บรรทัดฐานใหม่สิทธิชุมชน! ศาลรับฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตใช้ป่าทำเหมืองแร่หินที่ดงมะไฟ

บรรทัดฐานใหม่สิทธิชุมชน! ศาลรับฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตใช้ป่าทำเหมืองแร่หินที่ดงมะไฟ

ศาลปกครองสูงสุดสั่งรับฟ้องคดีชาวบ้านดงมะไฟฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตใช้ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอย-ป่านากลาง ทำเหมืองแร่หิน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมชี้สร้างบรรทัดฐานใหม่การรับรองสิทธิชุมชนในสถานการณ์หลังการรัฐประหาร และยังไม่มีรัฐธรรมนูญของประชาชน

20151803030246.jpg

17 มี.ค. 2558 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW  รายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้ (17 มี.ค.) ศาลปกครองอุดรธานีอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องไว้พิจารณา ในคดีที่ชาวบ้านฟ้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตให้เอกชนเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอย-ป่านากลาง ในพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม เป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา

ศาลมีคำวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 78 มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินแม้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และมีสิทธิมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและคุ้มครองรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ตามมาตรา 66 และ 67 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ประกอบกับมาตรา 5 วรรค 1 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557

คณะทำงาน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW ให้ความเห็นว่า คำสั่งศาลฉบับนี้ได้วางหลักการสำคัญในเรื่องสิทธิชุมชน ดังนี้ 1.สิทธิชุมชนตาม มาตรา 66 และ 67 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ถือเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยและไม่สิ้นสุดไปตามการรัฐประหาร และมีผลใช้บังคับในปัจจุบันตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557

2. เมื่อสิทธิชุมชนถือเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทย ดังนั้นต่อไปแม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองไว้โดยชัดแจ้ง สิทธิชุมชนก็มีผลบังคับใช้คู่กับชุมชนในฐานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีที่สำคัญประการหนึ่งในระบบกฎหมายไทย

และ 3. สิทธิชุมชนตามมาตรา 66 และ 67 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สอดคล้องกับหลักการมีส่วนของประชาชนและหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

20151803030541.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2555 ชาวบ้าน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู จำนวนกว่า 200 คน เดินขบวนเข้ายื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้เอกชนทำเหมืองแร่หินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยตัวแทนชาวบ้านจำนวน 78 คน พร้อมด้วยตัวแทนสภาทนายความและโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผู้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้แทน ยื่นฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 1 อธิบดีกรมป่าไม้ จำเลยที่ 2 และผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู จำเลยที่ 3 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของหน่วยงานรัฐดังกล่าวซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายอันไม่อาจประเมินค่า และขอให้ศาลปกครองคุ้มครองการทำเหมืองแร่หิน จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
 
การฟ้องคดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อปลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐดังกล่าวมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง ในท้องที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นเวลา 10 ปี โดยไม่ผ่านการทำประชาคมหมู่บ้าน
 
สำหรับข้อสังเกตในการฟ้องคดีประกอบด้วย 1.ใบอนุญาตดังกล่าว ขัดกับระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2548 เนื่องจากเป็นการอนุญาตทั้งที่ยังมีความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่และองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟไม่ได้ให้ความเห็นชอบ
 
2.ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามออกใบอนุญาตให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดี ประชาชนและชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกระบวนการต่างๆ เป็นการละเมิดต่อสิทธิในการมีส่วนร่วมของผู้ฟ้องคดีตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ มาตรา 67 ได้รับรองและคุ้มครองไว้
 
3.การออกใบอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองแร่หิน ซึ่งมีกำหนดระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี ทั้งที่เป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางพรรณไม้และพืชสมุนไพร เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ และมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อันมีคุณค่าทางโบราณคดีนั้น ได้ส่งผลให้ชุมชนไม่อาจเข้าใช้ประโยชน์ ในด้านการเป็นแหล่งอาหาร แหล่งต้นน้ำและแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่เหมือนเช่นในอดีต อันเป็นการทำลายวิถีชีวิตของชุมชนที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และสร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อผู้ฟ้องคดี ประชาชนและชุมชนยิ่งกว่าประโยชน์ที่รัฐได้รับ 
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2542 ชาวบ้าน ต.ดงมะไฟได้ต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอย-ป่านากลางเรื่อยมา แม้บางคนจะล้มตาย บางคนต้องกลายเป็นจำเลย แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมแพ้ 
 
เมื่อปี 2543 อุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู ป่าไม้จังหวัดหนองบัวลำภู ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ประกาศให้เขตพื้นที่ ภูผารวก ผาจันได เขาเหล่าใหญ่ เป็นพื้นที่ที่ได้รับประทานบัตรให้ทำการขุดเจาะเพื่อสร้างโรงโม่หิน โดยตั้งแต่ เดือนก.ย.2543-ก.ย.2553 เป็นระยะเวลา 10 ปี
 
ในปี 2544 ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนประทานบัตรการทำเหมืองแร่ของเอกชน แม้สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดจะยกฟ้อง แต่อายุประทานบัตรก็หมดอายุลงพอดี เป็นเหตุให้เอกชนต้องเริ่มขอต่อใบอนุญาต รวมถึงการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อเข้าทำเหมืองแร่ในพื้นที่อีกครั้ง

เอกสารศาลปกครองสูงสุด

20151803030814.jpg

20151803030843.jpg

20151803030905.jpg

เรียบเรียงเรื่องและภาพจาก:  มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

หมายเหตุ: ติดตามคำสั่งศาลฉบับเต็มได้ทางเฟซบุ๊กเพจ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW  และเว็บไซต์ EnLAW

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ