ปักหมุด 24 มิถุนายน “หนึ่งล้านรายชื่อเปลี่ยนประเทศไทย” เสนอ (ร่าง) พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง

ปักหมุด 24 มิถุนายน “หนึ่งล้านรายชื่อเปลี่ยนประเทศไทย” เสนอ (ร่าง) พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง

เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป (คชสป.) รวมพลังผลักดันการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นจริง  15 จังหวัดภาคเหนือพัฒนาข้อเสนอรูปธรรมในพื้นที่  ออกแถลงการณ์ปักหมุด 24  มิถุนายน “หนึ่งล้านรายชื่อเปลี่ยนประเทศไทย”  เพื่อเสนอ (ร่าง)  พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเองพร้อมกันทั่วประเทศ  ยันพร้อมทำงานร่วมกับทุกพรรคการมือง ขอรัฐบาลทุกรัฐบาลเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจและ  จริงใจในการปฏิรูป

 

 

กลุ่มภาคประชาชนที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป (คชสป.)  ร่วมกันจัดเวที รวมพลังปฏิรูปประเทศไทยให้จังหวัดปกครองตนเอง 15 จังหวัดภาคเหนือ   ขึ้นที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา  องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่  ในวันที่ 7 เมษายน 2557    โดยระบุว่าจะเป็นเวทีที่แสดงจุดยืนในการปฏิรูปประเทศไทยพร้อมเสนอข้อเสนอในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็นของภาคเหนือ  ที่สำคัญมีรูปธรรมของการปฏิรูปโครงสร้างผ่านกลไกกฎหมายและเสนอต่อพรรคการเมือง

โดย คชสป. นำโดยนายสวิง ตันอุด นางฑิฆัมพร กองสอน นายสมศักดิ์ คำทองคง   นางมุกดา อินต๊ะสาร  นำเสนอถึง ข้อเสนอของทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยคือภายใต้การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นจากฐานล่าง มีเป้าหมาย  คือ การปฏิรูปโครงสร้างลดอำนาจรัฐกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น  มีอำนาจจัดการตนเอง  ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมุ่งเสนอต่อพรรคการเมืองทุกพรรค กลุ่มพลังทางการเมืองทุกกลุ่มและสาธารณะชน  และพร้อมจะทำงานร่วมกันโดยไม่แบ่งพรรคแบ่งฝ่าย

ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูปยังได้อ่านแถลงการณ์ เรื่อง การปฏิรูปประเทศไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างผ่านกฏหมายจังหวัดปกครองตนเอง  สาระสำคัญของข้อเสนอดังกล่าวคือ

1.การปฏิรูปประเทศไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจการเมือง  ลดอำนาจรัฐส่วนกลาง คืนอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่นปกครองตนเอง ในลักษณะจังหวัดปกครองตนเอง มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด มีสภาท้องถิ่นและสภาพลเมือง ในทุกจังหวัด

2.   คชสป. ภาคเหนือ  จะร่วมสนับสนุนและผลักดัน  (ร่าง) พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง  ที่ยกร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและเครือข่ายฯ ให้ประกาศใช้โดยเร็ว

3.  ผลักดันกฎหมายภาคประชาชนในการปฏิรูปประเทศไทยด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และการเมืองให้สำเร็จบรรลุเช่น พรบ.สิทธิชุมชน   พรบ.ธนาคารที่ดิน  พรบ.ภาษีที่ดินอัตรก้าวหน้า  พรบ.กองทุนยุติธรรม  พรบ.สวัสดิการชุมชน พรบ. ประกันสังคม พรบ.องค์การอิสระผู้บริโภค  พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณะสุข และ พรบ.เชียงใหม่มหานคร   เป็นต้น

4.  คชสป. ภาคเหนือ จะร่วมกันสานพลังภาคีทุกภาคส่วนในทุกพื้นที่ทุกจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยอย่างเป็นขบวนการและต่อเนื่อง

5.   ในวันที่ 24 มิถุนายน 2557  คชสป.ภาคเหนือ  และภาคีจะร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมเคลื่อนไหวปักธง  “หนึ่งล้านรายชื่อเปลี่ยนประเทศไทย”  เพื่อเสนอ (ร่าง)  พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเองพร้อมกัน ทุกจังหวัดภาคเหนือ และประเทศ

6.   เรียกร้องให้รัฐบาลทุกรัฐบาลดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย อย่างจริงจัง ด้วยความจริงใจ โดยให้ถือเป็นวาระแห่งชาติ  สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน  โดยเฉพาะต้องมีส่วนร่วมจากภาคองค์กรชุมชนและประชาสังคมที่ชัดเจน และก้าวข้ามการนำประเด็นนี้ไปเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อตนเองและพวกพ้อง

งานดังกล่าวผู้แทนคณะทำงานขับเคลื่อนเชิงพื้นที่มีการนำเสนอ ข้อเสนอเชิงพื้นที่ 15 จังหวัดและข้อเสนอเชิงประเด็น  รวมถึงภาพรวมของข้อเสนอการปฏิรูปประเทศไทยภาคเหนือ และมีช่วงของการพัฒนาขอเสนอและความร่วมมือในการขับเคลื่อนและปฏิรูปร่วมกับ คชสป.ภาคเหนือ โดยตัวแทนหลายองค์กรเช่น นายเสน่ห์ วิชัยวษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแก่งชาติ    นายพลากร      วงค์กองแก้ว   ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

จากนั้นในช่วงบ่าย   ภาคีเครือข่าย คชสป.ภาคเหนือ มีการเคลื่อนขบวนการรณรงค์ การปฏิรูปประเทศไทย ของ คชสป. ภาคเหนือ  ไปที่ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์  ประกอบพิธีสักการะ อนุเสาวรีย์สามกษัตริย์ กล่าวคำปฏิญาณ ต่อการปฏิรูปประเทศไทยโดยการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นปกครองตนเอง 15 จังหวัดภาคเหนือ   มีการแถลงข่าวข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศไทย 15 จังหวัดภาคเหนือ และยื่นข้อเสนอต่อพรรคการเมือง.

อนึ่ง  กลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป (คชสป.) ประกอบไปด้วยคณะทำงานภาคประชาชนที่ทำงานพัฒนาชุมชนฐานรากมานานกว่า ๓๐ ปี กระจายทั่วประเทศกว่า ๑๕,๗๗๒ องค์กร เช่น สภาองค์กรชุมชน สวัสดิการชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักธุรกิจ เครือข่ายการทำงานด้านการจัดการทรัพยากร คนชายขอบ ฯลฯ จึงได้เปิดตัวและประกาศข้อเสนอของเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๗ เป็นครั้งแรก ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมีสาระสำคัญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางสังคม เน้นการกระจายจากรัฐสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น ทั้งนี้เครือข่ายไม่ต้องการอิงกับขั้วการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากว่าต้องการนำเสนอต่อทุกฝ่ายเพื่อให้หันมาแก้ไขปัญหาสังคมที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง

 

 ตีกะโล้ก..การเคาะกระบอกไม้ไผ่เพื่อส่งสัณญานให้คนเหนือมาช่วยกันทำอะไรที่สำคัญเพื่อชุมชนด้วยกัน วันนี้วิกฤติประเทศเกิดขึ้นจากการรวมศูนย์อำนาจ เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป 15 จังหวัดภาคเหนือ ตีกะโล้กพร้อมกัน…ได้เวลากระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นปกครองตนเอง ปักหมุด 24 มิถุนายน ล้านรายชื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหนุน พ.ร.บ.จังหวัดปกครองตนเอง

           

 

                       

ข้อมูลประกอบ  

ข้อเสนอภาคเหนือเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป(คชสป.) ภาคเหนือ จังหวัดและชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เดินหน้าปฏิรูป เริ่มทันที ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

วิกฤติประเทศไทย
—    เกิดความขัดแย้งทางการเมืองรอบแล้วรอบเล่า ปี ๑๖/๑๙/๓๕/๔๙/๕๓/๕๗
—    เกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร หลายครั้ง ประเทศไทยที รัฐธรรมนูญถึง ๑๘ ฉบับ
—    มีการประท้วงไม่ต่ำกว่า ๗,๐๐๐ ครั้ง
—    เกิดการคอรัปชั่นมากมาย โดยเฉพาะโครงการของรัฐ
—    เกิดธุรกิจการเมือง การรวบอำนาจโดยคนไม่กี่คน ซื้อประเทศได้
—    เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาลในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
—    เกิดความเหลือมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร “รวยกระจุก จนกระจาย”

 เป้าหมายของการปฏิรูปประเทศไทย
๑.)    เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้กับคนทุกกลุ่ม
๒.)    เพื่อหยุดยั้งความเสียหายและผลกระทบทางด้านต่างๆ ต่อชุมชน สังคมและทรัพยากรธรรมชาติ อันเกิดจากการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์อำนาจที่มีมานานกว่าร้อยปี
๓.)    เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจในการกำหนดอนาคตและจัดการตนเองด้านต่างๆ
๔.)    เพื่อให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการใช้อำนาจทางการเมืองในทุกระดับ 
๕.)    เพื่อลดความขัดแย้ง การแบ่งขั้ว การแบ่งพวก เพราะจังหวัดเป็นของทุกคน ที่สามารถเข้าร่วมบริหารจัดการได้ด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ และองค์กรปกครองของตนเอง

หลักการ

๑.)    การปฏิรูปในทุกเรื่องต้องเป็นไปเพื่อ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ให้ประชาชน ชุมชน และท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
๒.)    ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ที่จะมีผลต่อเนื่องยาวนานทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป

ปฏิรูปการเมือง การปกครองออกกฎหมาย จังหวัดปกครองตนเอง
๑.)    กระจายอำนาจ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยที่ยังมีองค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่นที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมด (ยกเว้นอบจ.) สัดส่วนสมาชิกให้มีหญิง-ชายจำนวนที่เท่ากัน
๒.)    ให้มี “สภาพลเมือง” หรือ สภาที่ใช้ชื่ออย่างอื่นที่มีที่มาจากบุคคลสาขาอาชีพต่างๆ ทำงานกำกับดูแล ถ่วงดุลการใช้อำนาจและกำหนดทิศทางการพัฒนาและการบริหารของจังหวัด
๓.)    ให้จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการเก็บภาษีและจัดแบ่งรายได้ไว้สำหรับการพัฒนาจังหวัดไม่น้อย
กว่าร้อยละ ๗๐ และมีกฎหมายบังคับให้ธุรกิจต่างๆในจังหวัดเสียภาษีที่จังหวัด ไม่ใช่ส่วนกลาง
๔.)    ให้จังหวัดและ/หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับ ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจออก
ข้อบัญญัติในท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการท้องถิ่นในทุกมิติ ในขอบเขตที่มากกว่าปัจจุบัน
๕.)    ประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าชื่อกันถอดถอนผู้บริหารและข้าราชการระดับสูงในจังหวัดที่ประพฤติมิชอบได้
๖.)    จำกัดวาระการอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองของผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจทางการเมือง
๗.)    จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องร่วมกับประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นที่มีระยะเวลาอย่างน้อยสามปี และกำหนดแผนนั้นเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ แบบมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม
๑.)    ให้มีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมธุรกิจที่ดำเนินการโดยคนท้องถิ่น ป้องกันไม่ให้ธุรกิจท้องถิ่นถูกทำลายโดยธุรกิจขนาดใหญ่จากภายนอก
๒.)    มีกฎหมายคุ้มครองพื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่ผลิตอาหาร ไม่ให้ถูกทำลายโดยการขยายตัวของเมืองหรืออุตสาหกรรม ให้มีกฎหมายคุ้มครองพันธุกรรมท้องถิ่นทั้งพืชและสัตว์ เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของชุมชน
๓.)    มีมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม
๔.)    มีกฎหมายประกันรายได้ของเกษตรกรและแรงงานนอกระบบ
๕.)    ให้มีกฎหมายเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าและกฎหมายธนาคารที่ดินเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและประชาชนมีที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย
๖.)    ให้มีกฎหมายรองรับการจัดการที่ดินและป่าโดยองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ยกเลิกกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดินในปัจจุบันซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ
๗.)    ให้มีแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นทุกประเภท เช่น ป่าไม้ ที่ดิน แม่น้ำ ทะเลชายฝั่ง แร่ธาตุ ฯลฯ โดยแผนดังกล่าวมีสถานะเป็นกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นและสภาพลเมือง
๘.)    มีมาตรการจัดเก็บภาษีจากปลายน้ำเพื่อบำรุงป่าต้นน้ำ
๙.)    มีมาตรการทางกฎหมายห้ามมิให้มีการยึดครองหรือผูกขาดการใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ
๑๐.)    ให้จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการการใช้พลังงานในท้องถิ่นให้ความยั่งยืน คนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
๑๑.)    จังหวัดและชุมชนมีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาต การให้สัมปทาน ค่าตอบแทน กำหนดมาตรการการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานและ แร่ธาตุต่างๆที่มีอยู่ในท้องถิ่น

ปฏิรูปสังคม บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่เคารพศักดิ์ศรีพลเมือง
๑.)    ให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน สามารถจัดสรรที่ดินของรัฐที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานต่างๆเพื่อแก้ปัญหานี้ได้
๒.)    ให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่จัดการศึกษาที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมของ
ท้องถิ่น ซึ่งรวมทั้งการให้มีการสืบทอดภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่างๆในท้องถิ่น การมีคณะกรรมการหลักสูตรท้องถิ่น การมีทุนการศึกษาให้คนท้องถิ่นที่จะกลับมาทำงาน ฯลฯ
๓.)    จังหวัดจัดระบบประกันการเข้าถึงการศึกษา เรียนฟรีถึงปริญญาตรี การปรับปรุงระบบกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต(กรอ.) โดยจังหวัดบริหารจัดการงบเองในพื้นที่
๔.)    ให้มีกฎหมายสวัสดิการชุมชน ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ชุมชนสามารถจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบลได้ โดยให้สมาชิกสมทบกองทุนและให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสมทบกองทุนเป็นรายปีตามจำนวนสมาชิก
๕.)    ให้จังหวัดและอปท.มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการการบริการสุขภาพในระดับตำบล เมืองและจังหวัด
๖.)    ให้จังหวัดและอปท.มีอำนาจจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่โดยใช้ระบบภาษี ยุบรวมระบบหลักประกันสุขภาพให้มีระบบเดียว คุณภาพมาตรฐานเดียว 
๗.)    จังหวัดจัดระบบบำนาญประชาชนขั้นพื้นฐานโดยเสมอภาคสำหรับพลเมือง
๘.)    จังหวัดจัดระบบการออมเพื่อชราภาพ
๙.)    จังหวัดจัดสวัสดิการรายได้ คูปองอาหาร สำหรับคนที่มีภาระเลี้ยงดูครอบครัวตามลำพัง คนที่มีรายได้ไม่ถึงรายได้ขั้นต่ำ 
๑๐.)ให้จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจและเครือข่ายองค์กรชุมชนมีสิทธิในการใช้คลื่นวิทยุและ
โทรทัศน์เพื่อการศึกษาและการสื่อสารของคนในท้องถิ่นทั้งในระดับเมือง ตำบลและจังหวัด โดยกสทช.สนับสนุนการดำเนินการของสื่อของรัฐและชุมชนดังกล่าวจากรายได้ของกสทช.
๑๑.)จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการให้บริการขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรมให้กับ
ชุมชนทั่วทั้งจังหวัด
๑๒.) ให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการสนับสนุนการทำงานขององค์กรชุมชน
และองค์กรอาสาสมัคร องค์กรประชาสังคม โดยมีกฎหมายรองรับการสนับสนุนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายของฝ่ายการเมือง
 ๑๓.) กฎหมาย ข้อบัญญัติท้องถิ่น มาตรการ แผนพัฒนาต่างๆที่ดำเนินการโดยจังหวัดและองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในท้องถิ่น

เดินหน้า ผลักดันกฎหมาย  “จังหวัดปกครองตนเอง”

7 เมษา 57       รวมพลังเครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป(คชสป)ภาคเหนือ 15 จังหวัด เพื่อยื่นร่าง พรบ.จังหวัดปกครองตนเอง ให้กับพรรคการเมืองทุกพรรค ต่อหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ผู้สถาปนาเมืองเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนา

เมษา-มิถุนา 57    คชสป.แต่ละจังหวัด ยื่น ร่าง พรบ.จังหวัดปกครองตนเอง ให้กับ สส.  สว. ในจังหวัดตนเอง รณรงค์  “ปฏิรูปประเทศ ให้จังหวัดปกครองตนเอง” สร้างความเข้าใจในเครือข่าย ประชาชนทั่วไป การจัดเวทีสื่อสารสาธารณะให้ความรู้ความเข้าใจ

24 มิถุนา 57    รวมพล คชสป. ทั่วประเทศ เสนอกฎหมาย จังหวัดปกครองตนเอง ให้รัฐบาล รัฐสภา และองค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย 
 

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ