากกว่าจะโถมทับความเห็นที่แตกต่างด้วยการไล่ออกจากราชการโดยใช้อำนาจแบบเผด็จการ ซึ่งน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ละทิ้งโอกาสที่จะแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการปกป้องหลักเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการของสถาบันการศึกษาชั้นสูงแต่กลับส่อแสดงความหวาดกลัวต่ออำนาจเผด็จการที่แทรกแซงเข้ามาในมหาวิทยาลัยจนละเลยที่จะปกป้องบุคลากรของตนซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในระดับชาติและนานาชาติต่อความน่าเชื่อถือด้านเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการของมหาวิทยาลัยไทย

ดังนั้นพวกเราผู้มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยทุกแห่งได้แสดงความกล้าหาญทางวิชาการและจริยธรรมอย่างเปิดเผยดังนี้

1.ในยามที่ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขั้นวิกฤติอันมีสาเหตุมาจากอคติของความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนาภาษาความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองมหาวิทยาลัยต้องแสดงบทบาทสูงสุดในการรับรองสิทธิและเสรีภาพของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและการวิจัยซึ่งได้แสดงความเห็นทางวิชาการโดยอิสระและสุจริตแต่กลายผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ฯดังกล่าวมหาวิทยาลัยจึงต้องปกป้องคุ้มครองความมั่นคงและความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจของบุคคลากรผู้นั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถโดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจทางการเมือง

2.ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องสร้างความมั่นคงทางวิชาชีพให้แก่บุคลากรผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ฯดังกล่าวด้วยการรับประกันสิทธิในการลากิจการลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการการลาออกและสิทธิในการขอลี้ภัยฉุกเฉินโดยไม่ต้องมีการร้องขอทั้งนี้โดยหลักการสากลแล้วการขอใช้สิทธิดังกล่าวย่อมไม่มีผลเป็นโทษในทางวินัย

3.หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการใดๆตามที่ระบุไว้ได้อันเนื่องมาแต่การแทรกแซงและแรงกดดันหรือคำสั่งจากอำนาจทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัยแล้วผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องชี้แจงแก่สาธารณชนและแสดงสำนึกของความเป็นนักวิชาการและจริยธรรมทางวิชาการด้วยการลาออกพวกเราเชื่อมั่นว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการนั้นจะช่วยให้สังคมได้เข้าใจมิติของวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน สามารถคลี่คลายไปได้ตามหลักวิชาการ อีกทั้งยังเป็นหลักประกันความก้าวหน้าขององค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เพื่อความเจริญงอกงามของประชาชนและประเทศชาติสืบไป 

แถลง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ