แอมเนสตี้ชวนทั่วโลกเรียกร้องไทยยุติดำเนินคดีชาวบ้านค้านโรงไฟฟ้าเทพา

แอมเนสตี้ชวนทั่วโลกเรียกร้องไทยยุติดำเนินคดีชาวบ้านค้านโรงไฟฟ้าเทพา

แอมเนสตี้ฯ ชวนผู้สนับสนุนทั่วโลกเรียกร้องทางการไทยยุติการดำเนินคดีต่อชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา ที่อาจถูกดำเนินคดี 35 คน 

ที่มาภาพ: Wanchai Phutthong

6 พ.ย. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกปฏิบัติการด่วน ชวนผู้สนับสนุนที่มีอยู่มากกว่าเจ็ดล้านคนทั่วโลกให้ร่วมกันส่งจดหมาย อีเมล และแฟกซ์ เรียกร้องทางการไทยให้ยุติการดำเนินคดีใด ๆ ต่อผู้ร่วมชุมนุมคัดค้านแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 15 ม.ค. 2561

ปฏิบัติการด่วนนี้มีขึ้นหลังจากที่ผู้ชุมนุมประมาณ 100 คนเดินทางไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรใน อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2560 เพื่อยื่นจดหมายคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี ต่อมามีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยทั้งสองฝ่าย ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมจำนวน 16 คน เพื่อดำเนินคดีในข้อหากีดขวางทางสาธารณะและใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

วันต่อมา ศาลจังหวัดสงขลากำหนดวงเงินประกันของชาวบ้าน 15 คน ที่คนละ 90,000 บาท และอนุญาตให้ตำรวจควบคุมตัวชั่วคราวพวกเขาได้ ส่วนผู้ชุมนุมอีกคนหนึ่งเป็นเยาวชนวัย 16 ปี ได้รับประกันตัวออกมาด้วยวงเงินประกัน 5,000 บาท

ต่อมาวันที่ 29 พ.ย. 2560 ชาวบ้านทั้ง 15 คนได้รับการปล่อยตัวหลังจากอาจารย์มหาวิทยาลัยใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันแทนเงิน แต่เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าอยู่ระหว่างเตรียมขอหมายจับชาวบ้านเพิ่มเติมอีก 20 คน ซึ่งคาดว่าจะมีการออกหมายจับเพิ่มเติมอีกในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

แอมเนสตี้เชิญชวนผู้สนับสนุนทั่วโลกส่งจดหมาย อีเมล และแฟกซ์ เพื่อเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีใด ๆ ต่อชาวบ้านและนักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินขบวนดังกล่าว เพราะเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน
เอกสาร

 

ที่มา: http://tairgle.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=27:explanationtp&catid=8&Itemid=159&lang=th

 

ปฏิบัติการด่วนฉบับเต็ม (ภาษาไทย) ระบุดังนี้ 

 

ปฏิบัติการด่วนทางการขัดขวางการเดินขบวนและดำเนินคดีกับผู้เข้าร่วมชุมนุม

ผู้ชุมนุม 16 คนถูกจับกุมระหว่างเดินขบวนไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ยุติแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอาจถูกดำเนินคดีอาญา การจับกุมเกิดขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่สกัดกั้นการเดินขบวนของผู้ชุมนุม ส่งผลให้เกิดการปะทะกันระหว่างทั้งสองฝ่ายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ชาวบ้าน แกนนำและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มเดินจากพื้นที่ซึ่งมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อไปยังสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทยที่ อ.เมือง จ.สงขลา ทางกลุ่มผู้ชุมนุมมีความประสงค์จะยื่นจดหมายร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทางการระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าพบกับเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งจากสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันที่จะยื่นจดหมายกับตัวนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง

ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 พ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในชุดปราบจลาจลสกัดกั้นการเดินของผู้ชุมนุมบนถนนใกล้กับบริเวณที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ต่อมามีการปะทะกันระหว่างฝ่ายเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ทั้งฝ่ายตำรวจและผู้ชุมนุมให้ข้อมูลว่าต่างได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมจำนวน 16 คน และนำตัวไปที่สถานีตำรวจ สภ.เมืองสงขลา ต่อมามีการดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวในข้อหากีดขวางทางสาธารณะ และใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ศาลจังหวัดสงขลากำหนดวงเงินประกันให้บุคคลทั้ง 15 คน ที่คนละ 90,000 บาท และอนุญาตให้ตำรวจควบคุมตัวชั่วคราว ในวันเดียวกัน ผู้ชุมนุมอีกคนหนึ่งเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี และได้รับประกันตัวออกมาด้วยวงเงินประกัน 5,000 บาท ต่อมาวันที่ 29 พ.ย. ทั้ง 15 คนได้รับการปล่อยตัวหลังจากอาจารย์มหาวิทยาลัยใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันแทนเงิน วันที่ 30 พ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าอยู่ระหว่างเตรียมขอหมายจับเพิ่มเติมอีก 20 คนที่เข้าร่วมในการเดินขบวน คาดว่าจะมีการออกหมายจับเพิ่มเติมอีกในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
โปรดเขียนจดหมายทันทีในภาษาอังกฤษ ไทย หรือภาษาของท่านเอง

• เรียกร้องให้ทางการยุติการดำเนินคดีใด ๆ ต่อนักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ซึ่งเป็นการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ

• เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศรับรองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบต่อสาธารณะ และดำเนินมาตรการประกันความปลอดภัยทางกายภาพและความปลอดภัยของบุคคลที่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว

กรุณาส่งจดหมายก่อนวันที่ 15 ม.ค. 2561 ไปยัง

นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก กรุงเทพฯ 10300โทรสาร: + 66 2282 5131อีเมล: prforeign@gmail.com

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา สำนักงานตำรวจแห่งชาติถนนพระราม 1แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน 10330 โทรสาร: +66 2251 4739

และสำเนาจดหมายไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง  กระทรวงยุติธรรมอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 120 หมู่ 3 อาคาร A ถนนแจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210โทรสาร: +66 2953 0503

ข้อมูลเพิ่มเติม

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงพลังงาน จัดทำแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.สงขลาและจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ แผนนี้ถูกคัดค้านโดยชุมชนและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบที่อาจมีต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่และนักกิจกรรมที่ต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ อ.เทพา จ.สงขลาให้ข้อมูลว่า สามารถเข้าถึงตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อย่างจำกัด และถูกขัดขวางจากทหารไม่ให้เข้าร่วมในการทำประชาพิจารณ์ของโครงการ

ในเดือน ก.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ทหารขัดขวางกลุ่มคัดค้านหลายกลุ่มไม่ให้ชุมนุมนอกบริเวณการทำประชาพิจารณ์ ที่ผ่านมามีการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ช่วงไม่กี่วันหลังการจับกุมตัวที่จังหวัดสงขลา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและตัวแทนข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว และให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อพวกเขาทั้งหมด

นับแต่เข้าสู่อำนาจโดยการทำรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สร้างข้อจำกัดร้ายแรงต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุม ในบรรดามาตรการต่าง ๆ คสช.บังคับใช้คำสั่งห้าม “การชุมนุมทางการเมือง” ของบุคคลห้าคนหรือมากกว่าอย่างเคร่งครัด และยังประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะที่มุ่งจำกัดสิทธิ ทางการประกาศว่าการเดินขบวนใน จ.สงขลาเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ หลังจากไม่อนุญาตให้แกนนำเดินขบวน

ฝ่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่กังวลว่า คำสั่งที่ประกาศใช้โดยรัฐบาลทหารอาจถูกใช้เพื่อสนับสนุนให้มีการดำเนินการก่อสร้างตามโครงการโดยปราศจากการปรึกษาหารือกับชุมชนท้องถิ่นอย่างเหมาะสม นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจกว้างขวางตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 4/2559 และ 9/2559 เพื่อยกเว้นไม่ให้โครงการพัฒนาหลายโครงการต้องดำเนินการตามข้อบังคับการวางผังเมืองและด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อเลี่ยงมาตรการตรวจสอบของบางโครงการ

นักกิจกรรมในชุมชนที่ต่อต้านโครงการก่อสร้างขั้นพื้นฐานและโครงการพัฒนาในประเทศไทย ต้องเผชิญกับการคุกคาม ความรุนแรง และการคุกคามทางกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา ซึ่งเป็นผลมาจากการทำกิจกรรมของตน

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ