บทบาทความเป็นสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งของบีบีซีไอร์แลนด์เหนือ

บทบาทความเป็นสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งของบีบีซีไอร์แลนด์เหนือ

                                      ความเป็นสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งของบีบีซีไอร์แลนด์เหนือ

 เมื่อครั้ง ต้นปี 2555 คณะของ สสท. เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศอังกฤษ  พื้นที่หนึ่งที่เราไปเยือนคือที่เมืองเบลฟาสท์ แคว้นไอร์แลนด์เหนือ ภารกิจสำคัญมีหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการเรียนรู้บทบาทสื่อสาธารณะในสถานการณ์ความขัดแย้ง   เราอยากรู้ว่า บีบีซีไอร์แลนด์เหนือ (BBC NI) วางตัวและทำหน้าที่อย่างไรท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงของคนในสังคม และมีส่วนร่วมสร้างกระบวนการสันติภาพในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน     

                            

 ณ อาคารบีบีซีไอร์แลนด์เหนือ Ormean Avenue, Belfast, BT2 8HQ, ซึ่งอยู่ใจกลางกรุง Belfast ไอร์แลนด์เหนือ  เราได้พูดคุยกับ Kathleen Carragher หัวหน้าฝ่ายข่าว    Mary Kelley โปรดิวเซอร์รายการ “ฮาร์ทส์แอนด์ไมนส์”   และผู้สื่อข่าวอาวุโส    

                               
ในปีนั้น  บีบีซี ที่กรุงลอนดอน มีอายุครบ 85 ปี หากนับแต่การเริ่มก่อตั้งในปี 1927  อย่างเป็นทางการ  แต่ในหนังสือประวัติการก่อตั้ง บีบีซีไอร์แลนด์เหนือ (BBC NI) ระบุถึงการเกิดการสื่อสารเล็กๆ ในพื้นที่แห่งนี้ไว้ก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำคือปี 1924 จากสื่อในพื้นที่และพัฒนาเติบโตขึ้นมาร่วมกับ BBC ส่วนกลางในปี 1927 จนถึงปัจจุบัน                    

BBC NI มีบทบาทเป็นสถานีกระจายเสียงระดับภูมิภาคเช่นเดียวกับ สกอตแลนด์ และเวลล์  มีพื้นที่ของการเป็นสื่อสาธารณะทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อใหม่  มีโครงสร้างบริหารจัดการในพื้นที่เองแต่เชื่อมโยงกับกรุงลอนดอน มีสภาผู้ชมผู้ฟัง และมีการทำงานร่วมกับประชาชน    

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ไอร์แลนด์เหนือ ในสถานีของBBC NI ก็เป็นเสมือนภาพจำลองของผู้คนที่นั่น  เจ้าหน้าที่ที่เป็นคนท้องถิ่นย่อมมีมาจากทั้ง 2 ฝ่าย และทุกคนก็มีชุมชนที่ตนผูกพัน มีความเชื่อที่ศรัทธา  มีผู้สื่อข่าวที่เป็นทั้งคาทอลิกและโปรแตสแตนท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อของคนในไอร์แลนด์เหนือคาดเดาได้เลยว่าคนนั้นนับถือนิกายอะไร เช่น  ถ้าชื่อเป็นไอริชก็จะนับถือคาทอลิก เป็นต้น   แต่การก้าวผ่านความขัดแย้งภายในมีหัวใจสำคัญคือการทำงานที่ยึดมั่นในจริยธรรมขององค์กร โดยมีคู่มือจริยธรรมองค์กรเป็นคัมภีร์ในการทำงาน คู่มือดังกล่าวมีการปรับปรุงพัฒนาให้ทันสมัยต่อเนื่อง

ในช่วงเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้ง    ประชากรในไอร์แลนด์เหนือมีประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าไม่มาก ดังนั้นเป็นเรื่องลำบากสำหรับผู้สื่อข่าวที่ทำงานกับ BBC NI และอยู่ในชุมชน  ขณะที่นักข่าวจากลอนดอนมา รายงานสิ่งที่เห็นและจากไป แต่นักข่าวที่อยู่ที่นี่ต้องกลับไปยังชุมชนและตอบคำถามกับคนในชุมชนถึงสิ่งที่ถูกรายงาน  จึงเป็นเรื่องยากและท้าทายมากที่จะอยู่ในสังคมที่แตกแยก 

การนำเสนอประเด็นของผู้คนที่มาจากปูมหลังที่แตกต่างกัน มีกำหนดไว้ในคู่มือการทำงานของ BBC ด้วย   เจ้าหน้าที่ของบีบีซีเมื่อเข้ามาทำงานแล้วจะต้องยอมรับกับแนวทางการทำงาน  แคทเธอรีน ผู้สื่อข่าวอาวุโสบอกว่า  เมื่อเธออยู่ในห้องข่าวกับเพื่อนร่วมงานที่มาจากแนวคิดที่หลากหลาย จะต้องทิ้งแนวคิด ความเชื่อทางการเมือง แต่เชื่อมั่นอยู่กับทักษะของการทำงานมากกว่า และผู้สื่อข่าวควรรู้ว่าเรามาเพื่อที่จะทำงานและต้องให้พื้นที่ทั้ง 2 ฝ่าย หรือบางที 4 ฝ่ายด้วยซ้ำ การนำเสนอจะไม่ใช่การตัดสิน คือสิ่งสำคัญที่ต้องระมัดระวัง รวมถึงภาษาที่ใช้ด้วย  หลีกเลี่ยงการระคายเคือง และการต้องตีความ

เมื่อช่วงเข้าสู่กระบวนการสร้างสันติภาพด้วยการเจรจา   อาจกล่าวได้ว่า  BBC NI ไม่ได้มีบทบาทสื่อสารเพื่อการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชัดเจนนัก   โดยวางตนเองอยู่บนความเป็นกลางที่จะรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากกว่า  เจ้าหน้าที่ BBC NI บอกว่าว่าช่วงกระบวนการสร้างสันติภาพเป็นบทบาทของภาคการเมือง แต่ก็ใช่ว่าพรรคการเมืองจะเห็นพ้องทั้งหมดในแนวทาง  ถ้ามีการนำเสนอในเชิงส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ ก็จะถูกวิพากษ์ว่าเพิกเฉยกลุ่มที่คิดต่าง  ในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งในสังคม  ย่อมต้องการสันติภาพและไม่มีใครบอกว่าไม่ต้องการสันติภาพ แต่ควรจะมีหลากหลายแง่มุมที่จะทำหน้าที่

 BBC NI ยืนยันให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนทั่วไป  ผู้สื่อข่าวของ BBCNI ก็มาจากคนธรรมดา และมาจากชุมชน จึงให้ความสำคัญในการออกไปสัมภาษณ์ชาวบ้านมานำเสนอ  มีรายการที่จะเชิญผู้ชมเข้ามาและสามารถที่จะตั้งคำถามกับนักการเมือง   มีรายการที่สามารถโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ทุกวัน และมีการเปิดให้ผู้ชมได้เข้ามามีส่วนร่วม  และยังมีสื่อใหม่ ทวิตเตอร์ มีฟีดแบคจากผู้ชมทุกวัน รวมทั้งที่โทรศัพท์เข้ามาพูดคุยในรายการวิทยุบางรายการด้วย    เช่น บทบาทของรายการวิทยุอย่าง BBC 5 Life และ BBC Radio  Ulster และ Fayle มีรายการเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นฐานล่างของ NI ทั้ง 2 ฝ่าย และเผยแพร่ข้อมูลเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง

 อาจารย์สมชัย สุวรรณบรรณ  ซึ่งครั้งนั้นเป็นกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสเล่าเพิ่มเติมว่า ในคราวหนึ่งที่รัฐบาลอังกฤษส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษไปสังหารผู้นำ IRA ถึงประเทศสเปน ซึ่งเป็นเรื่องงานลับแต่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ BBC ได้ทำรายงานข่าวเจาะเพื่อเปิดโปง หรือในช่วงที่รัฐบาลมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ มีคำสั่งห้ามเกี่ยวข้องกับองค์กรผิดกฏหมาย  การสัมภาษณ์ผู้ก่อการร้ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ BBC ก็ได้ใช้ทักษะการสื่อสาร  สัมภาษณ์ผู้นำ IRA มาเผยแพร่ผ่าน TV ได้โดยการใช้มุมกล้องและพากษ์เสียง  เพื่อเป็นการทำความจริงให้ปรากฏ

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ล่อแหลม ผู้สื่อข่าว BBC NI บอกว่าจะมีการไตร่ตรองสอบถามก่อนเสมอ เช่น ถ้า IRA เสนอตัวว่าจะให้สัมภาษณ์  ก็จะไม่ได้ทำตามข้อเสนอทันทีแต่จะต้องดูนโยบายด้วย โดยหารือไปยังสถานีแม่ที่กรุงลอนดอน และแสดงเหตุผลให้เพียงพอว่าทำไมจะต้องสัมภาษณ์คนที่อยู่ในองค์กรก่อการร้าย  หรือกรณีมีการออกแถลงการณ์ใด ก็ต้องเสนอปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ ด้วยเช่นกัน

 

รายการหนึ่งซึ่งน่าสนใจของ BBC NI คือรายการ “Hearts and Minds” โปรดิวเซอร์รายการ แมรี่ แครี่ เล่าว่า “Hearts and Minds”เป็นรายการด้านการเมืองออกอากาศ 1.30  ชั่วโมงทุกสัปดาห์   เป็นรายการสัมภาษณ์เชิงลึกแต่ก็เน้นแง่มุมและสีสันทางการเมืองด้วย  มีช่วงการสัมภาษณ์จะเป็นเรื่องหลัก มีช่วง  “If you ask me” 3 นาทีที่จะให้ประชาชนมีคอมเม้นท์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว มีสกู๊ปที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์ช่วงที่ 2 จะไม่ใช่การเมืองหนักแต่เป็นผลกระทบชีวิตผู้คนจากการเมืองหรือนโยบาย ออกอากาศทางช่อง BBC NI และ BBC 1 และ 2 การคิดประเด็นอยู่ที่ว่าทีมในพื้นที่จะนำเสนออะไร สามารถตัดสินใจได้เอง ไม่ขึ้นอยู่กับสถานีแม่ข่าย   ส่วนการวางผังรายการ จะอยู่ที่ทีมบริหารคิดว่าทิศทางไหนสำคัญ โดยจะมีทีมรายการที่ตัดสินใจด้วยตนเอง  

               

คลิกชมเว็บไซด์ BBC NI http://www.bbc.co.uk/northernireland/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ