กระแสการขับเคลื่อนประเทศสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” หรือ “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังถาโถมเข้ามาและสั่นคลอนระบบการทำงานที่มีอยู่ในทุกวันนี้
ทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ ล้วนตื่นตัวและต่างก็มีปฏิกิริยาต่อกระแสดังกล่าว รวมทั้งผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม ท่ามกลางข่าวการปลดคนงานหลายแห่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นระลอก ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับกระแส 4.0 อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
แล้วแรงงานจะอยู่ส่วนไหนของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงนี้…
เสวนาเรื่อง ‘ทศนิยมแห่งยุคสมัย : ไทยแลนด์ 4.0 vs แรงงาน 4.0′ ในงาน ‘แรงงานไม่มีประวัติศาสตร์’ เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2559 ภายใต้โครงการนิทรรศการประวัติศาสตร์แรงงานไทยและเยอรมัน จึงมีขึ้นเพื่อการเตรียมพร้อมและปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง
00000
“เรื่องของ 4.0 มันก็เป็นเพียงแค่ตัวเลข เพียงแต่เราถามว่าเราจะไปถึงจุดที่ว่าเรามีรายได้ มีสถานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่สามารถยืนอยู่ได้ในสังคมโลกอย่างไร นี่เป็นคำถามที่คนไทยทุกคนต้องตอบ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเดียว”
เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ภาพใหญ่ของการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมต้องอาศัยความร่วมมือของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง และในยุค 4.0 ก็ต้องมีความร่วมมือตรงนี้ อย่างไรก็ตามตอนนี้เราไม่เรียกว่า ‘แรงงาน 4.0’ แต่เป็น ‘ทักษะ 4.0’ มากกว่า เพราะสิ่งที่เรามองไปข้างหน้าคืออุตสาหกรรมต้องตอบโจทย์ของผู้บริโภค ตอบโจทย์ของตลาดมากขึ้น
เมื่อเราพูดถึงเรื่อง ‘ประเทศไทย 4.0’ และ ‘อุตสาหกรรม 4.0’ จริง ๆ แล้วเป็นคนละโจทย์กัน เพียงแต่มีความสอดคล้องกันตรงที่ว่าหากจะพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ประเทศไทย 4.0’ นั้น ‘อุตสาหกรรม 4.0’ เป็นเทคนิคหนึ่งที่จะก้าวไปสู่จุดนั้น แต่อุตสาหกรรมไม่ต้องพัฒนาไปสู่ 4.0 หมดทุกราย
หากเริ่มต้นตั้งแต่อุตสาหกรรม 1.0 ซึ่งพัฒนามาจากหัตถกรรม ตอนนี้ที่เราอยู่ในอุตสาหกรรม 3.0 จะก้าวไป 4.0 แต่หัตถกรรมก็ยังคงมีที่ยืนอยู่ เพราะฉะนั้นทักษะเฉพาะด้านนั้นก็ยังมีความจำเป็น
อุตสาหกรรม 1.0 คือใช้เครื่องจักรไอน้ำ เปลี่ยนหัตถกรรมมาเป็นอุตสาหกรรมคือการใช้เครื่องทุนแรง จากนั้นพัฒนาไฟฟ้า สู่สายพานการผลิตที่คนแบ่งงานกันทำสินค้าสำเร็จรูปที่เหมือนกันหมด หรือที่เรียกว่า Mass Production ในยุค 2.0 ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมเป็น 3.0 เป็น Automation ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติมาทดแทน ให้งานมีความแม่นยำถูกต้องมากขึ้น
อุตสาหกรรม 4.0 ที่เราพูดถึงคือ Digital manufacturing เพราะทุกวันนี้เราอยู่ในโลกดิจิทัล มีการติดต่อสื่อสารข้อมูลผ่านมือถือ ทั้งทางไลน์ แชต แต่การที่เราหยิบมือถือขึ้นมาอ่านนั้นยังเป็นอนาล็อก เพราะคนต้องเรียนรู้วิธีการอ่านต้องนี้เป็นอนาล็อก สมองของคนเป็นอนาล็อก การสื่อผ่านอนาล็อกตรงนี้คนอยู่คนละซีกโลกยังสื่อสารกันได้ในเวลาเดียวกัน
ตอนนี้เป็นการเอาคุณสมบัติของดิจิทัลที่แพร่หลายไปทั่วโลก มีความเร็วสูง จำนวนข้อมูลบีบอัดได้ ตอนนี้เรามีโครงสร้างพื้นที่ฐานซึ่งมีความพร้อมที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิต โดยไม่ใช่แค่การกดปุ่มให้เครื่องทำงาน แต่ควบคุมเครื่องจักรได้บนระบบดิจิทัลทั้งหมด
เจน ยกตัวอย่างเรื่องการทำรายงานว่า เมื่อก่อนโรงงานต้องปิดบัญชีทำรายงานการผลิตในช่วงสิ้นเดือน มีคนเสนอระบบ 4.0 เรื่องข้อมูลการผลิต ทำให้ต่อไปนี้ไม่ต้องทำรายงาน ลดความผิดพลาด สามารถทำรายงานย้อนหลังได้ โดยใช้ระบบดิจิตอลนำข้อมูลจากเครื่องจักรเข้าเซิร์ฟเวอร์ก่อนแล้วสามารถเรียกข้อมูลดูได้ทันที เทคโนโลยีตรงนี้อาจไม่ได้มาแทนคน แต่ที่แน่ ๆ คือจะมาแทนการใช้กระดาษ
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ที่บอกว่าดิจิทัลจะมาทดแทนแรงงาน จริง ๆ แล้วไม่ใช่ คือทดแทนเรื่องของการทำซ้ำข้อมูล ทดแทนการใช้กระดาษ เพราะว่าเมือก่อนเราใช้กระดาษกันเยอะ ส่งผลกระทบกับต้นไม้ เรื่องสิ่งแวดล้อมของเรา เพราะฉะนั้นเราก็จะลดในส่วนนี้ลงไป ถามว่าลดจำนวนคนไหมอาจไม่ลด ตอนนี้เท่าที่ดูเรื่องของ Automation สามารถลดคนได้จริง แต่เอาเข้าจริงคนก็จะเปลี่ยนทักษะ
“เราไม่ได้มองเรื่องแรงงาน 4.0 แต่เรามองเรื่องทักษะ 4.0 ว่าในยุค 4.0 ทักษะของคนไทยต้องเปลี่ยนไปทำอะไรบ้าง เราพูดถึงแม้กระทั่งเรื่องของการเกษตร 4.0 เรามองไปในเรื่องที่ว่าเราจะเพิ่มมูลค่าของเกษตรกรได้อย่างไร ซึ่งเราก็ต้องรู้เรื่องวิธีการเพาะปลูก การเลือกพืชที่ได้ผลตอบแทน ไม่ใช่เดิมเราทำมาอย่างไรก็จะทำอย่างนั้นต่อไป ถ้าทำอย่างนั้นแล้วมันหาตลาดไม่ได้ คนอื่นเขาทำแล้วถูกกว่าก็ตัดราคาไป ตรงนี้เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน” เจน กล่าว
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ต้องห่วงว่าจะบุกเข้ามาเร็ว ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนกันไป ทั้งนายทุนและคนงานต้องปรับทั้งคู่ ทางนายทุนหรือผู้ประกอบการต้องจัดเก็บและดึงข้อมูลออกมาวิเคราะห์ สิ่งที่ควรจะเป็นกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนแรงงานก็จะเปลี่ยนทักษะจากการใช้แรง ไปใช้การสังเกต ตาดูหูฟัง การทำความเข้าใจการทำงานของเครื่องจักรมากขึ้น ซึ่งก็จะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นจากการใช้ทักษะสูงขึ้นด้วย
สำหรับเยอรมันนั้น มีการพูดถึง ‘อุตสาหกรรม 4.0’ เพราะแรงงานน้อย มีความจำเป็นต้องเดินหน้าอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อมาช่วยทำงานมากขึ้น เป็นการปรับตัว ส่วนประเทศไทยตอนนี้คนงานไม่พอจึงต้องใช้แรงงานข้ามชาติมาทำงาน แต่อีก 5 ปี ถ้าเขาย้ายกลับไปประเทศบ้านเกิด เราก็ยังอยู่ได้ เพราะเรามีการปรับตัวเตรียมความพร้อม เป็นการมองไปข้างหน้า 5-10 ปี ต่อไป
จริง ๆ แล้ว 4.0 โดยตัวมันเองไม่ได้มีความหมายอะไร มีความหมายเพียงแต่ว่าเราอยากทำน้อยแล้วได้มาก เพราะเราทำมากแล้วไม่ได้ เราไม่มีทางแข่งกับจีนได้ สเกลเราไม่ใหญ่ถึงขนาดจีนที่ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่ ทำให้มองไปว่าหากเราจะพัฒนาประเทศต่อไปจะเป็นอย่างไร
เจน แสดงความเห็นว่า การพัฒนาประเทศจะเป็น 4.0 หรือ 5.0 ก็ชั่งมัน แต่อีก 20 ปี จีดีพีของประเทศจะเป็นเท่าไหร่ และมาจากไหน จากการเกษตร ภาคบริการ หรืออุตสาหกรรมกี่อีกเปอร์เซ็นต์ เรื่องการบริโภคพื้นฐานกี่เปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลจะลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานกี่เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้เป็นคำถามที่ส่วนตัวตั้งคำถามกับสภาพัฒน์ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อจะได้บอกได้ว่าใครจะไปอยู่ในเซกเตอร์ (sector) ไหน
“เรื่องของ 4.0 มันก็เป็นเพียงแค่ตัวเลข เพียงแต่เราถามว่าเราจะไปถึงจุดที่ว่าเรามีรายได้ มีสถานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่สามารถยืนอยู่ได้ในสังคมโลกอย่างไร นี่เป็นคำถามที่คนไทยทุกคนต้องตอบ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเดียว” เจน กล่าว
การที่เราจะเดินไปข้างหน้า จะเลือกทางไหน ไปทาง 4.0 พัฒนาภาคการเกษตร หรือพัฒนาภาคบริการ ตรงนี้คนไทยต้องเลือก และถ้าจะเลือกให้ดีต้องมีข้อมูล มีการศึกษา มีการนำเสนอที่ดีด้วย
00000
“ผมเชื่อว่าคนไทยทำได้ ฝีมือมี ความคิดสร้างสรรค์มี แต่สิ่งที่คนไทยขาดอยู่คือคนไทยไม่กล้าแสดงออก นี่คือปัญหา ไม่ใช่คนไทยไม่มีความสามารถ แต่เขากล้าที่จะแสดงออก กล้าที่จะเสี่ยงหรือเปล่า เพราะเราถูกสอนมาว่า “เดี๋ยวเจ็บ” “อย่าทำอย่างนั้นเดี๋ยวเจ็บ” เรากลัวเจ็บ แทนที่จะบอกว่าลองไปทำก่อน ลองไปดูว่ามันจะออกมาอย่างไร”
ทิวา ยอร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเว็บไซต์ขายดีดอดคอม กล่าวว่า ตอนนี้สตาร์ทอัพเป็นกระแสที่ทุกคนพูดถึง ไม่ว่าธนาคาร ภาครัฐ บริษัทเอกชน แต่ความเป็นจริงคือสตาร์ทอัพไม่ใช่เอสเอ็มอี เอสเอ็มอีคือคนที่ทำธุรกิจส่วนตัว เป็นนายของตัวเอง เป็นพ่อค้าแม่ค้า ส่วนสตาร์ทอัพเกิดจากการพบเจอปัญหาในชีวิตประจำวันหรือในการทำงาน แล้วทำธุรกิจที่จะแก้ไขปัญหานั้นให้กับหลายคน หลายบริษัท และอาจไปได้ถึงในระดับโลก โดยสตาร์ทอัพต้องกล้าที่จะลงทุนและลงมือทำ อาจต้องการคนมาลงทุนร่วมกับความเสียงตรงนี้
95 เปอร์เซ็นต์ของสตาร์ทอัพทั่วโลกเฟล ในสหรัฐอเมริกา ซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) ที่ซานฟรานซิสโก จะมีสตาร์ทอัพ 8,000-10,000 คนต่อปี เกิดขึ้น นั่นคือเยอะสุดในโลก แต่ 95 เปอร์เซ็นต์เฟล มีอีก 5 เปอร์เซ็นต์ที่สำเร็จ จริง ๆ มูลค่าที่ได้จะมีแค่ 1 ในรอบปีนั้น
ยกตัวอย่างในปี 2004 บริษัท 5 เปอร์เซ็นต์ที่รอด มีแค่ 1 บริษัทสร้างมูลค่า 97 เปอร์เซ็นต์ คือเฟซบุ๊ก อันดับที่ 2 สร้างมูลค่า 2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 1 เปอร์เซ็นต์เป็นของอีก 8 บริษัท ดังนั้นจาก 100 มีไม่กี่บริษัทที่รอดได้ เพราะฉะนั้นต้องใจกล้าถ้าจะทำสตาร์ทอัพ เพราะมันจะเฟลแน่ ๆ
ทิวา กล่าวด้วยว่า ตรงนี้จะต้องปรับความคิดตัวเองนิดหนึ่งว่า ‘เราจะทำสตาร์ทอัพเพื่อแก้ไขปัญหา’ ซึ่งการแก้ไขปัญหามีอยู่ทั่วไปหมด เกษตรในบ้านเราก็มีปัญหาแต่แทบไม่มีใครที่จะเข้าไปแก้ปัญหาตรงนี้ให้กับบ้านเรา เกษตรกรมีปัญหาแล้วเราจะเอาเทคโนโลยีไปแก้ปัญหาให้เขาได้อย่างไร นี่เป็นโอกาส อยากเห็นสตาร์ทอัพที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีไฟไปแก้ปัญหาที่เป็นปัญหาของบ้านเราจริง ๆ ไม่ใช่แค่เอาโมเดลธุรกิจหรือเทคโนโลยีจากเมืองนอกมาใช้ ทั้งเรื่องเกี่ยวกับเกษตร การส่งเสริมสุขภาพ เรื่องการศึกษา
พนักงานรุ่นใหม่ ทีมงานที่เราต้องการสำหรับยุค 4.0 คือเป็น knowledge-based economy (เศรษฐกิจฐานความรู้) ที่ผ่านมาเราเป็น Manufacturing (อุตสาหกรรมการผลิต) ที่แค่ผลิต แล้ววิธีการที่จะวัดผลหรือบริหารแรงงานคือการนับชิ้นงาน เช่นกระดุมที่ผลิตได้ แต่พอเป็น knowledge-based economy มันนับกระดุมไม่ได้ เช่น หากเป็นโปรแกรมเมอร์ การเขียนโค๊ดได้จำนวนมากหรือน้อยไม่ใช่ตัวชี้วัด อะไรดีเรานับไม่ได้ ดังนั้นวิธีการบริหารคนก็ต้องเปลี่ยนด้วย และทักษะที่ต้องการจากทีมงานก็จะไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่แค่งาน แต่ต้องการให้เขาใช้สมอง
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเว็บไซต์ขายดีดอดคอม กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เราต้องการคือถ้าเราจะปรับปรุงอีก 20 ปีถัดไป ต้องปรับที่การศึกษาของบ้านเรา ต้องเน้น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปะ ระเบียบวิธี (method) ถ้าต้องการแข่งขันกับทั่วโลก แต่ถ้าไม่เราก็ย่ำอยู่กับการเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่แข่งกันที่ราคา เพราะฉะนั้นเราจะเอาความรู้ความสามารถของคนไทยออกมาในการทำสตาร์ทอัพ ทำอะไรใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาในบ้านเรา หรือทั่วโลกได้อย่างไร
“ผมเชื่อว่าคนไทยทำได้ ฝีมือมี ความคิดสร้างสรรค์มี แต่สิ่งที่คนไทยขาดอยู่คือคนไทยไม่กล้าแสดงออก นี่คือปัญหา ไม่ใช่คนไทยไม่มีความสามารถ แต่เขากล้าที่จะแสดงออก กล้าที่จะเสี่ยงหรือเปล่า เพราะเราถูกสอนมาว่า “เดี๋ยวเจ็บ” “อย่าทำอย่างนั้นเดี๋ยวเจ็บ” เรากลัวเจ็บ แทนที่จะบอกว่าลองไปทำก่อน ลองไปดูว่ามันจะออกมาอย่างไร” ทิวา ให้ความเห็น
สตาร์ทอัพเป็นสิ่งที่ดีต่อเศรษฐกิจ เพราะมันจะทำให้เศรษฐกิจก้าวกระโดด คือเป็นการเริ่มต้นลงทุนทำในสิ่งใหม่ และการที่คน 95 เปอร์เซ็นต์จะเฟล เราถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่และกล้าที่จะทำต่อ จากประสบการณ์ตัวเองให้ความช่วยเหลือสตาร์ทอัพ แม้จะเฟลทำไม่สำเร็จ แต่สิ่งดีมากที่ได้คือมีประสบการณ์ การได้เรียนรู้
ส่วนเงินลงทุนของสตาร์ทอัพหากมาจากนายทุนที่เป็นเอกชนไม่มีปัญหา แต่หากมาจากทุนของภาครัฐจะยาก ทั่วโลกยังไม่มีที่ไหนที่สำเร็จจริง ๆ ในการที่ภาครัฐจะลงทุนกับสตาร์ทอัพ มีตัวอย่างบางส่วนจากสิงคโปร์ อิสราเอล เกาหลี ซึ่งภาครัฐของเราใช้โมเดลของเกาหลี แต่เราต้องดูว่าอะไรที่เหมาะสมกันเรา และเราสามารถสร้างกฎหมายอะไรที่จะคุ้มครองตรงนี้ ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจ และกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน เพื่อการไปสู่เศรษฐกิจ 4.0
อย่างไรก็ตาม ต้องจำไว้ขนาดเมืองนอกเศรษฐกิจสตาร์ทอัพก็ยังเป็นส่วนน้อยของจีดีพี ทุกวันนี้อเมซอนในอเมริกาถือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของตลาด เพราะฉะนั้นยังอีกไกลที่จะไปถึงจุดที่เศรษฐกิจทั่วไปจะพัง สตาร์ทอัพยังเป็นวิธีการที่จะทำอะไรใหม่ๆ เท่านั้น
ทิวา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของสตาร์ทอัพเองอาจต้องแชร์องค์ความรู้ที่เคยคุยกันเองอยู่ในกลุ่ม ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้ เพราะจะฝากไว้กับใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคงไม่ได้ สุดท้ายเราต้องพัฒนาไปด้วยกันทุกส่วน โลกนี่มันจะไปอยู่แล้ว ถ้าไทยไม่ปรับปรุงเราจะแพ้ ทั้งเวียดนาม พม่าต่างมองไทยเป็นคู่แข่ง สตาร์ทอัพเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้ แต่ต้องใจกล้า ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์เพื่อกระจายความรู้
00000
“สัดส่วนของงานรูทีนซึ่งเป็นงานอันตราย เสี่ยงที่จะหายไปหากเทคโนโลยีถูกลงกระทันหัน แต่ประเทศเรากำลังมีสัดส่วนพุ่งสูงขึ้นทุกปี…”
ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวถึงตัวอย่างโครงสร้างตลาดแรงงานในอเมริกาและยุโรป ใน 30 ปีที่ผ่านมาว่า มีวิวัฒนาการหลายรูปแบบและวิวัฒนาการครั้งใหญ่คือการเข้ามาของเทคโนโลยีที่มากขึ้นและถูกลง โดยสิ่งที่พบคือบางอาชีพหายไป ขณะที่บางอาชีพเกิดขึ้นมาใหม่ ในบางอาชีพที่เราคิดว่าจะหายไปเพราะเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่กลับยังคงอยู่ และบางอาชีพที่ควนจะอยู่เพราะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีกลับหายไปหรือได้ค่าตอบแทนที่เริ่มตกต่ำลง
สิ่งที่พบคือ เมื่อเอาอาชีพมาเรียงกันตั้งแต่ที่ได้เงินเดือนขั้นต่ำที่สุดไปจนถึงสูงที่สุด กลุ่มอาชีพทางปลายทั้ง 2 ด้าน ของตลาดแรงงานยังมีกลุ่มคนงานในระดับนั้นอยู่เยอะ โดยทางปลายท้ายคือ คนทำอาชีพกวาดถนน ล้างจาก ขับรถ ส่วนปลายอีกฝั่งหนึ่งที่มีรายได้สูง คือ โปรแกรมเมอร์ หมอ นักวิเคราะห์ ส่วนคนที่หายไปคือบุคคลที่ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมหลัก
แต่กลุ่มที่ทำให้เกิดความประหลาดใจว่าทำไมจึงหายไปทั้งที่เทคโนโลยีเติบโตและราคาถูกลง คือ พนักงานคอปกขาวที่ทำงานในบริษัทต่าง ๆ ซึ่งดูเหมือนเป็นอาชีพมั่นคงในอดีด เช่น นักบัญชี คนทำปรินท์ติ้ง คนทำโฆษณา
ทำไมจึงเป็นอาชีพเหล่านี้ ดร.เนื้อแพร กล่าวว่า ในงานศึกษาและที่ได้ทำต่อเพิ่มเติม มีการแบ่งกลุ่มลักษณะงานของอาชีพเหล่านี้ว่ามีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร สิ่งที่พบคือกลุ่มอาชีพทางปลายทั้ง 2 ฝั่ง เป็นกลุ่มที่ทำงานไม่ซ้ำซากจำเจ ถึงมีเทคโนโลยีแต่ก็ไม่สามารถมาทนแทนได้ และยังมีราคาถูกอยู่ เช่น การกวาดถนนตามซอกมุมไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายและถึงทำได้แต่ไม่ถูก โปรแกรมเมอร์และหมอที่ใช้ความคิดและจินตนาการจะไม่ถูกแทนที่เช่นเดียวกัน
ส่วนงานที่ถูกแทนที่ คืองานรูทีนที่ทำได้โดยอัตโนมัติด้วยเครื่องจักหรือคอมพิวเตอร์ที่ถูกลง และการที่เราสามารถสื่อสารกันได้โดยใช้มือถือหรือเว็บไซต์โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง
“สัดส่วนของงานรูทีนซึ่งเป็นงานอันตราย เสี่ยงที่จะหายไปหากเทคโนโลยีถูกลงกระทันหัน แต่ประเทศเรากำลังมีสัดส่วนพุ่งสูงขึ้นทุกปี เห็นแล้วค่อนข้างกังวล”
ดร.เนื้อแพร กล่าวด้วยว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่เราไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทักษะคนทำงานให้พร้อม ดังนั้นการที่จะมี 4.0 เข้ามา ถ้าไม่มีการเตรียมกำลังก็อาจเป็นปัญหา และทางฝั่งผู้ให้ความรู้เองก็อาจไม่มีความรู้พอ
“เราพูดกันว่าอยากให้แรงงานเรามีทักษะ แต่คำถามคือว่าเรามี supply คนที่จะให้ทักษะหรือยัง ก็น่าจะตอบได้คร่าวๆ ว่าไม่น่าพอ” ดร.เนื้อแพร กล่าว
00000
“การนำเสนอรูปแบบของธุรกิจใหม่ รูปแบบอุตสาหกรรมใหม่ ต้องมีคำตอบคือเอาคนมาจากไหน ขณะนี้คุณเตรียมคนเพียงพอไหมที่เข้าจะเข้ากับระบบใหม่ได้ และหากเข้าไม่ได้ คุณจะเอาคนเหล่านี้ไปลอยแพไว้ที่ไหน เพราะว่าคนเหล่านี้คือพลเมืองไทย คนที่เกิดในแผ่นดินนี้และต้องอยู่ในแผ่นดินนี้ไป ไม่ว่าจะมีงานหรือไม่มีงาน ไม่ว่าจะเข้ากับระบบใหม่ได้หรือไม่ได้ คนเหล่านี้คือพลเมืองไทยเหมือนกัน…”
ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าเวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจเราพูดถึงคนทั้งแผ่นดิน เวลาเราพูดถึงการพัฒนาประเทศ การส่งเสริมให้เกิดความเจริญ เราหมายถึงความเจริญของคนข้างมากของแผ่นดิน ดังนั้นเวลาพูดถึงเรื่องอุตสาหกรรมหรือเรื่องการเกษตรต้องไม่พูดแยกส่วน หมายความว่าต้องพูดถึงการทำให้ธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือบริการใด ๆ มันเติบโตไปโดยไม่ตั้งคำถามว่า โตไปให้ใคร ใครรับอานิสงส์ของการเติบโตนั้น
ในหลายๆ กรณีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางการผลิตมันได้กับคนบางส่วน ในขณะที่ทำให้คนจำนวนมากเสียหาย ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ในศตวรรษที่ 18 จะเห็นได้ชัดว่าวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากตกต่ำ กลายเป็นกรรมกรที่อยู่ในโรงงาน แทนที่จะอยู่ในท้องไร่ท้องนาที่มีความเป็นพี่เป็นน้อง ต้องมาแออัดอยู่ในสภาพแวดล้อมอุดอู้ ตรงนี้เห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงสร้างเศรษฐี นายทุน ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันคนที่จ่ายให้กับความเจริญของคนส่วนน้อยก็คือคนส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงจะมีคนเสียเสมอ
จริงอยู่ที่อุตสาหกรรมนั้นต้องร่วมมือ ทั้งแรงงานและฝ่ายนายทุนไม่เช่นนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ประเด็นไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ในการร่วมมือกันผลได้หรือผลพวงของการเจริญเติบโตนั้นแบ่งกันอย่างไร แบ่งอย่างยุติธรรมเท่าเทียมแค่ไหน
“การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตาม มันหมายถึงความไม่มั่นคงของคนที่เคยทำมาหากินมา 7-8 ชั่วคน คุณไปทำเขื่อนกั้นน้ำคนที่หาปลามา 7-8 ชั่วคนเขาหาปลาไม่ได้ ก็เอาเงินไปยัดใส่มือเขา ให้เขาไปประกอบอาชีพใหม่ มันสูญเสียทักษะที่สั่งสมมาเป็น 100 ปี ทันที ทักษะที่เขาเคยมีในการจับปลาด้วยมือเปล่ามันเหลือศูนย์” ศาสตราภิชาน แล กล่าว
การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามมีคำถามที่ต้องตอบให้ครบถ้วนว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการทำมาหากินผลที่เกิดขึ้นจะตกไปถึงคนทั้งแผ่นดินหรือไม่ ตกไปถึงคนข้างมากในสังคมหรือไม่
การเปลี่ยนแปลงจากเกษตรไปอุตสาหกรรมนั้น ช่วงต้น ๆ เป็นที่รู้กันว่ามีการประท้วง มีการเผาโรงงานกันในอังกฤษ จนกระทั่งฝ่ายคนงานสามารถรวมตัวกันได้และตั้งเป็นสหภาพแรงงาน แล้วตั้งเป็นพรรคเลเบอร์ และกดดันจนมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองคนที่เสียเปรียบ ซึ่งก็ออกมาเป็นกฎหมายแรงงานที่ช่วยเกลี่ยผลประโยชน์ของคนที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงให้ทั่วถึงคนทั้งแผ่นดิน มันจึงอยู่ร่วมกันได้
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบ ในเยอรมันมีกรณีขาดคนจึงใช้เทคโนโลยีแทนคน แต่ในสังคมที่ไม่ได้ขาดคนแล้วเอาเทคโนโลยีเข้ามา แล้วคนที่ถูกแทนจะไปอยู่ที่ไหน แรงงานส่วนใหญ่ของเราเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ แรงงานที่ขาดแคลนขณะนี้ก็เป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ แต่หากว่าสิ่งเหล่านี้ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่ประหยัดคน คนจะต้องหลุดออกไปจากระบบ
ตรงนี้มีโจทย์ 2 ข้อ คือ 1.เราบอกว่าไม่ได้เกี่ยวกับคน แต่เกี่ยวกับทักษะ แต่ทักษะแยกจากคนไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องพัฒนาคน แต่คนงานอายุ 40-50 ปี จบ ป.4 อยู่ในโรงงานทอผ้าจะทำอย่างไรให้ไปได้กับเทคโนโลยีดิจิทัล และหากทำอะไรกับเขาไม่ได้แล้วจะเอาเขาไปปล่อยไว้ที่ไหน 2.การพัฒนาทักษะคนปัญหาสำคัญอยู่ที่ระบบการศึกษา ถ้าปรับปรุงระบบการศึกษาให้ได้อย่างใจไม่ได้แล้วจะทำเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างไร
ปัญหาใหญ่ที่สุดในขณะนี้ที่ยังแก้ไปตกคือ ทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาตอบสนอง และมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เรายังติดกับอยู่ในปรัชญาการศึกษาดั่งเดิมของเรา คือ ให้อ่านออกเขียนได้ แต่ไม่ได้สอนให้มีทักษะอย่างการกล้าเสี่ยง เราไม่เคยอยู่ในสังคมที่การเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นภาระใหญ่ที่เราต้องแบก คือเตรียมคนอย่างไรให้มีทักษะที่เข้ากับระบบใหม่ได้ และคนที่เข้ากับระบบใหม่ไม่ได้จะเอาไปไว้ที่ไหน เพราะระบบสวัสดิการหรือประกันสังคมยังไม่พร้อมที่จะรองรับคนเหล่านี้
“การนำเสนอรูปแบบของธุรกิจใหม่ รูปแบบอุตสาหกรรมใหม่ ต้องมีคำตอบคือ เอาคนมาจากไหน ขณะนี้คุณเตรียมคนเพียงพอไหมที่เข้าจะเข้ากับระบบใหม่ได้ และหากเข้าไม่ได้ คุณจะเอาคนเหล่านี้ไปลอยแพไว้ที่ไหน เพราะว่าคนเหล่านี้คือพลเมืองไทย คนที่เกิดในแผ่นดินนี้และต้องอยู่ในแผ่นดินนี้ไป ไม่ว่าจะมีงานหรือไม่มีงาน ไม่ว่าจะเข้ากับระบบใหม่ได้หรือไม่ได้ คนเหล่านี้คือพลเมืองไทยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคุณต้องมีมิติทางสังคม คุณต้องมีคำตอบที่ตอบกับสังคม ไม่ใช่แค่ตอบกับธุรกิจอย่างเดียว” ศาสตราภิชาน แล ให้ความเห็น
ตรงนี้เป็นนโยบายรัฐบาล ในส่วนผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวรับกับนโยบาย แต่ได้ไม่ได้ธุรกิจก็มีความสามารถในการปรับตัวในแง่ทุน เทคโนโลยี และการบริหารคน ตรงนี้คงต้องถามรัฐบาลและอาจต้องมีการถกเถียงกันอีกยาวนาน เพราะดูเหมือนเป็นสิ่งที่สำเร็จรูปก๊อปปี้มาแล้วโยนเข้าไป ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดเป็นคำถามของสังคมว่านี่เป็นรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ หรือแค่เครื่องมือในการช่วยบริหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่เศรษฐกิจไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีผลผลิตใหม่ไม่ว่าสินค้าหรือบริการ เพียงเปลี่ยนวิธีการทำงาน
“เราไม่ได้เป็นคนเหนี่ยวรั้งความเจริญ เราเป็นคนข้างมากของสังคม เพราะฉะนั้นถ้าเราจะมีรถไฟหัวจรวด ก็ไม่อยากให้มันเป็นหัวจรวดมีเฉพาะหัวรถจักร เรายินดี เราชอบมากที่มันจะเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ที่สำคัญคือโบกี้มันต้องมีการบรับแต่งให้วิ่งในสปีทเดียวกับหัวรถจักรได้” ศาสตราภิชาน แล กล่าว
มีหลายคนตั้งคำถามว่าเรื่องนี้จะเหมือนเรื่องนิกส์ (NICs: Newly Industrializing Countries) หรือเปล่า คือเป็นการเอาอะไรมาล่อหย่อมเดียว โดยไม่ได้คิดว่าจะมีคำตอบให้ทุกคนหรือไม่ ถ้าธุรกิจหนึ่งดีขึ้น คนในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นจะได้อานิสงส์ที่ดีไปด้วยหรือเปล่า มีหลักประกันอะไรที่ว่าธุรกิจหนึ่งมันดีขึ้นแล้วอานิสงส์ดีนั้นจะตกถึงทั่วทุกคน
“เราจะต้องตอบคำถามเสมอว่า ถ้าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปทางใด สังคมนั้นจะได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลง หลักประกันตรงนี้ สิ่งที่พวกเราห่วงกันทุกคนก็คือว่า มันดีหนะดีอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้มันดีกับทุกคน” ศาสตราภิชาน แล กล่าวย้ำ
00000
“ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เปลี่ยนนี่คือการปฏิวัติจริง ๆ ไม่ได้พูดถึงเทคโนโลยีอะไร มันไม่ได้สำคัญเท่ากับความสัมพันธ์ของนายจ้าง ลูกจ้าง เพื่อนร่วมงาน หรือคนในสังคม ที่มันจะเปลี่ยนโดยที่เรายังไม่ได้เข้าใจความซับซ้อนตรงนี้”
เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร นักศึกษา ป.เอกมหาวิทยาลัยเซราคิวส์ กล่าวถึงตัวเลขที่อธิบายถึงยุคสมัยของการปฏิวัติอุตสาหกรรมว่า การเปลี่ยนแปลงของตัวเลข 1.0 ถึง 4.0 ซึ่งมีการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ยุค 1.0 มีการนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน จากคนเป็นผู้กำกับการผลิต เราเหนื่อยเราหยุด เมื่อเอาเครื่องจักรเข้ามาเปลี่ยนเป็นนายจ้างเป็นผู้กำกับการผลิต โดยอาศัยพลังงานของเครื่องจักร ยุค 2.0 เกิด Mass Production และการรวมกลุ่มคนงาน
ในยุค 3.0 ที่นำคอมพิวเตอร์มาใช้ เกิดการแบ่งงานกันทำในเชิงภูมิศาสตร์ สิ่งที่เคยผลิตในประเทศตะวันตกก็มาผลิตในเอเชีย ในประเทศที่ค่าแรงถูก เอื้อให้เรากลายมาเป็นโรงงานของโลก มาสู่ยุค 4.0 เป็นดิจิทัล มีคำถามว่าเราจะยังคงเป็นโรงงานของโลกอยู่หรือไม่
ยุค 4.0 ในมุมมองของแรงงานตะวันตก ในยุโรป ในอเมริกา สิ่งที่เขาเป็นห่วงคือ มันจะทำให้คนงานคอปกขาว คนงานนั่งโต๊ะ ตกอยู่ในสภาพเดียวกับที่แรงงานคอปกน้ำเงินหรือคอปกฟ้าเคยเป็น คือการแข่งขันด้วยค่าแรงที่ถูก ต่อไปคนงานคอปกข่าวก็จะต้องมาแข่งกันอย่างนั้น เพราะ ‘เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเชื่อมโยง’ โดยธุรกิจที่อยากทำกำไรเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ แล้วหาลูกค้าในเว็บไซต์ สิ่งที่ภาคแรงงานในตะวันตกห่วงคือ หลังจากนี้ไปแรงงานที่เป็นนักบัญชี หรือคนงานคอปกขาวในเยอรมัน จะต้องแข่งกับนักบัญชีในฟิลิปปินส์ ในอินเดีย หรือในไทย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือนี่เป็นงานที่ไม่มีความมั่นคง ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีสวัสดิการ และค่าจ้างแข่งขันกัน
สถานการณ์คือต่อไปเราจะมีคนงานที่ทำงานไม่มั่นคงอยู่ในกลุ่มคนงานคอปกขาว รวมทั้งคนทำงานครีเอทีฟด้วย นี่คือข้อกังวลของแรงงานยุโรป เพราะแรงงานในยุโรปอยู่ในภาคบริการ ไม่ได้อยู่ในภาคการผลิตแล้ว
ปรากฎการณ์ อูเบอร์ไรเซชั่น (Uberization) อูเบอร์ในเบอร์ลินมีคนทำงานแค่ 20 คน แต่ทำกำไรหลายร้อยล้าน โดยใช้แพลตฟอร์มที่เปิดให้คนมีรถมาขับแท็กซี่ได้ ตรงนี้ทำให้เกิดข้อกังวลว่าอีกหน่อยจะมีคนคนทำงานจำนวนมาที่ไม่รู้ว่าจะนิยามว่าเป็นใคร เป็นแรงงาน หรือ Self-employed ซึ่งไม่มีการจ้างงานที่มั่นคงเข้ามาแข่งขันแย่งงานกัน ขณะที่กำไรอยู่ทีธุรกิจอูเบอร์
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องพูดก็คือว่า เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 2 3 ถึงครั้งที่ 4 มันเปลี่ยน คือ ตอนนี้ใครเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตหลัก 3 อย่าง คือ ข้อมูลขนาดใหญ่ การเชื่อมต่อกับระบบ และอุปกรณ์ ใครเป็นเจ้าของ 3 สิ่งนี้คือคนกุมอำนาจซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่เจ้า ต่อไปความเหลี่ยมล้ำทางเศรษฐกิจจะถ่างขึ้นเพราะคนที่เป็นเจ้าของปัจจัย 3 ตัวนี้มีอยู่เพียงไม่กี่เจ้า
ในยุโรปเอง บางประเทศอย่างเยอรมันที่ยังมีอุตสาหกรรมหนักคืออุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งการมาของ Digital economy ธุรกิจอาจยังรอด แต่เมื่อแอบเปิ้ลประกาศจะทำรถยนต์ ธุรกิจนี้ก็อาจไม่รอด เพราะแอบเปิ้ลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตหลักทั้ง 3 อย่าง ต่อไปการผลิตสินค้าจะเป็นส่วนเสริมของระบบดิจิทัล
อีกประเด็นหนึ่ง คือ งานที่เปลี่ยนไปได้สร้างความยุ่งยากให้กับองค์กรแรงงานอย่างสหภาพแรงงาน ยกตัวอย่างในอเมริกา องค์กรแรงงานจัดตั้งคนงานได้ยาก เพราะแรงงานจำนวนมากในอเมริกาถูกจ้างโดยบริษัทจ้างเหมาช่วง คนงานในอเมริกาไม่ได้ทำงานในโรงงานเดียวกัน และบางครั้งไม่ได้ว่าตัวเองเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องแรงงาน เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการจัดตั้งแรงงาน ตอนนี้สหภาพแรงงานที่โดดเด่นในอเมริกาคือ SEIU (Service Employees International Union หรือ สหภาพแรงงานภาคบริการนานาชาติ) ซึ่งจัดตั้งคนงานทำความสะอาดในตึกต่าง ๆ แต่ปัจจุบันแรงงานในภาคการผลิติของอเมริกาแทบไม่มีสหภาพ ไม่มีการจัดตั้งเลย
ถ้านำบทเรียนจากตะวันตกหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปกลับมาตั้งคำถามกับเรา ต่อไปเมื่อการจ้างงานเปลี่ยน กลุ่มคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ อยากทำงานสตาร์ทอัพเขาจะไปตกอยู่ที่การจ้างงานที่ไม่มั่นคง กลายเป็นแรงงานที่ถูกขูดรีดหรือเปล่า แล้วเขาจะปกป้องสิทธิแรงงานตัวเองอย่างไร หรือจะปล่อยให้เป็นปัจเจกชนรวมทั้งขบวนการแรงงานเองจะทำงานกับคนเหล่านี้ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่อย่างไร เพราะในไทยเมื่อพูดถึงสหภาพ เรามีคนที่ทำงานอยู่ในภาคการผลิตน้อยกว่าคนที่ทำงานในภาคบริการมหาศาล ซึ่งรวมทั้งคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมโรงแรม ร้านอาหาร และแรงงานภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ
“ในอนาคตหากเรามีกลุ่มคนจำนวนมากที่อยากทำงานแบบ Platform economy เราต้องคิดถึงเรื่องการคุ้มครองแรงงาน เรื่ององค์กรแรงงานในกระบวนทัศน์ที่ต่างออกไป แต่กฎหมายคุ้มครองแรงงานของเรายังไม่ได้แก้ไข จะทำอย่างไรหากคนจำนวนมากอาจต้องถูกขูดรีดแรงงาน” เกรียงศักดิ์ กล่าว
ส่วนในภาคการผลิต ส่วนตัวทำงานวิจัยอยู่ที่ภาคตะวันออกของไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ ใคร ๆ ก็บอกว่าเราเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ แต่พอไปพูดกับฝรั่ง ฝรั่งหัวเราะว่า ไม่มีใครอยากเป็นดีทรอยต์หรอก เพราะดีทรอยต์มันทรุดโทรม มันเสื่อมโทรมมาก มันเป็นความหวังความฝันเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่เราบอกว่าเราอยากเป็นดีทรอยต์
ในความเป็นจริง 50 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นคนงานไร้ฝีมือ คือเรายังอยู่กับผลพวงของอุตสาหกรรม 2.0 คือการทำงานไม่มีสกิล และผลพวงของอุตสาหกรรม 3.0 ที่คนงาน 15-20 เปอร์เซ็นต์ในโรงงานเป็นคนงานซับคอนแทรค ที่นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ทันที หากจะเกิดการแทนที่ด้วยหุ่นยนต์แรงงานตรงนี้จะถูกแทนที่ได้ทันที ความไม่มั่นคงในการทำงานมีชัดเจน จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจในการต่อรอง
นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบในด้านสังคม ในภาคตะวันออกปัจจุบันแรงงานจากภาคอีสานย้ายถิ่นไปอยู่ในภาคตะวันออก ในพื้นที่การผลิตยานยนต์ที่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา คนงานที่นั่นกลายเป็นคนอื่นในพื้นที่ แม้จะมีการรวมตัวกัน แต่ก็มีผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อคนงานมีลูกต้องส่งไปให้พ่อแม่ที่บ้านเลี้ยง เราไม่เคยพูดถึงผลกระทบของสายใยครอบครัว โครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยน เมื่อพูดถึงนโยบายการพัฒนา แต่หากจะพัฒนาอย่างยังยืนต้องคิดถึงคนและสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย
สิ่งที่น่ากลัวของประเทศไทย 4.0 ตอนนี้คือ มันถูกใช้โดยรัฐบาลและนายทุน ที่จะเป็นข้ออ้างให้เราเป็นฐานการผลิตสินค้าดิจิทัลต่อไป ส่วนคนที่เป็นแรงงานก็จะอยู่ในสถานการณ์เดิมต่อไป แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นแรงงานคอปกขาวนั่งโต๊ะ
สิ่งที่ในยุโรปเป็นห่วงคือการเกิดงานในรูปแบบที่ ‘ทำทุกที่ ทุกเวลา’ แล้วเราจะเป็นแรงงานทาสที่ถูกล่ามด้วยโซ่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในฝรั่งเศสมีการพูดถึงเรื่องสิทธิที่จะไม่เชื่อมต่อกับระบบ รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังจะออกกฎหมายไม่ให้นายจ้างส่งอีเมลให้ลูกจ้างหลังเลิกงาน เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของคนงานในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยไม่ให้ถูกใช้งานตลอดเวลา แม้ว่าการปฏิรูปกฎหมายแรงงานของฝรั่งเศสที่นำเสนอเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการปฏิรูปเพื่อให้แรงงานยืดหยุดคือสามารถถูกนายจ้างใช้งานได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากลัวของการเปลี่ยนแปลงตรงนี้คือการทำให้ทุกคนเป็นปัจเจก ทำให้ทุกคนพึงพอใจว่าฉันจะอยู่คนเดียว ฉันจะทำงานของฉัน นี่คือโอกาสของฉัน จนลืมไปว่าเราอยู่ในสังคมที่ต้องมีการแบ่งปัน การจัดงานวันนี้มีสโลแกนคือ ‘เราทุกคนคือแรงงาน’ อยากให้เตือนว่าพวกเรามีความผูกพันในอัตลักษณ์บางอย่าง แต่การมาของ Platform economy มันทำให้เรากลายเป็นมนุษย์ซึ่งพึงพอใจกับการอยู่และหาประโยชน์ของตัวเองโดยไม่ได้คิดถึงความสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่น นั่นคือสิ่งที่ฝ่ายแรงงานในยุโรปกังวล
“ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เปลี่ยนนี่คือการปฏิวัติจริง ๆ ไม่ได้พูดถึงเทคโนโลยีอะไร มันไม่ได้สำคัญเท่ากับความสัมพันธ์ของนายจ้าง ลูกจ้าง เพื่อนร่วมงาน หรือคนในสังคม ที่มันจะเปลี่ยนโดยที่เรายังไม่ได้เข้าใจความซับซ้อนตรงนี้” เกรียงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย