ที่มา: transbordernews
21 ม.ค. 2559 คอลดูน ปาราเร่ ประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (22 ม.ค. 2559) เวลา 13.00 น. เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม ร่วมกับเครือข่าย PERMATAMAS จะมีการจัดกิจกรรม “ปลุกพลังนักศึกษา หยุดโรงไฟฟ้าถ่ายหิน ต่อลมหายใจอีกครั้ง”
เชิญชวนนักศึกษาเข้าร่วมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะมีเวทีเสวนาหัวข้อ “บทบาทนักศึกษาและประชาชน กับมหัตภัยร้ายโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ก่อนจะร่วมกันเดินขบวนจาก ม.อ.ปัตตานี ไปยังบริเวณหน้าลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 (หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี) ในเวลาประมาณ 15.00 น.
คอลดูน กล่าวต่อว่า คาดการณ์ว่าจะมีนักศึกษาเข้าร่วมการแสดงออกครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่มีความกังวลอย่างมากต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เนื่องจากคนในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเดียวกัน โดยเฉพาะการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจากทะเล ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ที่เข้ามาในพื้นที่แล้วส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ย่อมเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่สามารถยอมรับได้
“ที่ผ่านมา กฟผ.ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้รอบด้านต่อชาวบ้าน แต่มักจะนำเอาด้านดีมานำเสนอ เช่น โรงไฟฟ้าจะทำให้มีงานทำ เศรษฐกิจจะดีขึ้น หรือเป็นถ่านหินสะอาด ไม่ต้องกลัวมลพิษ การกระทำแบบนี้มันทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ เพราะชาวบ้านทุกคนรู้อยู่ว่าผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอย่างไร” นายคอลดูน กล่าว
คอลดูน กล่าวอีกว่า การผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาท่ามกลางกระแสต่อต้านในพื้นที่นั้น ไม่ได้ส่งผลดีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย เนื่องจากรัฐบาลที่กำลังพยายามแก้ไขปัญหาความรุนแรงมักจะกล่าวกับชาวบ้านอยู่เสมอว่า โครงการพัฒนาต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่นี้ ต้องได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน ดังนั้นหาก กฟผ. ยืนยันว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ย่อมจะกระทบต่อสถานการณ์อันเปราะบางของพื้นที่ โดยเฉพาะในแง่สิทธิชุมชน ที่เครือข่ายภาคประชาชนกำลังผลักดันกระบวนการสันติภาพ
สำหรับเครือข่าย PERMATAMAS ประกอบด้วย นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย องค์กรทางศาสนา ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษา และชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา อ.จะนะ อ.นาทวี อ.สะเดา จ.สงขลา และอ.หนองจิก อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยเป็นความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน