นักวิชาการ มช.ไขสาเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาล

นักวิชาการ มช.ไขสาเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาล

*Hot Issue: ไขสาเหตุแผ่นดินไหวเนปาล 7.8 ริกเตอร์ 
สัมภาษณ์ รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ 
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

 

*Hot Issue: แผ่นดินไหวเนปาลและการเตรียมความพร้อมสำหรับเชียงใหม่
สัมภาษณ์ ดร.ชยานนท์ หรรษภิญโญ 
หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มาวิทยาลัยเชียงใหม่
และหัวหน้าหน่วยวิจัย CONTECH ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้าง

 

*Hot Issue: เทคโนโลยีสารสนเทศกรณีแผ่นดินไหวเนปาล
สัมภาษณ์ อ.ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ 
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

หัวหน้าศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว มช. แจงต้นเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล เกิดจากรอยเลื่อนย้อนขนาดใหญ่ใต้เทือกเขาหิมาลัยตลอดแนว พบเปลือกโลกเคลื่อนตัว 4 เซนติเมตรต่อปี มีแรงสะสมจนแตกและเลื่อน เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ถึง 7.8 ริกเตอร์ ในขณะที่ไทยเป็นรอยเลื่อนเคลื่อนที่ตามแนวระนาบ มีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกประมาณ 1 มิลลิเมตร ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวจะมีความรุนแรงประมาณ 6 ริกเตอร์ ไม่เกิน 7 ริกเตอร์

รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชาพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเนปาล เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ในรายการ One Minute News โดย Live Box Chiang Mai ว่า สาเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนย้อน (Thrust Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใต้เทือกเขาหิมาลัยตลอดแนว และเกิดจากการที่อนุทวีปอินเดียส่วนที่เป็นเปลือกโลกได้เคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือด้วยอัตราปีละ 4 เซนติเมตรต่อปี แล้วชนกันกับทวีปเอเชียที่เป็นแผ่นธรณีที่เรียกว่า ยูเรเชีย 

การที่อินเดียเคลื่อนที่ไปเจอยูเรเชีย จะเสียบเข้าไปข้างใต้ เพราะฉะนั้นอินเดียจะเกิดการเลื่อนประมาณ 4 เซนติเมตรต่อปี ส่วนที่เสียบเข้าไปด้านหน้ารอยต่อตรงนี้ก็คือรอยเลื่อนย้อน การที่อินเดียเคลื่อนที่เข้าไป ส่วนที่อยู่ข้างใต้เทือกเขาหิมาลัยซึ่งเป็นรอยต่อข้างหลังดันมาข้างหน้ามันจะติดๆ บางครั้งอาจจะหลุดและเลื่อนเล็กน้อย แต่ครั้งนี้บริเวณที่ติดอาจจะมีขนาดใหญ่ เมื่อติดและมีแรงดันเข้ามาทำให้เกิดแรงสะสมในโซนที่มีการยึดติดกันและแรงมากๆ จนเกิดการแตกและเลื่อน ซึ่งครั้งนี้แรงสะสมมีจำนวนมากส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึง 7.8 ริกเตอร์ 

ในส่วนของประเทศไทย จะมีลักษณะแตกต่างจากเนปาลซึ่งเป็นรอยเลื่อนย้อนขนาดใหญ่ เพราะของไทยจะมีลักษณะของรอยเลื่อนเคลื่อนที่ตามแนวระนาบ (Strike-Slip-Fault) มีขนาดไม่ใหญ่มาก กระทบสูงสุดไม่เกิน 100 กิโลเมตร แต่มีบางแนวที่อาจจะยาวถึง 1,000 กิโลเมตร สำหรับในภาคเหนือที่พบรอยเลื่อนที่ยาวขนาดหลัก 10 หรือหลัก 100 เช่น รอยเลื่อนแม่จัน และรอยเลื่อนแม่ลาว ที่เกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ประมาณ 6.3 ริกเตอร์ รอยเลื่อนพะเยา อีกแห่งคือรอยเลื่อนเมย บริเวณ อ.แม่สอด มาทางใต้ของจังหวัดตาก ซึ่งถือเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่พอสมควร เคยเกิดขึ้นในปี 2518 ขนาด 5.6 ริกเตอร์ รอยเลื่อนแม่จันก็เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ แต่อยู่นอกอาณาเขตเพราะอยู่ในประเทศลาว อย่างไรก็ตามในประเทศไทยมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 6 ริกเตอร์ ไม่เกิน 7 ริกเตอร์ ซึ่งจะแปรผันตามขนาดของรอยเลื่อนนั้นๆ 

หากเปรียบเทียบการเกิดแผ่นไหวครั้งใหญ่ของเนปาลกับไทยแล้ว มีความแตกต่างกันมาก เพราะลักษณะของรอยเลื่อนเนปาลหรือตอนเหนือของอินเดีย มียาวกว่า 2,000 กิโลเมตร เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ แรงที่สะสมจึงมีมหาศาล การเคลื่อนตัวของอินเดียมีการเคลื่อนตลอดเวลาในอัตราประมาณ 4 เซนติเมตรต่อปี แต่ในประเทศไทยมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกเท่าที่มีการวัดกันคือประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น สังเกตได้จากรอยเลื่อนในภาคเหนือของประเทศไทยจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวประมาณ 6 ริกเตอร์ ไม่เกิน 7 ริกเตอร์ 

อย่างไรก็ตามหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวจนทำให้เกิดสึนามิ เมื่อปี 2547 ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวในการศึกษาเรื่องรอยเลื่อนมากขึ้น กรมทรัพยากรธรณี สถาบันการศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการศึกษารอยเลื่อนต่างๆ และได้องค์ความรู้มาในระดับหนึ่ง ส่วนในด้านวิศวกรรมได้มีการเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องของอาคารที่สามารถรองรับแผ่นดินไหว ในระดับ 6.5 ริกเตอร์ได้ รวมทั้งหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็มีการเตรียมพร้อมว่าการเกิดแผ่นดินไหวควรปฏิบัติตนอย่างไร ตลอดจนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ได้มีการฝึกซ้อมเป็นประจำ และเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ 

เหตุแผ่นดินไหนครั้งใหญ่นี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันราย บาดเจ็บอีกนับหมื่นคน และยังไร้ที่อยู่อาศัยอีกนับไม่ถ้วน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอเชิญชวนร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศเนปาล โดยจะรวบรวมเงินบริจาคส่งผ่านรัฐบาลหรือองค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศผู้มีจิตกุศลสามารถบริจาคได้ที่ บัญชี มูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขบัญชี 667-260962-6 ธนาคารกรุงไทย เลขบัญชี 521-0-54330-7 ธนาคารกสิกร เลขบัญชี 557-2-01194-3 หลังจากโอนเงินแล้วส่งหลักฐานการโอนเงินได้ทาง FAX : 0-5394-3200 ซึ่งสามารถใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-5394-3499 และ 09-3307-1550

20150105203542.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ