ถอดประสพการณ์จัดการภัยพิบัติในพื้นที่แม่ฮ่องสอน จากชัย นักข่าวพลเมืองแม่ฮ่องสอน

ถอดประสพการณ์จัดการภัยพิบัติในพื้นที่แม่ฮ่องสอน จากชัย นักข่าวพลเมืองแม่ฮ่องสอน

                                                     การเกิดเหตุและการจัดการภัยพิบัติ

                                                                                           นาย พงษ์พิพัฒน์  มีเบญจมาศ นักข่าวพลเมืองแม่ฮ่องสอน

               กรณีภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในจังหวัดแม่ฮ่องสอนล่าสุดสาเหตุมาจากฝนที่ตกทุกฤดู และตกติดต่อกันเป็นเวลานาน ปริญมาณน้ำฝนมากจนเกินไป ทำให้ดินโคลนถล่มในพื้นที่บนภูเขาสูง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากฉับพลันทำลายหมู่บ้านและพื้นที่นา ที่สวน ที่ไร่และพื้นที่การเกษตร บางจุดมีรอยแยกของแผ่นดิน ดังเช่น กรณีที่บ้านแม่สามแลบ ห้วยกองก๊าด ปู่ทา ตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย และบ้านห้วยโผ  ต.แม่ยวม อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีการกล่าวกันว่ามาจากการบุกเบิกป่าทำกิน การทำลายป่าของชาวบ้านในบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำ ตลอดแนวเทือกเขา เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วม หรือน้ำป่าไหลหลาก ก็มีการพูดลักษณะเช่นนี้มาตลอด แต่เมื่อภายหลังภัยพิบัติหายไป การช่วยเหลือแบบกระหน่ำในลักษณะสงเคราะห์จบสิ้นลง ชุมชนก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายด้วยตนเอง คือการกลับเข้าไปทำกินในที่ดินเดิม หรือต้องอพยพย้ายพื้นที่ใหม่ที่ปลอดภัย ซึ่งยังมีคำถามว่าครอบครองที่ดินถูกต้อง ตามกฎหมายหรือไม่ การฟื้นฟูที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องพึ่งพา การรวมกลุ่มของชุมชนในการจัดการตนเองอย่างเข้มแข็ง และการจัดการภัยพิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยชุมชน

แนวทางการฟื้นฟูดังกล่าวทำได้ ในหลายพื้นที่ที่ประสบภัย หลายหมู่บ้านที่ชุมชนซึ่งเคยประสบภัยพิบัติมาแล้วก็ทำได้ ถ้าหากชุมชนมีกำลังใจและรวมกลุ่มของคนในชุมชนอย่างจริงจังด้วยการพึ่งตนเอง ไม่ใช่ในลักษณะของการพึ่งพาและร้องขอผู้อื่น สังคมไทยจึงควรใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสของการฟื้นฟูชุมชนและทรัพยากร ธรรมชาติ

ข้อกังวลอย่างยิ่งคือบุคคลหรือองค์กรภายนอกที่จะมีบทบาทสำคัญของการสร้าง ความขัดแย้งแตกแยกให้กับชุมชน ถ้าเริ่มต้นจากโจทย์ของคนนอกที่ต้องใช้งบประมาณให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพื่อ สร้างผลงานให้กับองค์กร โดยไม่รอคอยความพร้อมและการวางแผนของชุมชน หากยังดำเนินการแบบเดิมๆ วิกฤตนี้จะไม่เป็นโอกาส แต่จะเป็นการทำลายความเป็นชุมชน ซึ่งก็เกิดขึ้นมาแล้วในชุมชนจำนวนมากที่ประสบภัยพิบัติ โดยไร้การเหลียวแลเมื่อเหตุการณ์ภัยพิบัติผ่านไป ดังกรณีพื้นที่หลายที่ที่ประสบภัยพิบัติ

สิ่งที่คนไทยจะร่วมมือกันได้ คือ โปรดอย่าตั้งคำถามหรือกล่าวหาว่า คนพวกนี้ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย คนพวกนี้บุกรุกป่าทำให้เกิดดินโคลนถล่ม คนพวกนี้ไม่มีสิทธิจะไปทำกินในที่ดินเดิม หรือพวกนี้ไม่มีสัญชาติ การกล่าวหาเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ แต่เป็นการทำลาย และทำให้ไม่มีทางออกของการจัดการปัญหา ที่สำคัญจะทำให้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่จ้องจะเอาผลประโยชน์แฝงอยู่เพื่อรอ ที่จะเข้าไปทำกินและบุกรุกป่าต่อไป โดยร่วมมือกับภาครัฐ หรือกลุ่มทุนในการปฏิบัติการ ถ้าหากชุมชนยังไม่มีความเข้มแข็งที่จะร่วมมือกัน

ควรใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสของการฟื้นฟูชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติใน พื้นที่ป่าต้นน้ำ ลำธาร แบบมีส่วนร่วม สร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน มากกว่าการตั้งคำถาม โดยให้ความสำคัญกับมิติระบบนิเวศของลุ่มน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่แม่ฮ่องสอน หรือภาคเหนือเป็นระบบนิเวศของลุ่มน้ำ จากป่าต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น น้ำปาย, ยวม, เมย, เงา และน้ำสาขาย่อย ซึ่งสายน้ำเหล่านี้เป็นลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำสาละวิน

ความเชื่อมโยงของระบบนิเวศจึงมีความสำคัญ ทุกๆปีจะมีตะกอนดินที่ไหลลงสู่แม่น้ำใหญ่อย่างค่อยเป็นค่อยไป อันเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านที่ทำเกษตรริมน้ำ และการประมง ตะกอนดินที่ไหลลงมาที่ปากแม่น้ำ ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรปากแม่น้ำ ประมงพื้นบ้าน และเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ จากการทำประโยชนในพื้นที่ของระบบนิเวศไม่ใช่เฉพาะป่าต้นน้ำดังที่ถูกกล่าวหา แต่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ  ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อมีการบอกกล่าวจากชาวประมงที่ปากแม่ น้ำว่า มีตะกอนดินเกิดขึ้นมากจนผิดสังเกต สิ่งนี้คือคำถามว่าเกิดจากอะไร การเรียนรู้ระบบลุ่มน้ำจึงมีความสำคัญที่ทำให้เราต้องเข้าใจต่อการใช้ ประโยชน์ที่ดินในบริเวณป่าต้นน้ำ แม้ว่าจะเป็นภูเขาสูง ที่มีการบุกรุกป่าทำสวนปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพดจากบริษัท หรือเป็นเทือกเขาที่มีการทำกินและที่ตั้งของชุมชนก็ตาม

การฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยพิบัติ จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นวันนี้ วันที่ชุมชนต้องฟื้นฟูขึ้นใหม่ กรณีที่หมู่บ้านถูกทำลาย ได้รับความเสียหาย การฟื้นฟูจึงไม่ได้อยู่ที่การสร้างบ้านให้เท่านั้น หรือการทวงสิทธิในที่ดินอันชอบธรรม  แต่ยังหมายถึงการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทั้งระบบ การวางแผนพัฒนาพื้นที่เป็นเรื่องที่ทำได้จากการรวมกลุ่มของชุมชน และมองไปในอนาคตว่าชุมชนเราควรเป็นอย่างไรภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติและระบบ นิเวศที่เราต้องพึ่งพา
การจัดการที่ดินในพื้นที่ป่าที่ยังไร้เอกสารสิทธิ์ จึงไม่ใช่การเริ่มต้นว่าเพราะเป็นที่ดินของรัฐ ประชาชนมาอยู่ภายหลัง จึงเข้าไปไม่ได้ แต่จากสภาพที่ดินในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนชุมชนตั้งอยู่ก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่า การพิสูจน์สิทธิในที่ดินมาอยู่ก่อนประกาศพื้นที่ป่า จึงเป็นการย้อนหาอดีตที่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่เราควรที่จะสนับสนุนให้ชุมชนรวมกลุ่มและตกลงกันให้ได้ว่าเรามีสภาพที่ดิน ที่จำกัด พื้นที่ส่วนหนึ่งต้องอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ ป่าต้นน้ำ ป่าใช้สอยที่ชาวบ้านจะใช้ประโยชน์อย่างไร บริเวณไหนเป็นที่ทำกิน ตรงไหนเป็นอยู่อาศัย เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องร่วมพิจารณากันว่า จะจัดการอย่างไรให้ชุมชนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน การบริหารจัดการดังกล่าวจึงเจาะจงไม่ได้ว่าควรเป็นอย่างไร เพราะสภาพพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่ภัยพิบัติจะเป็นอุทาหรณ์ให้ชาวบ้านต้องตระหนักในด้านนี้

การจัดการที่ดินและทรัพยากรร่วมกัน หรือที่เรียกว่า “โฉนดชุมชน” จึง เป็นแนวทางที่จะทำให้ประชาชนและชุมชนต้องรวมกลุ่มมีกฎกติกาของตนเอง เพื่อจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชนร่วมกัน จะทำให้เขาเชื่อมั่นว่าดำเนินการได้โดยไม่ถูกจับกุม และพวกเขาปกป้องป่าไม้ได้ด้วยกฎกติกาของพวกเขา และสามารถเฝ้าระวังแยกกลุ่มที่ทำลายป่า ออกจากกลุ่มของเขา เพื่อยืนยันให้สังคมเห็นว่าใครคือผู้ทำลายป่า คนที่ไม่อยากรวมกลุ่มคือคนที่อยากอยู่ลำพังและอยู่ยากในสภาวะที่ระบบนิเวศมี ความเสี่ยง ถ้าหากภาครัฐกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ จะร่วมสนับสนุนให้พวกเขาจัดการในเรื่องนี้นับแต่วันนี้ การดำเนินการลักษณะเช่นนี้จึงจำเป็นต้องร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครองท้องที่ ที่จะต้องร่วมวางแผนการใช้ที่ดินในตำบลของตนเองอย่างไร
การเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยพิบัติเริ่มต้นที่ชุมชน ตำบล และเครือข่ายของลุ่มน้ำนั้น ซึ่งแบ่งเป็นโซนย่อยๆ ตามระบบนิเวศที่ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ในเครือข่ายเฝ้าระวังดินถล่ม แผ่นดินไหว พายุฝน ปริมาณน้ำ ความรู้เหล่านี้ต้องถูกถ่ายทอดให้คนในชุมชนที่มีศักยภาพเข้าใจ และป้องกันตนเอง สามารถสื่อสารให้กับคนในหมู่บ้าน ตำบลและเครือข่าย ที่สำคัญต้องมีข้อมูลของชุมชน ระบบข้อมูลของลุ่มน้ำ เมื่อเกิดภัยพิบัติก็สามารถรู้ว่าควรจะช่วยเหลือใครที่เดือดร้อนมากที่สุดใน เบื้องต้นความเป็นเครือข่ายจะทำให้เกิดการหนุนการช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะพื้นที่ใดที่ช่วยตนเองไม่ได้ พื้นที่อื่นก็จะมาช่วยเหลือ และรู้ข้อมูลร่วมกัน สามารถที่จะไปหนุนช่วย กันได้ ภารกิจของการเฝ้าระวังภัยพิบัติและการบริหารจัดทรัพยากรธรรมชาติจึงต้องเป็น ของชุมชนจึงจะจัดการได้ทันต่อสถานการณ์

ภารกิจของบุคคลหรือองค์กรภายนอก จะทำหน้าที่ได้ดีสำหรับการช่วยเหลือในสถานการณ์เฉพาะหน้าเมื่อเกิดภัยพิบัติ และช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพการจัดการของชุมชนและเครือข่าย หากไม่มีการรวมกลุ่มของชุมชนและเครือข่ายบุคคลหรือองค์กรภายนอกก็จะช่วย เหลืออย่างไร้ทิศทาง เพราะเขาไม่ได้รู้ว่าในชุมชนนั้นเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้เอง การวางแผนพัฒนาพื้นที่ การจัดทำผังชุมชน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการเฝ้าระวังภัยพิบัติจึงเป็นเรื่องเดียวกันที่ต้องสนับสนุนให้ชุมชนร่วม กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จึงจะเกิดความยั่งยืน
      

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ