เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ
หลายปีมานี้ สังคมไทยเต็มไปด้วยการชุมนุมประท้วง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิ ต่อต้านนโยบายที่ไม่เหมาะสมของรัฐบาล ฯลฯ มีทั้งกลุ่มที่ต่อสู้มาต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้านัก และกลุ่มที่ออกมาเพียงไม่นานก็คล้ายกับว่าได้รับการตอบสนองเงื่อนไขที่เรียกร้องอย่างรวดเร็ว
แม้คนจำนวนมากในเมืองหลวงจะรู้สึกว่า การชุมนุมประท้วงนั้นสร้างความเดือดร้อนเสียหาย แต่เมื่อเกิดกระแสการชุมนุมเพื่อเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างที่เห็นว่าสมควร พวกเขาก็ไม่รีรอที่จะเดินหน้าเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงนั้นทันที ทั้งหมดทั้งมวลแสดงให้เห็นว่า การที่รัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถชุมนุมประท้วงได้นั้น คือบรรยากาศของสังคมประชาธิปไตย อย่างไรประชาชนก็มีสิทธิในการชุมนุมประท้วง แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่รัฐกำหนดไว้ด้วย
หลังรัฐประหารครั้งล่าสุดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลคาดหวังว่า พ.ร.บ. นี้จะสามารถนำมาใช้ควบคุมการชุมนุมได้เคร่งครัดขึ้น หลังจากที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้สถานการณ์ความวุ่นวายจากการชุมนุมทางการเมืองติดต่อกันเป็นเวลานาน
และต่อจากนี้คือส่วนหนึ่งของการพูดคุยกับ ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแสดงทัศนะที่มีต่อร่าง พ.ร.บ. นี้ไว้ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ชนิดเงียบเชียบแบบที่ใครก็ไม่สามารถค้านได้
ข้อกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.
เริ่มจากสิ่งที่ไม่กังวลก่อน หลักๆ คิดว่าการใช้กำลังปราบปรามหรือควบคุมการชุมนุม การประท้วงของชาวบ้านที่สู้เรื่องปากท้อง คิดว่าตอนนี้มีวิธีคิดบางอย่างของตำรวจที่ไม่อยากทำ ไม่รู้ว่าในท้องถิ่นจะเป็นยังไง แต่อย่างตำรวจนครบาล เวลาเขาเข้าไปจัดการม็อบชาวบ้าน กับม็อบกรุงเทพฯ ม็อบชาวบ้านง่ายกว่าเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าการประท้วงมาจากชาวบ้านที่มีปัญหาปากท้อง สำหรับตำรวจคือรับมือได้ และหวังว่าจะทำให้เขารู้สึกว่าเขามีหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมที่เป็นชาวบ้านมากกว่าจะไปควบคุม
เข้าใจว่า พ.ร.บ. นี้ ร่างขึ้นมาเพื่อดูแลการประท้วงเรื่องการเมืองที่อยู่ในความขัดแย้งสองขั้วสองสี ความขัดแย้งแบบนี้มีลักษณะพิเศษคือผู้ชุมนุมแต่ละค่ายใช้การประท้วงขนาดใหญ่เพื่อโค่นล้มอำนาจของรัฐบาลฝ่ายตรงข้าม ทีนี้สำหรับผู้ชุมนุมบางกลุ่ม ตำรวจคือฝ่ายเดียวกับรัฐบาล เพราะฉะนั้นเวลาที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอะไรก็ตาม กระทั่งก่อนที่จะมีร่างพ.ร.บ. นี้ ก็มีการบังคับใช้กฎหมายหลายอย่าง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงมาก เพราะประมวลกฎหมายอาญาฯ ที่บอกว่า ผู้ชุมนุมพยายามประทุษร้ายหรือประทุษร้ายแล้ว พอใช้กฎหมายที่มีอยู่ ผู้ชุมนุมก็ยังฝ่าฝืน เพราะกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลที่เขาต่อต้านแล้วเขาต้องการบอกว่ารัฐบาลไม่ชอบธรรม ช่องทางที่จะบอกว่ารัฐบาลไม่ชอบธรรมก็คือฝ่าฝืนกฎหมายมันซะเลย
เวลาตำรวจคิด พ.ร.บ.มา อยากให้เป็นเครื่องมือในการดูแลการชุมนุมทางการเมือง พออ่านไล่ตามมาตราจริงๆ เป็นเรื่องการจัดการ ถ้าแบ่ง พ.ร.บ.เป็นกลุ่มๆ ก็คือมีการจัดการ การป้องกัน การลงโทษ และการดูแลความปลอดภัยให้กับคนที่ไม่ได้ชุมนุม ชุมชนรอบข้าง ทั้งหมดนี้ตำรวจหวังว่าจะเป็นเครื่องมือดูแลผู้ชุมนุมและมีอำนาจในการลงโทษผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืน ทีนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นอำนาจจริงไหมหรือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะยิ่งกระตุ้นให้ผู้ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายมากขึ้นไปอีกถ้าความกังวลใจของตำรวจคือการชุมนุมทางการเมืองแบบนี้ เพราะฉะนั้นในแง่ประสิทธิภาพของเครื่องมือกฎหมายอันนี้ ไม่รู้ว่าจะเป็นไปตามความคาดหวังของเจ้าหน้าที่ตำรวจไหม อันนี้เป็นข้อกังวล
และเครื่องมืออย่างกฎหมายยิ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ยึดติด อย่างเช่นเขาเห็นว่า พ.ร.บ. ที่มีอยู่เป็นยาแรง มีอะไรก็ใช้เลย ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยมีศักยภาพในการใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น การเจรจา
งานวิจัยพบว่าการเจรจานั้นสำคัญมากสำหรับความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเฉพาะการชุมนุมต่างๆ ของชาวบ้าน ตำรวจอยู่ในพื้นที่ เป็นตำรวจชุมชน เพราะฉะนั้นรู้จักแกนนำ มีช่องทางคุยกันได้ เช่น คุณอย่าไปเส้นทางนี้ เป็นช่วงเวลาที่มีรถผ่านหรือมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ก็อย่าไปเดินขบวนตรงนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเลิกชุมนุม ขอเพียงว่าอย่าไปในที่ที่จะสร้างความไม่สบายใจ ทีนี้ในกรุงเทพฯ ก็มีการใช้กันในกรณีที่มีการชุมนุมใหญ่ๆ ถ้าไม่ใช้มันคงมีความเข้าใจผิดกันหลายครั้ง แล้วส่วนใหญ่การเจรจามาจากสายสัมพันธ์ของตำรวจกับแกนนำผู้ชุมนุม และสายสัมพันธ์อันนี้ต้องสร้าง แล้วก็ให้การเจรจาเป็นเครื่องมือที่สำคัญพอๆ กับกฎหมาย
ปัญหาอย่างหนึ่งที่งานวิจัยพบเกี่ยวกับตำรวจก็คือ เจ้าหน้าที่มักจะลืมไปว่าในพื้นที่ชุมนุมตัวเองไม่ใช่ตำรวจอย่างเดียว แต่กำลังเจอกับความขัดแย้งที่นอกเหนือไปจากองค์กรตำรวจ เช่น ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มเกษตรกร ตำรวจเป็นหน้าด่านเท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าเอาตัวเองเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้ง การบังคับใช้กฎหมายแบบเคร่งครัด นอกจากจะเป็นแนวทางให้ผู้ชุมนุมฝ่าฝืนมากขึ้น เพื่อเน้นย้ำความไม่ชอบธรรมขององค์กรตำรวจและรัฐบาล มันก็ทำให้คุณมองไม่เห็นเครื่องมืออื่น ไม่เห็นว่าเมื่อก่อนเราทำอะไรได้
หลายครั้งที่การบังคับใช้กฎหมาย เช่น ถ้ามีการออกหมายจับ กรณีที่ตำรวจสั่งฟ้องแกนนำ ตำรวจจะไม่สามารถไปคุยกับแกนนำได้แล้ว ถ้าพบว่าคุยกันต้องจับ เพราะถือว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ คือบางทีเครื่องมือกฎหมายก็ไปบั่นทอนประสิทธิภาพของการเจรจา ดังนั้นจะใช้ต้องคำนึงถึงเครื่องมืออื่นๆ ที่เรามี และจะใช้ในสถานการณ์ที่เหมาะสม
หมายความว่าต้องดูบริบทของม็อบแต่ละม็อบ?
ใช่ๆ คืออย่าใช้มันแบบเหวี่ยงแห จะอันตรายมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะระลึกอยู่เสมอว่า ไม่มีชาวบ้านที่อยู่เฉยๆ แล้วเขาจะอยากออกมาประท้วงตามท้องถนน มันเหนื่อย ร้อนก็ร้อน คุณได้สตางค์ขนาดไหนมันก็ไม่คุ้มหรอก หมายความว่าถ้าตำรวจเขาเชื่อว่าถูกจ้างมาจริงๆ คือมันไม่คุ้ม ถ้ามันไม่มีเหตุจูงใจ แล้วเหตุจูงใจนั้นมาจากไหน ก็คือความเดือดร้อน
ตำรวจอาจจะต้องแยกระหว่างการชุมนุมที่ดูแลได้ แล้วก็เป็นบรรยากาศทางประชาธิปไตย ตำรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย ไม่ให้มีการทำลายผู้ชุมนุมโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย กับอีกอันคือการชุมนุมทางการเมือง ถ้าใช้กฎหมายแบบเหวี่ยงแหก็จะเป็นปัญหา เพราะว่ามันเป็นการเมือง การที่ตำรวจเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยการใช้กฎหมายห้ามผู้ชุมนุมทำนั่นทำนี่อย่างเคร่งครัดมากๆ อาจทำให้ตำรวจกลายเป็นคู่กรณีโดยไม่รู้ตัว แล้วยิ่งพยายามตอกย้ำประเด็นของผู้ชุมนุมว่าตำรวจเข้าข้างอีกฝ่าย ตำรวจไม่เป็นกลาง ฯลฯ เพราะฉะนั้นต้องคำนึงถึง 1.บริบทของความขัดแย้ง 2. ธรรมชาติของผู้ชุมนุม 3. เครื่องมือที่ตำรวจมีอยู่แล้ว อย่ายึดเพียงแต่กฎหมายอย่างเดียว
เพราะถ้าผู้ชุมนุมรู้สึกโกรธ บางทีตำรวจที่ไปยืนอยู่หน้าผู้ชุมนุม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย โดนด่า โดนขว้างของใส่ สารพัด แล้วการกินอยู่ก็ลำบาก เพราะส่วนใหญ่การระดมกำลังของตำรวจมาไม่ใช่มาจากเฉพาะกรุงเทพฯ ตำรวจควบคุมฝูงชนมาจากเกือบทุกจังหวัด แล้วก็เป็นการเวียนกำลัง คือจังหวัดหนึ่งมาจะอยู่ 7 – 10 วัน แล้วก็ได้เบี้ยเลี้ยงจำนวนหนึ่ง มีข้าวกล่องให้กิน แต่บางทีก็ไม่มีที่นอนนะคะ อยู่เต็นท์ ฝนตกก็ต้องอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นคนที่ลำบากคือชั้นผู้น้อย
พ.ร.บ. ออกมาเพื่อกำจัดกลุ่มก้อนทางการเมือง แต่เหมือนก็ส่งผลกระทบกับคนรากหญ้าด้วย
เข้าใจค่ะ เพราะร่างนี้ผ่านมาหลายหน้าตา ตอนแรกดิฉันก็กังวลอยู่ว่ามันจะถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปราบปรามหรือนำไปสู่การควบคุม…มันเป็นการควบคุมเชิงโครงสร้างด้วยนะ เพราะว่าคุณทำให้การชุมนุมประท้วงยากขึ้น ถ้ามี พ.ร.บ. ออกมา อยู่ๆ ออกไปเดินขบวนเลยไม่ได้นะคะ ต้องขออนุญาตก่อน 24 ชั่วโมง ถึงจะทำอย่างนั้นได้ ถามว่าถ้าเข้าไปดูในรายละเอียดจริงๆ พ.ร.บ. ห้ามการกระทำหลายอย่างที่คิดว่าแกนนำชาวบ้านจะไม่ทำแบบนั้น เช่น การชุมนุมประท้วงที่เข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาลมากๆ เข้าใจว่าเขากำหนดระยะให้ห่าง 150 เมตร เพราะฉะนั้น ดิฉันเดาว่าการระบุแบบนี้หมายถึงอย่าเข้าไปยึดทำเนียบ รัฐสภา สถานที่ราชการสำคัญ อย่าเข้าไปตัดน้ำตัดไฟ
วิธีการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านมีความสุดโต่งน้อยกว่ากลุ่มการเมือง เมื่อเทียบกันแล้วคนละชั้นเลย เพราะชาวบ้านรู้ว่าตัวเองไม่มีเสียงเยอะ เวลามาชุมนุมในกรุงเทพฯ อยากจะได้รับความช่วยเหลือ ความเห็นใจ จากคนในเมืองกรุงเทพฯ ดิฉันคิดว่าชาวบ้านมีเหตุผล อย่างดีที่สุดก็ปีนรั้ว แต่ว่าอันนั้นก็มีเหตุ คือถ้าตำรวจไม่กดดันเขาหรือใช้กฎหมายแบบเคร่งครัดจนเกินไป พยายามเจรจา คุยกับแกนนำเยอะๆ ว่าตรงไหนทำได้ ตรงไหนทำไม่ได้ ดิฉันคิดว่าพฤติกรรมที่ระบุในพ.ร.บ. ไม่ใช่พฤติกรรมโดยการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านทั้งหมด
แบบนี้ก็ดีสำหรับคนกรุงเทพฯ สิ…
ไม่รู้นะ แต่คนกรุงเทพฯ กลุ่มหนึ่งก็เพิ่งร่วมการประท้วงล้มการเลือกตั้งไม่ใช่เหรอ (หัวเราะ) คือจริงๆ พ.ร.บ. ไม่ได้ห้ามการชุมนุม แต่บอกว่าถ้าจะชุมนุมช่วยบอกกันล่วงหน้านิด จะได้เตรียมตัวกันหน่อย ดิฉันว่าอันนี้สำคัญที่ความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เพราะสิ่งที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือ โครงสร้างการควบคุมฝูงชนตอนนี้มีประสิทธิภาพและซับซ้อนมาก อย่างที่บอกว่าจะมีการระดมเจ้าหน้าที่มาจากต่างจังหวัด และการระดมเหล่านี้ต้องอาศัยแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน มันเหมือนแผนรับมือภัยธรรมชาติ มันไม่ใช่แผนรับมือภัยคุกคามความมั่นคงของรัฐ แต่มันคือการจัดการ
สมมติว่าคุณเจอคลื่นมหาชนมากๆ เราต้องใช้กำลังพลเท่าไหร่จึงจะดูแลความปลอดภัยได้ ต้องใช้หน่วยตรวจอาวุธเท่าไหร่ เราต้องมีน้ำมีข้าวให้เจ้าหน้าที่เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นหลายอย่างเป็นการจัดการ อีกอันหนึ่งคือเป็นการจัดลำดับการบัญชาการ หมายความว่าตอนนี้ระบบการบัญชาการแยกเป็นเหตุการณ์ จุดที่มีการชุมนุมประท้วงมีเจ้าหน้าที่ระดับกำลังที่เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน แล้วก็มีนายเขา ซึ่งเรียกว่าผู้บังคับบัญชาการเหตุการณ์ ซึ่งสามารถตัดสินใจเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุมพื้นที่ได้บ้าง หมายความว่าต่อไปนี้ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการเจรจากับผู้ชุมนุมเพื่อจะคลี่คลายความตึงเครียด ก็ไม่ต้องวิ่งไปบอกนายแล้ว อาจจะวิทยุสื่อสารถึงกัน แล้วอะไรที่ทำได้ ก็ทำ
ถามว่าอันนี้กันการประท้วงไหม ดิฉันว่ากันลำบาก คนไทยมาถึงจุดที่การประท้วงซึมไปในสายเลือด โดนห้ามกันแบบนี้ก็ยังยึกยัก แล้วพูดในภาษาวิชาการก็คือ คนไทยกลายเป็น Active Citizen เพราะฉะนั้นถ้า พ.ร.บ. ห้ามประท้วง ดิฉันคิดว่าความชอบธรรมของพ.ร.บ. และตำรวจจะลดลงทันที สิ่งที่ดิฉันเห็นในพ.ร.บ. เน้นอยู่ 2 – 3 บรรทัดว่า การชุมนุมเป็นสิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ แต่จะชุมนุมอย่างไร
สิ่งที่น่ากังวลต่อ พ.ร.บ. อย่างที่รู้ ใช้ในการชุมนุมที่ตำรวจดูแล มันมีการชุมนุมบางแบบที่โอนอำนาจไปสู่องค์กรความมั่นคงอื่น เช่น ทหาร อันนี้คือนอกเหนืออำนาจ พ.ร.บ. แล้วไม่ใช่เป็นการจัดการเพื่อมหาชน แต่เป็นการรับมือภัยคุกคาม ซึ่งเป็นโครงสร้างกฎหมายคนละชุด โครงสร้างกฎหมายที่ให้อำนาจทหารคือกฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก, พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งจำกัดหรือกำจัดการชุมนุมเลย ต้องระวังมากกว่า แล้วอาจจะทำให้มีการใช้กำลังขนาดใหญ่ได้แบบไม่ต้องรับผิดชอบ
ถ้า พ.ร.บ. นี้ ออกมาบังคับใช้จริง ควรจะเป็นแบบไหน
ดิฉันคิดว่าพ.ร.บ. อาจจะมีเป้าประสงค์ที่ดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนะ ถ้ามองในแง่ดี แต่พอมาออกช่วงรัฐบาลพิเศษแบบนี้ ทำให้ความชอบธรรมของพ.ร.บ. มีปัญหา แล้วก็เลยโดนตั้งคำถามจากภาคประชาสังคมมากขณะนี้ ถ้าไปถามตำรวจเขาก็จะบอกว่า เวลาที่เราไปพยายามผลักให้ออกในช่วงรัฐบาลพลเรือน โดนปฏิเสธตกไปตลอด
สาเหตุอันหนึ่งของการผลักตกในรัฐบาลพลเรือนก็คือบ้านเรามันอยู่ในวังวนความขัดแย้งที่กลุ่มการเมืองต่างๆ อาศัยมวลประชาชนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะฉะนั้นสำหรับตำรวจ การผลักพ.ร.บ. ในช่วงรัฐบาลพลเรือนเลยกลายเป็นว่านักการเมืองพวกนี้ก็ไม่เอา เพราะเดี๋ยวเขาอาจจะต้องใช้ประชาชนในการออกมาชุมนุม อันนี้พูดแบบสุดโต่งเลยนะ แต่สำหรับให้พูดตามความเห็นส่วนตัว…
การพยายามผลักพ.ร.บ. ในรัฐบาลพลเรือน สำคัญต่อความชอบธรรมขององค์กรตำรวจ และพ.ร.บ.ชุมนุมนี้ ถึงแม้ว่าจะยากเย็นเพียงไหนก็ตาม ต้องพยายามผลัก และในหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยผลักกันได้นะคะ ภายใต้รัฐบาลพลเรือน แล้วก็เป็นที่ยอมรับได้บ้างของประชาชน เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. โดยลำพังไม่ใช่ปัญหา แต่คือที่มาของมัน
ตัวอย่างของกฎหมายควบคุมการชุมนุมที่ประชาชนยอมรับได้เป็นอย่างไร
สิ่งที่เรียกว่าการประท้วง หลายประเทศเรียกว่าเป็น civil unrest คือการก่อความไม่สงบโดยพลเมือง เช่น ประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ อย่างฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี หลายประเทศในยุโรปเจอการประท้วงขนาดใหญ่ แล้วก็หวั่นๆ จะกลายเป็นการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ในช่วงทศวรรษ 60 – 70 ชัดเจนเลย ก็คือกลุ่มเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่พยายามต่อสู้ทางอุดมการณ์ แล้วก็ออกมาประท้วง รวมถึงต่อต้านสงครามในเวียดนาม พอประท้วงถึงช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะในอังกฤษ ตำรวจจัดการไม่ได้
อังกฤษมีโมเดลการควบคุมฝูงชนที่น่าสนใจ เครื่องมือของเขาไม่ใช่กฎหมายและกำลัง แต่คือการได้รับความยอมรับจากประชาชน เพราะฉะนั้นตำรวจในอังกฤษพยายามไม่พกอาวุธ และจริงๆ คือมีคำสั่งไม่ให้พกอาวุธ กระทั่งขณะเดินตรวจตรา ชื่อเรียกตำรวจก็จะน่ารักๆ เช่น บ็อบบี้ และตำรวจก็พยายามเป็นมิตรกับประชาชน เขาเชื่อว่าคนที่จะเคารพกฎหมายหรือไม่ มาจากการที่คนเห็นว่าตำรวจชอบธรรมหรือเปล่า กฎหมายน่ากลัวขนาดไหน แต่ถ้าคนเห็นตำรวจแล้วรู้สึกไม่เคารพองค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย คนก็จะฝ่าฝืนกฎหมายไปเรื่อยๆ
แต่การประท้วงในปี 70 ทำให้ตำรวจอังกฤษเปลี่ยนทิศทาง ก็คือเริ่มออกกฎหมายที่ใช้จำกัดการชุมนุมประท้วงมากขึ้น เช่น การรวมตัวอยู่นิ่งๆ ไม่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าเดินขบวนเมื่อไหร่ต้องขอ ถ้าจำไม่ผิด เข้าใจว่าต้องขอล่วงหน้า 16 วัน เพื่อตำรวจจะได้เตรียมการ การเดินขบวนประท้วงไปยังถนนต่างๆ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะมีคนต้องใช้ถนนเส้นเดียวกันเยอะอยู่ มันต้องจำกัดพื้นที่ที่คนไปได้ ในฝรั่งเศสกับเยอรมนีก็มีการออกกฎหมายเพื่อไม่ให้การประท้วงมันสุดโต่ง แต่ว่าไม่ได้ห้ามการชุมนุมประท้วง เข้าใจว่าล่าสุดในแฟรงก์เฟิร์ต มีการชุมนุมประท้วงเรื่องมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล แล้วก็กลายเป็นเจ้าหน้าที่ปราบปรามใหญ่โตเลย นี่คือประเทศประชาธิปไตย
ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้จะบอกว่าทำอย่างนี้ถูกต้อง แต่พยายามจะอธิบายว่า จากมุมของรัฐ เขาก็พยายามหาที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างจะรักษาความสงบอย่างไรสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม กับให้สิทธิการชุมนุมประท้วงตามรัฐธรรมนูญ ตามระบอบประชาธิปไตย
ส่วนสหรัฐอเมริกาจะพิเศษ เพราะว่าจะขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างการใช้กำลังแบบเอาจริงเอาจัง การปราบปรามช่วงแรกไม่ใช่ใช้กฎหมายด้วยการใช้กำลังอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น ขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวสีแอฟริกัน อเมริกัน ในสหรัฐฯ เขาก็เรียนรู้คล้ายตำรวจไทย คือปราบปรามไปแล้วมันเจ๊ง เพราะความชอบธรรมของตำรวจตกต่ำลงทันที รัฐบาลสหรัฐในช่วงนั้นก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการปราบปรามของตำรวจและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมาตรการรับมือฝูงชนครั้งใหญ่ ในที่สุดก็กลายเป็นเน้นเรื่องการเจรจา จัดการ คือต้องคุยกับผู้ชุมนุมก่อนว่าคุณจะไปเส้นไหน ชุมนุมประท้วงเวลาไหน เราจะได้ไม่ตกใจ
ความตกใจของตำรวจนี่น่ากลัวนะคะ ตกใจปั๊บอาจจะไปใช้กำลังได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายอันนี้ทำให้ตำรวจสามารถเตรียมตัวได้ แต่การชุมนุมประท้วงปี 1999 ที่ซีแอตเทิล มันสุดโต่งพอสมควร มีการเผาสถานที่ ตำรวจก็เรียนรู้อีกว่าต้องเข้มขึ้น ช่วงหลังมานี้เลยเป็นการควบคุมด้วยระบบราชการ เพราะปราบปรามแล้วเสียความชอบธรรม และไปหมิ่นเหม่ว่าสรุปแล้วคุณห้าม เช่น มีกฎหมายระบุไม่ให้คนใส่หน้ากาก อันนี้มันละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเกินไปไหม ควบคุมการแต่งกายของผู้ชุมนุม ควบคุมสถานที่ ตรงนั้นตรงนี้เดินได้กี่โมง มันกลายเป็นเรื่องละเอียดยุบยิบ บางทีมีการห้ามชุมนุมที่ไหนๆ เลย ยกเว้นที่ที่คนมองไม่เห็น แล้วการชุมนุมมันจะมีประโยชน์อะไร ฉะนั้นก็อย่างที่บอก ตำรวจก็ต้องคำนึงถึงของพวกนี้ มันก็วิ่งอยู่สองทิศทาง สิทธิกับระเบียบ
ประชาธิปไตยสำคัญต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ. หรือไม่
สำคัญในแง่ที่ทำให้คนรู้สึกว่าอย่างน้อยเราตรวจสอบได้ว่า พ.ร.บ. ออกมาแล้วมีเนื้อหาอะไร เป็นพิษเป็นภัยกับสิทธิในการชุมนุมหรือเปล่า แค่นั้นเอง
การชุมนุมที่สุดโต่ง อย่างไรเขาก็ไม่สน พ.ร.บ. อยู่แล้ว แต่การเคลื่อนไหวของคนตัวเล็กนี่สิ?
อย่างที่บอก ส่วนตัวดิฉันสองจิตสองใจอยู่กับ พ.ร.บ. นี้ ในแง่ประสิทธิภาพ คือไม่แน่ใจว่ามันจะช่วยในการควบคุมการชุมนุมขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับความชอบธรรมของรัฐบาลได้หรือเปล่า เพราะอย่างที่บอกว่าผู้ชุมนุมต้องการฝ่าฝืนกฎหมาย แล้วก็มีแบ็คอัพเพียงพอที่จะฝ่าฝืนกฎหมาย สำหรับเขาเพื่อที่จะแสดงว่ารัฐบาลไม่ชอบธรรม กฎหมายก็เลยไม่ศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายนี้เลยดูเหมือนจะเลือกปฏิบัติ แล้วก็ใช้สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยเท่านั้น
ในสังคมไทย องค์กรตำรวจมาคู่กับการปฏิบัติใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย มาตรการ แล้วก็เป็นองค์กรที่ฝึกกำลังพลเพื่อจะดูแลความปลอดภัยของคน แต่ไม่ได้ไปจำกัดสิทธิในการชุมนุม ของพวกนี้มันต้องมาด้วยกันทั้งแพ็คเกจ ไม่ใช่มาแค่ พ.ร.บ. แล้วจบ ถ้าพูดให้เครดิตตำรวจ ตอนนี้ดิฉันไม่รู้ว่าการฝึกไปถึงไหน แต่ว่าที่ผ่านมามีการจัดองค์กรและพยายามทำให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น ยิ่งมืออาชีพได้ยิ่งดี เพราะบางทีตำรวจก็ตกใจ นายอาจจะมีคำสั่งว่าอย่าเพิ่งยิงกระสุนยาง แต่พอเห็นผู้ชุมนุมขว้างแก๊สน้ำตากลับมา ตำรวจก็ยิงแล้วค่ะ… เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับความไม่เป็นมืออาชีพ รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันชีวิตเจ้าหน้าที่ตำรวจ
คือธรรมชาติมนุษย์เวลาถูกโจมตีก็จะสู้กลับหรือป้องกันตัว ทุกวันนี้โล่กันยังมีกันไม่ครบทุกคน เวลาเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกระดมกำลังมา จากเชียงรายที่คุยด้วย เชียงรายเอาฟิล์มกันแดดรถมาซ้อนกันหลายๆ ชั้นแล้วก็เอาไว้กันแทนโล่ คืออุปกรณ์มันไม่พอ เวลาที่มีความไม่พร้อม คนที่โดนหรือคิดว่าตัวเองจะโดนผู้ชุมนุมขว้างหิน ขว้างอะไรใส่บ้าง ก็รู้สึกตกใจ ทำยังไงดี ยิงกระสุนยางกลับ หรือคว้าอะไรได้ก็ใช้อันนั้น คนก็ไม่มีกะจิตกะใจในการทำงานอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคำถามคือทำยังไงให้หน่วยงานตำรวจรู้สึกปลอดภัยในหน้าที่ด้วย ความรู้สึกปลอดภัยจะทำให้ตำรวจรู้สึกไม่ได้เป็นศัตรูกับผู้ชุมนุม แล้วก็พร้อมที่จะผ่อนปรนได้
ข้อที่บอกว่าต้องขออนุญาตก่อนชุมนุม มีเสียงกังวลมาว่าจะไม่ได้ชุมนุม…
อุทธรณ์ได้ ถ้าทำกันดีๆ นะ ใน พ.ร.บ. นี้ ระบบนี้ ไม่ได้อาศัยตำรวจอย่างเดียวนะคะ มีองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าใจว่ามี กทม. ด้วย มีศาล สมมติว่าผู้ชุมนุมกรณีมันสำปะหลัง ต้องการเรียกร้องราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้น โดยห่างจากหน้าทำเนียบไป 150 เมตร แล้วตำรวจไม่ให้ ก็ไปอุทธรณ์ ถ้าปฏิบัติตามทฤษฎีแล้ว ศาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตำรวจ อาจจะช่วยคะคานการใช้ พ.ร.บ. ได้
ชุมนุมห่างจากสถานที่ราชการ 150 เมตร ชาวบ้านก็รู้สึกว่าไกลไป มันไม่อิมแพ็ค!
ดิฉันคิดว่าการชุมนุมประท้วงกับการรับมือการประท้วงเป็นการสู้กันทางการเมือง หมายความว่าถ้าผู้ชุมนุมมาสเต็ปหนึ่ง เช่น ปิดถนน 9 เส้น ยึดทำเนียบ ตำรวจก็ต้องสู้ด้วยมาตรการที่ป้องกันของพวกนี้ ตรงนี้ชาวบ้าน จะทำยังไงให้ไม่ถูกเหมาไปในการบังคับใช้ พ.ร.บ. แบบเหวี่ยงแห ต้องสู้กลับ เช่น วิธีการประท้วง มีอะไรไหม ที่ไม่ใช่แบบเดิมๆ ที่เราเคยใช้กัน เช่น การนั่งชุมนุม การเดินขบวนไปตามที่ต่างๆ ดิฉันคิดว่าตรงนี้อาจจะต้องการแรงกำลังจากเอ็นจีโอ หรือภาควิชาการ ในการช่วยขบคิดกับชาวบ้าน จริงๆ การใช้กฎหมายในไทย ใช้เคร่งครัดก็ได้ ใช้ลู่ตามลมก็ได้ ธรรมชาติของสังคมไทยมันเหนือกว่ากฎหมาย แล้วถ้าชาวบ้านสามารถสร้างเครือข่ายกับนักการเมืองท้องถิ่น(ไม่ใช่คู่กรณีนะ) นักวิชาการ สื่อ เอ็นจีโอ ก็ช่วยกันหาวิธีการประท้วงที่ไม่ละเมิดกฎหมายแต่ยังได้อิมแพ็ค ดิฉันว่ามันต้องมีทางออกจากกับดักนี้
การควบคุมลักษณะนี้จะทำให้เกิดการกลับไปรวมศูนย์อำนาจหรือเปล่า?
ข้อนี้เข้าใจค่ะ แต่คือก็ต้องกลับไปอ่าน ดิฉันไม่เคยเห็นพ.ร.บ. ที่ไหนละเอียดขนาดนี้ และโดยมากพูดถึงวิธีการชุมนุมที่สุ่มเสี่ยง แล้วก็ทางตำรวจรู้สึกคุมไม่ได้ ถ้าจะมีอะไรที่อันตราย อาจจะเป็นความไม่ชัดเจนของมาตรการการใช้กำลัง อันนี้ใน พ.ร.บ. บอกแค่ว่า ต้องดูประกาศนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น เข้าใจว่าทุกครั้งที่มีการชุมนุม ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูแล ประจำการตามจุดต่างๆ จะมีการประกาศออกมาก่อนว่าเราจะใช้กำลังจากเบาไปหาหนักอะไรบ้าง
อีกอย่างหนึ่งที่ตอนนี้เจ้าหน้าที่กลัวกันมากก็คือการฟ้องร้องของผุ้ชุมนุมที่เสียหายจากการถูกปราบปราม มีคดีที่ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมัย พล.ต.อ. พัชรวาท โดนฟ้องและโดนโยกย้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสูงจำนวนมากโดนฟ้อง อยู่ในคดีอาญา เขาก็กลัวตรงนี้ และรู้สึกว่าทุกวันนี้ชื่อเสียงตำรวจก็แย่อยู่แล้ว ถ้าทำอะไรมากกว่านี้ก็ไม่รู้จะไปยืนตรงไหนในสังคม จริงๆ ดิฉันในฐานะคนทำวิจัยและมาจากการศึกษาเรื่องขบวนการประท้วง ก่อนที่จะเข้าไปทำงานเรื่องนี้ทำใจอยู่เยอะนะ เพราะรู้สึกว่ายังไงตำรวจก็มีหน้าที่ในการทำลายขบวนการภาคประชาสังคมอย่างเดียว
ดิฉันเก็บข้อมูลแบบสัมภาษณ์เจ้านาย ผบ. เหตุการณ์, ผบ.ภาค หรือกระทั่ง พล.ต.อ. อดุลย์ ก็เคยคุย อีกอันก็คือเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ส่วนนี้จะทำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อย โอ้โห เละเทะ คือต่อว่ากระทั่งเจ้านายตัวเอง อย่างกรณีผ่านฟ้าที่มีการบุกยึดขอคืนพื้นที่ผ่านฟ้าแล้วมีการยิง ใช้กำลังกับกลุ่ม กปปส. ลูกน้องก็ด่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ไปคุมม็อบวันนั้นก็โดนฟ้อง โดนย้าย เวลาไปดูแลผู้ชุมนุมไม่มีใครอยากไปเลย เป็นงานที่… ถ้าคุณเป็นจราจร ยังได้พักบ้าง แต่งานนี้ไม่ได้อะไรเลย เพราะฉะนั้นอาจจะต้องสื่อสารความยากลำบากของงานส่วนนี้ของตำรวจด้วย คืออย่างเจ้านายก็ไม่เป็นไรหรอก อย่างมากเวลาร้อนๆ ก็ยังอยู่ห้องแอร์ แต่ตัวเล็กตัวน้อยเวลายืนข้างล่างเขาโดนสารพัด
คำถามสุดท้าย อยากทราบทัศนะอาจารย์ว่า การพยายามรวมศูนย์อำนาจ ในขณะที่ประชาชนต้องการการกระจายอำนาจเพื่อจัดการตนเอง เมื่อแนวคิด 2 แบบนี้ปะทะกัน บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร
มีหนังสือชื่อว่า Inequality, Grievances, and Civil War นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำ ความทุกข์ยาก และสงครามกลางเมือง บอกไว้ว่า ยิ่งคนถูกกีดกันออกจากอำนาจ
ปัญหาหลักในประเทศนี้คือช่อ
คนยังรู้สึกว่าความเหลื่อมล